3 เรื่องเกี่ยวกับ “โรคซึมเศร้า” ที่คนมักเข้าใจผิด

เพราะเราไม่อยากให้คนเข้าใจผู้ป่วยโรคซึมเศร้าผิดไปมากกว่านี้อีกแล้ว

3 เรื่องเกี่ยวกับ “โรคซึมเศร้า” ที่คนมักเข้าใจผิด

ไม่รู้ว่าเป็นเหตุบังเอิญหรือไม่ แต่ในรอบสัปดาห์นี้มีข่าวที่เกี่ยวกับเรื่องของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าหลายเรื่องในคราวเดียวกัน ล่าสุดกับเหตุการณ์เสียชีวิตของศิลปินชื่อดัง เชสเตอร์ เบนนิ่งตัน นักร้องนำวง Linkin Park ที่มีแฟนเพลงในประเทศไทยมหาศาล เมื่อเป็นผู้มีชื่อเสียงระดับโลก ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานอย่างดี จึงมีคำถามออกมาจากคนที่ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาถึงคิดฆ่าตัวตาย เป็นเพราะพวกเขาไม่เข้าใจว่าบุคคลเหล่านั้นกำลังประสบกับปัญหาโรคซึมเศร้านั่นเอง

อ่านต่อ >> Chester Bennington จาก Linkin Park กับ 10 สิ่งที่เราควรเอาเป็นแบบอย่าง

 

เรื่องเกี่ยวกับ “โรคซึมเศร้า” ที่คนมักเข้าใจผิด

  1. ทำไมถึงคิดฆ่าตัวตาย ทำไมไม่สู้ ทำไมอ่อนแอจัง ฯลฯ

กับคนที่มีจิตใจปกติ ยังไม่ได้มีอาการของโรคซึมเศร้า อาจจะเคยล้มลุกคลุกคลาน ประสบปัญหาชีวิตมากมาย แต่ก็ผ่านชีวิตช่วงนั้นมาได้ และมองว่าการฆ่าตัวตายเป็นทางออกของคนสิ้นคิด เป็นวิธีแก้ปัญหาของคนอ่อนแอ

แต่อันที่จริงแล้ว คนที่ถูกแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้มีเพียงจิตใจที่อ่อนไหวเท่านั้น แต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีปัญหาไปถึงสารสื่อประสาทในสมอง ที่มีความผิดปกติจนทำให้กระบวนการคิด การตัดสินใจของเราผิดปกติไปจากเดิม หลักเหตุผลต่างๆ นาๆ ที่คนปกติคิดกันได้ ในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าอาจจะคิดไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะอ้างว่าผู้ป่วยเหล่านั้นอ่อนแอ ไม่เข้มแข็ง จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะจริงๆ แล้วผู้ป่วยเหล่านี้เขาเข้มแข็งมากตั้งแต่ยอมรับว่าตัวเองเป็นโรคซึมเศร้าแล้ว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าจำนวนมากเช่นกันที่สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่อยากจะฆ่าตัวตายมาได้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบตัว และจิตแพทย์

 

  1. แกล้งทำเป็นเศร้า เพื่อเรียกร้องความสนใจ

ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการให้มีคนมาสนใจ แต่พวกเขาต้องการคน “เข้าใจ” มากกว่า หากทุกคนเข้าใจเขา เข้าใจในสิ่งที่เขารู้สึก สิ่งที่เขาเป็น เขาก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกร้องความสนใจจากใคร พวกเขาไม่ได้ต้องการเป็นคนเด่นคนดัง พวกเขาแค่รู้สึกทรมานจากสภาวะจิตใจที่หดหู่ซ้ำๆ เหมือนที่มีประโยคหนึ่งกล่าวเอาไว้ว่า “ไม่มีใครคิดอยากฆ่าตัวตายหรอก พวกเขาแค่อยากจะหนีให้พ้นจากความทรมานที่ประสบอยู่เท่านั้น”

 

  1. มีความทุกข์ ก็ไปเข้าวัด ฟังธรรม นั่งสมาธิ เดี๋ยวก็ดีขึ้น

จริงอยู่ว่าหลักธรรมในศาสนาพุทธทำให้จิตใจสงบลงได้ แต่ก็ใช้ได้แต่กับคนที่มีสภาพจิตใตปกติ ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เพราะอย่างที่กล่าวไปว่าผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามีอาการสารสื่อประสาททำงานผิดปกติ ที่จะต้องเข้ารับการรักษาทั้งจากจิตแพทย์ที่จบทางด้านการรักษาโรคเหล่านี้โดยเฉพาะ และในบางรายจะต้องได้รับยาเพื่อปรับการทำงานของสมองอีกด้วย ดังนั้นการเข้าให้ถึงแก่นของพระพุทธศาสนา บางครั้งอาจไม่ใช่วิธีรักษาโรคที่ถูกต้อง หรือตรงจุดนัก

 depression-2

สิ่งที่เราควรทำเมื่อเราพบคนที่รู้จักเป็นโรคซึมเศร้า หรือมีความน่าจะเป็นที่จะเป็นโรคซึมเศร้า คือ

  1. สังเกตพฤติกรรมของคนนั้น ว่ามีความเศร้า ความเครียด พูดคุยแต่เรื่องเศร้าๆ เล่ามาแต่เรื่องความทุกข์ที่เกิดขึ้น โพสลง social media แต่คำพูดที่ดูหมิ่นตัวเอง โกรธ เกลียดตัวเอง ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต หรืออาจจะเคยพูดถึงเรื่องความต้องการที่จะลาจากโลกใบนี้

  2. เข้าไปสอบถามพูดคุยอย่างใจเย็น เปิดโอกาสให้เขาเหล่านั้นได้เล่า ได้คุยถึงความรู้สึกที่เขากำลังเผชิญ เมื่อเขาเปิดปากเล่าออกมาจงรับฟัง ตั้งใจฟังโดยไม่ต้องเค้นหาคำตอบ หรือตั้งคำถามอะไรมากมาย ให้เขาได้ระบายความทุกข์ออกมา

  3. แสดงท่าทีไปว่าเราเข้าใจในสิ่งที่เขาเล่า และเราพร้อมที่จะอยู่ข้างๆ เขา คอยให้กำลังใจ ให้การสนับสนุนเขา บอกเขาว่ายังมีคนที่รักเขาอยู่ และพร้อมที่ช่วยเหลือเขาทุกครั้งหากเขาต้องการ และเชื่อมั่นในตัวเขาว่าเขาจะต้องผ่านพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปให้ได้ บอกเขาย้ำๆ ว่า รู้สึกไม่ดีเมื่อไร ให้ติดต่อมาหาเสมอ

  4. อย่าลืมว่า โรคซึมเศร้า เป็นภาวะความผิดปกติของสมอง หลักเหตุผลที่เราอธิบายไป เขาอาจไม่เข้าใจ หรือเข้าใจแต่ทำไม่ได้ ขอให้ใจเย็นกับเขา บอกเขาย้ำๆ ว่าเราดีใจที่เขายังอยู่กับเรา เขามีความสำคัญกับเราอย่างไร เขามีข้อดีในตัวเองอย่างไร

  5. หากเป็นเพื่อนกัน ควรชวนเพื่อนทำกิจกรรมที่เขาชอบร่วมกัน ทานอาหารอร่อยๆ ออกกำลังกาย ไปเที่ยวพักผ่อน แบ่งปันสารทุกข์สุขดิบซึ่งกันและกัน

  6. อย่าให้เขาหันหน้าเข้าหาแอลกอฮอล์ หรือยาเสพติดโดยเด็ดขาด

  7. หากอาการของเขาไม่ดีขึ้น เริ่มเก็บตัว แยกตัวอยู่คนเดียว ไม่สุงสิงกับผู้คนรอบข้าง ควรชวนไปหาจิตแพทย์ (อาจจะจูงมือกันไปหาจิตแพทย์ตั้งแต่เริ่มสงสัยว่าเขาอาจจะเป็นโรคซึมเศร้าเลยก็ได้)

 

หากใครที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองกำลังเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ สามารถลองทำแบบทดสอบของกรมสุขภาพจิต หรือติดต่อสายด่วนกรมสุขภาพจิตที่ 1323 ได้ค่ะ

คุณกำลังดู: 3 เรื่องเกี่ยวกับ “โรคซึมเศร้า” ที่คนมักเข้าใจผิด

หมวดหมู่: สุขภาพใจ-สมอง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด