ย้อนอดีต วีรกรรมเครื่องบินรบ F-5 ของ ทอ.ไทย ในสมรภูมิเขาค้อ
ย้อนอดีต วีรกรรมห้าวหาญในการปกป้องผืนแผ่นดินไทยของลูกทัพฟ้ากับอากาศยานรบ F-5
ระหว่างการรบปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ตั้งแต่ปี 2507 เป็นต้นมา พลเรือน ตำรวจ และทหารทุกเหล่าทัพ ช่วยกันต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งความสงบสุขของประเทศชาติ เรื่องราวการรบของทหารอากาศ โดยเฉพาะนักบินขับไล่ในการรบปราบปรามผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ นั้นมีมากมาย
6 ตุลาคม พ.ศ. 2513 เวลา 12.00 น. กองทัพอากาศมีคำสั่งให้เครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบ บ.ข.18 หรือ F-5A จากฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 13 กองบิน 1 ดอนเมือง และเครื่องบินขับไล่ไอพ่นแบบ บ.ข.17 หรือ F-86F จากฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 43 กองบิน 4 ตาคลี เข้าโจมตีสองเป้าหมายที่มีการตรวจการณ์พบ เป็นหมู่บ้าน 40 หลังคาเรือน ซึ่งแหล่งข่าวยืนยันว่าเป็นบ้านพักของ ผกค. และมีบ้านพักของ ผกค.ระดับชั้นหัวหน้ารวมอยู่ด้วย อีกเป้าหมายหนึ่งบริเวณบ้านถ้ำหวาย จังหวัดเพชรบูรณ์ การโจมตีทางอากาศครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนการชี้เป้าหมายจากเครื่องบินตรวจการณ์แบบ O-1A จาก ฝูงบิน 71 กองบิน 7 สัตหีบ
ขณะเข้าโจมตีทางอากาศ เครื่องบินขับไล่แบบ F-5A หมายเลขเครื่อง 1313 (เลข ทอ. บข.๑๘-๓/๑๐ Sel.No.66-9161) ถูกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ใช้อาวุธต่อต้านอากาศยานยิงตกบริเวณเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ทำให้ เรืออากาศเอกชาญชัย มหากาญจนะ ซึ่งเป็นนักบินเสียชีวิตภายในเครื่องบิน กองกำลังร่วมได้เข้าทำการช่วยเหลือนักบินที่คาดว่ารอดชีวิต โดยการส่งทั้งเครื่องบินขับไล่ เฮลิคอปเตอร์ และกองกำลังทหารภาคพื้นดินของกองกำลังผสมตำรวจ ทหาร พลเรือน ซึ่งในวันต่อมาเมื่อมีการเข้าถึงเครื่องบินและพบศพนักบินผู้เสียสละชีวิตตนเองเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทยในวันนั้นแล้ว ยังพบศพทหารฝ่ายคอมมิวนิสต์จำนวนมากที่เสียชีวิตใกล้จุดที่เครื่องบินตก อย่างไรก็ตาม กองทัพอากาศยังคงส่งเครื่องบินขับไล่แบบ F-5A เข้าโจมตีเป้าหมายต่างๆ ในเขตงานของพรรคคอมมิวนิสต์จังหวัดเพชรบูรณ์อีกหลายภารกิจ ต่อเนื่องหลายปีจนสงครามปราบปรามคอมมิวนิสต์สงบลง อนึ่ง กองทัพอากาศได้ปูนบำเหน็จเลื่อนยศขึ้นเป็น "นาวาอากาศโท" พร้อมเหรียญกล้าหาญ ให้เรืออากาศเอกชาญชัย มหากาญจนะ ซึ่งเป็นนักบินที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ปกป้องผืนแผ่นดินเกิด
11 มิถุนายน พ.ศ. 2519 การรบในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ถูกขยายตัวออกไปยังจังหวัดข้างเคียงและมีการสนับสนุนอาวุธที่ทันสมัยจากประเทศที่ไม่หวังดีต่อไทย เวลา 11.13 น. กองทัพอากาศมีคำสั่งให้ ฝูงบินขับไล่ยุทธวิธีที่ 13 กองบิน 1 ดอนเมือง (ขณะนั้นเริ่มที่จะย้ายกองบิน 1 ไปอยู่ที่โคราชแล้ว) เข้าโจมตีเป้าหมายที่ 29 เป็นครั้งที่สองภายหลังจากที่ 2 เครื่อง F-5A ซึ่งมี เรืออากาศเอกชวลิต ขยันกิจ และเรืออากาศโท พงษ์ณรงค์ เกสรศุกร์ เป็นนักบิน ได้เข้าทิ้งระเบิดนาปาล์มไปครั้งหนึ่งเมื่อวันวาน เช้าวันนั้นนักบินทั้งสองนายกลับเข้ามาโจมตีซ้ำอีกครั้งโดยเป้าหมายดังกล่าว เป็นหุบเขา และที่พักขนาดใหญ่ของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ประมาณ 23 หลัง โดยมีพื้นที่ทำการเพาะปลูกขนาดใหญ่ ซึ่งอยู่ในเขตเขาค้อ อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
ขณะที่ เรืออากาศโท พงษ์ณรงค์ เกสรศุกร์ ซึ่งเป็นหมายเลขสอง (หมายเลข 1333 เลข ทอ. บข.๑๘-๑๗/๑๗ Sel.No.71-0264 ) เข้าโจมตี ก็ถูกฝ่ายตรงข้ามยิงด้วยอาวุธไม่ทราบชนิด ในระยะสูงประมาณ 1,000 ฟุต เครื่องบินที่เสียหายเลี้ยวซ้ายแล้วดิ่งลงระเบิดกลางป่าห่างจากเป้าหมายประมาณ 2 กิโลเมตร จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศที่เครื่องบินตรวจการณ์แบบ โอวัน ได้ถ่ายภาพมาพบว่าเครื่องบินไฟไหม้ตกลงในหุบเขา เขตบ้านภูชัย เขาค้อ ห่างจากแม่น้ำเข็กราว 1 กม. และมีลักษณะคล้ายนักบินดีดตัวออกจากเครื่อง การช่วยเหลือนักบินที่คาดว่ารอดชีวิตจึงเริ่มขึ้น ทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดินได้ถูกปฏิบัติทันที
ในขณะนั้น พลตรียุทธศิลป์ เกสรศุกร์ หัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการทางยุทธการ กองทัพภาคที่ 2 ซึ่งเป็นบิดาของนักบินที่ถูกยิงตก ได้เข้าร่วมปฏิบัติการค้นหาในครั้งนี้ด้วย การค้นหาและช่วยเหลือมีการส่งเครื่องบินและทหารจำนวนมากเข้าไปค้นหาตามพิกัด ที่ได้จากการแปลความภาพถ่ายทางอากาศ ซึ่งการปฏิบัติครั้งนี้ ฝ่ายตรงข้ามได้รับความสูญเสียเป็นจำนวนมาก เนื่องจากฝ่ายกองทัพได้สนธิกำลังส่งทหารหลายชุดเข้าปฏิบัติการ อย่างไรก็ตาม ฝ่ายตรงข้ามที่แฝงตัวอยู่ภายในจังหวัดพิษณุโลก ได้แจกใบปลิวโจมตีบิดาของนักบินว่าใช้อำนาจพาคนไปตายเป็นจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือลูกชายตนเอง ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น หนังสือพิมพ์ เดอะเนชั่น ได้ลงภาพสหายที่ยืนแอ็กชั่นอยู่ข้างซากเครื่องบิน F-5 ที่ถูกยิงตก ทำให้หน่วยข่าวกรองของกองทัพประเมินได้ว่า ฝ่ายตรงข้ามได้ถอดเอาวิทยุติดตาม-ค้นหาออก แล้วเดินออกไปไกลจากเครื่องบิน ทำให้ฝ่ายทหารคาดการณ์ว่า นักบินยังมีชีวิตอยู่ จึงไม่ทราบจุดที่ชัดเจนของนักบินเมื่ออยู่ในพื้นที่ป่าทึบ อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนั้นกองทัพอากาศก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า นักบินยังมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้ว
19 สิงหาคม พ.ศ. 2526 นับตั้งแต่เครื่องบินขับไล่แบบที่ 18 (F-5A) ถูกยิงตกในบริเวณการรบที่เขาค้อ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2519 และยังไม่สามารถพบซากเครื่องบินและศพนักบินได้นั้น เวลาผ่านไปหลายปีโดยยังมีการรบอยู่จนสงครามสงบลง มีชาวม้งสองคน ชื่อนายช่อ แซ่ลี หรือ สหายสามารถ และ นายแย๊ะ แซ่ลี หรือ สหายพิชัย ได้เข้ามาติดต่อกับทหารอากาศที่ชุดสนับสนุนทางอากาศโดยตรงที่ 331 จังหวัดพิษณุโลก ว่าได้เป็นผู้ฝังศพนักบิน เรืออากาศโทพงษ์ณรงค์ เกสรศุกร์ ที่เสียชีวิต ซึ่งเขาเล่าว่า ขณะที่พบนั้นสภาพศพเริ่มเน่าและอยู่ในลักษณะนอนหงาย จึงคาดว่าดีดตัวออกจากเครื่องบินแล้ว แต่งชุดบินอยู่ครบ มีสิ่งของประกอบด้วยนาฬิกา เงิน 1,500 บาท วิทยุสนาม ปืนพก และรูปถ่ายหญิงสาว โดยชาวม้งได้ทำการฝังศพใกล้กับซากเครื่องบินราว 10 เมตร ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2519 ภายหลังจากที่เขาเข้าไปยังซากเครื่องบินที่เดิมมีทหารฝ่าย ผกค.เต็มไปหมดได้ ทางเจ้าหน้าที่ทหารอากาศได้เข้าไปตรวจสอบและขุดศพนักบินที่ยังคงอยู่ในชุดบินกลับมาทำพิธีทางศาสนาต่อไป โดยกองทัพอากาศได้ปูนบำเหน็จเลื่อนยศขึ้นเป็น "นาวาอากาศตรี" ส่วนซากเครื่องบินส่วนหนึ่งได้นำไปตั้งแสดงอยู่ที่ ฐานอิทธิ บนเขาค้อ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอนุสรณ์ของ พลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่เสียชีวิตในการรบที่เขาค้อ เพื่อปกป้องผืนแผ่นดินไทย
4 มีนาคม พ.ศ.2530 เครื่องบินขับไล่แบบ F-5E จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งมี นาวาอากาศตรี สุรศักดิ์ บุญเปรมปรี และ นาวาอากาศตรี เจริญ บำรุงบุญ สังกัดฝูงบิน 403 กองบิน 4 ตาคลี เป็นนักบิน เข้าโจมตีพื้นที่ฐานที่มั่นสนับสนุนอาวุธของกองกำลังทหารเวียดนาม บริเวณอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ตามแผนยุทธการ D-9 ของกองกำลังสุรนารี เครื่องหมายเลข 1 ของ นาวาอากาศตรี สุรศักดิ์ ดำลงโจมตีเป้าหมาย จากความสูง 12,000 ฟุต เมื่อถึงระดับ 10,000 ฟุต นักบินเริ่มทำการยิงเป้าหมายด้วยปืนใหญ่อากาศ โรงเรือนต่างๆ เกิดเพลิงไหม้ จนเป็นผลให้เกิดกลุ่มควันมากมาย นักบินดึงเครื่องขึ้นเมื่อความสูงที่ต่ำ และจุดแฟร์ จำนวน 2 นัด เพื่อป้องกันตัวจากอาวุธนำวิถีต่อสู้อากาศยาน แต่เครื่องบินหมายเลข 1 (บข.๑๘ ข.๒๓/๒๔ ) หมายเลข 40322 Sel.No 79-1686 ก็ถูกจรวดแซม-7 ของทหารเวียดนามเฮงสัมรินยิงเครื่องยนต์ขวาระเบิดได้รับความเสียหาย แม้ว่าจะมีการต่อต้านจากฝ่ายข้าศึกอย่างหนัก เครื่องบินหมายเลข 2 ก็ดำลงเข้าใช้อาวุธต่อเป้าหมาย ทำให้เป้าหมายได้รับความเสียหายอย่างหนัก ในขณะนั้นเครื่องบินหมายเลข 1 แจ้งมาว่า ถูกยิง ขอละภารกิจ อย่างไรก็ตาม นาวาอากาศตรี สุรศักดิ์ ก็สามารถนำเครื่องบินซึ่งได้รับความเสียหายบินไปลงที่กองบิน 21 อุบลราชธานี อย่างปลอดภัย (ภายหลังเครื่องบินสามารถซ่อมและกลับมาใช้งานอย่างเดิม)
4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2531 เครื่องบินขับไล่แบบ F-5E (บข.๑๘ ข.๒๕/๒๔) หมายเลข 40342 Sel.No 79-1694 โดย นาวาอากาศตรีสุรศักดิ์ บุญเปรมปรี สังกัดฝูงบิน 403 กองบิน 4 ตาคลี ถูกจรวดแซม-7 ของทหารลาวยิงตก ขณะเข้าทำการรบในพื้นที่บ้านร่มเกล้า นักบินสามารถดีดตัวออกจากเครื่องและได้รับความช่วยเหลือออกมาจากพื้นที่การรบได้อย่างปลอดภัย จากระบบป้องกันทางอากาศที่ทันสมัยของฝ่ายลาวซึ่งมีทั้งจรวดแซม-7 และแซม-4 จรวดนัดหนึ่งได้ทำให้ท่อไฮโดรลิกรั่ว นักบินไม่สามารถบังคับเครื่องบินได้จึงต้องสละเครื่อง เครื่องบินตกห่างจากบ้านร่มเกล้า 4 กม. ลึกเข้ามาในเขตไทย 25 กม. นักบินปลอดภัย
13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2531 เครื่องบินขับไล่แบบ บ.ข.18/ก (F-5A/B) จำนวน 5 เครื่อง จากหน่วยบิน 2311 (อุดรธานี) มี นาวาอากาศตรี ทรงธรรม โชคคณาพิทักษ์ เป็น หน.หมู่บิน และเครื่องบินขับไล่แบบ บ.ข.18 ข/ค (F-5E/F) จำนวน 3 เครื่อง จากหน่วยบิน 1022 (โคราช) ปฏิบัติภารกิจเรียบร้อย อาวุธตกคลุมเป้าหมาย มีการยิงต่อต้านด้วยอาวุธต่อสู้อากาศยานจำนวนมาก ทำให้ เครื่องหมายเลข 2 ของหมู่บินแรก ...คือ เครื่องบินขับไล่แบบ18 ก (F-5B) หมายเลข 23102 Sel.No 74-0778 (บ.ข.๑๘ ก-๐๔/๒๕) มี นาวาอากาศตรี ธีระพงษ์ วรรณสำเริง และ เรืออากาศตรี ณฤทธิ์ สุดใจธรรม เป็นนักบิน ถูกจรวด SA-7 ของลาวยิงระหว่างเข้าโจมตีเป้าหมายในพื้นที่การรบระหว่างกรณีพิพาทบ้านร่มเกล้า จังหวัดพิษณุโลก จรวด SA-7 โดนเครื่องยนต์ขวาระเบิดแต่สามารถนำเครื่องบินบินกลับมาลง กองบิน 23 อุดร ได้ปลอดภัย นักบินทั้งสองได้รับพระราชทานเหรียญกล้าหาญ (ภายหลังเครื่องบินสามารถซ่อมและกลับมาใช้งานอย่างเดิม)
เครื่องบินขับไล่แบบ F 5 คืออากาศยานไอพ่นความเร็วเหนือเสียงในรูปแบบเครื่องบินรบที่เข้าประจำการในกองทัพอากาศ จากโครงการช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐอเมริกา โดยมอบให้กับประเทศที่กำลังพัฒนา ในช่วงปี พ.ศ.2509 เพื่อทำการป้องกันและเข้าต่อตีกับเครื่องบินรบของค่ายคอมมิวนิสต์ ประเทศไทยเริ่มต้นรับมอบเครื่องบิน F 5B (รหัส B ต่อท้ายจะเป็นเครื่องสองที่นั่ง) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2509 และปี 2510 กองทัพอากาศไทยได้รับมอบเครื่อง F 5 A จำนวน 8 เครื่อง ตามมาด้วยปี 2513 ได้รับเครื่องบิน RF 5 A จำนวน 4 เครื่อง เพื่อใช้ในการปฏิบัติการถ่ายภาพทางอากาศ ปี พ.ศ.2517 ก็ได้รับ F 5 A เพิ่มเติมจากสหรัฐอเมริกาอีกเป็นจำนวน 5 เครื่อง หนึ่งปีหลังจากนั้น นักบินของกองทัพอากาศเวียดนามใต้นำเครื่อง F 5 A บินลัดเลาะลี้ภัยมาขอลงจอดที่สนามบินตาคลี จังหวัดนครสวรรค์อีก 1 เครื่อง
F 5 A และ B ที่กองทัพอากาศของอเมริกันให้ความช่วยเหลือทางการทหาร เริ่มเข้าประจำการในฝูงบิน 13 กองบินที่ 1 ดอนเมือง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2509 และขึ้นทำการบินครั้งแรกเมื่อวันที่20 เมษายน 2509 ใช้นามเรียกขานว่า ไลท์นิ่ง ( Lightning)ปี 2519 กองทัพอากาศได้ย้ายฝูงบิน F 5 A/B จากฝูงบิน 13 กองบินที่ 1 ไปยังฝูงบิน 103 กองบินที่ 1 จังหวัดนครราชสีมา ใช้นามเรียกขานคงเดิม และในปี 2525 กองทัพอากาศได้ทำการจัดซื้อเครื่องบิน F 5 B แบบสองที่นั่งจากมาเลเซียเพื่อใช้ในการฝึกนักบินและเข้าร่วมอยู่ในฝูงบิน 103 ต่อมาในปี 2530 กองทัพอากาศไทยได้จัดซื้อเครื่อง F 5 B สองที่นั่งอีก 2 เครื่องจากสหรัฐอเมริกา และรับโอนเครื่อง F 5 E อีกจำนวน 5 ลำเข้าไปประจำการในฝูงบิน 231 อุดรธานีในระหว่างปี 2529-2541
ปี 2521
กองทัพอากาศได้รับงบประมาณจากรัฐบาลในการจัดซื้ออาวุธเพื่อป้องกันประเทศ
ทางกองทัพอากาศจึงจัดซื้อเครื่องบิน F 5 E จำนวน 13
เครื่องเพื่อนำเข้าประจำการ
เนื่องจากในขณะนั้นเครื่องบินขับไล่/โจมตีขนาดเบาแบบ F 5 E
เป็นเครื่องบินรบที่มีความเหมาะสมกับภูมิประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากการที่มีพื้นที่เป็นป่าทึบและภูเขาตลอดจนมีชายฝั่งที่ยาวกว่า 1,200
กิโลเมตร
เครื่องบินชนิดนี้จึงมีความเหมาะสมมากที่สุดเนื่องจากมีน้ำหนักเบา
ความคล่องตัวสูงและมีความเร็วสูงในระดับเหนือเสียง ในปี 2531
กองทัพอากาศได้รับมอบเครื่องบินรุ่นใหม่แบบ F 16 มาประจำการที่กองบิน
1 ดังนั้นฝูงบิน F 5 A/B จึงได้ย้ายไปประจำการที่ฝูงบิน 321
จังหวัดอุดรธานีโดยใช้นามเรียกขาน ฮันเตอร์ (Hunter)
หลังจากนั้นกองทัพอากาศได้ทำการจัดหาเครื่องบิน F 5 E/F
อีกหนึ่งฝูงบิน คือรุ่น Shark Nose เข้าประจำการในฝูงบิน 403 กองบิน4
จังหวัดนครสวรรค์ ใช้นามเรียกขานคอบร้า
ต่อมากองทัพอากาศมีความจำเป็นต้องยกระดับเทคโนโลยีและความทันสมัยเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ของโลก
และการป้องกันประเทศในยุคปัจจุบันจึงได้ทำการซื้อ เครื่องบิน F 16
เพิ่มเติม และทำการย้ายเครื่อง F 5 E/F จากกองบิน 4
นครสวรรค์ไปประจำการแทนเครื่อง A37 ดราก้อนที่ปลดประจำการลงในปี 2537
เนื่องจาก A 37 มีอายุการใช้งานยาวนาน ณ ฝูงบิน 211 กองบิน 21
จังหวัดอุบลราชธานี
และต่อมาฝูงบินนี้ก็ได้เปลี่ยนสัญลักษณ์ของฝูงเป็นรูปนกอินทรี
เครื่องบิน F 5 ที่ประจำการอยู่ที่ฝูงบิน 211
จังหวัดอุบลราชธานีมีจำนวน 14 เครื่อง แบ่งเป็น F 5 E (2 ที่นั่ง)
จำนวน 11 เครื่อง ประสบอุบัติเหตุในวันที่ 23 ธันวาคม 2552
จึงเหลืออีก 10 เครื่อง และ F 5 F จำนวน 3 เครื่อง
โดยบรรจุเข้าประจำการครั้งแรกที่กองบิน 4 อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
เมื่อปี 2524 และโอนมาประจำการที่กองบิน 211 เมื่อปี 2537
นอกจากนี้ยังมีประจำการอยู่ที่กองบิน 7 จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 12
เครื่อง แบ่งเป็น F 5 B (2 ที่นั่ง) ซึ่งเป็นเครื่องบิน F 5 รุ่นแรกๆ
เข้าประจำการเมื่อปี 2520 จำนวน 1 เครื่อง และ F 5 E (1 ที่นั่ง)
จำนวน 11 เครื่องเข้าประจำการปี 2521 กองทัพอากาศปลดประจำการทั้งฝูง
เมื่อเครื่องบินขับไล่แบบกริพเพน
ที่ทำการจัดซื้อจากประเทศสวีเดนทยอยเข้าประจำการในเดือนมกราคม
จนถึงเดือนมีนาคม 2554
จากการที่กองทัพอากาศสามารถจัดซื้อกริพเพนได้เพียงครึ่งฝูงในครั้งแรกจึงยังไม่สามารถปลดประจำการเครื่องบิน
F 5 ที่กองบิน 7 ซึ่งมีอายุกว่า 30
ปีได้ทั้งหมดและมีความจำเป็นที่จะต้องใช้งานต่อไป
ซึ่งเครื่องบินทั้งหมดอยู่ในระบบการบำรุงรักษาที่ได้มาตรฐาน
และมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดตลอดระยะเวลาของการใช้งาน
สิงหาคม 2560 กองทัพอากาศไทย มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุง F-5E/F
ให้มีขีดความสามารถทางการบินและการรบสูงขึ้น โดยปรับปรุงระบบ Avionics
ระบบอาวุธ และระบบเรดาร์
ให้ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับเป้าหมาย
มีขีดความสามารถในการปฏิบัติการที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง
เพื่อดำรงความพร้อมรบ รองรับภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
อีกทั้งเป็นการป้องกันปัญหาด้านการส่งกำลังและการซ่อมบำรุงอุปกรณ์ที่กำลังจะปิดสายการผลิตอีกทางหนึ่งด้วย
ตลอดจนเป็นการใช้งบประมาณที่น้อยกว่าการจัดหาเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์มาทดแทนถึง
10 เท่า.
Northrop F 5 Freedom Fighter Specifications
ประเภท...................เครื่องบินขับไล่ยุทธวิธี 1 หรือ 2 ที่นั่ง
(แล้วแต่รุ่น)
ผู้สร้าง.....................บริษัท นอร์ธรอป แอร์คราฟท์
ประเทศสหรัฐอเมริกา
เครื่องยนต์ ...............เทอร์โบเจ็ต เยเนอรัล อิเล็กทริก
J85-GE-21 ให้แรงขับเครื่องละ 3,500 ปอนด์ และ 5,000 ปอนด์
เมื่อใช้สันดาปท้าย จำนวน 2 เครื่อง
กางปีก....................8.13 เมตร (26 ฟุต 8 นิ้ว)
ยาว.........................14.68 เมตร (48 ฟุต 2 นิ้ว)
สูง...........................4.06 เมตร (13 ฟุต 4 นิ้ว)
น้ำหนักเปล่า.............4,292 กก. (9,673 ปอนด์)
น้ำหนักวิ่งขึ้นสูงสุด....11,187 กก. (24,664 ปอนด์)
อัตราเร็วสูงสุด...........1.63 มัค (1,700 กม./ชม.หรือ 1,056
ไมล์/ชม.)
อัตราไต่....................34,300 ฟุต/นาที
เพดานบิน.................15,790 เมตร (51,800 ฟุต)
พิสัยบิน....................2,863 กม. (1,779 ไมล์)
รัศมีทำการรบ............1,056 กม. (656 ไมล์)
เมื่อเติมเชื้อเพลิงเต็มที่
อาวุธ........................ปืนใหญ่อากาศ เอ็ม 39 เอ-2 ขนาด 20 มม.
2 กระบอก กระสุน 280 นัด/กระบอก สามารถติดอาวุธได้
รวม 7 ตำแหน่ง (น้ำหนักรวม 3,175กก./7,000 ปอนด์)
ข้อมูลอ้างอิง เอกสารประกอบการเขียนจาก
พ.อ.อ.รัชต์ รัตนวิจารณ์
กรมกิจการพลเรือน กองทัพอากาศ
อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/
คุณกำลังดู: ย้อนอดีต วีรกรรมเครื่องบินรบ F-5 ของ ทอ.ไทย ในสมรภูมิเขาค้อ
หมวดหมู่: รีวิวรถใหม่