อันตรายจาก "โซเดียมในเลือดสูง" คนกินเค็มต้องระวัง

อันตรายจาก "โซเดียมในเลือดสูง" คนกินเค็มต้องระวัง

กินเค็ม ไม่ได้เสี่ยงแค่โรคไต แต่อาจไปถึงขั้น “โซเดียมในเลือดสูง” ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมากไม่แพ้กัน

ภาวะโซเดียมในเลือดสูง คืออะไร

ภาวะโซเดียมในเลือดสูง หรือ Hypernatremia เป็นภาวะที่ร่างกายมีปริมาณโซเดียมในเลือดเกินค่ามาตรฐาน นั่นคือ สูงกว่า 145 mmol/L (Millimoles/Liter) หรือ 145 mEq/L (Milliequivalent/Litre) ซึ่งค่าปกติจะอยู่ในช่วงประมาณ 135 - 145 mmol/L

สาเหตุของภาวะโซเดียมในเลือดสูง

ส่วนใหญ่ภาวะนี้เกิดจาก

  1. การรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง เช่น เกลือ น้ำปลา กะปิ น้ำปลาร้า ซอสถั่วเหลือง เครื่องปรุงต่างๆ เป็นต้น
  2. ดื่มน้ำน้อยเกินไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยดื่มน้ำหรือผู้สูงอายุที่มีไข้สูง
  3. ร่างกายเสียน้ำเป็นปริมาณมาก แต่ไม่ค่อยเสียเกลือแร่ เช่น ในผู้ป่วยโรคลมแดด หรือผู้ป่วยแผลไฟไหม้รุนแรง (ผู้ป่วยบางรายเกิดภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำ)
  4. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดเช่น ยาขับปัสสาวะกลุ่มที่ขับน้ำออกจากร่างกายเป็นส่วนใหญ่ ไม่ค่อยขับโซเดียมออก
  5. เป็นผู้ป่วยท้องเสียจากการสวนอุจจาระ
  6. เป็นผู้ที่ได้รับอาหารทางสายให้อาหาร
  7. ได้รับสารอาหารหรือยาทางหลอดเลือดดำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน
  8. เป็นผู้ป่วยโรคเบาจืด หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อระดับโซเดียมในเลือด เช่น โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน เป็นต้น
  9. ผลข้างเคียงจากเนื้องอกสมองบางชนิด
  10. ออกกำลังกายหักโหม เหงื่อออกมากและได้น้ำชดเชยไม่เพียงพอ (บางรายเกิดภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ)
  11. ทารกได้รับนมแม่ไม่เพียงพอหรือดื่มนมผงที่มีส่วนผสมของโซเดียมเป็นปริมาณมาก

อาการของผู้ป่วยภาวะโซเดียมในเลือดสูง

  • กระหายน้ำ หิวน้ำมาก
  • ปัสสาวะน้อยผิดปกติ
  • อ่อนเพลีย
  • ปวดศีรษะ
  • ปากแห้ง ตาแห้ง ผิวแห้ง
  • หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว
  • หงุดหงิดง่าย
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • สำหรับเด็กทารก มักมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง หงุดหงิดง่ายผิดปกติ ร้องกวน งอแง หรือง่วงซึม
  • ในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจเกิดอาการซึม สับสน กล้ามเนื้อกระตุกหรือหดเกร็ง และชัก 

อันตรายของภาวะโซเดียมในเลือดสูง

ปกติแล้ว ภาวะโซเดียมในเลือดสูงเป็นภาวะพบได้น้อย พบได้ในทั้ง 2 เพศและในทุกวัย แต่พบได้บ่อยกว่าในเด็กอ่อนและในผู้สูงอายุโดยเฉพาะกลุ่มที่สุขภาพไม่สมบูรณ์

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยโซเดียมในเลือดสูง ไม่ได้รับการรักษาอาจมีผลกระทบต่อสมอง มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น มีเลือดออกในสมอง สมองบวม และเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

การรักษาภาวะโซเดียมในเลือดสูง

แพทย์อาจพิจารณาวิธีรักษาภาวะโซเดียมในเลือดสูงแตกต่างกันไปในแต่ละคน ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นวิธีรักษาจากแพทย์ และ/หรือควบคู่ไปกับการดูแลตัวเอง ดังนี้

วิธีรักษาภาวะโซเดียมในเลือดสูง โดยแพทย์

  • ให้น้ำเกลือเข้าทางกระแสเลือดโดยตรง
  • ตรวจเลือดหรือตรวจปัสสาวะ จนกว่าปริมาณโซเดียมและของเหลวในเลือดจะกลับสู่สภาวะสมดุล
  • ลดปริมาณโซเดียมจากอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภค
  • รักษาโรคหรืออาการผิดปกติต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุนำไปสู่ภาวะโซเดียมในเลือดสูง

วิธีรักษาภาวะโซเดียมในเลือดสูงด้วยตัวเอง

ในกรณีที่มีอาการไม่รุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้รักษาอาการด้วยตัวเองได้ โดย

  • ดื่มน้ำเปล่า เพื่อช่วยให้ระดับของเหลวและโซเดียมในร่างกายกลับมาสู่สภาวะสมดุล
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดภาวะโซเดียมในเลือดสูง เช่น งดกิจกรรมที่ทำให้เสียเหงื่อ งดใช้ยาขับปัสสาวะที่ทำให้ร่างกายเสียน้ำในปริมาณมาก เป็นต้น

วิธีป้องกันภาวะโซเดียมในเลือดสูง

  1. ไม่รับประทานอาหารที่มีโซเดียมในปริมาณมาก นั่นคือ อาหารที่มีรสเค็มจัด เช่น เกลือ น้ำปลา กะปิ น้ำปลาร้า ซอสถั่วเหลือง เครื่องปรุงต่างๆ อาหารสำเร็จรูปต่างๆ เป็นต้น
  2. ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน อย่างต่ำ 6-8 แก้ว มากกว่านี้ได้ในกรณีที่รับประทานอาหารรสจัด มีกิจกรรมที่ทำให้สูญเสียเหงื่อ เช่น ออกกำลังกาย ตากแดดนานๆ
  3. ผู้ที่ใช้ยาขับปัสสาวะควรระมัดระวังและปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการใช้ยาที่ถูกต้อง

หากสงสัยว่าตัวเองอาจมีความเสี่ยงต่อภาวะโซเดียมในเลือดสูง ควรปรึกษาแพทย์ทันที

คุณกำลังดู: อันตรายจาก "โซเดียมในเลือดสูง" คนกินเค็มต้องระวัง

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว