อาการแบบไหนที่ควร "ตรวจภายใน"

หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นแบบนี้ คุณผู้หญิงควรหาเวลาไปตรวจภายใน แม้ว่าอายุจะยังไม่เยอะก็ตาม

อาการแบบไหนที่ควร "ตรวจภายใน"

เรื่องของอาการผิดปกติต่ออวัยวะภายในร่างกาย เป็นสิ่งที่เราไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าภายนอก ดังนั้นในหลายๆ ครั้งกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคร้ายอันตราย ก็อาจจะมีอยู่ในขั้นรุนแรงจนทำให้การรักษาเป็นไปด้วยความยากลำบากได้ โดยเฉพาะคุณผู้หญิงกับการ “ตรวจภายใน” ที่หลายคนไม่กล้าเข้ารับการตรวจเพราะเขินอาย แต่จริงๆ แล้วการตรวจภายในมีประโยชน์มาก เพราะสามารถตรวจพบความผิดปกติในการทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศหญิงได้

ทำไมต้องตรวจภายใน?

จากข้อมูลของโรงพยาบาลสมิติเวช ระบุว่า อวัยวะภายในของผู้หญิงมีความซับซ้อนและเป็นระบบปิด ซึ่งอาจถูกรบกวนจากปัจจัยภายนอก และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ การตั้งครรภ์และการคลอด และยังอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและความผิดปกติต่างๆ ภายในอวัยวะสืบพันธุ์ได้อีกด้วย 

อาการแบบไหนที่ควรตรวจภายใน

ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไร หากมีอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรเข้ารับการตรวจภายในทันที

  • มีประจำเดือนมามากหรือน้อยผิดปกติ รอบเดือนนานกว่า 35 วันหรือสั้นกว่า 21 วัน ประจำเดือนมากะปริดกะปรอย มีลิ่มเลือดปน มีกลิ่นเหม็น
  • ตกขาวผิดปกติ มีปริมาณมาก มีสี กลิ่นที่ผิดปกติ มีตกขาวเป็นมูกข้นคล้ายแป้ง มีสีเขียวหรือเหลือง และเริ่มส่งกลิ่นแรงขึ้น
  • มีเลือดออกจากช่องคลอดที่ไม่ใช่ประจำเดือน
  • ปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย ทั้งในช่วงที่มีประจำเดือนและไม่มีประจำเดือน
  • รู้สึกแสบขัดในช่องคลอด
  • สงสัยว่ามีก้อนหรือคลำพบก้อนที่ท้องน้อย

นอกจากนี้ หากไม่มีอาการผิดปกติ บุคคลเหล่านี้ควรเข้ารับการตรวจภายในเช่นกัน ได้แก่

  • ผู้หญิงที่มีอายุ 21 ปีขึ้นไป
  • ผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดเอามดลูกออก
  • ผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV  ยังคงต้องเข้ารับการตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสม่ำเสมอ  หรือตามแพทย์นัด  
  • ผู้ที่ตรวจพบโรคติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ หรือความผิดปกติอื่นๆ 
  • ผู้หญิงที่มีบุตรยาก และผู้หญิงที่เริ่มตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ที่จะเริ่มคุมกำเนิด

เตรียมตัวอย่างไร ก่อนตรวจภายใน

  • งดมีเพศสัมพันธ์ รวมถึงการใช้ยาเหน็บในช่องคลอด หรือสวนล้างช่องคลอด ก่อนเข้ารับการตรวจประมาณ 24-48 ชั่วโมง
  • หลีกเลี่ยงการตรวจในช่วงที่มีประจำเดือน และควรรอให้ประจำเดือนหมดสนิท 2-3 วัน หรือก่อนที่จะมีประจำเดือนในรอบถัดไปประมาณ 1 สัปดาห์จึงจะมาตรวจ เพราะการตรวจในช่วงที่มีประจำเดือนจะทำได้ยาก และอาจทำให้ผลคลาดเคลื่อนได้ แต่หากมีเลือดออกทางช่องคลอดทุกวัน สามารถพบแพทย์เพื่อตรวจภายได้เลย ไม่ต้องรอเลือดหยุด 
  • ควรปัสสาวะออกให้หมด แพทย์จะได้คลำขนาดมดลูกและปีกมดลูกได้
  • ไม่ปิดปังข้อมูลกับแพทย์ เช่น เป็นโสดแต่อาจมีเพศสัมพันธ์ วิธีการที่ใช้ในการคุมกำเนิด การทำแท้ง หรืออาการผิดปกติที่อาจเกี่ยวข้องกับระบบสืบพันธุ์ รวมถึงประวัติการแพ้ยา 

ขั้นตอนการตรวจภายใน

  • เปลี่ยนไปใส่ชุดคลุมที่โรงพยาบาลเตรียมไว้ให้
  • ขึ้นนอนบนขาหยั่ง และแยกขาออกให้กว้าง เพื่อให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะกับการตรวจ 
  • แพทย์จะเริ่มตรวจดูอวัยวะเพศภายนอก เพื่อตรวจหาความผิดปกติต่างๆ
  • จากนั้นแพทย์จะใช้เครื่องมือแพทย์ที่มีลักษณะคล้ายปากเป็ดแบนๆ ขนาดเล็ก 2 อันสอดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อขยายออกให้เห็นปากมดลูก และอาจสอดลึกเข้าไปเพื่อเก็บเซลล์ที่ปากมดลูก เพื่อส่งตรวจหาความผิดปกติต่อไป
  • สำหรับผู้ที่แต่งงานแล้ว แพทย์อาจใช้นิ้วสอดเข้าไปในช่องคลอด และใช้อีกมือหนึ่งคลำที่บริเวณหน้าท้อง เพื่อตรวจว่ามดลูกโตหรือมีก้อนเนื้อที่ผิดปกติหรือไม่
  • เมื่อตรวจเสร็จ แพทย์จะสามารถแจ้งผลได้ทันที ยกเว้นการเก็บเซลล์ปากมดลูกเพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก อาจจะต้องรอผลจากห้องแล็บประมาณ 1 สัปดาห์

ประโยชน์ของการตรวจภายใน

หากเข้ารับการตรวจภายใน จะสามารถพบความเสี่ยงของการเป็นโรคเหล่านี้ได้ (ซึ่งหากไม่เข้ารับการตรวจภายใน จะไม่ทราบว่าเป็นโรคเหล่านี้)

  • มะเร็งปากมดลูก
  • มะเร็งรังไข่
  • ช็อกโกแลตซีสต์
  • เนื้องอกในมดลูก
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ทำให้มีปัญหามดลูกโต เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน หรือบางคนก็ประจำเดือนมามากจนซีด ส่งผลให้ปวดท้องประจำเดือน รวมถึงปวดท้องน้อยเรื้อรัง

คุณกำลังดู: อาการแบบไหนที่ควร "ตรวจภายใน"

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด