สังเกต "ฟันตาย" อันตรายภายในปากที่คุณอาจเป็นโดยไม่รู้ตัว
เรามีฟันตายอยู่ในปากอยู่หรือเปล่าตอนนี้ ลองมาสังเกตกัน
นอกจากฟันผุ ฟันหัก ฟันโยก หรือมีคราบหินปูนเกาะที่ฟันแล้ว ยังมีอันตรายจาก “ฟันตาย” ที่เราควรระมัดระวัง และเราอาจมีฟันตายอยู่ในปากของเราโดยที่เราไม่รู้ตัว หากไม่เร่งรักษาอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายมากขึ้นได้ Sanook Health มีข้อมูลจาก ทพญ.อัจนา เพียรพาณิช ทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง วิทยาเอนโดดอนท์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากกัน
ฟันตาย คืออะไร?
ฟันตาย คือฟันที่ไม่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงในโพรงประสาทฟัน ทำให้เซลล์ต่างๆ ในฟันตายไป
โดยส่วนประกอบของฟัน มีดังนี้
- เคลือบฟัน อยู่ชั้นนอกสุด
- เนื้อฟัน ถัดเข้ามาจากเคลือบฟัน
- โพรงประสาทฟัน มีเส้นเลือด เส้นประสาท และเซลล์ต่างๆ
สาเหตุของฟันตาย
ฟันตาย เกิดจากภาวะอันตรายใดๆ ก็ตามที่ทำให้เชื้อโรคเข้าไปถึงโพรงประสาทฟันจนทำให้โพรงประสาทฟันติดเชื้ออักเสบ และตายในที่สุด ส่วนใหญ่เกิดจากสาเหตุดังนี้
- ฟันผุ ฟันสึก จนถึงโพรงประสาทฟัน
- ฟันได้รับอุบัติเหตุถูกกระแทกอย่างแรง ทำให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงฟันฉีกขาด
- ฟันร้าว หรือฟันแตก จากการใช้งาน มักเกิดในคนชอบทานของเข็ง นอนกัดฟัน กัดโดนก้อนกรวดในข้าว เป็นต้น
- เป็นโรคปริทันต์ขั้นรุนแรง
อาการที่เกิดขึ้น เมื่อฟันตาย
- ฟันเปลี่ยนสีคล้ำขึ้น
- มีตุ่มหนองที่เหงือก เหงือกบวมหรือกดเจ็บบริเวณปลายรากฟัน
- มีอาการเคี้ยวเจ็บหรือ กัดเจ็บ ซึ่งเกิดจากอาการอักเสบรอบปลายรากฟัน
- เคยมีอาการเสียวฟันมากๆ เมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น ดื่มน้ำร้อน น้ำเย็น แต่อยู่ๆ ก็ไม่รู้สึก อาจเป็นสัญญาณของฟันตาย
อันตรายของฟันตาย
หากมีฟันตาย แล้วไม่เข้ารับการรักษาใดๆ กรณีจากฟันผุ จะผุกร่อนไปเรื่อยๆ เกิดการติดเชื้อ ปวด บวม หรือมีการละลายของกระดูกปลายรากฟันได้ ทำให้สูญเสียฟันไปในที่สุด
วิธีรักษาฟันตาย
ทันตแพทย์อาจพิจารณารักษารากฟัน หรืออาจถอนฟัน ในกรณีที่ฟันซี่นั้นไม่สามารถบูรณะได้ หรือผู้ป่วยไม่ประสงค์ที่จะเก็บฟันไว้
วิธีป้องกันอาการฟันตาย
- ตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน
- แปรงฟันให้สะอาดร่วมกับใช้ไหมขัดฟัน ปัญหาที่พบบ่อยคือผู้ป่วยมักฟันผุบริเวณซอกฟัน ซึ่งเกิดจากการไม่ได้ใช้ไหมขัดฟัน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานของแข็ง ลดโอกาสการเกิดฟันร้าว ซึ่งเป็นสาเหตุฟันตาย
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เป็นกรด เช่น อาหารรสเปรี้ยว น้ำอัดลม เป็นต้น
คุณกำลังดู: สังเกต "ฟันตาย" อันตรายภายในปากที่คุณอาจเป็นโดยไม่รู้ตัว
หมวดหมู่: รู้ทันโรค