“Time-in & Time-out” เทคนิคสยบลูกน้อยจอมซน ฉบับคุณแม่ยุคใหม่

Time-in เป็นการช่วยให้เด็กสงบสติอารมณ์โดยมีพ่อแม่อยู่ข้างๆ เขา ช่วยปลอบประโลมให้เขาสงบลง แนะนำให้ใช้วิธีนี้เวลาที่ลูกหงุดหงิดหรือผิดหวังแล้วอาละวาดหรือโวยวาย เพื่อให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่ยอมรับ

“Time-in & Time-out” เทคนิคสยบลูกน้อยจอมซน ฉบับคุณแม่ยุคใหม่

“เด็กกับดื้อเป็นของคู่กัน เด็กที่ไม่ดื้อเลยอาจน่าเป็นห่วง” นั่นเพราะเด็กยังทำทุกอย่างตามใจตัวเอง โดยไม่รู้ว่าถูกหรือผิด แถมเด็กกำลังพัฒนา “ความเป็นตัวของตัวเอง” จึงไม่อยากทำตามที่ผู้ใหญ่สั่ง หรือบอกให้ทำ มีบางครั้งที่เด็กก็ดื้อจนแปลงร่างเป็นปิศาจตัวน้อยที่วีนเหวี่ยง!!!!!

แล้วพ่อแม่และผู้ใหญ่จะรับมือกับเจ้าตัวแสบยังไง โดยไม่ต้องใช้วิธีที่รุนแรง และไม่ทำร้ายจิตใจกัน แถมยังได้ผลดี

วิธีรับมือลูกน้อยที่เด็ดขาดและรุนแรง เช่น ตี ดุด่าว่ากล่าว ประชดประชัน เป็นต้น นอกจากจะไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกได้แล้ว ยังกัดเซาะความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่ และยังอาจทำลายความรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า (Self-esteem) ของลูก ดีไม่ดีลูกก็อาจต่อต้านและนำวิธีที่รุนแรงไปใช้กับคนอื่น

Time-in & Time-outวิธีที่ได้ผล โดยไม่ทำร้ายจิตใจ

Time-inเป็นการช่วยให้เด็กสงบสติอารมณ์โดยมีพ่อแม่อยู่ข้างๆ เขา ช่วยปลอบประโลมให้เขาสงบลง แนะนำให้ใช้วิธีนี้เวลาที่ลูกหงุดหงิด หรือผิดหวังแล้วอาละวาด หรือโวยวาย เพื่อให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่ยอมรับความรู้สึกที่ไม่ดีของเขา และพร้อมที่จะช่วยให้เขาสงบลงได้เวลาที่เกิดปัญหา

การ Time-in เป็นการแสดงออกถึงความรักของพ่อแม่ที่ยอมรับทุกอารมณ์ทุกความรู้สึก ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี (เช่น โกรธ เสียใจ ผิดหวัง) และคอยช่วยให้เขาแสดงออกอย่างเหมาะสมแทนการวีน-เหวี่ยง-อาละวาด โดยใช้เทคนิค “เป็นโค้ชทางอารมณ์” ช่วยให้ลูกตระหนัก-รับรู้ว่าตอนนี้เขากำลังรู้สึกอย่างไร และอะไรที่ทำให้รู้สึกอย่างนั้น และจะจัดการกับความรู้สึกนั้นอย่างเหมาะสมได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น ลูกอาละวาดโวยวายที่น้องอายุ 2 ขวบมาถล่ม “ตึกสูง ผลงานมาสเตอร์พีซของเขา” พ่อแม่อาจพูดว่า “ลูกโกรธมากๆ ที่ตึกพัง หนูอยากให้พ่อแม่ช่วยอะไรมั้ย” แล้วหยุดเพื่อให้ลูกได้พูดบอกความรู้สึก หรือสิ่งที่เขาคิด เช่น “หนูจะตีน้อง” หรือ “แม่เอาน้องไปทิ้งขยะเลย” เมื่อลูกพูดสิ่งที่เขาคิดแล้ว พ่อแม่จึงตีกรอบพฤติกรรมที่เหมาะสมให้เขา เช่น “หนูโกรธน้องมากจนอยากตีน้อง แต่แม่คงปล่อยให้หนูตีน้องไม่ได้ หนูให้พ่อแม่ช่วยอย่างอื่นได้มั้ย เพื่อทำให้หนูรู้สึกดีขึ้น” เป็นต้น

Time-out เป็นวิธีที่ใช้เวลาที่ลูกมีพฤติกรรมที่ “ต้องหยุด” เช่น ตื๊อ ร้องไห้คร่ำครวญ เถียง ขว้างปาข้าวของ หรือตีตนเอง/คนอื่น วิธีนี้นอกจากจะให้เวลาลูกได้สงบสติอารมณ์ของตัวเองแล้ว ยังป้องกัน “วงจรอุบาทว์” ระหว่างลูกกับพ่อแม่ “ตื๊อ-อธิบาย-ตื๊อต่อ-อธิบายเหมือนเดิม-ตื๊อๆๆๆ-แม่หงุดหงิดและขึ้นเสียงดัง หรือทำเสียงแข็ง-ตื๊อหนักขึ้น-เถียงมากขึ้น-อาจลงท้ายด้วยการตี-ดุด่า หรือยอมตามใจแต่ก็บ่นว่า”

ก่อนที่จะ Time-out ลูก ควรส่งสัญญาณเตือนให้ลูกรู้ว่า “หยุดได้แล้วนะ” ด้วยการนับ 1-3 โดยจะเตือนเฉพาะพฤติกรรมที่ไม่รุนแรง หากลูกตี หรือขว้างปาข้าวของ พ่อแม่สามารถ Time-out ได้ทันที

การนับ 1 - 2 - 3 ควรเว้นเวลาสัก 5 วินาที เพื่อให้เวลาลูกตัดสินใจ หากลูกยังไม่หยุด และพ่อแม่นับครบ 3 ก็พาลูกไปอยู่ในพื้นที่ที่เตรียมไว้ เช่น มุมห้อง หรือเก้าอี้ของเขา โดยไม่ควรอยู่ใกล้ระเบียง ของมีคม หรือสิ่งอันตรายต่างๆ และไม่ควรมีของเล่น หรือสิ่งที่ทำให้เด็กเพลิดเพลิน แทนการนั่ง “ทบทวนตัวเอง” เมื่อลูกนั่งเข้ามุม หรือเก้าอี้จนครบเวลา (1 นาทีต่ออายุ 1 ปี เช่น 3 นาทีสำหรับเด็กอายุ 3 ขวบ) พ่อแม่จึงปล่อยให้เขากลับไปทำสิ่งที่ทำอยู่ก่อนหน้านี้ได้ โดยพ่อแม่ไม่ควรพูดบ่น สั่งสอน หรือดุว่าอะไรต่อ และวิธีนี้สามารถใช้ได้ผลในเด็กอายุ 2-12 ปี

มีหลักใหญ่ๆ 3 ข้อ ที่พ่อแม่ควรทำ หากจะใช้วิธีนี้ปรับพฤติกรรมลูกให้ได้ผล คือ

1. มีช่วงเวลาที่ดี มีความสุขกับลูก เป็นพ่อแม่ที่ “อบอุ่น-เป็นมิตร”
2. เมื่อต้องใช้วิธีนี้ ต้องเป็นพ่อแม่ที่ “หนักแน่น มั่นคง”
3. ไม่พูดมาก ไม่ใช้อารมณ์ ขณะใช้การนับเพื่อ Time-out


บทความโดย : แพทย์หญิงนลินี เชื้อวณิชชากร กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม โรงพยาบาลพญาไท 1

คุณกำลังดู: “Time-in & Time-out” เทคนิคสยบลูกน้อยจอมซน ฉบับคุณแม่ยุคใหม่

หมวดหมู่: แม่และเด็ก

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด