11 สัญญาณอันตรายของ "โรคแพ้ภูมิตัวเอง" (SLE)
โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) มีอาการอย่างไรที่สังเกตได้ และตรวจพบได้บ้าง
อธิบดีกรมการแพทย์ชี้โรคแพ้ภูมิตัวเองทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง ของอวัยวะต่างๆ มีความรุนแรงแตกต่างกัน ตั้งแต่มีผื่น ปวดข้อ ไปจนถึงอาการแสดงที่มีความรุนแรงถึงเสียชีวิต พบได้บ่อยในหญิงมากกว่าชาย แนะผู้ป่วย SLE หากสงสัยว่าจะมีการติดเชื้อหรือมีอาการผิดปกติ ที่อาจบ่งชี้ว่าโรคกำเริบ เช่น อาการไข้ อ่อนเพลียมีผื่นขึ้นมากกว่าเดิม ปวดข้อ ผมร่วง มีแผลในปาก เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง
โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) คืออะไร?
นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรค SLE (Systemic Lupus Erythematosus, SLE) เป็นโรคภูมิต้านทานตนเองทำลายเนื้อเยื่อตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง สาเหตุที่แท้จริงไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยอื่น ส่งเสริมทำให้เกิดโรค ได้แก่ การติดเชื้อ ยา แสงแดด สารเคมีในสิ่งแวดล้อม พบโรคนี้ได้บ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
อาการของโรคแพ้ภูมิตัวเอง
อาการของโรคนี้จะแสดงความผิดปกติในร่างกายหลายระบบร่วมกัน และจะเป็นๆ หายๆ มีอาการกำเริบและสงบเป็นระยะ เช่น ผื่นโรค SLE ระบบผิวหนัง ระบบประสาท ระบบหัวใจและหลอดเลือด กล้ามเนื้อและข้อ เม็ดเลือด ไต ระบบทางเดินหายใจ ผมร่วง เป็นต้น ดังนั้น ผู้ป่วยโรค SLE จึงมีอาการแสดงทางคลินิกที่หลากหลาย และมีความรุนแรงแตกต่างกัน ตั้งแต่อาการที่ไม่รุนแรง เช่น มีผื่น ปวดข้อ ไปจนถึงอาการแสดงที่มีความรุนแรงถึงเสียชีวิต เช่น ไตอักเสบ ดังนั้น การดูแลรักษาผู้ป่วยแต่ละรายจึงมีความแตกต่างกัน และแม้ว่าจะเป็นโรคที่รักษาไม่หายแต่ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตใกล้เคียงกับคนปกติ
การวินิจฉัยโรค SLE จะต้องอาศัยประวัติการเจ็บป่วย และผลเลือด โดยมีเกณฑ์การวินิจฉัยความผิดปกติอย่างน้อย 4 ใน 11 ข้อ ได้แก่
-
ผื่นบริเวณใบหน้าและมีการกระจายเป็นรูปผีเสื้อ
-
ผื่นผิวหนังชนิดที่เรียกว่าผื่นดีสคอยด์ พบได้บ่อยบริเวณใบหน้า
ใบหู ลำตัว และแขนขา
- อาการแพ้แดด
โดยมีผื่นผิวหนังแดงอย่างรุนแรงเมื่อโดนแดด
- มีแผลในปาก
- ข้ออักเสบ
- ไตอักเสบ
โดยปริมาณโปรตีนหรือไข่ขาวในปัสสาวะมากกว่าปกติ
-
อาการชักหรืออาการทางระบบประสาทอื่นๆ
-
เยื่อหุ้มปอดหรือหัวใจหรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- อาการซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ
หรือเกล็ดเลือดต่ำ (ที่ไม่ได้เกิดจากยาหรือการติดเชื้อ)
- ตรวจพบแอนตินิวเคลียร์แอนติบอดี
(antinuclear antibody) ในเลือด
- ตรวจพบแอนติบอดีต่อดีเอ็นเอ (anti-dsDNA) หรือการตรวจพบแอนติฟอสโฟไลปิดแอนติบอดี หรือการตรวจเลือดพบผลบวกปลอมต่อการตรวจซิฟิลิส
การรักษาโรคแพ้ภูมิตัวเอง
เนื่องจากการรักษาโรค SLE มีระยะการรักษาที่ยาวนาน นอกจากการรักษาโรคแล้ว ผู้ป่วยควรดูแลตนเอง โดยควรทำความเข้าใจ ธรรมชาติ และกลไกการเกิดโรค รวมทั้งเข้าใจเหตุผลของการประเมิน ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ดังนี้
- ทำจิตใจให้สงบ ไม่เครียด
- พักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
- รับประทานอาหารให้ถูกสุขลักษณะและครบหมู่
ควรรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์และปรุงสุก
- หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดจ้า ควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF
30 ขึ้นไปเมื่อต้องออกไปกลางแดด
- อยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีผู้คนหนาแน่น
- ไม่ควรตั้งครรภ์ ในขณะที่โรคยังรุนแรงหรือกำลังกำเริบ
- รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ
- หากสงสัยว่าจะมีการติดเชื้อ เช่น มีไข้ มีแผล ฝี หนอง ไอ
ปัสสาวะแสบขัด ท้องร่วง หรือต้องรับการรักษาอื่นๆ เช่น การทำฟัน
หรือต้องเข้ารับการผ่าตัด
และหากมีอาการผิดปกติที่อาจบ่งชี้ว่าโรคกำเริบ เช่น อาการไข้
อ่อนเพลียมีผื่นขึ้นมากกว่าเดิม ปวดข้อ ผมร่วง มีแผลในปาก เป็นต้น
ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อให้แพทย์ปรับยา หยุดยา
หรือพิจารณาให้ยาตามความเหมาะสม
- ติดตามการรักษาอย่างสม่ำเสมอและไม่ควรหยุดยาเอง เนื่องจากในบางครั้งอาจทำให้โรคกำเริบอย่างรุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
คุณกำลังดู: 11 สัญญาณอันตรายของ "โรคแพ้ภูมิตัวเอง" (SLE)
หมวดหมู่: รู้ทันโรค