อย่าปล่อยให้ “ความเงียบ” บ่อนทำลายความสัมพันธ์

อย่าปล่อยให้ “ความเงียบ” บ่อนทำลายความสัมพันธ์

“ปัญหา” เป็นสิ่งเกิดขึ้นได้ในทุก ๆ ความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน แฟน หรือแม้กระทั่งสามี ภรรยา คนรักกัน การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันย่อมมีเรื่องกระทบกระทั่งกันเป็นธรรมดา มีได้ตั้งแต่ปัญหาที่ดูเล็กน้อยมาก ๆ จนใครหลายคนมองว่ามันสามารถปล่อยผ่านไปได้ หรือปัญหาที่ใหญ่โตรุงรัง สิ่งสำคัญคือ เมื่อมีปัญหาขึ้นมาแล้ว เราได้พยายามแก้ปัญหากันหรือเปล่า ได้เคยพยายามเปิดใจพูดคุยกันไหน หรือหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าอยู่เสมอ ๆ จนปัญหาที่ซุกไว้ใต้พรมมันสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ

สิ่งสำคัญที่เราไม่ควรจะทำต่อกันเมื่อเกิดปัญหา คือ การใช้ “ความเงียบ” เป็นเครื่องมือในการหลบเลี่ยงการทะเลาะกัน หลายคนอาจเข้าใจว่า การเงียบนั้น คือการควบคุมอารมณ์ และเป็นวิธีการรับมือความขัดแย้งแบบที่ผู้ใหญ่เขาทำกัน ความเงียบจะทำให้ความขัดแย้งผ่านพ้นไปได้ด้วยดี

แต่ในทางปฏิบัติ การใช้ “ความเงียบ” แก้ปัญหา เป็นภัยร้ายต่อความสัมพันธ์มากกว่าที่คิด โดยเฉพาะกับคู่รักที่ชอบงอนกันด้วยความเงียบ เวลาไม่พอใจชอบทำเมินอีกฝ่ายเสมอ พูดด้วยก็ไม่หือไม่อือ เย็นชาใส่เหมือนไม่มีตัวตน ไม่ชอบไม่พอใจก็ไม่ยอมบอกกันดี ๆ ลักษณะดังกล่าวอาจเข้าข่าย Silent Treatment (การปฏิบัติต่อคู่รักด้วยความเงียบ)

“การเงียบ” นอกจากจะไม่ช่วยเรื่องการปรับความเข้าใจหรือนำเสนอให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริงแล้ว ยังอาจทำให้ทุกอย่างบานปลายอีกด้วย ทั้งจากคนที่เป็นฝ่ายเงียบและคนที่ถูกเงียบใส่ มันไม่ต่างอะไรกับระเบิดเวลาที่ค่อย ๆ บ่อนทำลายความสัมพันธ์ลงช้า ๆ และเป็นอาวุธร้ายกาจที่สร้างความเจ็บปวดให้กันไม่จบสิ้น เพราะเจตนาของความเงียบของใครบางคน เงียบเพื่อทำร้าย แสดงอำนาจควบคุม หรือบงการให้คนอื่นต้องทำตามใจตน

ความเงียบ ควรใช้สำหรับการเบรกอารมณ์ที่คุกรุ่น
เป็นเรื่องปกติธรรมดาในความสัมพันธ์ที่เราจะมีกระทบกระทั่งกับคนใกล้ชิดรอบ ๆ ตัว เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่คนเราจะคิดเห็นตรงกัน หรือยอมเออออห่อหมกกันไปด้วยความเต็มใจได้ทุกเรื่อง แต่ในความสัมพันธ์ที่ดี เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เราควรเลือกที่จะแก้ปัญหามากกว่าหมกปัญหา การปรับความเข้าใจให้ตรงกันคือสิ่งหนึ่งที่เราต้องทำ อย่าปล่อยให้มันคาราคาซังจนค่อย ๆ กัดกินความรู้สึกของกันและกันไปเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ต่างคนต่างกำลังเดือด อารมณ์คุกรุ่นชนิดที่ทำลายล้างกันได้ ความเงียบสามารถช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ เงียบในทีนี้หมายความว่าเงียบเพื่อสงบสติอารมณ์ของตนเอง พอเย็นลงแล้วค่อยกลับมาคุยกันเป็นปกติ เงียบเพื่อเรียกสติ ไม่ใช่เงียบเพื่อปล่อยผ่าน

การไม่พูดจากันในช่วงที่แต่ละคนกำลังโมโหกันสุดขีด ก็เพื่อไม่ให้แต่ละฝ่ายหลุดคำพูดใจร้ายออกมาตามอารมณ์ คำพูดที่อาจหลุดออกมาโดยไม่ได้คิด หรือคิดแล้ว แต่เพราะใจยังมุ่งมั่นที่จะทำลายกันในสภาวะของความโกรธ ควรเงียบเพื่อลดทอนความรุนแรงทางอารมณ์ลงก่อน ไม่เช่นนั้นมันจะยิ่งไปกันใหญ่ แต่อย่าเงียบแบบหลีกเลี่ยงที่จะไม่หาทางออก นั่นคือการหนีปัญหาที่ไม่ส่งผลดีในความสัมพันธ์ แต่ละฝ่ายจะเริ่มสับสนในสถานการณ์ คิดไปเอง และเริ่มโทษตัวเองในที่สุด หากมีฝ่ายใดต้องการจะเคลียร์กันดี ๆ ก็อย่าพยายามสร้างดราม่าขึ้นมาในลักษณะที่ “ฉันเงียบแล้ว เธอยังไม่จบอีกเหรอ” เด็ดขาด นี่ไม่ใช่วิธีการรับมือความขัดแย้ง แต่เป็นการปฏิเสธที่จะปรับความเข้าใจ

ความเงียบ ไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจกัน
การโยนความเงียบใส่กัน เป็นจุดเริ่มต้นของการคิดและคาดเดาไปเองจากมุมมองของตัวเองเท่านั้น แน่นอนว่ามันไม่ได้ช่วยให้เราเข้าใจกันและกันเลยสักนิด ก็ในเมื่อเราไม่คุยกัน แล้วจะไปนั่งใช้กระแสจิตเพ่งสัมผัสเอาเหรอว่าอีกฝ่ายกำลังคิดอะไรอยู่ นอกจากนี้ มันนำมาซึ่งความรู้สึกด้านลบอีกมากมาย ทั้งความสับสน ความกลัว กวามกังวล ความเครียด ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ควรใช้ความเงียบเป็นเพียงการเบรกอารมณ์ที่คุกรุ่นเท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการใช่อารมณ์ตวาดใส่กันแทนเหตุผล ไม่ใช่เงียบเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง เราก็ไม่รู้อยู่ดีว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน ซึ่งการบ่มหมักปัญหาไปเรื่อย ๆ ไม่ต่างจากระเบิดเวลา

ไม่ว่าต่างฝ่ายจะมองว่าปัญหานั้น ๆ มันเลวร้ายแค่ไหน ก็ควรหันหน้ามาคุยกัน หรือต่อให้ไม่มีอะไรจะพูดจริง ๆ ก็อย่าทำเป็นเมินใส่กัน อย่าเงียบใส่กัน ทุกความสัมพันธ์ควรจะมีการสื่อสารที่ดีเพื่อให้เราเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง ความเงียบอาจหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าได้ก็จริง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะนำความเงียบมาใช้แก้ปัญหาได้ มันจะทำให้ความสัมพันธ์พังทลายลงเสียมากกว่า และอย่าคิดแทนกันว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ปล่อยผ่านไปได้โดยไม่พูดคุยกัน ปัญหาน่ะ วันนี้ปล่อยผ่านแต่สักวันมันจะกลับมา ดังนั้น ต้องพูดคุยให้ชัดเจน เปิดใจฟังอย่างมีเหตุผล เราจะได้เข้าใจกันในแบบที่มันควรจะเป็น เน้นประนีประนอมไม่ใช่เน้นการปะทะ เอาใจเขามาใส่ใจเราเสมอ แล้วปรับตัวเข้าหากัน

ความเงียบ อาจหลบเลี่ยงการทะเลาะ แต่ไม่ช่วยแก้ปัญหา
ที่ใครหลายคนเลือกที่จะใช้ความเงียบเป็นเครื่องมือในการรักษาความสัมพันธ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเข้าใจว่าการทะเลาะกันเป็นเรื่องเลวร้าย ส่วนความเงียบเป็นการพยายามที่จะควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ให้ระเบิดออกมา และเป็นวิธีการรับมือความขัดแย้งแบบที่คนมีวุฒิภาวะเขาทำกัน ดังนั้น เงียบก็ยังดีกว่าการเปิดฉากตีกัน แต่ในความเป็นจริง การเงียบใส่กันมันก็คือการซุกปัญหาไว้ใต้พรม มันไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหา ไม่ได้ทำให้รู้ว่าอีกฝ่ายไม่พอใจอะไร เพราะต่างฝ่ายต่างเลือกที่จะเก็บความไม่พอใจไว้ที่ตัวเองเดียว สะสมปัญหาไปเรื่อย ๆ อีกทั้งยังค่อย ๆ บ่มเพาะความรู้สึกไม่สบายใจต่อกันให้เติบโตขึ้นในใจด้วย เพราะฉะนั้น ความเงียบไม่ได้ช่วยแก้ไขอะไรเลย และทำให้ทุกอย่างแย่ลง

ในทางกลับกัน เมื่อมีคนใดคนหนึ่งไม่พอใจแล้วเลือกที่จะโวยวาย แสดงอารมณ์และความรู้สึกที่ตัวเองไม่พอใจออกมาอย่างเต็มที่ ผลลัพธ์มันยังอาจเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลงก็ได้ ในทางหนึ่ง มันอาจนำไปสู่การเปิดใจคุยกันเพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้น หรือในอีกทางหนึ่งมันอาจจะทำให้ทะเลาะกันใหญ่โตแล้วต้องลงเอยด้วยการเลิกรากันก็ได้เช่น แต่อย่างน้อย ๆ ก็ยังได้ระบายสิ่งที่ขุ่นมัวคับข้องใจออกมาให้อีกฝ่ายได้รู้ว่าเราไม่พอใจหรืออึดอัดอะไรยังไง ในท้ายที่สุด เรื่องมันก็ยังจบแบบที่เราได้รู้ว่าอะไรคือปัญหา ก่อนที่จะไปถึงจุดนั้นต่างฝ่ายต่างก็ยังได้พยายามที่จะปรับความเข้าใจกัน ซึ่งมันจะจบแบบคนละเรื่องกับการเงียบใส่กันอย่างแน่นอน บั่นทอนกันไปมาโดยไม่มีอะไรชัดเจน

ความเงียบ ไม่ทำให้เรารู้ความเจ็บปวดของกันและกัน
ความเงียบมักมาพร้อมความอดทนเสมอ การที่ใครบางคนไม่กล้าที่จะพูดความในใจของตัวเองออกมา ก็เพราะคิดว่าการพูดเรื่องนั้น ๆ แสดงให้เห็นถึงความไม่อดทน แสดงให้เห็นถึงความเป็นคนเยอะที่คิดเล็กคิดน้อย แสดงให้เห็นถึงความไม่พยายามที่จะปล่อยผ่านกับเรื่องเล็กน้อย แสดงให้เห็นถึงความไม่พยายามที่จะเลี่ยงการกระทบกระทั่ง หรือกลัวว่าอาจจะทำให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าเราเป็นพวกที่มีปัญหาอยู่ตลอด เลยไม่อยากบอกออกไป ในทางตรงกันข้าม การพูดในสิ่งที่เราไม่สบายใจ ต่อให้มันเป็นเรื่องไร้สาระแค่ไหน ถ้าอีกฝ่ายคือตัวจริงเขาก็จะฟัง และถึงแม้มันจะน่าลำบากใจ ก็ยังดีกว่าเก็บงำความอึมครึมนั้นไว้ แล้วเราก็ต้องมาอึดอัดใจอยู่ตลอดเวลาซะเอง

ความเงียบมีแต่จะทำลายตัวเองและทำร้ายกันและกัน เพราะฉะนั้น ถ้ามีสิ่งที่อยากจะพูด ก็พยายามพูดมันออกมาดีกว่าที่จะเก็บมันไว้เอาไว้เงียบ ๆ สื่อสารให้อีกฝ่ายได้รู้ว่ามีอะไรในความสัมพันธ์ที่ทำให้เราไม่สบายใจ เพื่อนำไปสู่การพูดคุยอย่างมีเหตุผลเพื่อแก้ปัญหา หรือเวลาที่ขัดแย้งกัน ความเงียบ สร้างแผลใจให้กันได้มากกว่าที่คิด โดยเฉพาะกับคนที่ถูกเงียบใส่ อย่าเพิกเฉย เย็นชาด้วยความเงียบ เพื่อบีบให้เขายอมทำตามความต้องการเพื่อให้เรายอมพูดด้วย พอถึงจุดนั้น เราจะได้รับรู้ว่าตลอดระยะเวลาของความอดทน มันสร้างความเจ็บปวดให้กันและกันมากแค่ไหน คนที่เจ็บปวดก็แค่ต้องการให้อีกฝ่ายได้รับรู้บ้าง ดังนั้น ระบายมันออกมาดีกว่ารอให้มันระเบิดทีเดียว

ความเงียบ ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่มีตัวตน
ความเงียบ ที่ใครหลายคนเข้าใจว่าเป็นเครื่องมือในการรักษาความสัมพันธ์ ช่วยให้คนสองคนไม่ต้องทะเลาะกันรุนแรง แท้จริงแล้วมันคือ “การกล่าวโทษ” และ “ลงโทษ” อีกฝ่ายเสียมากกว่า เมื่อความเงียบถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่เราต้องการ เราจะใช้อำนาจควบคุมกดดันให้อีกฝ่ายรู้สึกผิด บีบให้ต้องยอมทำตามอย่างไร้เงื่อนไข รวมถึงยังเป็นการเอาคืนอีกฝ่ายเพื่อให้เขาได้รับรู้ว่าเรากำลังไม่พอใจ ในขณะที่ผู้ที่ถูกเฉยชาใส่จะเริ่มสงสัยว่าตัวเองทำอะไรผิด ถึงได้ถูกปฏิเสธราวกับไม่มีตัวตนแบบนี้ ถามก็ไม่ตอบ พูดด้วยก็ทำเป็นไม่ได้ยิน จนเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นที่ยอมรับ กลายเป็นความเจ็บปวดทางใจ เพราะถูกลงทัณฑ์ด้วยความเงียบเสมือนปราศจากตัวตนจากคนใกล้ตัว

ความไร้เสียง ไร้การปะทะ ไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ สิ่งเหล่านี้จะค่อย ๆ ซึมลึกเป็นความเจ็บปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่ออีกฝ่ายแสดงท่าทีชัดเจนว่าไม่พร้อมจะปรับความเข้าใจอะไรทั้งสิ้น แบบนี้แทบไม่ต่างอะไรจากการทำสงครามประสาทเพราะความเงียบมักจะมาพร้อมกับท่าทีเมินเฉย ที่ทำให้ใครบางคนดูไร้ตัวตนในความสัมพันธ์ไปในทันที รู้สึกโดดเดี่ยวตัวคนเดียวมากขึ้นทั้งที่นั่งอยู่ข้าง ๆ กัน ทำให้สงสัยในคุณค่าของตัวเอง และการที่ไม่มีทางรู้ว่าอีกฝ่ายกำลังคิดอะไรอยู่ จึงตกอยู่ในสภาวะของการคาดเดาและคิดไปเอง เต็มไปด้วยความกลัว ความกังวล ความเครียด ความสับสน ที่วนเวียนซ้ำไปซ้ำมาอย่างหาทางออกไม่ได้ ซึ่งมันทำลายความเชื่อมั่นในตัวเองของคนคนหนึ่งไปอย่างหมดสิ้นด้วย

คุณกำลังดู: อย่าปล่อยให้ “ความเงียบ” บ่อนทำลายความสัมพันธ์

หมวดหมู่: ผู้ชาย

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด