ส่องเทคนิคม้าลำพองเปิดประทุนรุ่นใหม่ FERRARI ROMA SPIDER
FERRARI ROMA SPIDER เครื่อง V8 เทอร์โบคู่ 620 แรงม้า 760 นิวตันเมตร 0-100 ใน 3.4 วินาที ท็อปสปีด 320 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เปิดรับจองในไทยแล้ว
Ferrari Roma Spider ซุปเปอร์คาร์คันล่าสุดของแบรนด์ม้าลำพองแห่งมาราเนลโล เผยโฉมต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรก ในงานที่รังสรรค์ขึ้นเป็นพิเศษ ณ พระราชวัง El Badi ในมาราเกซ รถยนต์เปิดประทุนที่มีรูปลักษณ์สง่างามเหนือกาลเวลา ผลงานร่วมสมัยที่นำความสูงค่าและการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นไลฟ์สไตล์ของชาวอิตาเลียนในยุค 1950 และ 60 มาเป็นแรงบันดาลใจ Roma Spider รถสปอร์ตเปิดประทุนรุ่นใหม่มีรูปโฉม สัดส่วน และสเปกเดียวกับแนวคิด รถยนต์ V8 2+ ที่นั่ง อย่าง Ferrari Roma ที่เคยประสบความสำเร็จก่อนหน้านี้ สิ่งที่ทำให้น่าตื่นตาตื่นใจ คือ หลังคาอ่อน (Soft Top) ที่ส่งให้รถคันนี้ถือเป็นการหวนคืนของรถสปอร์ตเปิดหลังคา เครื่องยนต์วางหน้าคันแรกในรอบ 54 ปี นับตั้งแต่รุ่น 365 GTS4 เมื่อปี 1969
ดีไซน์แปลกใหม่ของหลังคาผ้าความหนาถึงห้าชั้น ป้องกันน้ำและเสียงแปลกปลอมภายนอกห้องโดยสาร ตอกย้ำบุคลิกของ Roma Spider ออปชั่นหลากหลายให้เลือกปรับแต่ง ผ้าหลังคาแบบสั่งตัดและการเย็บตะเข็บด้วยตะเข็บด้ายที่มีสีตัดกัน การทำงานของหลังคา Soft Top เปิดหรือปิดในเวลา 13.5 วินาที ทำงานได้ขณะขับด้วยความเร็วสูงสุดที่ 60 กม./ชม. ขนาดหลังคาที่กะทัดรัด ช่วยให้มีพื้นที่เก็บสัมภาระท้ายรถมากขึ้น แผ่นเบี่ยงทิศทางลมแบบใหม่ซ่อนตัวกลมกลืนอยู่กับพนักพิงของเบาะหลัง สั่งให้กางออกได้ด้วยการกดปุ่มที่อยู่บนคอนโซลกลาง
Ferrari Roma Spider มีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับ Roma ในอดีต : มีอัตราส่วนแรงม้าต่อน้ำหนักที่ดีที่สุดในคลาส หลังคาอ่อนน้ำหนักเบา รวมกับแชสซีอะลูมิเนียมเครื่องยนต์ V8 พละกำลัง 620 แรงม้า ขุมกำลังตระกูลเดียวกับที่เคยคว้ารางวัล International Engine of the Year 4 ปี ชุดเกียร์คลัตช์คู่ DCT 8 สปีด ศักยภาพด้าน ความฉับไวในการเปลี่ยนเกียร์ และมาตรฐานความสะดวกสบายและประสิทธิภาพเชิงกล
เครื่องยนต์ Ferrari V8 มีซาวนด์แทร็กประกอบการขับเหมือนกับ Ferrari ทุกรุ่น ฟีเจอร์ต่างๆ ออกแบบมาเพื่อทำให้รถคันนี้มีอรรถประโยชน์ เบาะหลังที่พับเก็บได้ สำหรับเก็บสัมภาระที่มีขนาดใหญ่ การเชื่อมต่อแบบไร้สายผ่าน Wi-Fi รองรับทั้ง Android Auto® `และ Apple CarPlay® เบาะนั่งออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ ปรับได้ 18 ทิศทาง พร้อมระบบทำความร้อนที่เบาะ ออปชั่นเสริม สั่งติดตั้งระบบให้ความอบอุ่นบริเวณคอ สำหรับใช้งานในช่วงอากาศหนาว
STYLE (การออกแบบ)
Ferrari Roma Spider ออกแบบจากสำนักงาน Ferrari Styling Centre โดย Flavio Manzoni พุ่งเป้าไปที่การยกระดับแนวคิด “La Nuova Dolce Vita” ความสง่างามและความเพลินเพลินในการขับขี่ท่ามกลางสายลมและแสงแดด ในรถเปิดประทุนแบบ 2+ ที่นั่ง หลังคาผ้า Soft Top ที่ คง เอกลักษณ์ของ Roma สัดส่วนไร้ที่ติของรุ่นคูเป้ที่เป็นพื้นฐานของรุ่น Spider นี้ ดูงดงาม ไม่มีการเปลี่ยนเส้นสายอันสง่างามลื่นไหลของรถแม้แต่น้อย แนวหลังคาที่ลาดเอียงของรุ่นคูเป้ได้รับการออกแบบใหม่ หมายถึง ความจำเป็นที่จะต้องปรับรูปทรงของกระจกหลัง ให้กลมกลืนกับหลังคาอ่อน เพื่อให้ตัวหลังคาสามารถพับเก็บเข้าไปในฝาครอบได้อย่างแนบเนียนเมื่อเปิดประทุน Roma Spider เปลี่ยนธีมการตกแต่งมาใช้สีตัวถังพาดยาวตลอดส่วนฐานของหลังคา เพื่อแยกสปอยเลอร์คาร์บอนไฟเบอร์แบบแอ็กทีฟออกจากหลังคาและกระจกหลัง กลายเป็นฝาครอบหลังคาที่หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับตัวรถแบบไร้รอยต่อ เมื่อเปิดหลังคา สปอยเลอร์แบบแอ็กทีฟเชื่อมต่อกับพนักพิงและหมอนรองศีรษะของเบาะหลัง ผ้าหลังคาของ Roma Spider ไม่เหมือนกับที่ใช้อยู่ในรถเปิดประทุนทั่วไป การใช้วัสดุแบบใหม่ที่ส่งให้รถดูมีลูกเล่นยิ่งขึ้น ผ้าที่ทอขึ้นเป็นพิเศษถูกคัดสรรและพัฒนาการผสมสี ทอแบบทูโทนลงบนสีพื้น 4 สี ตัวเลือกเป็นผ้าที่ทอด้วยเทคนิคพิเศษ พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสำหรับรถรุ่นนี้ นวัตกรรมการทอแบบใหม่ สร้างสีแดงเหลือบรุ้งให้กับพื้นผิวแบบ 3 มิติของหลังคา
แนวทางการออกแบบ Ferrari Roma Spider ดีไซน์เรียบง่ายสะอาดตา ความเข้ากันได้ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ สัดส่วนที่กลมกลืน ส่วนเว้าส่วนโค้ง เป็นไปตามวัฒนธรรมของ Ferrari GT รุ่นเครื่องยนต์วางหน้า ทีมนักออกแบบ รังสรรค์ความทันสมัยลงไปยังสัดส่วนที่คลาสสิกพร้อมสไตล์ที่ร่วมสมัย ฝากระโปรงหน้าทอดยาว เน้นสัดส่วนช่วงไหล่ด้านข้างของรถ ส่วนหน้าของรถ สร้างรูปทรงแบบจมูกฉลามที่ยื่นออกมาด้านหน้า ฝากระโปรงหน้าและแก้มข้างที่โค้งมน ประสานเข้าหากัน การตัดช่องระบายอากาศ หรือการตกแต่งที่ไม่จำเป็นออกไป ในความเป็นจริง ออปชั่นการตกแต่งของรถคันที่ใช้ในการเปิดตัว ด้วยคอนฟิกซ์ออปชั่นแบบไม่ใส่โลโก้ Scuderia Ferrari ที่ด้านข้างของตัวรถ ซึ่งสะท้อนถึงแนวทางที่ใช้กับโรดคาร์ในปี 1950
การระบายความร้อน ใช้พื้นผิวแบบมีรูระบายอากาศ ทำไว้เฉพาะบริเวณที่จำเป็น การออกแบบกระจังหน้าถูกทำเป็นสีเดียวกับตัวรถ เพื่อภาพลักษณ์ที่ดูกลมกลืนไร้รอยต่อ ขอบของกระจังหน้าเชื่อมต่อไปสู่เส้นตรง 2 เส้น ชุดไฟหน้า Full-LED แถบไฟ DRL แนวนอน โครงสร้างส่วนห้องโดยสารแบบท้ายลาด มีขนาดกะทัดรัดและวางค่อนไปทางท้ายรถ ส่วนท้ายที่เพรียวบาง โอเวอร์แฮงก์ท้ายรถที่ทอดยาว เป็นสไตล์เดียวกับ Ferrari ยุค 1950 และ 60 ได้รับการปรับสัดส่วนใหม่ พื้นผิวที่ดูเตี้ยและกะทัดรัด โอบล้อมซุ้มล้อหลัง ท้ายรถโค้งมน กรอบไฟท้ายทันสมัย ความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีทำให้ ลดมิติของไฟท้ายลงได้อย่างมาก ผลลัพธ์ที่ได้คือดีไซน์แบบมินิมอล รวมชุดปลายท่อไอเสียเข้าไว้ด้วยกันในตัว
สำหรับงานตกแต่งภายในของ Ferrari Roma Spider ทีมดีไซน์ของ Ferrari Styling Centre นำวิธีการแบบเดียวกับที่เคยเปิดตัวใน Roma มาใช้ การแยกพื้นที่ออกเป็นสองส่วน สำหรับผู้ขับและผู้โดยสาร ตามแนวคิด Dual Cockpit มีรากฐานมาจากรถยนต์ในประวัติศาสตร์ของแบรนด์ ตั้งแต่ยุค 1970 รูปลักษณ์ที่ล้ำสมัยของห้องโดยสารแบบคู่ เกิดขึ้นจากการต่อยอดดีไซน์แผงหน้าปัดไปยังทั้งสองฝั่งของห้องโดยสาร กลายเป็นสองโมดูลที่โอบล้อมรอบผู้ขับและผู้โดยสาร เชื่อมต่อไปยังเบาะหลัง
ห้องโดยสารของ Roma Spider มีการจัดวางแบบสมมาตร ทำให้เกิดการกระจายทั้งพื้นที่และองค์ประกอบการใช้งานที่เป็นธรรมชาติ ผู้โดยสารจะรู้สึกมีส่วนร่วมในประสบการณ์การขับเหมือนเป็นผู้ช่วยคนขับ รูปทรงต่างๆ ได้รับกาปรับแต่งอย่างประณีต เพื่อสร้างส่วนเว้าส่วนโค้งเชิงประติมากรรมที่มีความต่อเนื่องทางพื้นผิว ระหว่างองค์ประกอบต่างๆ ทั่วทั้งห้องโดยสาร
ห้องโดยสารแบบคู่ รวมเข้าด้วยกันเป็นสัดส่วนที่โอบล้อมจากแดชบอร์ดไปจนถึงเบาะหลัง เชื่อมต่อส่วนเว้าส่วนโค้ง เดินเส้นตัดบนขอบ ผสมผสานแผงหน้าปัด, แผงประตู, เบาะหลัง และอุโมงค์เกียร์ ห้องโดยสารไม่ได้ถูกออกแบบให้แยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง เทคโนโลยีที่ใช้ได้นำมาจาก Roma : มาตรวัดดิจิทัล ติดตั้งกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของแดชบอร์ด ปกป้องด้วยฝาครอบแบบลดการสะท้อนแสง ยื่นออกมาจากแดชบอร์ดอย่างแนบเนียน สามารถสั่งติดตั้งจอแสดงผลที่ฝั่งผู้โดยสาร เพื่อแบ่งปันบันข้อมูลการขับขี่ต่างๆ จอแสดงผลส่วนกลางขนาด 8.4 นิ้ว ติดตั้งไว้ระหว่างค็อกพิตทั้งสอง และส่วนหนึ่งของจอลอยตัวอยู่ระหว่างแดชบอร์ดและคอนโซลกลาง รวมระบบ Infotainment และการควบคุมระบบปรับอากาศไว้ในจอแสดงผล
สวิตช์ควบคุมชุดเกียร์ F1 ติดตั้งอยู่บนแผงโลหะที่ทันสมัย มีดีไซน์อ้างอิงมาจากร่องคันเกียร์ของรถระดับตำนานในอดีต Ferrari Roma Spider คันเกียร์ จัดวางไว้บริเวณส่วนกลางของคอนโซล ทำมุมเอียงเล็กน้อยเพื่อให้ผู้ขับเอื้อมถึงและมองเห็นได้ง่าย
ระบบ HMI บนพวงมาลัย เป็นเวอร์ชันใหม่ที่ได้รับการปรับปรุง ระบบควบคุมแบบสัมผัส (Touch Controls) บนก้านพวงมาลัยทั้งสองฝั่ง ปุ่มที่ก้านฝั่งซ้ายมือ มีการเล่นระดับเพื่อให้ผู้ขับสัมผัสได้ว่ากำลังใช้ปุ่มควบคุมระบบใดอยู่ ส่วนแป้นแบบสัมผัส (Track Pad) ที่ก้านฝั่งขวาปรับปรุงใหม่ ออกแบบให้มีส่วนเว้าเพื่อให้ปัดไปมาได้ง่ายขึ้น วิธีนี้ ช่วยให้ผู้ขับทราบว่าปุ่มควบคุมต่างๆ อยู่บริเวณไหน เป็นไปตามปรัชญา สายตาอยู่บนถนน มืออยู่บนพวงมาลัย ของ Ferrari ปุ่มสตาร์ตเครื่องยนต์สีแดงเรืองแสง
POWERTRAIN (ระบบขับเคลื่อน)
Ferrari Roma Spider ขับเคลื่อนด้วยขุมพลังตระกูล V8 เทอร์โบ ที่ได้รับรางวัล “International Engine of the Year” 4 ปีติดต่อกัน ถูกโหวตให้เป็น “Best Engine of the Last 20 Years” ในปี 2018 เครื่องยนต์ขนาด 3,855 ซีซี ทำกำลังได้ 620 แรงม้า ที่ 7,500 รอบ/นาที หรือคิดเป็น 161 แรงม้าต่อลิตร ทำงานร่วมกับพลังในรอบต่ำที่มีช่วงกว้าง 80% ของแรงบิด มีให้ใช้ตั้งแต่รอบต่ำที่ 1,900 รอบ/นาที
Ferrari Roma Spider เปิดตัวปั๊มน้ำมันเครื่องแบบใหม่ ช่วยลดเวลาในการสร้างแรงดันน้ำมันขณะเครื่องเย็นลงถึง 70% เพิ่มอัตราการไหลที่รอบเครื่องช่วงกลาง การปรับปรุงนี้เพิ่งเปิดตัวไปใน Ferrari Roma เครื่องยนต์ให้การตอบสนองของคันเร่งแบบทันทีทันใดผลลัพธ์โดยตรงของการใช้วิธีแก้ไขที่เฉพาะเจาะจง เช่น เพลาข้อเหวี่ยงแบบท้ายตัด มีขนาดเล็กกว่าปกติ มีน้ำหนักขณะหมุนน้อยกว่า เพิ่มประสิทธิภาพได้มากยิ่งขึ้น; กังหันเทอร์โบขนาดเล็กลง มีแรงเฉื่อยต่ำ เทคโนโลยี Twin-scroll รับแรงดันไอเสียมาจากแต่ละกระบอกสูบโดยตรง ผ่านช่องทั้งสอง ช่วยเพิ่มแรงดันของกระแสไอเสียได้ดียิ่งขึ้นที่รอบสูง ท่อร่วมไอเสียเหล็กหล่อขึ้นรูปชิ้นเดียว ที่มีความยาวของแต่ละท่อเท่ากันทั้งหมด เพื่อเพิ่มคลื่นแรงดันในกังหันเทอร์โบฝั่งไอเสีย ลดการสูญเสียแรงดัน
Roma Spider ใช้ระบบ Variable Boost Management ซอฟต์แวร์ปรับการถ่ายทอดแรงบิดให้เหมาะสมกับแต่ละเกียร์ ช่วยให้ได้พลังเต็มพิกัด ตลอดย่านความเร็วรอบเครื่อง โดยขณะกำลังเร่งเครื่องในแต่ละเกียร์ ปริมาณของแรงบิดที่ส่งมาจากเครื่องยนต์ จะเพิ่มขึ้นตามลำดับและอย่างต่อเนื่อง จนเต็มพิกัดที่ 760 นิวตันเมตร ในเกียร์ 7 และ 8 วิธี นี้ทำให้สามารถใช้อัตราทดเกียร์ที่ห่างขึ้นได้ในช่วงเกียร์สูง ลดอัตราสิ้นเปลืองและมลพิษลง ขณะที่การส่งแรงบิดออกมาแบบไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ ตามความเร็วรอบเครื่อง ในเกียร์ต่ำ ช่วยให้ได้สัมผัสที่นุ่มนวลและต่อเนื่อง
ชุดเกียร์เป็นแบบคลัตช์คู่แช่อยู่ในน้ำมัน เป็นรุ่นเดียวกับชุดเกียร์ 8 จังหวะ ที่เปิดตัว ใน SF90 Stradale การปรับปรุงหลัก อยู่ที่การใช้อัตราทดช่วงเกียร์สูงห่างกว่าเดิม ใช้เกียร์ถอยหลังแบบใหม่ พัฒนาเลย์เอาต์และส่วนประกอบต่างๆ ส่งให้ชุดเกียร์มีขนาดเล็ก ติดตั้งเข้าไปในรถได้อย่างลงตัว การใช้อัตราทด 8 จังหวะ ทำให้มีอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยทั้งในและนอกเมืองลดลง โดยไม่มีผลกระทบต่อสมรรถนะของรถ ผู้ขับสามารถรับรู้ได้อย่างชัดเจนถึงความเปลี่ยนแปลง แม้จะขับขี่แบบสปอร์ต ฟีเจอร์ทางเทคนิคที่ทำให้ได้ผลลัพธ์นี้คือ การใช้น้ำมันเครื่องความหนืดต่ำ การกำหนดค่าระบบ Dry Sump (อ่างน้ำมันเครื่องแบบแห้ง) เพื่อลดการสูญเสียประสิทธิภาพการไหล (การกระเด็นของน้ำมันเครื่อง) การใช้เฟืองท้ายที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ (พร้อมแกนเพลาขับแบบไม่เยื้องศูนย์ เพื่อลดการลื่นเมื่อเร่งความเร็ว)
โมดูลของชุดคลัตช์มีขนาดเล็กลง 20% เมื่อเทียบกับชุดเกียร์ 7 จังหวะรุ่นก่อน ให้แรงบิดได้ดีขึ้นถึง 30% รองรับแรงบิดระหว่างการเปลี่ยนเกียร์ได้สูงสุด 1,200 นิวตันเมตร การทำงานของซอฟต์แวร์ ได้รับการพัฒนา กล่อง ECU ที่ทรงพลังกว่าเดิม การทำงานที่สอดประสาน ระหว่างซอฟต์แวร์ต่างๆ ของระบบควบคุมเครื่องยนต์
Roma Spider ใช้เพลาข้อเหวี่ยงแบบท้องแบน ทำงานประสานกับลำดับการจุดระเบิด และท่อร่วมไอเสียที่มีความยาวท่อเท่ากัน ทำให้ได้เสียงที่สม่ำเสมอ รถรุ่นเปิดประทุนคันนี้ยังใช้ระบบไอเสียทั้งหมด ไม่มีหม้อพักไอเสีย และ เปลี่ยนเป็นระบบ By-pass valves ที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมเสียงคำรามและสมรรถนะของเครื่องยนต์ ตามรูปแบบขับขณะนั้น
AERODYNAMICS (อากาศพลศาสตร์)
หลังคาผ้า Soft Top ผลกระทบโดยตรงที่เกิดขึ้นกับรูปทรงตัวถังรถ เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบแอโรใหม่ที่เน้นแรงต้านต่ำ หลังคาแข็ง เมื่อรวมกับความเป็นไปได้ในการสร้างแรงกดที่มีประสิทธิภาพ แนวหลังคาและความโค้งเหนือส่วนหน้าของรถ ได้รับการวิเคราะห์ด้านตัวเลขเชิงลึก ควบคุมโดยฝ่ายแอโรไดนามิก
รูปทรงของสปอยเลอร์แบบแอ็กทีฟใหม่ ออกแบบสปอยเลอร์ให้รับกับสไตล์และหลังคาแบบใหม่ของรถ การยกตัวและเก็บกลับเข้าไป เหมาะสมกับรูปทรงแบบเปิดประทุน ตามความเร็วตลอดจนแรงกระทำขณะเร่งความเร็วตามแนวยาวและขวางที่เกิดขึ้นกับรถ สามารถทำงานได้ 3 ตำแหน่งแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับรูปแบบการขับขี่
Roma Spider มีแรงกดทั้งบนทางโค้งและที่ความเร็วสูง มีแอโรไดนามิกที่สมดุล ความสบายในห้องโดยสารขณะขับแบบเปิดหลังคา เน้นไปที่การลดการรบกวนของกระแสลม ตัดเสียงลมที่จะเข้ามารบกวนในห้องโดยสารให้ได้มากที่สุด ทางออกที่เลือกใช้มุ่งไปยังปัญหาที่เกิดขึ้นขณะเปลี่ยนจากการขับแบบปิดหลังคามาเป็นเปิดประทุน ด้วยการใช้ชิ้นส่วนที่เคลื่อนตัวออกมาได้โดยอัตโนมัติ ทำหน้าที่สร้างเอฟเฟกต์ "ฟองอากาศ" เหนือห้องโดยสาร จุดแรกคือการเพิ่มส่วนนูนด้านบนของกรอบกระจกหน้าบริเวณที่อากาศจะไหลแยกออกจากกัน จุดที่สอง คือ การพัฒนาแผ่นเบี่ยงทิศทางลมอัตโนมัติ ลิขสิทธิ์เฉพาะของ Ferrari ที่ผู้ขับสามารถสั่งให้ยกขึ้นได้ด้วยการกดปุ่มที่ติดตั้งไว้บนคอนโซลกลางโดยไม่จำเป็นต้องจอดรถ จากนั้นพนักพิงของเบาะหลัง (เมื่อไม่มีคนนั่ง) จะหมุนไปอยู่ในตำแหน่งหลังศีรษะของผู้โดยสารตอนหน้า
ที่ตำแหน่งนี้ กระแสอากาศซึ่งปกติจะไหลลงมาในห้องโดยสารจากด้านหลังของรถจะถูกเบี่ยงเบนออกไป ทำให้อากาศรอบตัวค่อนข้างนิ่ง ลดการรบกวนของลมบริเวณศีรษะของผู้ขับได้มากกว่าเดิมประมาณ 30% เมื่อเทียบกับระบบที่เคยใช้ในรถ Spider แบบ 2+ ที่นั่ง ระบบป้องกันลมเข้ามาในห้องโดยสารแบบเปิดได้ มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วยการใช้ช่องแนวขวางที่กึ่งกลางของเบาะหลัง ปรับมุมจนเหมาะสม ทำหน้าที่เป็นปล่องแอโรไดนามิก ให้มุมมองที่ดูเรียวลงด้านข้างเมื่อมองจากท้ายรถ องค์ประกอบทั้งหมดนี้ทำงานสอดประสานกันเพื่อเบี่ยงกระแสอากาศที่รุนแรงที่จะเข้ามาในห้องโดยสาร ให้พ้นออกไปจากตัวผู้นั่งทุกตำแหน่งของรถ
ช่องที่อยู่กึ่งกลางตัวหยุดอากาศ บางส่วนของกระแสลมที่จะเข้ามาในห้องโดยสาร จะถูกเบี่ยงลงด้านล่างสู่เบาะหลัง เพื่อบังคับให้กระแสลมเคลื่อนตัวช้าลง หมายความว่าอากาศที่เข้ามาในห้องโดยสารจะสูญเสียพลังงานส่วนใหญ่ของมันไป ลดการรบกวนของลมในห้องโดยสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลที่ได้คือการขยายตัวของ “ฟองอากาศ” รอบตัวผู้โดยสาร โดยเฉพาะบริเวณศีรษะ รูปทรง, องศา และการแทรกตัวของอากาศเพื่อหยุดกระแสลม ทำงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และได้รับการพัฒนาขึ้นจากเครื่องจำลอง CFD รวมถึงการทดสอบในอุโมงค์ลม
สปอยเลอร์แบบแอ็กทีฟบนส่วนท้ายของรถ อุปกรณ์สร้างดาวน์ฟอร์ซที่มีรูปทรงน่าตื่นตาตื่นใจ ตัวสปอยเลอร์ซ่อนตัวอยู่กับฝาท้ายได้อย่างแนบเนียน โดยไม่ไปรบกวนเส้นสายของตัวรถ ด้วยกลไกที่ออกแบบมาพิเศษ ทำให้สามารถยกตัวขึ้นได้ถึง 3 ตำแหน่งแตกต่างกัน คือ แรงต้านต่ำ (Low drag – LD), แรงกดปานกลาง (Medium Downforce – MD) และแรงกดสูง (High Downforce – HD)
ขณะขับขี่ที่ความเร็วต่ำ แรงกดส่งผลต่อรถเพียงเล็กน้อย สปอยเลอร์จะอยู่ในตำแหน่งแรงต้านต่ำ และจะคงอยู่เช่นนี้จนกระทั่งรถทำความเร็วที่ 100 กม./ชม. หากขับด้วยความเร็วสูงกว่า 300 กม./ชม. สปอยเลอร์จะปรับไปที่โหมด MD เนื่องจากในสภาพการขับเช่นนี้ รถต้องการความสมดุลมากเป็นพิเศษ เพื่อลดผลกระทบจากแรงต้านให้น้อยลง ส่วนช่วงความเร็วที่ดาวน์ฟอร์ซมีบทบาทสำคัญต่อสมรรถนะ สปอยเลอร์จะอยู่ในตำแหน่ง MD และเคลื่อนที่ไปยังตำแหน่ง HD โดยขึ้นอยู่กับแรงกระทำตามยาวและด้านข้างของรถขณะเร่งความเร็ว เกณฑ์ต่างๆ จะแปรผันและเชื่อมโยงกับตำแหน่งรูปแบบการขับขี่ที่เลือกจากสวิตช์ Manettino
ที่โหมดแรงกดปานกลาง (MD) สปอยเลอร์จะทำมุม 150 องศากับกระจกหลัง ที่ตำแหน่งนี้ ปีกหลังจะสร้างแรงกดได้ 30% ของแรงกดสูงสุด โดยมีแรงต้านเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1% เมื่ออยู่ในการขับแบบ High-performance หรือขณะเบรก สปอยเลอร์จะปรับไปที่โหมด HD โดยอัตโนมัติ เพื่อสร้างแรงกดสูงสุด เตรียมพร้อมสำหรับสร้างความเร้าใจในการขับขี่ เมื่อสปอยเลอร์อยู่ในระดับสูงสุด (โหมด HD) ปีกหลังจะทำมุม 135 องศา กับพื้นผิวของกระจกหลัง เกิดเป็นแรงกดมากถึงราว 95 กก. ที่ความเร็ว 250 กม./ชม. สร้างแรงต้านเพียง 4% เท่านั้น
การเพิ่มแรงกดด้านหน้า เกิดจากชุดสร้างกระแสลมวน ที่ถูกปรับให้เหมาะสมสำหรับรถรุ่นนี้โดยเฉพาะ การสร้างแรงกดโดยนำเอากระแสลมที่เข้มข้นและสอดคล้องกัน เข้ามายังบริเวณที่กำหนดไว้ เพื่อจัดการกับอากาศที่เกิดขึ้นจากด้านหน้าของซุ้มล้อหน้า โดยมีจุดประสงค์ในการสร้างแรงกดที่มีประสิทธิภาพที่สุด เท่าที่จะเป็นไปได้
VEHICLE DYNAMICS (ระบบควบคุมไดนามิกส์)
เป้าหมายของการพัฒนาระบบควบคุมไดนามิกส์ใน Ferrari Roma Spider คือการมอบความเร้าใจ และการบังคับควบคุมที่แม่นยำ แนวคิด Side Slip Control ที่มีอัลกอริทึม คอยทำหน้าที่ประเมินการลื่นไถลแนวข้าง เพื่อส่งข้อมูลไปให้ระบบควบคุมต่างๆ ในรถ จากนั้นข้อมูลนี้จะใช้ในการประสานงานและดำเนินการแทรกแซงอย่างรวดเร็ว, ทันเวลา และแม่นยำ
ระบบ Side Slip Control (SSC) เวอร์ชัน 6.0 ที่อยู่ในรถคันนี้ รวบรวมเอาระบบควบคุมไดนามิกส์ทั้งหมดของรถเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งรวมไปถึงระบบ Ferrari Dynamic Enhancer (FDE) ที่จะทำงานเมื่อปรับสวิตช์ Manettino ไปยังตำแหน่ง ‘Race’ เท่านั้น FDE คือระบบควบคุมไดนามิกส์ด้านข้างที่จะปรับแรงดันน้ำมันเบรกที่คาลิเปอร์ทั้งสี่ล้ออย่างรวดเร็ว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ไดนามิกที่ต้องการการควบคุม ได้รับการออกแบบมาเพื่อทำให้สามารถคาดเดาไดนามิกด้านข้างได้ล่วงหน้ามากขึ้นทั้งขณะอยู่ในโค้งและทางออกโค้ง การควบคุมพวงมาลัยและคันเร่งของผู้ขับ เป็นไปอย่างง่ายดายและเป็นธรรมชาติ ระบบจะทำงานควบคู่ไปกับระบบควบคุมเสถียรภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ ใน Roma Spider มีโหมดให้เลือก 5 ตำแหน่ง เพื่อการบังคับควบคุมและประสิทธิภาพการยึดเกาะที่เข้าถึงได้ง่าย ปรับสู่โหมด Race ซึ่งออกแบบมาเพื่อเพิ่มความสนุกหลังพวงมาลัยโดยมีระบบ Ferrari Dynamic Enhancer คอยสนับสนุน
CHASSIS AND BODYWORK (แชสซีและโครงสร้างตัวถัง)
แชสซีของ Roma Spider นำมาจาก Roma รุ่นหลังคาแข็ง มีหลายชิ้นส่วนที่เป็นของใหม่เพิ่มเข้ามาอีกด้วย โครงสร้างส่วนท้ายที่ได้รับการปรับปรุงโดยใช้วิธีเดียวกับที่เคยใช้ใน Portofino M คานประตูด้านล่าง เป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของโครงสร้าง ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นพิเศษ องค์ประกอบบางชิ้นที่จำเป็นสำหรับการติดตั้งหลังคาอ่อน ที่บริเวณเสา A กับกรอบกระจกหน้า ความแข็งแกร่งของโครงสร้างและความต้านทานการบิดตัวทำได้ตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดย มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 84 กก. มีอัตราส่วนน้ำหนักที่ 2.5 กก./แรงม้า การเพิ่มความแข็งแกร่งดังกล่าว มีสาเหตุมาจากสองปัจจัย จากการเพิ่มตัวเบี่ยงกระแสลม ซึ่งช่วยเพิ่มความสะดวกสบายของผู้โดยสาร การเพิ่มพนักพิงศีรษะสำหรับเบาะหลังที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกับดีไซน์ของฝาครอบช่องเก็บหลังคา
หลังคา Soft Top เปิดปิดอัตโนมัติ กระจกหลังขนาดใหญ่ติดตั้งรวมเป็นส่วนหนึ่งของหลังคา ผ้าหลังคาหนา 5 ชั้น ทำหน้าที่ซับเสียงจากลมและถนน ช่วยให้ห้องโดยสารเงียบแม้ขับด้วยความเร็วสูง ลดการพองตัวซึ่งมักเกิดขึ้นในหลังคา Soft Top ทั่วไป เทคนิคที่ทีมวิศวกรนำมาใช้จึงเป็นเครื่องรับประกันได้ถึงประสิทธิภาพระดับหัวแถวในการแก้ไขปัญหา กลไกของหลังคาถูกออกแบบให้มีน้ำหนักเบาและให้ตัวได้ : การเคลื่อนที่แบบอักษร Z เพื่อพับหลังคาเก็บได้ใน 13.5 วินาที ทำงานได้จนถึงการขับขี่ที่ความเร็ว 60 กม./ชม. เมื่อพับ หลังคาจะมีความสูงเพียง 220 มม. นับว่าเตี้ยที่สุดในกลุ่ม ช่วยให้มีพื้นที่ห้องเก็บสัมภาระกว้างขวาง (225 ลิตร เมื่อปิดหลังคา มากที่สุดในคลาส)
ช็อกอับแก๊สที่ใช้ยกแผ่นเบี่ยงทิศทางลมได้รับการออกแบบและพัฒนาอย่างพิถีพิถัน เพื่อการควบคุมที่ราบรื่นในทุกขั้นตอนของการเคลื่อนไหวและในทุกสภาวะ เปิดแผ่นเบี่ยงทิศทางลมได้จนถึงความเร็ว 170 กม./ชม. กลไกการเปิดจะจำกัดการทำงานอัตโนมัติ เมื่อถึงความเร็วสูงสุดที่กำหนด เพื่อความปลอดภัย เมื่ออยู่ในช่วงความเร็วที่เหมาะสม ผู้ขับสามารถสั่งกางแผ่นเบี่ยงทิศทางลมได้ทุกเมื่อที่ต้องการ แผงเบี่ยงทิศทางลม ยังคงคุณสมบัติเฉพาะของพนักพิงเอาไว้ทั้งหมด : พื้นผิวที่ผู้โดยสารด้านหลังพิงลงไป บุนวมเพื่อความสบาย และออกแบบให้มีรูปทรงที่ยังคงเปิดกางออกได้ แม้เบาะหน้าจะอยู่ในตำแหน่งปกติ (ไม่ได้ถูกพับไปด้านหน้า) ช่องตรงกลางจะชดเชยแรงดันอากาศที่กระทำต่อด้านใดด้านหนึ่ง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเคลื่อนที่จุดจลนศาสตร์ของระบบ โดยปรับตำแหน่งให้เหมาะสมกับการเคลื่อนไหวและน้ำหนัก.
เครื่องยนต์
ประเภท V8 ทำมุม 90 องศา, เทอร์โบคู่
ความจุกระบอกสูบ 3855 ซีซี
กระบอกสูบและช่วงชัก 86.5 มม. x 82 มม.
กำลังสูงสุด* 456 กิโลวัตต์ (620 แรงม้า) ที่ 5750–7500 รอบ/นาที
แรงบิดสูงสุด 760 นิวตันเมตร ที่ 3000-5750 รอบ/นาที
รอบเครื่องยนต์สูงสุด 7500 รอบ/นาที
อัตราส่วนกำลังอัด 9.45:1
แรงม้าต่อลิตร 161 แรงม้า/ลิตร
มิติและน้ำหนัก
ความยาว 4656 มม.
ความกว้าง 1974 มม.
ความสูง 1306 มม.
ความยาวฐานล้อ 2670 มม.
ความกว้างฐานล้อหน้า 1652 มม.
ความกว้างฐานล้อหลัง 1679 มม.
น้ำหนักรถเปล่า** 1556 กก.
น้ำหนักรถต่อแรงม้า 2.5 กก./แรงม้า
การกระจายน้ำหนัก หน้า 48% / หลัง 52%
ความจุถังน้ำมันเชื้อเพลิง 80 ลิตร
ความจุห้องเก็บสัมภาระ 255 ลิตร
ล้อและยาง
หน้า 245/35 ZR 20 J8.0
หลัง 285/35 ZR 20 J10.0
ระบบเบรก
หน้า 390 x 34 มม.
หลัง 360 x 32 มม.
เกียร์และระบบส่งกำลัง
F1 8 จังหวะ คลัตช์คู่
ระบบควบคุมด้วยอิเล็กทรอนิกส์
EPS, VDC, ABS และ EBD, F1-TCS, E-Diff3, SSC 6.0, FDE, SCM-E Frs
สมรรถนะ
ความเร็วสูงสุด > 320 กม./ชม.
0-100 กม./ชม. 3.4 วินาที
0-200 กม./ชม. 9.7 วินาที
100-0 กม./ชม. 32 เมตร
200-0 กม./ชม. 130 เมตร
น้ำมันเบนซิน 98 RON
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/
คุณกำลังดู: ส่องเทคนิคม้าลำพองเปิดประทุนรุ่นใหม่ FERRARI ROMA SPIDER
หมวดหมู่: รถยนต์