ส่องประวัติ Hyundai ค่ายรถเกาหลีจากวันที่ฝรั่งยี้จนทั่วโลกยอมรับ
ย้อนรอย จุดกำเนิดแบรนด์รถยนต์เกาหลี HYUNDAI จากรถห่วย กลายเป็นยานพาหนะระดับแนวหน้าในตลาดโลก!
ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ข่าวคราวของ Hyundai ดูจะหนาตาเป็นพิเศษ
ด้วยว่าบริษัทแม่ที่เกาหลี จะเข้ามาลุยเองในบ้านเรา โดยนับตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2549 นั้น การบริหารกิจการของแบรนด์นี้ในประเทศไทย ทำโดยบริษัท
Hyundai Motor ประเทศไทยหรือ HmTh
ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างบริษัทการค้าของญี่ปุ่นชื่อว่า Sojitz
กับบริษัท Aapico Hitech มหาชน
ซึ่งชำนาญการผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ป้อนโรงงานรถยนต์ Hyundai
ภายในยุคนี้ ประสบความสำเร็จอย่างสูงกับรถ MPV อย่าง H-1
ซึ่งจำหน่ายอยู่เป็นเวลานาน
และผู้คนยอมรับในประสิทธิภาพพลังดีเซลเทอร์โบกับช่วงล่างที่วิ่งช้าตึงตังแต่ซิ่งแบบกะเอาพังกลับมั่นคงสบายยิ่ง
ทว่าหากคุณตัด H-1 ออกไปในยุคนี้
สิ่งที่เหลือไม่ว่าจะเป็นรถครอสโอเวอร์อย่าง Santa Fe กับ Tucson
หรือรถเก๋งอย่าง Sonata Sport และ Elantra Sport
กลับไม่ค่อยเป็นที่พบเห็นกันเท่าไร
อันที่จริง Hyundai ในไทยน่ะ ถือเป็นหนึ่งในผู้ปูทางสู่โลก EV
มานานแล้ว ด้วย Ioniq และ Kona ซึ่งเป็นรถทรงสวยแถมขับดีทั้งคู่
แต่อาจจะมาเกิดในบ้านเราในช่วงที่กระแส EV
ยังมาไม่แรงประกอบกับราคาซึ่งอยู่สูงเกินกว่าผู้บริโภคชนชั้นกลางจะเอื้อมถึง
ในวันนี้ EV ได้เข้ามาสู่อ้อมอกของชนชั้นกลางแล้ว
แต่ก้าวต่อไปจะเป็นอย่างไร การเปิดตัวบริษัท Hyundai Mobility
ในวันที่ 21 มีนาคมนี้
อาจเป็นตัวบ่งชี้อนาคตของแบรนด์เกาหลีรายนี้ในไทย
ว่าเขาจะขายรถตู้กินต่อไป
หรือจะกลายเป็นแบรนด์ที่เป็นทางเลือกใหม่ของคนรัก EV อย่างไรก็ตาม
หากพิจารณาถึงพลังการออกแบบและเทคโนโลยีที่ Hyundai
เกาหลีมีในวันนี้ แล้วย้อนกลับไปดูจุดกำเนิด
คุณจะทึ่งกับพัฒนาการที่มีความเหมาะสมระหว่างความเร็ว ความใส่ใจ
และความล้ำยุค เรียกว่า “เร็ว แต่ไม่หลวม”
แรกเริ่มเดิมที Chung Ju-Yung ก่อตั้งบริษัท Hyundai Engineering and Construction ในปี 1947 โดยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเกาหลีใต้ แต่บริหารงานในแบบที่เอาอำนาจการตัดสินใจไว้กับตัวเขาเองกับภายในครอบครัว เป็นบริษัทในลักษณะที่เกาหลีเรียกว่า Chaebol บริษัทนี้ทำงานหลักๆ ก็ตามชื่อ คือ วิศวกรรมและการก่อสร้าง จนกระทั่งในปี 1967 Chung Ju-Yung มองเห็นหนทางในการเข้าสู่ตลาดยานพาหนะ จึงได้ตั้งบริษัท Hyundai MotorCompany ขึ้น โดยจับมือกับ Ford นำรถรุ่น Cortina มาประกอบที่โรงงาน Ulsan ขาย แต่ตัวรถยังมีโลโก้ Ford แปะอยู่
รถรุ่นแรกที่ Hyundai ออกแบบและพัฒนาภายใต้ชื่อแบรนด์ตัวเองจริงๆ
คือรถรุ่น Pony ปี 1975 ซึ่งวิธีลัดในการสร้างรถ ก็คล้ายๆ
กับที่พี่จีนทำในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาคือ “ใช้มือปืนที่ทำงานเป็น”
โดยไปจ้างเอา George Henry Turnbull ซึ่งเคยเป็นผู้บริหารของแบรนด์
Austin- Morris ของอังกฤษ มาช่วยควบคุมการสร้าง ซึ่ง Turnbull
เองก็ไปเอาคนอังกฤษที่เชื่อมือเชื่อใจกันมาช่วยทำด้วยอีก 5 คน
และตบท้ายด้วยการจ้างสำนักออกแบบอิตาลี ItalDesign ซึ่งมีนายหัวเป็น
Giorgetto Giugiaro ซึ่งมีผลงานกับรถสปอร์ตอย่าง Maserati Bora กับ
Lotus Esprit และอื่นๆ อีกมาก
ทั้งหมดนี้รวมกันสร้างสรรค์ผลงานเป็นรถขนาดเล็ก
หน้าตาอาจจะดูแปลกสำหรับมาตรฐานทุกวันนี้แต่ถือว่าเริ่มต้นได้ไม่เลว
Pony มีแต่เครื่องยนต์เล็ก 1.2-1.6 ลิตร
สมรรถนะการขับขี่มาในสไตล์ต้มจืดผัก
จึงมีฐานะเป็นรถสไตล์บ้านเน้นประหยัด แต่ Hyundai
ก็สามารถผลิตและส่งออกรถรุ่นนี้ไปขายในแอฟริกา อเมริกาใต้
และยุโรปบางประเทศได้ Pony เจเนอเรชันที่สองนั้น
กลายเป็นหนึ่งในรถที่ขายดีที่สุดในแคนาดาในช่วงระยะหนึ่งด้วยซ้ำ
ในยุค 1980s คือยุคที่ Hyundai ใช้กลยุทธ์ด้านราคาในการแข่งขัน
สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดจากรถญี่ปุ่นขนาดตัวเท่ากันได้ระดับหนึ่ง
ช่วงต้นทศวรรษนั้น Hyundai เลิกประกอบ Ford Cortina รุ่นเก่าขาย
แล้วคุยกับ Ford ขอยืมโครงสร้างตัวถังกับพื้นฐานวิศวกรรมมา
จากนั้นก็โทรศัพท์หา Mitsubishi แล้วขอซื้อชุดเครื่องยนต์กับเกียร์มา
แล้วสร้างบอดี้ภายนอกกับดีไซน์ภายในของตัวเองครอบลงไป
โดยอาศัยฝีมือของอาจารย์ Giugiaro คนเดิม
ผลที่ได้คือรถขนาดกลางขับเคลื่อนล้อหลังอย่าง Stellar
ซึ่งถ้าคุณเป็นเด็กจบนอก จากออสเตรเลียในยุค 1980-1990s
คุณต้องเคยเห็นมาบ้างล่ะ แล้วความร้ายแกมยิ้มของเกาหลีก็คือ เมื่อทำ
Stellar เสร็จ ก็ส่งไปอังกฤษ ไปขายแข่งกับ Ford ซึ่งเพิ่งเปลี่ยนรถจาก
Cortina เป็น Sierra แล้วรถของ Hyundai
ก็ทำยอดขายได้ดีระดับหนึ่งด้วยการเอาราคาถูกเข้าช่วย Stellar
ที่มีอุปกรณ์ครบ และมีตัวถังขนาดกลาง มีราคาเท่ากับ Ford Escort
ที่เป็นรถขนาดเล็ก ในภายหลัง รถรุ่นนี้ก็เปลี่ยนชื่อเป็น Sonata
และกลายเป็นรถขนาดกลางของทางค่ายที่ขายดีมาจนทุกวันนี้
การขยายตัวของตลาดรถในยุคนั้น ทำให้ Hyundai มองหาลู่ทางในการสร้างรถรุ่นใหม่ๆ ที่ครอบคลุมตลาดมากขึ้น บางรุ่นอย่างเช่น Grandeur ซึ่งเป็นรถระดับเหนือ Sonata ขึ้นไปนั้น Hyundai ยังเลือกยืมรถ Mitsubishi Debonair มาแปะยี่ห้อของตัวเองขายอยู่เพื่อพยายามแทงกั๊ก Daewoo ซึ่งครองตลาดรถหรูคันโตของเกาหลีอยู่ในขณะนั้น ส่วนในตลาดระดับรถเล็ก ก็มีการพัฒนารถอย่าง Hyundai Excel ที่มีบอดี้ซีดาน กับแฮตช์แบ็ก 3 และ 5 ประตูออกมาแทน Pony เปลี่ยนเป็นระบบขับเคลื่อนล้อหน้าเพื่อความประหยัดน้ำมัน และตามด้วยรถคูเป้อย่าง Scoupe นอกจากนี้แล้ว Hyundai ยังลงทุนสร้างสำนัก Hyundai Design Center ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เพื่อให้ทีมเกาหลี กับอเมริกันทำงานร่วมกัน และศึกษารสนิยม สไตล์ของลูกค้าอเมริกันได้ใกล้ชิดขึ้น ในภายหลังสำนักออกแบบนี้ ก็ย้ายไปอยู่ที่เมือง Irvine
แม้ว่า Excel จะเป็นรถที่ถือว่าขายดีสำหรับผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดอเมริกาในขณะนั้น แต่ความที่ขายรถด้วยกลยุทธ์ด้านราคา บวกกับพลังเครื่องยนต์และดีไซน์ที่จืดชืด ทำให้คนที่เลือกใช้ Hyundai มักถูกล้อเลียน หรือไม่ก็โดนถามว่า “คิดยังไงถึงซื้อ?” ซึ่งการโดน Bully ในลักษณะนี้จะยังมีต่อไปอีกนานกว่าทศวรรษ ฝรั่งมักโจ๊กกันเล่นด้วยการบอกว่า “HYUNDAI” นั้นย่อมาจาก “Hope You Understand that Nothing is Driveable And Inexpensive” (หวังว่าคุณคงจะเข้าใจว่ามันไม่มีรถที่ราคาถูกแล้วขับดีหรอก) แม้กระทั่งหลังเข้าศตวรรษใหม่มา ถ้าใครเคยดู Fast & Furious ภาค Tokyo Drift จะมีฉากหนึ่งที่พี่ฮาน รับพระเอกของเรื่องเข้าทำงานด้วยแล้วโยนกุญแจ Mitsubishi Evolution ให้..พระเอกดีใจ ถามว่า “นี่พี่ให้ผมจริงๆ เหรอ” แล้วพี่ฮานตอบว่า “ก็ให้น่ะสิ ทำไม? แกคิดว่าฉันจะให้แกขับ Hyundai งั้นเหรอ?” นี่ล่ะครับคือคติที่อเมริกันมีต่อ Hyundai
ยุค 90s คือยุคที่ประเทศไทยปรับลดภาษีรถนำเข้าลงอย่างมาก รถหรูที่เคยมีราคา 17-18 ล้านก็กลับเหลือแค่ 5-6 ล้านบาทเพราะภาษีนำเข้าหายไป 3 เท่าตัว การทลายกำแพงภาษีรถนำเข้าของรัฐบาลท่านอานันท์ในยุคนั้น ก็ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงรถนำเข้าแปลกๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้คนไทยบางส่วนตาสว่างทันโลกขึ้น จากเดิมปี 1979 จนถึงราว ปี 1992 คนไทยส่วนมากที่ไม่ได้รวยจัดหรือไม่ได้ทำงานสถานทูต ต้องใช้รถที่ประกอบในประเทศเท่านั้น
สิ่งที่หลั่งไหลเข้ามาพร้อมกับรถนำเข้าสารพัดแบบ
ก็คือการกำเนิดของแบรนด์ Hyundai ภายในประเทศเราครั้งแรก
ซึ่งพระนครยนตรการ ผู้จำหน่าย Opel กับ Holden สมัยนั้น
แตกแขนงส่วนหนึ่งออกมาเป็นบริษัทยูไนเต็ด ออโต้เซลส์ และสั่งนำเข้า
Hyundai มาขาย 3 รุ่น คือ Excel, Elantra และ Sonata ในยุคที่ SUV
ยังไม่เบ่งบานเต็มที่และท้องถนนมีรถ 4 ประตูครอง รถสามรุ่นของ
Hyundai
สร้างรากฐานจนชาวบ้านรู้จัก แม้จะยอดขายไม่เยอะจน Toyota ต้องกำหมัด
แต่ทุกวันที่คุณขับรถออกจากบ้าน จะต้องเห็นอย่างน้อยสัก 2-3 คัน
โดยจุดขายที่ยูไนเต็ด ออโต้เซลส์ พยายามตอกย้ำในสมัยนั้นคือความเป็น
รถนำเข้า + เหล็กตัวถังหนา 0.9 มม. รถทั้งสามรุ่น
มีดีไซน์เป็นของตัวเอง แต่เครื่องยนต์ที่ใช้ ก็ยังหยิบยืมเครื่อง 4
สูบของ Mitsubishi มาใช้อยู่
ในช่วงก่อนฟองสบู่แตก กระแสรถนำเข้าบวกกับความที่คนชอบของแปลก ทำให้ทางยูไนเต็ด ออโต้เซลส์กล้าเอารถคูเป้อย่าง Scoupe (สคูพ) เข้ามาขายด้วย และสร้างยอดขายได้ไม่เลวเลย แม้ว่าพละกำลังเครื่องยนต์จะอ่อนด้อยกว่าคูเป้เล็กค่ายญี่ปุ่น ด้วยตัวเลขแค่ 92 แรงม้าจากพลังเครื่องยนต์ 1.5 ลิตร จนในภายหลัง จึงมีการนำ Scoupe TURBO เครื่อง 115 แรงม้ามาจำหน่ายทั้งเกียร์ธรรมดา และเกียร์อัตโนมัติ นี่ล่ะคือหนึ่งในรถทางตรงขนาดเล็กที่แซ่บใช้ได้ สมัยนั้นถ้าจะฆ่า Scoupe TURBO ในช่วงทางตรงระยะสั้นๆ ได้ ก็ต้องใช้พวกรถญี่ปุ่นเครื่อง 1.8 ลิตร เช่น Lancer GTi หรือ Mazda Astina เท่านั้น
ยุค 90s เป็นยุคที่ Hyundai พยายามปรับตัวเองจากการเป็นรถราคาถูก ให้เป็นรถที่มีคุณภาพและสมรรถนะใกล้เคียงกับรถญี่ปุ่นมากขึ้น แลกกับช่องว่างระหว่างราคาที่ต่างจากรถญี่ปุ่นน้อยลง รถอย่าง Sonata เจเนอเรชันที่ 3 ได้รับการออกแบบให้ดูมีความคมคายขึ้น แม้ว่าจะยังใช้ดีไซน์หลักแอบอนุรักษนิยม ไม่เหมือนกับ Elantra เจเนอเรชันที่ 2 ซึ่งจำหน่ายในเวลาใกล้เคียงกัน แต่มีรูปทรงโค้งมนทันสมัยกว่า ในช่วงนี้ เราจะเห็นผลงานของสำนักออกแบบที่แคลิฟอร์เนียมากขึ้น หลังจากที่เผยโฉมรถต้นแบบ HCD-II พวกเขาคิดว่าจะโอเวอร์ฮอลดีไซน์ของ Hyundai ใหม่ โดยเริ่มอย่างชัดเจนที่สุดกับรุ่น Tiburon ซึ่งเป็นภาษาสเปน แปลว่าฉลาม ด้วยดีไซน์บอดี้รถแบบ Coke-bottle คล้ายรถอเมริกันยุค 70s บวกกับลักษณะการออกแบบรถให้ดูเหมือนเสือกระโจน Tiburon ในปี 1996 นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกตาล้ำหน้าคู่แข่งจากญี่ปุ่นไปอีกขั้น พิสูจน์ให้โลกเห็นว่า ถ้าเป็นเรื่องการออกแบบ ในวันนั้น Hyundai กล้าสู้ฝั่งญี่ปุ่นได้แล้ว
หลังจากนั้นเพียงไม่นาน ก็เกิดพิษฟองสบู่แตกและวิกฤติการเงินในภูมิภาคเอเชียที่ส่งผลไปทั่วโลก Hyundai ในช่วงนี้อยู่ในวาระสำคัญ Chung Ju-Yung ตัดสินใจส่งอำนาจต่อให้กับบุตรชาย Chung Mong-Koo โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1998 Chung Mong-Koo ก็อายุไม่น้อยแล้วนะครับ ในวันที่รับตำแหน่ง เขาอายุ 60 ปี! ถ้าเป็นคนไทยก็เกษียณเกษมสุขไปแล้ว แต่สำหรับเขา งานหนักเพิ่งมาตอนนี้ นอกจากการซื้อและควบรวมกิจการของ KIA เข้ามาอยู่ชายคาเดียวกัน Mong-Koo ยังตั้งเป้าหมายที่จะลบล้างภาพลักษณ์เก่าๆ ที่คนทั้งโลกมีต่อ Hyundai ปรับโครงสร้างองค์กร ปรับวิธีบริหารงานใหม่ และยังทำสิ่งที่ไม่มีใครเคยทำ คือ “ทำให้รถของ Hyundai ใช้งานได้ยาวนานแบบสุดๆ” (แน่นอนว่าทำภายใต้ความเป็นไปได้ และต้นทุนที่พอ)
ในปี 1999 Hyundai USA อัดแคมเปญโฆษณา ท้ารับประกันคุณภาพ 10 ปี/100,000 ไมล์ (160,000 กิโลเมตร) ในขณะที่รถอเมริกันกับญี่ปุ่นสมัยนั้นส่วนมาก 3-5 ปีก็หรูแล้ว และในปี 1999 ก่อนเริ่มนโยบายนี้ Hyundai ในอเมริกา เป็นที่รู้กันว่าพังเก่ง Defect เยอะ
Mong-Koo บังคับใช้นโยบาย “Zero Defect” ให้ทุกแผนกที่มีส่วนในการสร้าง ช่วยกันคิดหาวิธีที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายในด้านคุณภาพ นอกจากนั้น เขายังให้เป้าหมายด้วยว่า ภายในสิบปี Hyundai จะต้องก้าวเป็นผู้ผลิตรถอันดับ 5 ของโลก และภายในปี 2005 เรตติ้งด้านคุณภาพของ Hyundai ต้องชนะ Toyota! โดยที่ Mong-Koo ผู้ซึ่งพยายามทำตัวเป็นทาคุมิคุณภาพ เข้าไปดูงานที่โรงงานเอง รถคันไหนที่กำลังสร้าง เขาจะไปดูแต่ละชิ้นส่วนแล้วบอกว่าตรงไหนต้องปรับเพิ่ม อย่างเช่นชิ้นส่วนคันเกียร์อัตโนมัติ รถ Hyundai จะต้องมีแผ่นพลาสติกปิด ไม่เผยร่องเกียร์ให้เห็นข้างใน เพราะในชีวิตการใช้งาน ลูกค้ามีการดื่ม/กินอาหารบนรถ จะต้องออกแบบชิ้นงานเพื่อกันไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปติดข้างใน ครั้งหนึ่ง Mong-Koo เข้าไปดูไลน์ผลิตรถ Sonata รุ่นใหม่ และทีมประกอบรายงานว่า ณ จุด Final Check นั้น รถยังมีโอกาสเกิด Defect แบบไม่หนักหนาได้ 50 รายการหลังผลิตออกไป (ซึ่งถือว่าปกติมากสำหรับมาตรฐานอเมริกัน) Mong-Koo สั่งให้ “แก้ให้หมด” ซึ่งทางโรงงานบอกว่า ถ้าจะแก้ กำหนดเปิดตัว และทุกอย่างจะต้องถูกเลื่อนไป 2 เดือน Mong-Koo ยักไหล่แล้วบอกว่า “เลื่อนก็เลื่อนสิวะ”
ถ้าคุณไปที่โรงงานผลิต Hyundai ในเกาหลี แล้วเขายอมให้เยี่ยมชม คุณจะเห็นไลน์ผลิตประกอบตัวถังมีกระจกเงาเรียงเป็นแถวยาว ในมุมอับบางส่วนของสายพานการผลิต กระจกนั้นมีไว้เพื่อให้คนทำงานสามารถส่องตรวจความเรียบร้อยของการขันนอตในจุดที่มองเห็นได้ยาก แต่เดิมทีมโรงงานพยายามคิดหาวิธีตรวจสอบโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่แพงมหาศาล แต่พนักงานคนหนึ่งคิดได้ขณะยืนโกนหนวดอยู่ในห้องน้ำ
ในด้านการบริหาร Mong-Koo สั่งให้ปรับให้ราบ พนักงานผู้น้อย ต้องเข้าถึงบอสระดับสูงได้ง่าย มีการจัดให้ระดับบิ๊กๆ ไปนั่งดื่มกาแฟถกกับลูกน้องระดับล่างๆ ในห้องส่วนตัว เปิดโอกาสแต่ละคนในการให้ความเห็น อีกทั้งยังปรับขั้นตอนในการทำงานโดยมีความเชื่อว่า ถ้าคุณต้องให้ผู้บริหารระดับสูงที่วันๆ ต้องรับสารพัดเรื่อง มานั่งอนุมัติทุกเรื่อง ก็จะทำงานได้ช้า การตัดสินใจในเรื่องใดๆ ก็ตาม ให้ใช้คนที่ “รู้เรื่อง” แค่ 4-5 คนบอกว่าจะ “ทำหรือไม่ทำ” ถ้าคิดว่าทำ ให้ลงมือเดินเรื่องไปเลย แล้วในระหว่างเดินเรื่อง ค่อยๆ ดึงคนที่จำเป็นเข้ามาช่วยตบกลบปัญหาที่พบในจุดต่างๆ ทำไปเรื่อยๆ จนงานเสร็จ ว่ากันว่าขั้นตอนอนุมัติใดๆ ที่ GM ใช้เวลา 1 ปี Toyota ใช้เวลา 3 เดือน Hyundai จะใช้เวลาแค่ 7 วันในการทำเรื่องให้จบ เพราะเขาไม่ได้ให้คนมีอำนาจที่ไม่รู้เรื่องตัดสินครับ เขาให้คนที่รู้เรื่องและเก่งด้านนั้นที่สุด ตัดสินมา แล้ว Hotline หา Mong-Koo เลยถ้ามีอะไรติดขัด
การทำงานแบบนี้ สร้างความเครียดให้อย่างมาก ฝรั่งอเมริกันที่เคยมาทำงานที่ Hyundai ในเกาหลีตกใจมากเมื่อรู้ว่าพนักงานเกาหลีมาทำงานกันตั้งแต่ 7 โมงเช้า และกลับบ้านสี่ทุ่ม โดย Mong-Koo
เซ็นอนุมัติให้บริษัทเป็นธุระจัดหากาแฟ อาหารเย็นและอาหารมื้อค่ำให้ฟรีเพื่อเป็นกำลังใจให้คนทำงานดึก ด้วยการทำงานอย่างหนักของทุกภาคส่วน ภายใน 5 ปี Hyundai ขยับจากรถที่พังเมื่อไหร่ก็ได้ กลายเป็นรถที่ J.D. Power จัดอันดับให้เป็นรถที่มีความน่าเชื่อถืออันดับ 2 เคียงข้าง Honda และตามหลังแค่ Toyota
นอกจากเรื่องคุณภาพแล้ว
เรื่องการออกแบบก็เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาไปเช่นกัน จะสังเกตได้ว่า
Hyundai ที่ขายช่วงหลังปี 2000 จนถึง 2005 หลายรุ่น
หน้าตาบางรุ่นถือว่าเห็นแล้วไม่มีความสุขใดๆ ในชีวิต
แต่เพราะคุณภาพต้องมาก่อน รถดีต้องไม่พัง
รถที่ดีกว่านั้นคือต้องสวยและไม่พัง ก็เลยใช้เวลาสักพักกว่าจะปรับตัว
Mong-Koo จัดให้แต่ละฝ่าย รวมถึงฝ่ายออกแบบ กับฝ่ายวิศวกร
และฝ่ายบัญชี ต้องมีการนัดพบกันทุก 2 สัปดาห์ แล้วเอา Project
รถที่กำลังพัฒนามาคุยกันว่า ทำอย่างไร จึงจะได้ทั้งรถที่รูปทรงเก๋
มีโอกาสในการเกิดปัญหา Defect ต่ำ และผลิตได้ในต้นทุนที่ไม่บ้าบอเกิน
คุณจะเห็นได้ว่า ถ้าเอา Hyundai ช่วงเปลี่ยนศตวรรษ มาเทียบกับรถปี
2008-2012 แล้ว หน้าตาเปลี่ยนไปเหมือนมาจากคนละค่าย
แต่ก็ตามประสาคนระดับท็อปๆ ล่ะครับ ปี 2006 Mong-Koo
เองก็โดนเล่นงานข้อหาคอร์รัปชัน
ซึ่งก็คือการขายหุ้นในราคาต่ำกว่าตลาดกำหนดให้ลูกชายของตัวเอง
ซึ่งมูลค่าความเสียหายตรงนี้ประมาณ 106 ล้าน US Dollar
จึงมีคำสั่งห้ามออกนอกประเทศ แต่ Mong-Koo กลับเดินทางออกจากเกาหลี
จนทำให้ถูกจับในปี 2008 ที่ไทยนั้น ถ้าผู้บริหารระดับนี้โดนจับ
แป๊บเดียวก็ประกันตัวออกมาได้ แต่ในกรณีของ Mong-Koo
ศาลตัดสินให้พ้นผิด เพราะศาลมองว่า การที่เอาคนอย่างนี้มาขัง
เงินตราที่ประเทศเกาหลีจะกินได้จากผลงานของ Hyundai จะหายไปเยอะมาก
ส่งผลกระทบมากกว่ามูลค่าของเงินที่ Mong-Koo ถูกตั้งข้อหา นั่นล่ะครับ
ลุงแกเลยออกมาจากคุก
แล้วก็ทำหน้าที่ผู้บริหารเป็นประธานบอร์ดบริหารควบกับ CEO
ยาวไปจนถึงปี 2020 นั่นล่ะ ค่อยยกตำแหน่งให้ลูกชายแกต่อ
แต่ในระหว่างที่ลุง Mong-Koo แกป้วนเปี้ยนอยู่ระหว่างศาลกับบ้านนั้น ผลิตผลจาก Hyundai ในยุคเฟื่องฟู ก็มีรถอย่าง Genesis Sedan และ Genesis Coupe ซึ่งตัวซีดานนั้น เป็นรถขับหลังขนาดตัวไม่เล็กนัก ใหญ่กว่า E-Class แต่เล็กกว่า S-Class ส่วนตัว Coupe นั้น ขับหลังเหมือนกัน แต่พื้นฐานแตกต่างกัน เจ้า 2 ประตูนี้จะทำมาเพื่อแข่งกับ Nissan Skyline และสปอร์ตขับหลังของญี่ปุ่น แรงบันดาลใจของการสร้างรถขับหลังสไตล์นี้ออกมา ก็เพื่อลบข้อครหาครับ ฝรั่งเคย Bully ว่า Hyundai ขับแล้วพัง ขับไม่ได้ พอ
Hyundai แก้ปัญหาเรื่องคุณภาพได้ ฝรั่งก็ไป Bully ต่อว่า ถึงขับได้ ก็ขับไม่สนุก Hyundai เลยไปฉกเอาวิศวกรระดับกลางๆ จากค่ายยุโรปที่โลโก้คล้ายพัดลมขาวๆ ฟ้าๆ นั่นล่ะ มาช่วยสร้างรถให้ Genesis Coupe ขับหลัง เปิดตัวมาก็ดริฟต์โชว์เลย แล้วยังเอาวิดีโอที่อัดรถรอบสนามหลายไฟล์ ยัดไปบนเว็บไซต์ แล้วเปิดให้ผู้คน เอาคลิปเหล่านี้มาเรียงมาตัดตามสไตล์ตัวเอง ชิงรางวัลกันอีกต่างหาก ส่วน Genesis Sedan นั้น ก็เป็นรถรุ่นแรกของ Hyundai ที่วางเครื่อง V8 บล็อก Tau ซึ่ง Hyundai ผลิตเอง มีความจุ 4.6 ลิตร ให้พลังถึง 375 แรงม้า ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์รถเกาหลีที่รถเก๋งสักคันจะมีพลังขนาดนี้ ด้วยส่วนผสมของประสิทธิภาพ คุณภาพ กับราคา และความปลอดภัยที่ทดสอบชนในอเมริกาโดย NHTSA แล้วได้ 5 ดาวทุกหัวข้อ ทำให้ Genesis Sedan ได้รางวัล North American Car of The Year 2009
ในปี 2009 นั้นเอง เกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในอเมริกาที่ทำให้คนตกงานจำนวนมาก ความไวในการทำงานของ Hyundai ทำให้ทีม Hyundai USA ใช้เวลาเพียงแป๊บเดียว ก็ออกแคมเปญ Hyundai Assurance ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจในการซื้อรถ โดยถ้าหากว่าลูกค้าซื้อรถของ Hyundai ไป แล้วปรากฏว่าตกงานโดยมิใช่การอาสาลาออกเอง ภายในเวลา 1 ปีนับจากการซื้อรถ ลูกค้าสามารถเอารถมาคืนได้โดยไม่ต้องผ่อนส่วนที่เหลือ ซึ่งเป็นแคมเปญที่ทำให้ลูกค้าหลายคนหันมาให้ความสนใจรถเกาหลีอย่างมากภายใต้ภาวะเงินหายาก
สิ่งที่เกิดขึ้นจากวันนั้น จนปัจจุบัน จริงๆ แล้วอยากจะเล่าต่อ แต่เนื้อที่หน้ากระดาษจะหมดลงเสียก่อน แต่นี่ก็คือประวัติเรื่องเล่าแบบคร่าวๆ ของ Hyundai นับจากวันก่อตั้ง มาจนถึงช่วง 2009 ครับ ทิศทางในอนาคตของ Hyundai ชัดเจนว่า มีการเปลี่ยนโฟกัส จากเรื่องคุณภาพ ไปสู่เรื่องการออกแบบทั้งภายนอกภายใน ซึ่งคนเริ่มก็คือตาลุง Mong-Koo แกทิ้งเป็นมรดกไว้ให้ก่อนวางมือ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการก้าวเข้าสู่โลกของรถ EV อย่างเต็มขั้น ซึ่งในความทันสมัย กับแนวคิดการทำงานแบบ Hyundai ก็ทำให้น่าสนใจ น่าติดตามชมอย่างมากว่า Hyundai Mobility ซึ่งจะผงาดสู่สาธารณชนชาวไทยครั้งแรกในงาน Bangkok International Motor Show 2023 นี้ จะมีอะไรมาให้เราดูกันบ้าง..ต้องคอยติดตามชมกันครับ.
Pan Paitoonpong
คุณกำลังดู: ส่องประวัติ Hyundai ค่ายรถเกาหลีจากวันที่ฝรั่งยี้จนทั่วโลกยอมรับ
หมวดหมู่: รถยนต์
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ส่องมือสองน่าสน Honda Civic Turbo RS Sedan (FC) พ่อบ้านหนุ่มเท้าไฟ แต่งง่าย เพื่อนเยอะ
- ส่องประวัติ Hyundai ค่ายรถเกาหลีจากวันที่ฝรั่งยี้จนทั่วโลกยอมรับ (ตอนที่ 2)
- รถยนต์ไฟฟ้า HYUNDAI IONIQ 5 เตรียมทำตลาดในไทยโดย HYUNDAI MOBILITY THAILAND
- เยี่ยมสำนักงานใหญ่ Hyundai ในโซล ส่องตัวเป็นๆ ผีน้อย Casper ครอสโอเวอร์สุดน่ารักแห่งแดนกิมจิ