ออฟฟิศซินโดรม อาการที่ป้องกันได้
ประเทศไทย มีจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์ประมาณ 20.2 ล้านคน เป็นกลุ่มวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) ที่ใช้คอมพิวเตอร์จำนวน 14.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 71.2 และจากผลสำรวจพนักงานที่ทำงานในสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง จำนวน 400 คน พบว่าร้อยละ 60 มีอาการเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยอาการที่พบได้บ่อยคือ 1. ปวดหลังเรื้อรัง 2. ไมเกรนหรือปวดศีรษะเรื้อรัง และ 3. มือชา เอ็นอักเสบ นิ้วล็อก
ออฟฟิศซินโดรม เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นกับคนที่ทำงานในออฟฟิศ สาเหตุของโรคมักเกิดจากสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานไม่เหมาะสม ไม่มีการเปลี่ยนอิริยาบถหรือเคลื่อนไหวร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบ อวัยวะส่วนต่าง ๆ ทั้งนี้ ช่วงอายุของผู้มีอาการออฟฟิศซินโดรม จากอดีตมักพบในกลุ่มคนวัยทำงานอายุ 40 ปี ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 20 กว่าปี สาเหตุอาจเป็นเพราะวิถีการดำเนินชีวิตเปลี่ยน เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น มีการใช้โซเชียลอย่างแพร่หลาย โดยในกลุ่มที่เล่นโซเชียลผ่านโทรศัพท์มือถือนาน ๆ ส่วนใหญ่จะพบการอักเสบของข้อมือ และในระยะยาวอาจเกิดอาการนิ้วล็อก เหยียดให้ตรงไม่ได้
กรมควบคุมโรคจึงได้แนะนำวิธีป้องกันและปรับสมดุลคนทำงานออฟฟิศพิชิต 2 ม. (เมื่อยตัว และเมื่อยตา)
1) “ม. เมื่อยตัว” ป้องกันได้โดยการนั่งทำงานด้วยท่าทางการทำงานที่ถูกต้องเหมาะสม ของที่ใช้บ่อยให้วางไว้ใกล้ตัว จัดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้เหมาะสมแก่ผู้ใช้งาน โดยหน้าจอคอมพิวเตอร์และเก้าอี้ที่นั่ง ควรปรับให้เหมาะสมกับผู้ใช้แต่ละคน ควรหยุดพักเป็นระยะระหว่างทำงาน หากิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวของร่างกายหรือยืดเหยียดกล้ามเนื้อ จะช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด ทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ลดความปวดเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นได้เป็นอย่างดี
2) วิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหา “ม.เมื่อยตา” คือ จัดตำแหน่งการทำงานให้เหมาะสม แสงสว่างเพียงพอ ขณะทำงานให้กะพริบตาบ่อย ๆ เพื่อป้องกันภาวะตาแห้ง หรือให้พักหลับตาประมาณ 3-5 วินาทีบ่อย ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นต่อมน้ำตาให้ไหลออกมาเพื่อให้ความชุ่มชื้นแก่ดวงตา ควรมีการพักสายตาเป็นช่วงสั้น ๆ จากการทำงานกับคอมพิวเตอร์ทุก ๆ 1-2 ชั่วโมง ให้พักสายตาประมาณ 5-10 นาที โดยละสายตาจากคอมพิวเตอร์ มองไปไกล ๆ และควรลุกขึ้นเดินยืดเส้นยืดสายบ้าง หากรู้สึกเคืองตา ปวดตา หรือแสบตา ให้พักสายตาทันที อย่าฝืนทำงานต่อ
คุณกำลังดู: ออฟฟิศซินโดรม อาการที่ป้องกันได้
หมวดหมู่: วัยรุ่น