สังเกตอาการ "โรคเท้าเป็นรู" สาเหตุ "เท้าเหม็น" ที่คุณอาจไม่รู้
เท้าเหม็น อาจมาจากอาการโรคเท้าเป็นรู ลองสังเกตเท้าของตัวเองดูกัน
เท้าเหม็นมีหลายสาเหตุ แต่หนึ่งในสาเหตุที่มาจากการเป็น “โรค” คือ “โรคเท้าเป็นรู” ผศ.ดร.พญ.จิตติมา ฐิตวัฒน์ แพทย์ผิวหนัง โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล มีข้อมูลของโรคนี้มาฝากกัน
โรคเท้าเป็นรู คืออะไร?
โรคเท้าเป็นรู หรือ โรคเท้าเหม็น (Pitted keratolysis) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียจากการที่เราเป็นคนเหงื่อออกที่เท้าเยอะ ฝ่าเท้าจะมีลักษณะเป็นรูๆ เต็มไปหมด เชื้อแบคทีเรียที่อยู่ที่ฝ่าเท้าจะสร้างสารที่ทำให้บริเวณผิวหนังเกิดการสลาย จึงทำให้เกิดเป็นรูๆ ขึ้นมา มีรอยโรคบริเวณฝ่าเท้าของคนไข้ ฝ่าเท้าจะเป็นรูเล็กๆ เกิดขึ้นเต็มบริเวณฝ่าเท้าทั้ง 2 ข้าง มีน้ำเหลืองซึม มีกลิ่นเหม็นมาก
สาเหตุของโรคเท้าเป็นรู หรือโรคเท้าเหม็น
เกิดจากการใส่รองเท้านานๆ หรือการทำกิจกรรมที่ทำให้เท้าเปียกชื้นตลอดเวลา
วิธีรักษาโรคเท้าเป็นรู หรือโรคเท้าเหม็น
หลังจากที่แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคเท้าเป็นรู หรือโรคเท้าเหม็น แพทย์อาจพิจารณาจ่ายยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
- ยาฟอก
- ยาทาผิวหนัง ยาทาลดเหงื่อ
- ยากิน
วิธีป้องกันโรคเท้าเป็นรู หรือโรคเท้าเหม็น
- ใส่ใจดูแลรักษาความสะอาดของเท้าให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ
- ทำความสะอาดเท้าเช้า-เย็น วันละ 2 รอบ ถูสบู่ทุกซอกทุกมุม เช็ดให้แห้งสนิทก่อนสวมถุงเท้ารองเท้าทุกครั้ง
- ไม่ควรทำความสะอาดเท้าบ่อยเกินไป เพราะอาจทำให้เซลล์ผิวหนังด้านบนถลอก หรือแห้งเกินไป เสี่ยงติดเชื้อได้มากขึ้น
- ตัดเล็บ ทำความสะอาดเล็บและซอกเล็บให้สะอาดอยู่เสมอ
- ใครที่จำเป็นต้องใส่รองเท้า ทำให้เท้าอบอับชื้นจากเหงื่อทุกวัน ให้ถอดรองเท้าทุกครั้งเมื่อนั่งทำงานอยู่กับโต๊ะ เปลี่ยนเป็นรองเท้าแตะแทน
- หากมีเหงื่อออกที่เท้าเยอะมากระหว่างวัน อาจใช้พัดลมเป่าเท้าได้
- พกถุงเท้าสำรองไปเปลี่ยนระหว่างวัน
- ใช้แป้ง สารส้ม หรือโรลออนที่ระงับเหงื่อที่รักแร้ มาทาที่ฝ่าเท้าเพื่อช่วยลดเหงื่อได้เช่นกัน
โรคเท้าเป็นรู หรือโรคเท้าเหม็น รักษาให้หายได้ เมื่อดูแลรักษาเท้าให้แห้งสะอาด ไม่อับชื้นอยู่ตลอดเวลา แต่หากหายแล้วกลับไปมีพฤติกรรมแบบเดิมอีก โรคก็อาจจะกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเช่นกัน ดังนั้นควรหมั่นดูแลความสะอาดเท้าอย่างดีเป็นประจำ จะช่วยให้ไม่กลับมาเป็นโรคซ้ำได้อีกแน่นอน
คุณกำลังดู: สังเกตอาการ "โรคเท้าเป็นรู" สาเหตุ "เท้าเหม็น" ที่คุณอาจไม่รู้
หมวดหมู่: รู้ทันโรค