ทำความเข้าใจ “ปลูกฝีทารก” ป้องกันฝีดาษลิงได้หรือไม่
เมื่อพูดถึงเรื่อง “โรคฝีดาษวานร” ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเตือนให้เฝ้าระวัง หลังจากที่พบผู้ติดเชื้อในหลายประเทศมากขึ้น ถึงแม้จะไม่ใช่โรคที่เกิดใหม่ แต่ก็ไม่มีการแพร่ระบาดมานานนับสิบปีแล้ว จึงทำให้เกิดประเด็นคำถามที่หลายคนต่างสงสัยว่าการปลูกฝีในวัยทารกนั้น สามารถช่วยป้องกันโรคฝีดาษลิงได้หรือไม่
การปลูกฝีที่แขนทารก คืออะไร
การปลูกฝีที่แขนทารกมี 2 รูปแบบ นั่นคือก่อนหน้านี้ในกลุ่มคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไปจะได้รับการฉีดวัคซีนฝีดาษคน หรือ ไข้ทรพิษ (Smallpox Virus) เนื่องจากในสมัยนั้นมีการระบาดของโรคไข้ทรพิษอย่างรุนแรง และในระยะหลังโรคไข้ทรพิษเริ่มทุเลาและจางหายไป จึงสิ้นสุดการฉีดวัคซีนชนิดนี้ในปี 1977 และในปัจจุบันเด็กแรกเกิดส่วนใหญ่จะได้รับการฉีดวัคซีน ชนิด BCG เพื่อป้องกันวัณโรคแบบแพร่กระจายทั้งหมดแทน ซึ่งวัณโรคแบบแพร่กระจายนี้จะทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ วัณโรคกระดูก เป็นต้น
การปลูกฝี ที่แขนทารกป้องกันโรคฝีดาษลิงได้หรือไม่
คนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป จะมีภูมิคุ้มกันที่สามารถป้องกันฝีดาษ Small Pock Virus ช่วยป้องกันฝีดาษลิงได้ด้วยถึง 85% แต่ในกลุ่มที่อายุน้อยกว่านั้นไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากวัคซีนที่เคยได้รับการฉีดนั้นจะช่วยป้องกันได้แค่วัณโรคอย่างเดียว และในกลุ่มคนอายุน้อยกว่า 50 ปี โดยทั่วไปก็ยังไม่มีคำแนะนำให้ปลูกฝีเพิ่มเติม แต่จะมีการแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้ทรพิษในกลุ่มคนที่มีความเกี่ยวข้องกับห้องทดลอง กลุ่มคนที่มีความใกล้ชิด ในประเทศกลุ่มเสี่ยงบางประเทศเท่านั้น
ฝีดาษลิงคืออะไร
ฝีดาษลิงเกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับ Small Pock Virus แต่ความรุนแรงของโรคจะน้อยกว่าไข้ทรพิษ สามารถเป็นแล้วหายเองได้ โดยอาการของโรคฝีดาษลิง เริ่มแรกจะมีไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ปวดศีรษะ อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ 1-2 วัน และหลังจากนั้นจะเริ่มพัฒนากลายเป็นผื่น มีแผลในปาก มีตุ่มตามบริเวณปาก ใบหน้า แขน ขา จะเป็นจุดแดงๆ อยู่ 1-2 วัน ก่อนตุ่มนั้นจะเริ่มนูนขึ้นอีก 1-2 วัน ก็จะเป็นตุ่มน้ำใสๆ และกลายเป็นตุ่มหนองที่มีขอบเขตชัด มีจุดตรงกลาง อยู่อีกประมาณ 5-7 วัน จึงเกิดการตกสะเก็ด ซึ่งควรระวังช่วงที่มีตุ่มขึ้นจนกว่าจะตกสะเก็ด โดยรวมประมาณ 2 สัปดาห์ เนื่องจากเป็นระยะแพร่เชื้อได้
ในกลุ่มคนที่มีโอกาสติดโรคฝีดาษลิง หรือกลุ่มเสี่ยงส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเป็นกลุ่มคนที่สัมผัสกับผู้ที่สงสัยว่าเป็นโรค หรือสัมผัสใกล้ชิด หรือสัมผัสสารคัดหลั่งของสัตว์ที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่รักษาผู้ป่วยซึ่งอาจทำให้มีโอกาสติดโรคขึ้นได้ แต่ในคนทั่วไปอาจจะไม่ได้มีความเสี่ยงมาก
การรักษาโรคฝีดาษลิง
ในปัจจุบันยังไม่มียาที่สามารถรักษาโรคฝีดาษลิงได้โดยตรงแต่โดยส่วนใหญ่จะหายได้เอง วิธีการจึงเป็นในรูปแบบของการรักษาตามอาการ มีอาการแบบไหนก็ทานยาแบบนั้น และพักผ่อน โดยในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มเด็ก กลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว กลุ่มคนท้อง แพทย์จะมีการพิจารณาให้การรักษาโดยการใช้ยาต้านไวรัสชนิดอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ยาที่รักษาตัวฝีดาษ Small Pock หรือยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาการติดเชื้อ CMV อาจจะช่วยบรรเทาได้ และต้องมีการรับรอง FDA จากองค์การอนามัยโลกว่าสามารถใช้ได้เท่านั้น
ถึงแม้ว่าโรคฝีดาษลิงนั้นจะมีความรุนแรงน้อยกว่าไข้ทรพิษ
ซึ่งเราสามารถแยกความแตกต่างได้จากลักษณะผื่นและอาการ เช่น ในฝีดาษลิง
มักจะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต
หรือต่อมน้ำเหลืองอักเสบมากกว่าคนที่เป็นฝีดาษธรรมดา เป็นต้น
และยังไม่พบการระบาดในประเทศไทย แต่เราก็ควรต้องหมั่นดูแลตนเอง
ทานอาหารปรุงสุก ล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์บ่อยๆ
เพื่อให้ตัวเองปลอดภัย ห่างไกลจากโรค
บทความโดย พญ.เรณุกา จรัสพงศ์พิสุทธิ์
แพทย์เฉพาะทางด้านโรคติดเชื้อในเด็ก ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท
2
คุณกำลังดู: ทำความเข้าใจ “ปลูกฝีทารก” ป้องกันฝีดาษลิงได้หรือไม่
หมวดหมู่: แม่และเด็ก