สมศ. รายงานผลการประเมินฯ ปี 2565 พบจุดต้องเร่งส่งเสริม ย้ำปี 2566 ยังประเมินออนไลน์
วันที่ 22 ธันวาคม 2565 สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) สรุปผลการดำเนินงานประเมินคุณภาพภายนอกประจำปี 2565 พบว่า มีสถานศึกษาเข้ารับการประเมินแล้วกว่า 19,558 แห่ง ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยหลังจากประเมิน ได้พบจุดที่ควรเร่งส่งเสริมและพัฒนาของสถานศึกษา ทั้งนี้ ในปี 2566 ที่กำลังจะมาถึงนี้ ทาง สมศ. ก็ยังคงจะใช้รูปแบบการประเมิน 2 ระยะ คือ การประเมินและวิเคราะห์รายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) และการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมหรือการตรวจสอบหลักฐาน พร้อมยังคงเน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ และร่วมงานกับหน่วยงานต้นสังกัด 27 หน่วยงาน ในการพัฒนาและใช้งานระบบบริหารจัดการรายงานประเมินตนเองของสถานศึกษา (e-SAR) เพื่อเป็นการลดภาระให้กับสถานศึกษา
ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ รักษาการประธานกรรมการ สมศ. กล่าวว่า การประเมินคุณภาพภายนอก ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 มีสถานศึกษาเข้ารับการประเมินในปีงบประมาณ 2565 จำนวน 19,558 แห่ง ซึ่งเกินกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้จากเดิม จำนวน 18,000 แห่ง โดยแบ่งออกเป็น
- ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จำนวน 7,009 แห่ง
- การศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 11,341 แห่ง
- การศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษ จำนวน 317 แห่ง
- การศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีวัตถุประสงค์พิเศษโรงเรียนนานาชาติ จำนวน 50 แห่ง
- การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จำนวน 415 แห่ง
- การอาชีวศึกษา จำนวน 384 แห่ง
- ระดับอุดมศึกษา จำนวน 42 แห่ง
ทั้งนี้ จำนวนของสถานศึกษาทั่วประเทศที่ได้รับการประเมินในงบประมาณ 2564 - 2565 รวมทั้งสิ้น 40,835 แห่ง จากจำนวนสถานศึกษาทั้งหมด 60,335 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 67.68 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของสถานศึกษาต่อ สมศ. ถึงการดำเนินงาน และการประเมินรูปแบบใหม่ที่ไม่สร้างภาระให้กับสถานศึกษา รวมถึงสถานศึกษาสามารถนำเสนอข้อเสนอแนะที่ได้รับจากผู้ประเมินภายนอก นำไปปรับใช้ในการพัฒนาคุณภาพได้จริง
หลังจากที่ได้ประเมิน สมศ. พบว่า แต่ละประเภทสถานศึกษามีจุดเด่นที่แตกต่างกัน ด้านจุดเด่นได้ส่งเสริมให้สถานศึกษาดำเนินการต่อยอดเพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม (Innovation) และแบบอย่างที่ดี (Best Practice) ส่วนข้อเสนอแนะที่ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อพัฒนา สมศ. ได้ให้ข้อแนะนำกับสถานศึกษาทั้ง 3 ประเภท ดังนี้ 1) การสร้างโอกาสให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง เรียนและเล่นอย่างมีความสุข 2) การสร้างนวัตกรรมของสถานศึกษา และการประเมินพัฒนาการก่อนและหลังการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และ 3) การส่งเสริมให้ผู้สอนพัฒนางานวิจัยและขยายผลไปสู่ชุมชน
“สำหรับสถานศึกษาที่เข้ารับการประเมินแล้ว พบว่าหลายสถานศึกษามีการนำข้อเสนอแนะไปปรับใช้ ส่งผลให้เกิดการพัฒนา ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์และตรงกับวัตถุประสงค์หลักของ สมศ. อีกทั้งยังสร้างความเข้าใจให้กับสถานศึกษาว่า การประเมินไม่ได้เป็นการสร้างภาระ แต่เป็นการ “ประเมินเพื่อพัฒนา” ให้สถานศึกษาได้ทราบจุดเด่นเพื่อต่อยอด ทราบจุดบกพร่องเพื่อพัฒนา ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมศ. ได้ปรับแนวทางการประเมิน และพัฒนาผู้ประเมินอย่างต่อเนื่อง โดยการนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกขั้นตอนของการประเมินตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดกระบวนการ เพื่อให้การดำเนินงานรวดเร็ว และก้าวทันสถานการณ์โลก ที่สำคัญอยากให้ตระหนักว่าการประเมินเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษาของประเทศ” ศ.ดร.สมคิด กล่าว
ด้าน ดร.นันทา หงวนตัด รักษาการผู้อำนวยการ สมศ. ระบุว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สมศ. ยังคงมุ่งเน้นเดินหน้าในการสร้างคุณภาพการศึกษา ให้มีคุณภาพเทียบเท่าในระดับนานาชาติ โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยสนับสนุนในการประเมินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับที่ประชุมเครือข่ายการประกันคุณภาพของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (APQN) ที่ทุกประเทศสมาชิกได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลและออนไลน์มาใช้ รวมถึงรูปแบบการตรวจเยี่ยมเสมือนจริง (Virtual Assessment)
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สมศ. ยังได้ตั้งเป้าหมายสถานศึกษาเข้ารับการประเมินคุณภาพภายนอกจำนวน 13,212 แห่ง ซึ่งเป็นสถานศึกษาที่เหลืออยู่ทั้งหมดและยังไม่ได้รับการประเมินในช่วงปี 2563 - 2565 ที่ผ่านมา โดยการประเมินจะสอดคล้องกับการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา และไม่สร้างภาระเพิ่มเติมให้กับสถานศึกษา ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1 เป็นการประเมินและวิเคราะห์รายงานผลการประเมินตนเองของสถานศึกษา (SAR) ซึ่งเป็นการประเมินตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 49
- ระยะที่ 2 เป็นการประเมินตามความสมัครใจของสถานศึกษาในรูปแบบการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม หรือการตรวจสอบหลักฐานและข้อมูลของสถานศึกษาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
พร้อมกันนี้ สมศ. ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้สนับสนุนการประเมิน เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน และมีการพัฒนาระบบเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง โดย สมศ. ได้มีการประสานความร่มมือกับหน่วยงานต้นสังกัดจำนวน 27 หน่วยงาน ในการพัฒนาเชื่อมต่อและใช้งานระบบบริหารจัดการการรายงานประเมินตนเองของสถานศึกษา (e-SAR) ร่วมกัน เพื่อจัดเก็บรายงานผลการดำเนินงาน ส่งผลให้หน่วยงานต้นสังกัดสามารถดูข้อมูลย้อนหลังได้ และเป็นการลดการใช้ทรัพยากรกระดาษ ประหยัดเวลา ตลอดจนพัฒนาระบบการออกใช้รับรอง (e-Certificate) ให้กับสถานศึกษาที่ได้รับการประเมินและรับรองรายงานผลการประเมินเรียบร้อยแล้ว
คุณกำลังดู: สมศ. รายงานผลการประเมินฯ ปี 2565 พบจุดต้องเร่งส่งเสริม ย้ำปี 2566 ยังประเมินออนไลน์
หมวดหมู่: วัยรุ่น