สัญญาณอันตราย "ไซนัสอักเสบ" ปัจจัยเสี่ยงและวิธีรักษา
หากมีอาการเหล่านี้ อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นไซนัสอักเสบ ที่มากกว่าหวัดธรรมดา
-
อาการปวดหน่วงๆ บริเวณศีรษะ หน้าผาก หัวตา โหนกแก้ม รอบดวงตา หรือมีน้ำมูกเป็นหนองข้น อาจสันนิษฐานได้ว่า ไซนัสอักเสบ หากปล่อยไว้จนอาการลามไปถึงกระดูก อาจทำให้การอักเสบกระจายไปสู่สมอง ส่งผลให้การรักษายากขึ้น และเสียชีวิตได้ในที่สุด
-
การว่ายน้ำในสระที่ใส่คลอรีน หรือสารเคมีเพื่อฆ่าเชื้อโรค หากสำลักน้ำอาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุภายในไซนัส ทำให้ไซนัสอักเสบได้
-
หากพบว่ามีอาการไซนัสอักเสบติดต่อกันนานเกิน 10 วัน ควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี โดยแพทย์จะซักประวัติการเจ็บป่วย ตรวจร่างกาย หรือตรวจเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้อง การทำ MRI หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์
ไซนัส (Sinus) คือ โพรงอากาศที่อยู่ในกะโหลกศีรษะบนใบหน้ารอบๆ จมูก มีรูเปิดติดต่อกับช่องจมูก ภายในไซนัสมีเยื่อบุ ต่อเป็นผืนเดียวกันกับเยื่อบุภายในช่องจมูก ทำหน้าที่ปรับอากาศที่เราหายใจเข้าไป โดยผ่านบริเวณจมูก ช่วยถ่ายเทความร้อนและความชื้นจากหลอดเลือดบนผิวเยื่อบุให้เหมาะสมกับร่างกาย ซึ่งไซนัสมี 4 คู่ ได้แก่
- บริเวณโหนกแก้ม 2 ข้าง (maxillary sinus)
- ระหว่างลูกตา บริเวณหัวตา 2 ข้าง (ethmoid sinus)
- บริเวณหน้าผากใกล้กับหัวคิ้ว 2 ข้าง (frontal sinus)
- อยู่ในกะโหลกศีรษะ ใกล้ฐานสมอง (sphenoid sinus)
ไซนัสอักเสบ
พญ. อุบลรัตน์ ปิตาสวัสดิ์ แพทย์ผู้ชำนาญการสาขาโสต ศอ นาสิกวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ สมิติเวช สุขุมวิท ระบุว่า เมื่อเป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่ หรือภูมิแพ้ จะทำให้เยื่อบุภายในช่องจมูกเกิดการบวม ส่งผลให้โพรงไซนัสที่ติดต่อกับจมูกตีบตัน เกิดน้ำมูกคั่งภายในโพรงจมูก เป็นสภาวะเหมาะแก่การเติบโตของเชื้อโรค จนเยื่อบุอักเสบและเป็นหนอง เกิดภาวะไซนัสอักเสบขึ้นได้
นอกจากนี้ภาวะติดเชื้อที่รากฟัน สามารถทำให้ไซนัสอักเสบได้เช่นกัน เนื่องจากกระดูกที่คั่นระหว่างรากฟันกับไซนัสบางมาก โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ซึ่งกระดูกจะบางลงตามอายุ
ไซนัสอักเสบ แบ่งเป็น 2 ชนิด
- ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน (acute sinusitis) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือเชื้อรา ทำให้เกิดการอักเสบ มีเสมหะมากขึ้น คัดจมูก รู้สึกไม่สบายที่แก้ม หน้าผาก หรือรอบดวงตา และปวดศีรษะ ส่วนใหญ่สามารถรักษาหายภายใน 3 สัปดาห์ และเป็นน้อยกว่าปีละ 4 ครั้ง
- ไซนัสอักเสบเรื้อรัง (chronic sinusitis) เป็นภาวะเรื้อรังนานกว่า 12 สัปดาห์ และเป็นมากกว่าปีละ 4 ครั้ง
สัญญาณอันตราย อาการไซนัสอักเสบ
- ปวดหน่วงๆ ตามบริเวณไซนัสอักเสบ เช่น หน้าผาก หัวตา โหนกแก้ม หรือรอบๆ ดวงตา
- ปวดศีรษะ มักเป็นมากช่วงเช้าหรือบ่าย โดยเฉพาะเมื่อก้มศีรษะ หรือเปลี่ยนท่า
- น้ำมูกเป็นหนองข้นสีเขียวหรือเหลือง เวลาสูดจมูกแรงๆ รู้สึกน้ำมูกไหลลงคอ
- คัดแน่นจมูก หายใจมีกลิ่นเหม็นคาว
- ปวดหู หูอื้อ
- เจ็บคอ
- มีไข้
- อ่อนเพลีย
ปัจจัยเสี่ยงไซนัสอักเสบ
- ผู้ป่วยไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ และภูมิแพ้ ทำให้เยื่อเมือกบวม ซึ่งอาจอุดตันโพรงไซนัส
- ผู้มีความผิดปกติของช่องจมูก เช่น ผนังกั้นระหว่างช่องจมูกคด ช่องจมูกแคบกว่าปกติ ทำให้เกิดการอักเสบจากการติดเชื้อง่ายขึ้น
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำหรืออยู่ในเขตมลภาวะเป็นพิษ ส่งผลให้ภูมิต้านทานลดลง
- การว่ายน้ำในสระที่ใส่คลอรีน หรือสารเคมีเพื่อฆ่าเชื้อโรค หากสำลักน้ำอาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุภายในไซนัส
- ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อากาศ
การวินิจฉัยโรคไซนัสอักเสบ
แพทย์จะซักประวัติการเจ็บป่วย การตรวจร่างกาย โดยการส่องดูหนองหรือมูกที่ด้านหลังของคอ ร่วมกับการกดบริเวณหน้าผาก โหนกแก้ม หัวตา รวมถึงการตรวจพิเศษ ดังนี้
- การตรวจด้วยการส่องกล้อง (nasal endoscopy)
- การตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก (MRI)
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) กรณีที่ต้องการรายละเอียด เพื่อทำการผ่าตัด หรือในผู้ป่วยที่มีโรคแทรกซ้อน
การรักษาโรคไซนัสอักเสบ
- ยาปฏิชีวนะ
- การใช้ยารักษาไซนัส จะใช้ต่อเมื่อเกิดกรณีติดเชื้อแบคทีเรีย
- ส่วนกรณีที่เกิดจากเชื้อไวรัสไม่จำเป็นต้องใช้ยา
- แต่หากไซนัสอักเสบเกิดจากเชื้อราซึ่งพบน้อยมาก กรณีนี้ต้องใช้กระบวนการผ่าตัดเพื่อนำก้อนเชื้อราออก
- ยาแก้แพ้ เพื่อลดภาวะภูมิแพ้ที่ส่งผลให้เกิดไซนัสอักเสบได้
- ยาพ่นจมูก (Nasal steroid spray) ยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ ช่วยลดอาการบวมของเนื้อเยื่อและการแพ้อากาศ และยังช่วยป้องกันการงอกของริดสีดวงจมูกหลังการผ่าตัดไซนัส
- ยาลดน้ำมูก (Decongestant) ช่วยให้หลอดเลือดในเนื้อเยื่อจมูกชั้นในหดตัว ส่งผลให้อาหารคัดจมูกและน้ำมูกไหลน้อยลง
- ใช้น้ำเกลือล้างจมูก เพื่อล้างเมือกจากโพรงจมูกและไซนัส
- การรักษาโดยการผ่าตัด
ก่อนทำผ่าตัดจำเป็นต้องทำการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการผ่าตัดและลดข้อผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น เหมาะกับการรักษาไซนัสที่เกิดจากความผิดปกติของโพรงจมูก หรือเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตไปปิดกั้นโพรงไซนัส
การป้องกันการเกิดไซนัสอักเสบ
- หลีกเลี่ยงโรคไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ โดยการฉีดวัคซีน
- หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ป่วยไข้หวัด หรือติดเชื้อทางเดินหายใจ
- งดสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีมลพิษ
- อยู่ในสถานที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี
- ใช้เครื่องกรองอากาศ หากนอกบริเวณบ้านมีมลพิษ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- พักผ่อนให้พอ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่าให้จมูกแห้ง
ภาวะเเทรกซ้อนจากไซนัสอักเสบ
- ผลกระทบต่อเยื่อบุทางเดินหายใจส่วนบนและล่าง ทำให้เกิดการอักเสบต่อเยื่อบุลำคอ กล่องเสียง และหลอดลม ส่งผลให้เสี่ยงภาวะหอบหืด
- ภาวะไซนัสอักเสบลุกลามไปตา ทำให้เนื้อเยื่อรอบๆ ดวงตาอักเสบ เกิดอาการปวดตา ตาบวม ตาเเดง ลูกตาโปน การมองเห็นลดลง อาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็น
- ภาวะไซนัสอักเสบลามไปสมอง ส่งผลต่อการมองเห็น ปวดศีรษะ มีไข้ หากการอักเสบมากขึ้น อาจมีไข้สูง เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือลุกลามไปยังเนื้อสมอง จนรุนแรงถึงชีวิตได้
- ภาวะไซนัสอักเสบลามไปกระดูก อาจส่งผลให้การอักเสบกระจายไปสู่สมอง ส่งผลให้การรักษายากขึ้น และเสียชีวิตในที่สุด
แม้ไซนัสอักเสบจะมีอาการไม่รุนแรงในเบื้องต้น สามารถรักษาให้หายได้โดยใช้เวลาไม่นาน แต่หากปล่อยให้การอักเสบต่อเนื่องจนเรื้อรังอาจส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ ใกล้เคียง สร้างความซับซ้อนและความยุ่งยากในการรักษา และอาจส่งผลถึงชีวิตได้ในที่สุด
ดังนั้น หากพบว่ามีอาการต่างๆ ของภาวะไซนัสอักเสบติดต่อกันนานเกิน 10 วัน สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลัน จึงควรรีบพบแพทย์ เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกวิธี
คุณกำลังดู: สัญญาณอันตราย "ไซนัสอักเสบ" ปัจจัยเสี่ยงและวิธีรักษา
หมวดหมู่: รู้ทันโรค