ตู้หน้งสือ : จีน ไทย มิใช่อื่นไกล พี่น้อง มิใช่ใครพี่ใครน้อง

ตู้หน้งสือ : จีน ไทย มิใช่อื่นไกล พี่น้อง มิใช่ใครพี่ใครน้อง

ตู้หน้งสือ : จีน ไทย มิใช่อื่นไกล พี่น้อง มิใช่ใครพี่ใครน้อง

ตรุษจีนปีนี้มาเร็ว ศุกร์ที่ผ่านมาเป็น “วันจ่าย” คือซื้อของเตรียมอาหารไหว้บรรพบุรุษ และกินกันพร้อมหน้าครอบครัว ทั้งคาวหวาน ซึ่งแน่นอน ด้วยราคาที่ไม่ปกติ เช่น ไม่กี่ปีก่อนที่กล้วยหอมในตลาดหวีละ 60 บาทนั้น แต่ถึงตรุษจีนกลายเป็นหวีละ 200 บาท (บรรพบุรุษรู้คงสงสารลูกหลานเต็มที) ส่วนที่สนุกสนานกันเป็นประจำก็คือ บรรดาห้างสรรพสินค้าที่ผลิตชุดอาหารมงคลเสนอให้ควักกระเป๋ากันเต็มที่ ปีนี้ยิ่งทันสมัยด้วยชุดกระเช้าอาหารกล่องสำเร็จรูป แทนหมูเห็ดเป็ดไก่จากตลาดที่เป็นตัวๆ เนื้อๆ ให้เป็นทางเลือกอีกด้วย

พอเสาร์วานนี้เป็น “วันไหว้” ทั้งไหว้บรรพบุรุษและไหว้เจ้าที่เป็นเจ้าประจำคือ “ไฉ่ซิ่งเอี้ย” เพื่อเป็นสิริมงคล โดยตั้งโต๊ะไหว้หันหน้าหาทิศใต้ ด้วยฤกษ์ระหว่าง 23.00-01.00 น. ที่เจ้าจะลงจากสวรรค์มารับของไหว้ประทานพร

วันนี้ ปีใหม่จีน ตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินจันทรคติจีน คือ 22 มกราคมตามปฏิทินสากล วันแรกของฤดูใบไม้ผลิ คนก็สวมเสื้อผ้าใหม่ สีแดงมงคลออกเที่ยวกัน พฤติกรรมตามคติก็คือ ห้ามทะเลาะ, ร้องไห้, พูดคำหยาบ, ไม่ซักผ้า, ไม่ทำความสะอาดบ้าน, ไม่ตัดผม, ไม่สระผม, ไม่ซื้อรองเท้าใหม่, ไม่ยืมเงินและไม่ให้ใครยืมเงิน (ข้อนี้ไม่ต้องตรุษจีนก็น่าปฏิบัติให้สม่ำเสมอ) ฯลฯ

ยังมีข้อห้ามอีกมากที่เชื่อและทำตามกันมา ถึงวันนี้ก็คงยากจะปฏิบัติกันบ้างแล้ว ดูในสื่อสาธารณะก็ยังประชด เสียดสี แดกดัน ด่าทอกันเป็นปกติอยู่

● ในสถานีกลาง “ยูทูบ” มีผู้ทำช่องหลากหลายที่เสนอความเห็นผู้คนสู่กันฟัง ประเด็นหนึ่งซึ่งเห็นกันบ่อยๆ ก็คือ ทำไมคนจีนในเมืองไทยถึงไม่เหมือนกับคนจีนในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งหากพิจารณากันถี่ถ้วนแล้วต่างคงเห็นคล้ายคลึงกันได้ว่า นิสัย น้ำใจ ของคนละแวกนี้ในร่มศาสนาพุทธ ไม่เคยเห็นเชื้อชาติ ความเชื่อ สีผิว ที่แตกต่างไปตามพันธุ์และวัฒนธรรมเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะต้องแบ่งแยก กีดกัน หรือเห็นเป็นความเหลื่อมล้ำ ตั้งแต่คนเชื้อสายจีนรุ่นที่สองที่เกิดในเมืองไทย ก็คิด รู้สึก และเห็นตัวเองเป็นคนไทยไปแล้ว ไม่ต้องพูดถึงรุ่นที่สามหรือที่สี่ที่เกิดตามมา ดังนั้น กับข้อห้ามเมื่อก่อนที่ไม่รับลูกจีนเกิดในไทยเกณฑ์ทหาร จึงทำให้ วาณิช จรุงกิจอนันต์ ผู้ล่วงลับ หงุดหงิดจนเขียนหนังสือหัวฟัดหัวเหวี่ยงมาแล้ว

การเป็นบ้านพี่เมืองน้อง ที่เคยเป็นประโยคแสลงใจระหว่างไทยกับลาวสมัยหนึ่ง จากคำถามย้อนกันที่ว่า “ใครเป็นพี่ใครเป็นน้อง” จึงไม่ควรเป็นคำถาม เพราะว่าต่างฝ่ายต่างเป็นทั้งพี่และน้องที่เกิดมาด้วยกัน ด้วยศักดิ์ที่เท่าเทียมกัน ทั้งโดยรูปธรรมภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และโดย “อรรถ” (literary) ตามรูปศัพท์ ไม่ว่าจีนจะเป็นประเทศใหญ่ หรือไทยกับลาวจะเป็นประเทศย่อมลงมา ล้วนเป็นเพื่อนบ้านร่วมทวีปที่มีเอกราช อิสระ และเป็นสมาชิกประชาคมโลกเช่นเดียวกัน

● เรื่องน่าสงสารสติปัญญาในวงการเมืองทั่วไป ไม่ว่าในหรือนอกประเทศ ก็คือคนในวงการที่ไม่เคยรู้เท่าทันตัวเอง เท่าทันสังคม และเท่าทันโลก ดังนั้น การที่วุฒิสมาชิกสองคน เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 158 เกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี จึงทำให้อาจารย์ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ ต้องเขียนเรื่อง “รู้ตัวดีว่าพ้นสมัย” เป็นมิตรพลี ให้อ่านกันในมติชนออนไลน์ พุธที่ผ่านมา

● และด้วยวาระปีใหม่จีนวันนี้ จึงขอเสนองานชุดจีนซึ่งเบ่งบานอยู่บนแผง เติมความรู้รอบระหว่างกันเพื่อความเข้าใจในหมู่ผู้คนต่างวัฒนธรรม หรือร่วมผสมวัฒนธรรมผสานเชื้อชาติที่ไม่จำเป็นต้องแยกจากกันให้เด็ดขาด ให้ใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น ตั้งแต่การวิพากษ์ความรู้ใหม่ในประวัติศาสตร์ไทยที่ (จงใจ) หลงลืมไป (หรือเปล่า) ด้วย เจ้านครอินทร์เมืองสุพรรณ โดยงานเขียนเข้มข้นของบรรดาผู้เชี่ยวชาญจากการวิเคราะห์หลักฐานวิชาการ มิได้วิพากษ์บนฐานอคติ 4 ใดๆ

อย่างน้อยเรื่องหนึ่งที่ต้องพินิจเพื่อเข้าใจใหม่ก็คือ เจ้านครอินทร์เป็นองค์ที่เดินทางไปประเทศจีน มิใช่พ่อขุนรามคำแหงอย่างที่เคยเชื่อกันมาแต่อย่างใด

เทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯ ของอาจารย์ อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช ที่จะช่วยให้เราเข้าใจตัวเอง ว่ามีเชื้อสายมาจากไหน และเข้าใจเพื่อนร่วมสังคมไม่ว่าจะสืบสายชาวแต้จิ๋ว ไหหลำ ฮกเกี้ยน แคะ กวางตุ้ง มาอย่างไร จากรูปจำหลักและความเชื่อที่ผสมผสานไทยจีนเข้าด้วยกัน โดยศาลเจ้าที่ปรากฏทั่วไปในนครหลวง

สังคมจีนในประเทศไทย : ประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ เป็นหนังสือให้ความรู้ระดับครูของ จี. วิลเลียม สกินเนอร์ ที่ได้อาจารย์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นบรรณาธิการ จากการช่วยกันแปลของคณาจารย์ผู้มีชื่อเสียง 6 คน และบทความพิเศษของอาจารย์อีก 2 คน ที่จะช่วยเปิดแง่มุมใหม่ใกล้ตัวให้เห็น

เป็นหนังสือเล่มที่นักอ่านนักวิชาการต่างกล่าวกันว่า “คลาสสิก” และ “ทรงคุณค่า” ทั้งน่า “แปลกใจและประทับใจ” ด้วยข้อมูลที่นำเสนอทั้งหมด

ร้อยเรื่องราววังต้องห้าม เล่มที่พลาดไม่ได้ของคนที่สนใจเรื่องจีน เมืองจีน วัฒนธรรมจีน โดยเฉพาะนักอ่านนิยายจีนแปลที่หลังๆ มีเรื่องเกี่ยวกับตัวเอกในราชสำนัก การช่วงชิงอำนาจในราชวงศ์ ฯลฯ ซึ่งมีพระราชวังต้องห้ามเป็นฉากหลัง ยิ่งน่าหาอ่านเอาเรื่องและดูภาพที่แม้ไม่ไปเห็นของจริงก็เหมือนเห็นของจริง
เป็นหนังสือพิมพ์ใหม่ขนาดใหญ่เท่าต้นฉบับจีน งดงามด้วยภาพ เนื่องในวาระครบ 90 ปี ที่พระราชวังต้องห้ามกลายสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์ สำนักพิมพ์พระราชวังโบราณ กับกองงานวิจัยวัฒนธรรมและการออกแบบ และกลุ่มงานย่อยวิจัยและพัฒนาวัฒนธรรมประเพณีพระราชวังต้องห้าม จึงร่วมกันจัดพิมพ์ขึ้นมา

กลายเป็นหนังสือชั้นเยี่ยมซึ่งถ่ายทอดสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก ที่เมื่อ 600 ปีก่อน ยากที่ชาวบ้านสามัญจะใฝ่ฝันเห็น ผ่านเรื่องราวพิสดารพันลึกทั้งรุ่งโรจน์และเสื่อมถอยของสองราชวงศ์สุดท้ายแห่งยุคศักดินาจีน หลายเรื่องยิ่งใหญ่จนขนลุก แต่อีกหลายเรื่องก็ชวนสลดรันทดใจ เพียงเห็นภาพก็ยากจะลืม

ชาญ ธนประกอบ กับ อาจารย์ อภิรัชญ์ แปล จ้าวกว่างเชา เขียน

● หนังสือน่ารู้อีกเล่ม เหมือนเผยความลับความต่อเนื่องนับพันปีของโลกความงามของสตรีจีน ที่ เรืองชัย รักศรีอักษร ค้นคว้าหาแปลมาเป็น งามเพราะแต่ง ประวัติศาสตร์การประทินโฉมตำรับจีน ซึ่งมีรากฐานมาลึกล้ำ

ตั้งแต่เรื่องมาตราชั่งตวงวัด, ภาคเครื่องหอม, ภาคการแต่งผม (หนวดเครา), ภาคเครื่องสำอาง จนถึง 7 บทของแป้งผัดหน้า, ครีมทาหน้า, ไต้เขียนคิ้ว, ครีมทาปาก, การประดับหน้า, การทำเล็บ, การบำรุงผิว ล้วนเป็นที่มาที่จะทำให้เราเห็นว่า ทำไมสินค้าเครื่องสำอางปัจจุบันที่เรียกเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ถึงมีมูลค่าสูงนับล้านๆ บาทในการนำเข้าส่งออกของประเทศผู้ผลิตและผู้ซื้อ

และเพื่อความเข้าใจความคิดของบรรดาผู้นำจีนปัจจุบัน ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากับการฟื้นฟูรากฐานประเทศซึ่งถูกข่มเหงมาตั้งแต่พันธมิตร 8 ชาติเข้ามารุมขย้ำประเทศปลายราชวงศ์ชิง จนกลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย ระหว่างที่ประชาชนก็ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศจากระบบศักดินาที่ทำให้บ้านเมืองอ่อนแอ กระทั่งงานวรรณกรรมกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการปลุกเร้าความคิด

จนเกิดสงครามภายในจากยุคขุนศึก ถึงการปฏิวัติซินไห่ (ของ ซุนยัดเซ็น) โค่นราชวงศ์ชิง 10 ตุลาคม 1911 สู่ระบอบสาธารณรัฐ (ที่ยังส่งผลมาถึงคณะปฏิวัติ ร.ศ.130 ในสยาม) จนถึงการต่อสู้ระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งกับพรรคคอมมิวนิสต์ ขณะที่ญี่ปุ่นยกกำลังเข้ารุกราน

เกิดใหม่ในกองเพลิง รวมเรื่องสั้นจีนสมัยใหม่ของนักเขียนชั้นนำ ในวาระครบ 100 ปี “ขบวนการ 4 พฤษภา” (1919/2462) ที่นักศึกษาปัญญาชนราว 3,000 คนรวมตัวประท้วง “สนธิสัญญาขายชาติ” หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งส่งผลลึกล้ำทางความคิดทั้งการเมือง สังคม และวัฒนธรรมสืบเนื่องกันมา

รัชกฤช วงษ์วิลาศ และคณะ ร่วมกันแปลงานของนักคิดนักเขียนแนวหน้าร่วมสมัยนับแต่ เสิ่นฉงเหวิน, เยี่ยเสิ้งเถา, เหลาเส้อ, ปิงซิน, อวี้ต๋าฟู, อู๋จู่เซียง, ติงหลิง และเหมาตุ้น งานชั้นดี 9 เรื่อง จาก 9 นักเขียนเรืองนาม ผ่านมุมมองประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญ ที่จะปลุกเร้าความคิดอ่านของเราไปด้วยอย่างกินใจ

ฐานความคิดเหล่านี้ จำหลักเนิ่นนานอยู่ในความหวังที่จะนำพาประเทศให้กลับเป็นประเทศ “ศูนย์กลาง” (จงกว๋อ) อีกครั้ง อย่างน้อยในความรู้สึกของจีน

เขียนจีนให้เป็นไทย ของอาจารย์ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เชียงใหม่ สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ กลับเป็นงานอีกเล่ม ที่จะทำให้เข้าใจความเป็นจีนในไทยหรือคนไทยซึ่งมีบรรพบุรุษเป็นจีนที่กลมกลืนชนิดแยกไม่ให้เป็นไทยไม่ได้

เนื่องจาก “คนจีน” เป็นวัตถุศึกษาสำคัญของสังคมศาสตร์อเมริกันในการทำความเข้าใจสังคมไทย เพื่อเปิดทางให้สหรัฐแผ่อิทธิพลเข้ามาเตรียมป้องกันภัยคอมมิวนิสต์ที่กำลังคืบคลานสู่อุษาคเนย์ช่วงต้นสงครามเย็น จนงานวิชาการของนักวิชาการอเมริกันเหล่านั้นกลายเป็นฐานคิดของวงวิชาการไทยเวลาต่อมา กระทั่งเกิดการก่อตัวของ “ชาตินิยมวิชาการ” ขึ้นเป็นรอยแยกระหว่างไทยสหรัฐ สวนกลับคำอธิบายเดิมๆ ของอเมริกัน โดยเฉพาะการศึกษาเรื่องคนจีน

ขณะที่ความเปลี่ยนแปลงหลายด้านทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมความสัมพันธ์ระหว่างไทยจีน เริ่มจัดวางตำแหน่ง “คนจีน” ใหม่ในประวัติศาสตร์และสังคมไทย “คนไทยเชื้อสายจีน” หรือ “เจ๊ก” ที่เป็นมิตรกับประเทศ ห่างไกลลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ถือกำเนิดขึ้น และถมช่องว่างที่เคยแยกจีนแยกไทยจากความเป็นไทยของสังคมศาสตร์อเมริกัน เกิดคำอธิบายที่แข็งแกร่งขึ้นยิ่งกว่างานศึกษาของอเมริกันในยุคสงครามเย็นที่เคยสร้างความไขว้เขวมาแล้ว

คนที่ชอบรู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม ยิ่งอ่านยิ่งเข้าใจงานวิชาการกับการเมืองยิ่งขึ้น

● เรื่องจีนทันสมัยเล่มหนึ่งที่น่าหาอ่าน ประวัติศาสตร์จีนหลังเหมา เขียนโดยอาจารย์ โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ กับอาจารย์ประวัติศาสตร์ อักษรฯ จุฬาฯ วาสนา วงศ์สุรวัฒน์ เล่มแรกและเล่มเดียวขณะนี้ที่เสนอประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่หลังลัทธิเหมา กลายเป็นยุคปฏิรูปจนถึงการระบาดของโควิดในวันนี้

ทำไมจึงหลังเหมา ทำไมไม่หลังเติ้ง เพราะเมื่อ “เติ้งเสี่ยวผิง” ประกาศนโยบายและเปิดประเทศในปี 1978 (2521) จีนก็เปลี่ยนประเทศไปโดยสิ้นเชิงจากเดิมในระบอบเหมา เติ้งได้นำเศรษฐกิจจีนสู่ตลาดโลกเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ โดยไม่จำกัดอุดมการณ์การเมือง ส่งเสริมประชาชนทำธุรกิจ จนบรรดานายทุนแดงกลายเป็นขบวนขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน สามารถแข่งขันบนเวทีโลกได้ระหว่างทศวรรษ 1990-2000 (2533-2543) แตกต่างจากยุคเหมาชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ

แต่ทางหลักการแล้ว มิได้เปลี่ยนแปลงมาก ไม่ว่าผู้นำคนต่อๆ มาจะเป็น เจียงเจ๋อหมิน, หูจิ่นเทา หรือสี จิ้นผิง ก็มิได้เปลี่ยนโครงสร้างจนบ้านเมืองกลายไปเป็นอีกประเทศหนึ่ง หนังสือเล่มนี้จึงให้ภาพร่วมสมัยชัดเจนเข้าใจยิ่งขึ้น

● หนังสือปกแข็งหนาเพียง 48 หน้า พิมพ์กระดาษปอนด์ 4 สี แต่น่าอ่านชนิดต้องรีบหาก็คือ นี่แหละเผด็จการ ของ เอกิโป ปลันเตล ที่เขียนเรื่องนี้ขึ้นไม่นานหลังนายพลฟรังโก ผู้นำเผด็จการสเปนเสียชีวิต โดยมุ่งหมายจะอธิบายโฉมหน้าของเผด็จการให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ ได้เห็นภาพ ด้วยเชื่อว่า “เด็กๆ สนใจทุกอย่างที่ผู้ใหญ่สนใจ เราจึงต้องอธิบายให้พวกเขาฟัง แม้ต้องพยายามมากหน่อยก็ตาม”

ว่าจะรู้สึกอย่างไรหากต้องอาศัยในประเทศที่ทุกคนต้องทำตามคำสั่งของผู้นำเท่านั้น ประเทศที่ผู้นำคือกฎหมาย ประเทศที่ผู้นำเป็นเจ้าของทุกคนและทุกสิ่ง

จน 40 ปีหลังจากนั้น มิเกล กาซาล นักเขียนภาพประกอบผู้เติบโตภายใต้ระบอบเผด็จการฟรังโก จึงปลุก “นี่แหละเผด็จการ” นี้ขึ้น ให้มีชีวิตด้วยภาพอันเปี่ยมความหวัง ให้เห็นธาตุแท้ของเผด็จการ ให้ยิ่งตระหนักว่า ประชาธิปไตยสำคัญเพียงใด

● นิตยสารการเมืองฉบับครอบครัว มติชนสุดสัปดาห์ ว่าด้วย ลดภาพพี่ สวมบทพ่อ ลุ้นนายกฯ
หมายเลข 30 อ่านศึกสายเลือดทหารเสือ “ป้อม-ตู่” แรงสะเทือนกองทัพ สะเทือนเก้าอี้ ผบ.ทบ. วัดดวง “ต่อ” กับ “โต”

ตี ป.ปลา หน้าไซแก้รัฐธรรมนูญนายกฯอยู่เกิน 8 ปี ยุบสภาหนีซักฟอก

อ่านรับเงินหมา กาเพื่อไทย แพทองธารประกาศพร้อมเป็นนายกฯ พาเพื่อไทยไปแบบแผ่นดินถล่ม

อ่านการเมืองการตลาด คอลัมน์ชาติ ศาสนา และแบรนดิ้ง วิเคราะห์แบรนด์ “สร้างชาติ-รวมชาติ” ของพรรคการเมือง ขายความรักชาติ ปังหรือพัง อ่านส่องข้างหลังภาพ (ใหญ่) ของนักร้องสาววงแบล็กพิงก์ ไปถึง “สุญญากาศการพัฒนา และจินตนาการใหม่ สนามศุภชลาศัย”

คนมองหนังพาไปรู้จัก “ประชา พงศ์สุพัฒน์” ผู้เชื่อมโลก “เพลงเด็ก เพลงฮิต” แห่งยุค 90 และอ่านเทศมองไทยเรื่องสำคัญ “ไทย-เป้าหมายของคนจีนทิ้งแผ่นดิน”

เอ้าเฮ – เห็นเงินลอยมาเป็นฟ่อนๆ แล้ว

บรรณาลักษณ์

คุณกำลังดู: ตู้หน้งสือ : จีน ไทย มิใช่อื่นไกล พี่น้อง มิใช่ใครพี่ใครน้อง

หมวดหมู่: ความบันเทิง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด