อย่าพึ่งพาระบบช่วยขับมากเกินไป จนทำให้สมาธิหลุด!
ระบบช่วยขับ ทำให้การขับรถง่ายดายและมีความปลอดภัย แต่ถ้าพึ่งพามันมากจนเกินไป แล้วระบบไม่ทำงาน หรือทำงานผิดพลาด อาจตามมาด้วยอุบัติเหตุรุนแรง!
ทุกวันนี้ มักจะมียูทูบเบอร์ชื่อแปลกๆ ไม่คุ้นหู พากันกระหน่ำเชียร์รถไฟฟ้าสุดลิ่มทิ่มประตู ทำคลิปว่าดีอย่างงั้น สุดยอดอย่างงี้ ทำคลิปปั่นเอายอดกันเยอะมาก ส่วนใหญ่จะเป็นรถไฟฟ้ายี่ห้อแปลกๆ แบรนด์ชื่อประหลาด ที่อวดสรรพคุณชาร์จไฟเต็ม ลากได้ถึง 650-1,000 กิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้าต้นแบบที่ผลิตในจีน หรือซัพพลายเออร์ชื่อแปลก ไม่ค่อยจะคุ้นในอเมริกา รถไฟฟ้าบางรุ่นจึงมีชื่อรุ่นคล้ายน้ำยาล้างห้องน้ำ!! เอาเข้าจริงๆ รถพวกนี้แทบจะไม่มีโอกาสเข้าไทยในตอนนี้ เพราะการทำ BOI และการสร้างความเชื่อมั่น ไม่ได้ทำกันแค่ปีสองปี รวมถึงอัตราภาษีที่รัฐยังคงคิดกับรถไฟฟ้านำเข้าสูงยันเพดาน
เมื่อลองเข้าไปค้นดูเพื่อหาข้อมูล ส่วนใหญ่ท่ียอดรักนักโพสต์ยูทูบนำเสนอ จะเป็นรถต้นแบบที่ยังไม่ได้ผลิตจริง และการเคลมว่าลากยาวได้เฉียด 1,000 กิโลเมตร ยังคงเป็นแค่ความเพ้อฝัน แบตฯระยะทำการไกลขนาดนั้น เกิดขึ้นได้จริงอย่างแน่นอน แต่ไม่ใช่ตอนนี้
เจ้าแห่งเทคโนโลยีอย่างเยอรมัน ไม่ว่าจะเป็น Volkswagen BMW Audi Mercedes-BenzPorsche ทำรถไฟฟ้าออกมาขายหลายปีแล้ว ส่วนใหญ่วิ่งได้ไกลสุดแค่ 300-400 กิโลเมตร รถที่วิ่งได้ 500 กิโลเมตร หากเป็นรถไฟฟ้า ก็ต้องหักระยะทางจากที่บริษัทรถเคลมมาลงอีก 20% ที่บอกว่า 500 กิโลเมตร วิ่งจริงด้วยความเร็วปกติ ไม่น่าจะเกิน 420 กิโลเมตร ถ้าพยายามจะทำระยะให้ได้กับเท่าที่เคลม คงต้องใช้ความเร็วต่ำจนช้าเป็นเต่าคลาน ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากรถที่วิ่งเร็วกว่า ปัจจุบันยังไม่มีแบรนด์เยอรมันเจ้าไหนที่ดันรถไฟฟ้าได้ถึง 1,000 กิโลเมตร และคงอีกนานพอสมควร
นอกจากความชอบและนิยมรถไฟฟ้าของคนรุ่นใหม่บางกลุ่มแล้ว ยังเชื่อมโยงกับการเสพติด AI และ autonomous แบบขึ้นสมอง โดยลืมดูไปว่าการใช้ยานพาหนะอะไรก็ตามที่อุดมไปด้วยอิเล็กทรอนิกส์ แล้วนำมาเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายที่คล้ายระบบประสาทสั่งงานของมนุษย์ ใช้ไฟฟ้าหล่อเลี้ยงการทำงาน พอใช้งานไปไดัระยะนึงมันก็จะเริ่มรวน! ไม่ช้าก็เร็ว ทั้งจากการออกแบบระบบ การทำงานในสภาวะที่มีความแตกต่างอย่างสุดขั้วของอุณหภูมิจากประเทศผู้ผลิตที่เป็นเขตหนาว แล้วเอามาใช้งานในเขตร้อนชื้น รวมถึงตัวแปรมากมายบนถนนที่อาจทำให้ระบบเกิดความสับสน
หากระบบมีความเสถียร สามารถลดอุบัติเหตุได้จริงจากการควบคุมของ AI แต่อย่าลืมว่ารถยนต์ส่วนใหญ่ยังถูกควบคุมด้วยมนุษย์ ซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดได้ทุกเมื่อ แม้คุณจะมี AI ที่ฉลาดหลักแหลม แต่ตัวแปรที่ซับซ้อนบางอย่างก็อาจเกินความสามารถในการตัดสินใจอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ เพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ ปัจจุบันระบบช่วยขับที่เชื่อมโยงกับระบบความปลอดภัย ทำให้การขับรถง่ายและสะดวกสบายมากกว่าเดิม ความสะดวกสบาย บางครั้งก็อาจทำให้สมาธิในการควบคุมลดลง หรือพูดง่ายๆ ก็คือ บางครั้งระบบช่วยขับอาจทำให้เราประมาทขึ้นโดยไม่รู้ตัว
ยุค 70-80 เจ้าของรถยนต์ส่วนใหญ่ซื้อรถบางรุ่นเพราะเป็นพวกบ้าขับรถ โดยจะใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับการขับและเพลิดเพลินกับการตอบสนองของระบบขับเคลื่อน และไม่ต้องคอยวุ่นวายกับการเชื่อมต่อ การตอบโต้กับรถ การปรับตั้งค่าต่างๆ ของระบบความปลอดภัย และการพึ่งพาระบบช่วยขับมากจนเกินไป ซึ่งอาจเป็นตัวการในการบั่นทอนสมาธิของการขับโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากระบบช่วยขับจะทำให้คนขับเกิดความสบายและผ่อนคลาย จนลืมหรือหลุดจากการเพ่งสมาธิไปที่การควบคุมทิศทางของรถยนต์ แม้แต่การลดความเร็ว หรือเบรก ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของความปลอดภัย จริงๆ แล้วความปลอดภัยหลักในการขับรถก็คือ การมีสมาธิจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า วิเคราะห์ แยกแยะ และตัดสินใจ โดยขึ้นตรงกับความปลอดภัยเป็นสำคัญ โดยไม่ไปสนใจสิ่งเร้าอื่นๆ รอบตัว หรือพึ่งพาระบบช่วยเหลือมากจนเกินไป
ปัจจุบัน ทุกอย่างเปลี่ยนไป อะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์
ต้องมาพร้อมกับคำว่า นวัตกรรม หรือ เทคโนโลยี
ใช่ครับทุกวันนี้เราพึ่งพาระบบช่วยเหลือต่างๆ มากเกินไป
มันมากจนทำให้การควบคุมรถขาดความสนุก
ขาดสัมผัสของกลไกซึ่งถูกแทนที่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
การตัดสินใจด้วยตัวเอง
เปลี่ยนไปเป็นการตัดสินใจของเซนเซอร์ที่รับสัญญาณจากกล้องและอินฟราเรด
เรากำลังยึดติดกับความสบาย จนทำให้สัมผัสของรถยนต์ในอดีตหายไป
ความสบายทำให้การจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าหรือการสังเกตการณ์ด้อยลงไป
การขับรถยนต์ราคาแพงที่มีระบบต่างๆ
คอยรองรับความสะดวกสบายในทุกวันนี้เป็นเรื่องที่ดี
แต่กลับกลายเป็นการสังเคราะห์ด้วยไฟฟ้าเกือบทั้งหมด
และทำให้ผู้ขับขาดความใส่ใจในเรื่องความปลอดภัย เพราะคิดว่าระบบต่างๆ
ได้รองรับเอาไว้หมดแล้วจากการปรับตั้ง
ซึ่งถ้าระบบทำงานด้วยความเสถียรและเที่ยงตรงก็ดีไป
แต่ถ้าเกิดความผิดพลาดขึ้นมา
สมาธิที่หลุดจากการควบคุมเพราะความสบายอาจกลายเป็นอุบัติเหตุรุนแรงได้
สุดท้าย AI ก็จะเข้ามาครอบครองและสั่งงานในรถแทนคุณ
ส่วนตัวคุณเองและครอบครัวก็ทำได้แค่นั่งง่อยๆ อยู่ในรถ
ยกตัวอย่างเช่น ผมเปิดระบบรักษาช่องทาง ซึ่งทำงานทั้งการส่งสัญญาณเสียงแจ้งเตือน พร้อมกับการสั่นหรือขืนพวงมาลัย เมื่อรถออกนอกช่องทาง ผมขับรถบนถนนที่ค่อนข้างโล่ง และคิดจะเปลี่ยนช่องทาง มองกระจกมองข้าง สังเกตการณ์แล้วว่าไม่มีรถอยู่ในช่องทางที่จะไป ก็เริ่มต้นการขยับพวงมาลัยไปในช่องทางนั้น แต่ผมไม่ได้เปิดไฟเลี้ยว เพราะรีบ หรือลืม หรือเห็นว่าข้างหลังไม่มีรถสักคัน เลยไม่ได้ยกสัญญาณไฟ แต่รถที่เปิดระบบรักษาช่องทางจราจร เมื่อไม่ยกไฟเลี้ยว อาจเพราะลืม หรือรีบ ระบบจะไม่ให้ผมขยับพวงมาลัยไปได้อย่างสะดวก lane keep assist จัดการดึงพวงมาลัยกลับทันที ผมเองก็มีความคิดประหลาดและอยากลอง ไม่ยอมแพ้ต่อระบบช่วยเหลือ โดยต่อสู้กับแรงต้านของระบบรักษาช่องทาง จนสามารถเปลี่ยนเลนได้สำเร็จ เสร็จแล้วก็รีบปิดทิ้งทันที
เนื่องจากในชีวิตจริง บางจังหวะ คุณอาจต้องเปลี่ยนช่องทางด้วยความรวดเร็ว เพราะมองเห็นว่าข้างหน้ามีการปิดการจราจรในช่องทางที่คุณกำลังใช้ การขยับพวงมาลัยเพื่อเปลี่ยนช่องทาง โดยไม่ยกไฟเลี้ยว ระบบจะสั่งให้พวงมาลัยออกแรงขืนตัว รถยนต์บางรุ่นสามารถตั้งระดับของการดึงพวงมาลัยกลับถึงสามระดับ เวลาขับมาเร็วๆ แล้วต้องการเปลี่ยนช่องทาง โดยไม่ได้ปิดระบบรักษาเลน พวงมาลัยที่ขืนตัวอย่างแรง ทำให้ประสาทเสียได้เหมือนกันนะครับ
อีกตัวอย่างนึงของระบบช่วยเบรกฉุกเฉินในเมือง ผมขับมาเรื่อยๆ ในย่านความเร็วต่ำ ท่ามกลางความพลุกพล่านของซอยขนาดเล็กอย่างซอยเสนานิคม 1 จู่ๆ มอเตอร์ไซค์ส่งของที่ดูเหมือนว่าในทุกวันนี้พี่เขาจะรีบกันทุกคัน พี่แมงกะไซค์ก็ตัดเข้ามาในช่องทาง ตาผมมองเห็นตั้งนานแล้วว่า ยังไงพี่แมงกะไซค์ก็ต้องเซเข้ามา สมองสั่งงานให้เท้าขวาเลื่อนไปคาอยู่ที่แป้นเบรก เป็นรีแอ็กชั่นที่ถูกฝึกอบรมมานาน แต่ระบบ city brake assist มันไม่สนหรอกว่าผมได้เอาเท้าไปรอไว้ที่แป้นเบรกนานแล้ว เซนเซอร์ที่กำลังทำหน้าที่ ตรวจจับได้ว่าไม่มีการเบรกและระยะที่ห่างจากรถคันข้างหน้าเริ่มหดสั้นลงเรื่อยๆ เมื่อระบบตรวจไม่พบการเบรก มันจะเริ่มต้นการทำงานทันที ด้วยการสั่งให้ระบบเบรกทำงานอย่างเต็มเหนี่ยว เบรกอิเล็กทรอนิกส์นั้น ขอบอกเลยว่ามันเบรกได้แรงกว่ามนุษย์เหยียบเองหลายเท่า รถหยุดกึกทันที ตามมาด้วยโทรศัพท์ กล้อง และเลนส์ที่วางไว้ตรงเบาะหน้า ปลิวตามแรงหยุดแบบฉุกเฉิน จนหล่นลงมากองรวมกันอยู่บนพื้นเสียงดังโครม!ทั้งๆ ที่พี่มอเตอร์ไซค์ยังอยู่ห่างไปอีกสามสี่วา ผมเบรกยังไงก็ทัน แต่ระบบมันไม่รู้ว่าผมจะเบรกได้ทัน เพราะยังห่างอีกตั้งหลายวา มันคิดว่าทำไมแม่งไม่เบรกวะ งั้นกรูเบรกให้เลยละกัน โชคดีที่ไม่มีรถวิ่งตามหลัง
นี่คือยุคแรกของระบบช่วยเหลือต่างๆ ในรถยุคใหม่
ซึ่งยังคงทำงานตามซอฟต์แวร์ที่เขียนแบบโง่ๆ อยู่
การมีระบบความปลอดภัยที่เชื่อมต่อกับระบบช่วยขับนั้นเป็นเรื่องที่ดี
แต่ทางที่ถูกต้อง คุณควรมีสมาธิกับการควบคุมรถ
โดยปิดบางระบบที่อาจทำงานแปลกๆ จนทำให้คนในรถรวมถึงคุณตกอกตกใจ
ก็อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อล่ะครับ.
ผู้เขียน : อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/
คุณกำลังดู: อย่าพึ่งพาระบบช่วยขับมากเกินไป จนทำให้สมาธิหลุด!
หมวดหมู่: รีวิวรถใหม่