อาการของคนที่ติดเชื้อโรค “พิษสุนัขบ้า”
อาการของคนที่ติดเชื้อโรค พิษสุนัขบ้า ระยะแรก ผู้ป่วยอาจมีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร จากนั้นอาจรู้สึกปวดแสบปวดร้อนในบริเวณที่โดนสัตว์เลี้ยงกัด ไม่ใช่การเห่าหอนเหมือนสุนัขแน่นอน
จนถึงปัจจุบัน เมื่อผู้ป่วยติดเชื้อ โรคพิษสุนัขบ้า และเริ่มแสดงอาการทางระบบประสาท จะมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้ถึง 100% นั่นคือยังไม่พบการรักษาโรคพิษสุนัขบ้าได้เลย แต่โชคดีที่วงการแพทย์สามารถคิดค้นวัคซีนที่ช่วยป้องกันเชื้อโรค ไม่ให้ไปสู่ระบบประสาทได้ แต่ต้องรีบฉีดให้กับผู้ที่โดนสัตว์เลี้ยงกัด หรือโดนสัตว์เลี้ยงเลียในบริเวณที่มีรอบแผล รอยถลอก ก่อนที่ร่างกายของผู้ป่วยจะติดเชื้อจนแสดงอาการออกมา
เมื่อหลายๆ คนทราบเรื่องนี้กันแล้ว ปัจจุบันจึงเริ่มมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าน้อยลง จนอาจทำให้หลายคนไม่ทราบว่าอาการของผู้ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจริงๆ เป็นอย่างไร และอาจเกิดความสับสนจากข้อมูลในอินเตอร์เน็ตที่แชร์ต่อๆ กันมาได้ ดังนั้นเรามาทราบอาการของผู้ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าที่แท้จริงเอาไว้บ้างจะดีกว่า
อาการของผู้ที่ติดเชื้อพิษสุนัขบ้า
ระยะแรก ผู้ป่วยอาจมีไข้ต่ำๆ เจ็บคอ เบื่ออาหาร จากนั้นอาจรู้สึกปวดแสบปวดร้อนในบริเวณที่โดนสัตว์เลี้ยงกัด แม้ว่าแผลจะหายสนิทดีแล้ว ต่อมาจะเริ่มกลืนน้ำ และอาหารลำบาก เพราะจะมีอาการเจ็บจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการกลืน เริ่มมีอาการกลัวน้ำ กระสับกระส่าย ไม่ชอบแสงสว่าง ลม และเสียงดัง อาจมีน้ำลายเหนียวข้นออกมาจากปาก จนสุดท้ายอาจไม่มีสติ มีอาการชัก อัมพาต และเสียชีวิตในที่สุด
คลิปแสดงอาการของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
จะทำอย่างไรเมื่อถูกสัตว์เลี้ยงกัด / เลียแผล
-
รีบล้างแผลโดยเร็วที่สุด ล้างด้วยน้ำสะอาด พร้อมสบู่ หรือยาฆ่าเชื้อ เช่น ยาเบตาดีน หรือน้ำยาแอลกอฮอล์ 70% และพยายามล้างให้ลึกถึงก้นแผล ทั้งนี้แผลขนาดใหญ่ และตำแหน่งของแผล ยิ่งใกล้สมองมากเท่าไร ก็ยิ่งเสี่ยงต่อระยะฟักตัวของเชื้อโรคที่จะเข้าสู่สมองสั้นลงมากขึ้นเท่านั้น
-
รับสารภูมิคุ้มกันต้านทาน เพื่อเข้าไปทำลายเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่เส้นประสาท โดยจะให้สารภูมิต้านทานไปพร้อมๆ กับการฉีดวัคซีน ฉีดรอบๆ แผลที่โดนกัด แต่ถ้าไม่มีแผล เช่น สัตว์เลี้ยงเลียปาก หรือน้ำลายกระเด็นเข้าดวงตา สามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อได้
-
รีบเข้ารับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานขึ้นมาทำลายเชื้อโรคเอง หากเป็นวัคซีนแบบชั่วคราว ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 10-14 วันในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคขึ้นมากเพียงพอที่จะทำลายเชื้อไวรัสได้
ทั้งนี้ การพิจารณาว่าผู้ป่วยรายใดที่ถูกสัตว์กัด ข่วน ควรได้รับสารภูมิคุ้มกันต้านทาน หรือวัคซีน ก็อยู่พิจารณาของแพทย์ในแต่ละที่ แต่ละประเทศ เพราะการควบคุมการฉีดวัคซีนในสัตว์มีความเข้มงวดมากน้อยไม่เท่ากัน รวมถึงความชุกชุมของสัตว์ที่เป็นโรคในแต่ละพื้นที่อีกด้วย
สำหรับประเทศไทย แบ่งเกณฑ์ในการตัดสินว่าใครควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ดังนี้
-
ถูกสัตว์สัมผัส เลียที่ผิวหนังที่ไม่มีแผล ไม่จำเป็นต้องทำอะไร
-
ถูกงับจนเป็นรอยช้ำเล็กๆ ถูกข่วนจนเป็นรอยถลอกเลือดซิบๆ หรือถูดเลียบนผิวหนังที่มีบาดแผล ควรรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าทันที
-
ถ้าถูกกัด หรือข่วนจนมีบาดแผลที่มีเลือดออกชัดเจน หรือถูกเลียโดนเยื่อบุต่างๆ เช่น เลียตา ปาก ให้รีบรับสารภูมิคุ้มกันต้านทาน และวัคซีนทันที
แต่ในกรณีที่เป็นสัตว์เลี้ยงในบ้านที่เลี้ยงดูอย่างดี ไม่มีทีท่าว่าติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป และมีเหตุจูงใจให้กัด เช่น สัตว์โดนเหยียบ โดนแกล้ง โดนทรมาน อาจยังไม่ต้องทำอะไร และลองกักบริเวณสัตว์เลี้ยงเอาไว้ 10 วันเพื่อดูอาการ แต่หากผิดเงื่อนไขเหล่านี้ไปเพียงข้อเดียว ควรรีบปรึกษาแพทย์
- หมาแมวข่วน กัด เสี่ยง "พิษสุนัขบ้า" อาการกำเริบให้หลังได้เป็นปี
คุณกำลังดู: อาการของคนที่ติดเชื้อโรค “พิษสุนัขบ้า”
หมวดหมู่: รู้ทันโรค