รถยนต์ไฟฟ้า HYUNDAI IONIQ 5 เตรียมทำตลาดในไทยโดย HYUNDAI MOBILITY THAILAND

Motor Show 2023 ShHyundai Mobility Thailand เตรียมความพร้อมเปิดตัวและราคามินิเอมพีวี Stargazer ในงาน คาด รถยนต์ไฟฟ้า Ioniq 5 เข้าทำตลาดในไทยปลายปีนี้

รถยนต์ไฟฟ้า HYUNDAI IONIQ 5 เตรียมทำตลาดในไทยโดย HYUNDAI MOBILITY THAILAND

Hyundai Motor Group และ Hyundai Mobility Thailand เชิญสื่อมวลชนไทยเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนายานยนต์ Namyang R&D Center และ Hyundai Motor Studio สถานที่จัดแสดงรถยนต์รุ่นใหม่และนวัตกรรมยานยนต์ของ Hyundai ในโซล เกาหลีใต้ ถือเป็นการเยือนเกาหลีในรอบ 10 ปี ของสื่อมวลชนสายยานยนต์ของไทย หลังจากที่เคยเชิญนักข่าวไปเยี่ยมชมโรงงานและสำนักงานใหญ่เมื่อปี 2011 หลังจาก Hyundai Mobility (Thailand) บริษัทแม่จากเกาหลีใต้ เตรียมความพร้อมสำหรับการเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย และเตรียมเปิดตัวรถ 5 รุ่นใหม่ ภายในปีนี้ ล่าสุดในงาน Motor Show 2023 บางกอก อินเตอร์เนชันแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44 แบรนด์ Hyundai จะทำการเปิดตัวรถมินิเอมพีวีประกอบอินโดนีเซีย Hyundai Stargazer สำหรับยานยนต์พลังงานไฟฟ้าที่จะตามเข้ามาก็คือ Hyundai IONIQ 5 กับเอสยูวีรุ่นขายดีในเกาหลีอย่างHyundai Palisade รุ่นปรับโฉม 2023 สำหรับทุนจดทะเบียนของแบรนด์ Hyundai อยู่ที่ 601,000,300 บาท คาดว่า จะมีการขยายโชว์รูมและศูนย์บริการเพิ่มเติม เพื่อรองรับยานยนต์รุ่นใหม่ที่จะเอาเข้ามาขายทั้งในปีนี้และต่อไปในอนาคต

Hyundai ยังมองไปถึงความเป็นไปได้ ในการตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย หรือใช้วิธีนำเข้าจากประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีโรงงานของ Hyundai ตั้งอยู่ ซึ่งจะได้ลดภาษี AFTA

Hyundai Ioniq 5


รถยนต์ไฟฟ้า Ioniq 5 รุ่นเริ่มต้น มีราคาในอังกฤษอยู่ที่ 36,995 ปอนด์ (ประมาณ 1,542,000 บาท) Ioniq 5 มีแบตฯ สองระดับความจุให้เลือก ส่วนทางเลือกของระบบขับเคลื่อน มีทั้งมอเตอร์คู่ AWD และมอเตอร์ไฟฟ้าวางอยู่ด้านหลังเพื่อขับเคลื่อนล้อหลัง กำลัง 168 แรงม้า รุ่นเริ่มต้นมีพลังไฟจากแบตเตอรี่ขนาด 58kWh ซึ่งใช้งานได้ดีในระยะทาง 380 กิโลเมตรต่อการชาร์จจนเต็มหนึ่งครั้ง รุ่นกลางติดตั้งแบตเตอรี่ขนาด 73kWh ระยะทางเพิ่มเป็น 470 กิโลเมตร กำลังของมอเตอร์ เพิ่มขึ้นเป็น 215 แรงม้า หรือเลือกรุ่นสูงสุด ด้วยมอเตอร์ตัวที่สองที่อยู่ด้านหน้า ผสมผสานการทำงานกับมอเตอร์หลัง มีกำลังรวม 300 แรงม้า และอัตราเร่ง 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงใน 5.2 วินาที ช้ากว่า Porsche 718 Cayman แค่ 0.5 วินาที

การเดินทางไปที่ Namyang R&D Center ซึ่งเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งอนาคตของ Hyundai-Kia เป็นการแนะนำและให้ข้อมูลเกี่ยวกับแผนงานดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างเต็มตัว หลังจากมีรถขายเพียงแค่ไม่กี่รุ่นในโชว์รูม การเข้ามาทำตลาดอย่างเต็มรูปแบบจะทำให้รถยนต์ Hyundai มีรุ่นที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น เมื่อเดินทางมาถึง Namyang R&D Center วิศวกรของ Hyundai ได้ทำการแนะนำยานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติระดับที่ 4 ซึ่งเป็นระดับที่รถยนต์สามารถขับเคลื่อนด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาการควบคุมของมนุษย์อีกต่อไป

Hyundai Motor Group ได้เปิดตัวบริการขับขี่อัตโนมัติระดับ 4 นำร่องในเมือง Sejong และศูนย์วิจัยและพัฒนา Namyang ในปี 2564 ในปี 2565 มีการขยายบริการนำร่องไปยัง Gangnam และ Pangyo ล่าสุด Hyundai กำลังดำเนินการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อขยายบริการระบบขับขี่อัตโนมัติระดับ 4 เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง

การขับขี่อัตโนมัติระดับ 4 หมายความว่ายานพาหนะถูกขับเคลื่อนโดยระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติจากพื้นที่เฉพาะในใจกลางเมืองไปยังจุดหมายปลายทางที่ผู้โดยสารต้องการ ด้วยบริการนำร่องการขับขี่อัตโนมัติในปัจจุบัน ลูกค้าสามารถเรียกรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติผ่านอุปกรณ์เคลื่อนที่ (โทรศัพท์มือถือ) จากนั้นรถจะไปตามเส้นทางการเดินทางที่เหมาะสมที่สุด เพื่อไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ

บริการนำร่องการขับขี่อัตโนมัติระดับ 4 กำลังดำเนินการในศูนย์วิจัยและพัฒนา Gangnam, Pangyo และ Namyang โดยมี IONIQ5 ใน Gangnam และยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ Solati ในศูนย์ R&D Pangyo และ Namyang การใช้งาน ขึ้นอยู่กับสภาพถนนและข้อมูลประชากรของลูกค้าในแต่ละพื้นที่ เทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติจะนำความปลอดภัยและความสะดวกสบายมาสู่มนุษย์ เช่นเดียวกับ เทคโนโลยีระบบความปลอดภัย ADAS ช่วยทำให้การใช้งานยานพาหนะมีความสะดวกสบายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

Hyundai Motor Group ยังสานต่อตำแหน่งผู้ผลิตยานยนต์ EV ระดับโลก โดยทุ่มทุนวิจัยและพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้าและพลังงานไฮโดรเจน เพื่อเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าผ่านยานยนต์ EV /FCEV ที่พัฒนาขึ้นเองทั้งหมด ด้วยซอฟต์แวร์ใหม่ นำไปสู่การเปลี่ยนระบบของบริษัท สู่ระบบที่มีซอฟต์แวร์เป็นศูนย์กลาง ทำให้มีความสามารถในการพัฒนา Software Defined Vehicle (SDV) ในระดับสูงสุด

การเริ่มต้นธุรกิจใหม่ (เช่น เข้ามารุกตลาดรถยนต์ของไทยอย่างเต็มตัวในปีนี้) เพื่อเสริมสร้างกลไกขับเคลื่อนรองรับการเติบโตในอนาคต รวมถึงการขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ การเคลื่อนที่ในอนาคตทั้งทางบกและในอากาศ วิทยาการหุ่นยนต์ และพลังงานใหม่

ผู้บริหารระดับสูงของ Hyundai Motor Group แจ้งว่า การสร้างความไว้วางใจให้กับลูกค้า สังคม และสมาชิกภายในองค์กรมีความสำคัญ โดยเน้นถึงความคิดริเริ่มใหม่ เพื่อก้าวกระโดดผ่านการเปลี่ยนแปลงเชิงรุก การเปลี่ยนแปลงอาจไม่สะดวกสบายเสมอไป แต่การออกจากโซนความสะดวกสบาย เป็นก้าวที่ถูกต้องสู่การเติบโตและความมั่นคง องค์กรอย่าง Hyundai มีโครงสร้างในลักษณะที่สะท้อนมุมมองของพนักงานรุ่นใหม่ ในกระบวนการตัดสินใจ ทั้งการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ความคิดริเริ่มในการค้นหายานพาหนะที่เหมาะสมกับอนาคตที่กำลังจะมาถึงและการลดการปล่อยคาร์บอน

ความทันสมัยไฮเทคของศูนย์วิจัยและพัฒนายานยนต์ รวมถึงสถานที่สำคัญอย่างสำนักงานใหญ่ของ Hyundai สะท้อนให้เห็นถึงเจตจำนงของผู้บริหาร ในการรับมือกับความท้าทายด้านการแข่งขันที่กำลังเกิดขึ้น การเปลี่ยนแปลงพลังงานขับเคลื่อนจากเครื่องยนต์ไปเป็นมอเตอร์ไฟฟ้า กลายเป็นแนวคิดหลักที่มีการผสมผสานกันระหว่างเทคนิคใหม่ของการออกแบบกับระบบส่งกำลังไฟฟ้า สำนักงาน R&D Namyang จึงเป็นศูนย์กลางสำหรับงานดีไซน์ การออกแบบใหม่ๆ เทคนิคล่าสุดของระบบขับเคลื่อนและระบบอินโฟเทนเมนต์ที่สำคัญของ Hyundai-Kia มีการพัฒนายานพาหนะและเทคโนโลยีที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ Hyundai สำหรับเครื่องยนต์และระบบส่งกำลังทั้งไฟฟ้าและไฮโดรเจน ปัจจุบัน ศูนย์ R&D แห่งนี้กลายเป็นกระดูกสันหลังของ Hyundai Motor Group เพื่อคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ สำหรับการขับเคลื่อนนวัตกรรมที่เน้นคุณภาพและการเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตของ Hyundai

ปีที่แล้ว (2022) รถยนต์สองคันที่ใช้แพลตฟอร์ม E-GMP เป็นรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบของ Hyundai โดยเฉพาะ รุ่น IONIQ 5 และ EV6 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับรางวัล 'World Car of the Year' และ 'European Car of the Year' เป็นหนึ่งในรถยนต์ไฟฟ้าที่ติด 5 อันดับแรกของรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับความนิยมทั่วโลก แสดงให้เห็นถึงการเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จ ในการเปลี่ยนถ่ายไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าของ Hyundai ในปี 2023 Hyundai กำลังเร่งพัฒนาและจัดหายานพาหนะนวัตกรรมใหม่ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งผู้นำในตลาด EV ทั่วโลก เพื่อนำพาการเปลี่ยนไปสู่การใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้

E-GMP – แพลตฟอร์ม Electric Global Modular Platform – เปิดศักราชใหม่ให้กับยานยนต์พลังงานสะอาดของ Hyundai Motor Group แพลตฟอร์มเฉพาะนี้สร้างมาเพื่อยานยนต์ไฟฟ้า EV โดยเฉพาะ ประกอบด้วยแชสซีของรถ ชุดแบตเตอรี่ ชุดมอเตอร์ขับเคลื่อน และระบบไฟฟ้ากำลัง ฐานล้อที่ปรับขนาดได้อย่างยืดหยุ่น ทำให้ Electric Global Modular Platform กลายเป็นแกนหลักของรถยนต์ไฟฟ้าหลายรูปแบบ แพลตฟอร์ม E-GMP เปลี่ยนวิธีการของ EV เน้นการตอบสนองต่อการควบคุม จุดศูนย์ถ่วงต่ำและปรับเปลี่ยนขนาดของรถได้อย่างหลากหลาย E-GMP ติดตั้งแบตเตอรี่ความจุสูง สามารถขับได้ไกล 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้งระบบชาร์เร็วของแพลตฟอร์ม E-GMP ใช้เวลาชาร์จ 18 นาที จนแบต เต็ม มาพร้อมความสามารถในการชาร์จ 800V ทำให้สามารถชาร์จได้เร็วเป็นพิเศษ ด้วยเวลาชารา์จไฟเพียงห้านาที แบตเตอรี่สามารถเก็บไฟสำหรับทำระยะทาง 100 กิโลเมตร สามารถชาร์จด้วยเครื่องชาร์จ 400V หรือ 800V โดยไม่ต้องปรับอะไรทั้งสิ้น แพลตฟอร์ม E-GMP ได้รับการปรับแต่งเฉพาะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เมื่อไม่มีเครื่องยนต์หรือเพลาขับ สัดส่วนจึงแตกต่างกันอย่างมาก ห้องโดยสารมีพื้นที่กว้างและแบนราบกว่าเดิม สามารถปรับงานการตกแต่งภายในให้ตรงกับความต้องการส่วนบุคคลเป็นรถยนต์ไฟฟ้าที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้งาน

Hyundai Motor Group วางแผนงานเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ ในตลาดโลกปี 2023 ตั้งแต่รุ่นเล็กไปจนถึงรุ่นเรือธง เช่น รถ SUV ไฟฟ้า EV9 ของ Kia รวมถึง Ray EV และ Hyundai Kona EV เพื่อขยายตลาดยานยนต์พลังงานสะอาดให้แพร่หลายทั่วโลก มอบประสบการณ์ EV ที่หลากหลายแก่ลูกค้า เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับตำแหน่งแชมป์ยอดขายในตลาด EV ทั่วโลก

ความสำคัญของซอฟต์แวร์ “ระบบของบริษัท รวมถึง R&D ต้องได้รับการอัปเกรดเพื่อให้เกิด 'การเปลี่ยนแปลงที่เน้นใช้งานซอฟต์แวร์เป็นหลัก' ซึ่งจะช่วยรักษาความสามารถในการผลิตยานพาหนะที่กำหนดโดยซอฟต์แวร์ (SDV) ได้อย่างไร้ที่ติ เป็นผู้นำในการแข่งขันระดับโลกของยานยนต์ไฟฟ้ายุคใหม่ ถือเป็นความพยายามเชิงกลยุทธ์ของ Hyundai Motor Group ในการนำเสนออิสระของการเคลื่อนที่ที่สะดวกสบาย ประสบการณ์ผู้ใช้ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ให้กับลูกค้า ด้วยการเปลี่ยนโมเดลทั้งหมดให้เป็น SDV ภายในปี 2568

Hyundai-Kia จะใช้ฟังก์ชันการอัปเดตซอฟต์แวร์แบบ Over-The-Air (OTA) กับรถทุกรุ่นที่ขายในตลาดโลกภายในปี 2568 และให้บริการส่วนบุคคล เช่น การอัปเดตซอฟต์แวร์และการสมัครสมาชิก ด้วยการสร้างแพลตฟอร์มข้อมูล เชื่อมต่อและประมวลผลข้อมูลต่างๆ ที่สร้างขึ้นตลอดวงจรชีวิตการใช้งานรถยนต์ของลูกค้า เพื่อให้บริการที่ดีอย่างต่อเนื่อง แผนงานสำหรับธุรกิจใหม่ เช่น สร้างระบบขับขี่อัตโนมัติ เพื่อการเคลื่อนที่ในอนาคต วิทยาการหุ่นยนต์ พลังงาน และวัสดุศาสตร์ใหม่ เพื่อรักษากลไกการเติบโตในอนาคต เทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติของ Hyundai มีการวางแผนที่จะเปิดตัวรถยนต์รุ่นที่สามารถขับขี่ด้วยระบบอัตโนมัติระดับ 3 บนทางหลวงในเกาหลีรวมถึงการวางแผนขายหุ่นยนต์แท็กซี่พร้อมระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติระดับ 4 ในอเมริกาเหนือ

ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2566 Hyundai Mobility จะแนะนำแบรนด์หรู Genesis G90 และ Kia EV9 ที่ติดตั้งฟีเจอร์ Highway Driving Pilot (HDP) ความสามารถในการขับเคลื่อนด้วยตัวเองระดับ 3 นี้ สามารถใช้งานบนทางหลวง ทางด่วนแบบไฮเวย์ และถนนในชนบท สำหรับยานพาหนะรุ่นใหม่ ถือเป็นก้าวแรกสู่การขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบ ซึ่งผู้ขับสามารถควบคุมยานพาหนะได้เฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินเท่านั้น นอกจากนี้ Motional ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนด้านเทคโนโลยีการขับขี่อัตโนมัติของกลุ่มบริษัทกับ Aptiv จะร่วมมือกับบริษัทแชร์รถ รวมถึง Uber ในสหรัฐอเมริกาเพื่อจำหน่ายหุ่นยนต์นักขับด้วยระบบอัตโนมัติระดับ 4 ในรถยนต์ไฟฟ้า IONIQ 5 ที่ทำงานโดยไม่ต้องมีคนขับ

สำหรับการขับเคลื่อนในอนาคต Hyundai นำยานพาหนะที่สร้างขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ (PBV) เข้าสู่ตลาดที่ตอบสนองความต้องการด้านการเคลื่อนที่ของผู้คนและสิ่งของต่างๆ นอกจากนี้ จะพัฒนาอากาศยานต้นแบบ (โดรนขนส่ง) ด้วยโครงการ Advanced Air Mobility (AAM) ในฐานะผู้ให้บริการด้านการเคลื่อนที่ยุคใหม่ หลังจากเปิดตัวครอสโอเวอร์ PBV Niro Plus ของ KIA เมื่อปีที่แล้ว Hyundai Motor Group วางแผนที่จะขยายจำนวนยานยนต์ PBV เพิ่มเติมในปีนี้ และจะเปิดตัว PBV เฉพาะที่ใช้แพลตฟอร์มไฟฟ้าแบบสเกตบอร์ดภายในปี 2568 Hyundai Motor Group ยังเร่งพัฒนาอากาศยานขนส่งระยะสั้นหรือ AAM โดยลงนามบันทึกข้อตกลงหรือ MOU กับพันธมิตรรายใหญ่ เช่น Rolls-Royce และ Safran

ด้านวิทยาการหุ่นยนต์ Hyundai Motor Group กระชับความร่วมมือระหว่าง Robotics Lab, Boston Dynamics และ BD-AI Institute เพื่อจัดหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อมนุษย์ ซึ่งสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีและความสะดวกสบายของมนุษยชาติด้วยหุ่นยนต์ช่วยเหลือมนุษย์รุ่นใหม่ล่าสุด Hyundai Motor Group ก่อตั้งสถาบัน Boston Dynamics AI เมื่อปีที่ผ่านมา (2022) โดยมีแผนที่จะมุ่งไปที่การเติมความสามารถของระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ระดับสูง เพื่อสร้างการทำงานร่วมกันในพื้นที่ธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคต รวมถึงการเชื่อมต่อกับวิทยาการหุ่นยนต์

สำหรับยานยนต์พลังงานเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ELEC CITY Fuel Cell รถบัสโดยสารพลังงานไฮโดรเจน FCEV เมื่อเติมไฮโดรเจนเต็มความจุ สามารถวิ่งได้สูงสุด 474 กิโลเมตร (ขึ้นอยู่กับการขับขี่ด้วยความเร็วคงที่)รถบัสโดยสารคันโตที่นำมาสาธิตการเติมไฮโดรเจน ติดตั้งระบบเซลล์เชื้อเพลิง 180kW ที่พัฒนาขึ้นเองโดยวิศวกรของแบรนด์ ความจุถังไฮโดรเจน 845ℓ ซึ่งใหญ่ที่สุดในกลุ่มรถบัสไฮโดรเจน แบตเตอรี่ 78.4kWh ทำให้เหมาะสำหรับเส้นทางที่มีการจราจรติดขัดบ่อยครั้ง สามารถขับทางไกล ขับบนทางขึ้นเขาที่ต้องมีการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าปกติ เมื่อขับเคลื่อนด้วยความเร็วคงที่ ELEC CITY สามารถเดินทางได้ไกลถึง 474 กิโลเมตร ประสิทธิภาพการทำงานของมอเตอร์ขับเคลื่อน มีการใช้มอเตอร์ไฟฟ้าของค่าย ZF เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านแรงบิด

ระบบเซลล์เชื้อเพลิงประยุกต์ที่ขับเคลื่อนด้วยการสร้างกระแสไฟฟ้าผ่านปฏิกิริยาเคมีที่เกิดจากการรวมไฮโดรเจนและออกซิเจนที่กักเก็บไว้ในอากาศ นอกจากนี้ ประสิทธิภาพพลังงานที่โดดเด่นและความปลอดภัยของถังไฮโดรเจนที่ผ่านการทดสอบการขับขี่ การทดสอบการตกกระแทกของถังไฮโดรเจน การทดสอบในอุณหภูมิสูงมาก ทดสอบเปลวไฟ และยิงทดสอบความแข็งแกร่งของถังเชื้อเพลิงด้วยปืนไรเฟิล

โมเมนตัมของการเปลี่ยนผ่าน ถ่ายเทไปที่รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยกำลังตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นจากภาครัฐและเอกชนที่ร่วมมือกัน แรงจูงใจทางการเงิน จากการสนับสนุนของรัฐบาล เทคโนโลยียุคหน้าขั้นสูงที่ปลอดภัย เสถียร และเชื่อถือได้มากขึ้น จะทำให้ Hyundai เติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งในตลาดโลกและในประเทศไทย.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

คุณกำลังดู: รถยนต์ไฟฟ้า HYUNDAI IONIQ 5 เตรียมทำตลาดในไทยโดย HYUNDAI MOBILITY THAILAND

หมวดหมู่: รถยนต์

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด