7 ปัญหาสุขภาพของ “วัยทำงาน” ที่ควรระวัง
วัยทำงาน เป็นวัยที่โรครุมเร้าไม่แพ้วัยชราเหมือนกันนะ ต้องใส่ใจดูแลสุขภาพกันมากๆ ก่อนจะสายเกินไป
คนวัยทำงาน ใช้เวลาไปกับการทำงานวันละประมาณ 8 ชั่วโมง แต่หลายคนทำงานหนัก ไม่ว่าจะเนื่องจากภาระงานติดพันหรือด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจ ทำให้ต้องทำงานเกินเวลา ส่งผลให้คนเหล่านี้ไม่มีเวลาที่จะดูแลสุขภาพของตนเองอย่างเหมาะสม พักผ่อนน้อย กินอาหารไม่มีประโยชน์ เพราะเอาเพียงอิ่มท้อง และขาดการออกกำลังกาย ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ
เพื่อให้คนทำงานทุกคนหันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองมากขึ้น Tonkit360 จึงได้รวบรวมปัญหาสุขภาพ 7 อย่าง ที่คนวัยทำงานอย่างเราต้องระมัดระวังมาฝาก
-
ออฟฟิศซินโดรม
คนทำงานกว่าร้อยละ 60 โดยเฉพาะพนักงานออฟฟิศ มีภาวะออฟฟิศซินโดรม ซึ่งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมที่ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานโดยที่ไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย แม้แต่ในเวลาพักก็ยังนั่งก้มหน้าอยู่กับจอโทรศัพท์เช่นกัน ทำให้เกิดอาการเกร็งและตึงกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ หลัง ไหล่ ข้อมือ นิ้วมือ ซึ่งถ้าหากปล่อยไว้นานก็จะทำให้กล้ามเนื้ออักเสบ เอ็นอักเสบ มีอาการปวดหลัง ปวดตึงบริเวณต้นคอไม่หาย ปวดศีรษะเรื้อรัง มือชา นิ้วล็อก เป็นต้น
วิธีแก้คือ ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ปรับความสูงของเก้าอี้ทำงานให้อยู่ในท่าที่นั่งสบาย
นั่งให้เต็มก้นหลังพิงพนัก ตำแหน่งการวางคอมพิวเตอร์ต้องเหมาะสม
รวมถึงหมั่นลุกมาเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง ที่สำคัญ
ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอด้วย เพื่อคลายกล้ามเนื้อส่วนที่ตึง
เพราะหากมีอาการรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ อาจถึงขั้นหมอนรองกระดูกเสื่อม
หมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท กลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตได้
-
ภาวะซึมเศร้า
เป็นโรคทางจิตเวชที่คุกคามชีวิตของคนวัยทำงานจำนวนไม่น้อย โดยแนวคิดเกี่ยวกับสาเหตุของโรคซึมเศร้านั้นมาจากหลายปัจจัย ทั้งกรรมพันธุ์ สารเคมีในสมอง และลักษณะนิสัยส่วนตัว อย่างไรก็ตาม ความเครียด ก็เป็นอีกปัจจัยที่มากระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน เมื่อมีความกดดันด้านจิตใจหรือความเปลี่ยนแปลงบางอย่างที่มีผลต่อจิตใจอย่างรุนแรง ก็ทำให้มีแนวโน้มที่จะเกิดอาการซึมเศร้าได้ง่าย
ดังนั้นจึงจำเป็นที่ต้องสังเกตอาการตนเอง หากมีอาการคิดมาก จิตตก ท้อแท้หมดกำลังใจ เศร้า หดหู่ ร้องไห้บ่อย ๆ ในบางรายอาการหนัก จนจมอยู่กับความทุกข์ ไม่สามารถดำเนินชีวิตเป็นปกติได้ และพยายามฆ่าตัวตาย ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน อย่ามองว่าการพบจิตแพทย์เป็นเรื่องผิดปกติ เพราะแพทย์จะวินิจฉัยว่าอาการที่เป็นอยู่เป็นเพียงความเครียดสะสม หรือเป็นภาวะซึมเศร้าที่ต้องได้รับการรักษา
ควรมีคนใกล้ชิดที่สนิทในที่ทำงานไว้บ้างก็จะดี
เพื่อจะได้มีคนคอยรับฟัง คอยแนะนำ รวมถึงคอยสังเกตอาการผิดปกติ
เพื่อจะได้ไปรับการรักษาอย่างทันท่วงที
-
ความดันโลหิตสูง
คนทำงานส่วนใหญ่ทำงานภายใต้แรงกดดัน ส่งผลให้เกิดอาการเครียด จนมีภาวะความดันโลหิตสูง แต่ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงบางส่วนก็ไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดได้ จึงพอจะระบุสาเหตุว่าอาจเกิดจาก 2 ปัจจัยคือ พันธุกรรมและพฤติกรรม อย่างไรก็ตาม ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคร้ายอื่นๆ ได้ด้วย เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ไตวาย อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นต้น
ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง
จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตน ตั้งแต่การรับประทานอาหาร
หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน หลีกเลี่ยงอาหารหวานจัดเค็มจัด
บริโภคผักและผลไม้ให้ได้ตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ ออกกำลังกาย
งดสูบบุหรี่ งดสุรา และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
-
โรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
สาเหตุส่วนใหญ่มาจากความเครียด การกินอาหารไม่ตรงเวลา และกินแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์ จนทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานผิดปกติ เช่น เครียดลงกระเพาะ สาเหตุมาจากระบบประสาทอัตโนมัติจะกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยออกมามากกว่าปกติ จนเกิดการระคายเคือง เป็นแผลในกระเพาะอาหาร ที่ทำให้เกิดอาการปวดหรือจุกแน่นท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่หรือหน้าท้องส่วนบน ซึ่งอาจมีอาการแทรกซ้อนอย่างเลือดออก กระเพาะอาหารทะลุ หรือกระเพาะอาหารอุดตัน
กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดจากเยื่อบุด้านในกระเพาะอาหารอักเสบ
และกรดไหลย้อน
เกิดจากพฤติกรรมการกินที่ไม่ได้พิถีพิถันมากเท่าที่ควร
เนื่องด้วยความเร่งรีบ และไม่มีตัวเลือกอาหารให้มากนัก
จึงต้องกินอาหารที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ อย่างอาหารฟาสต์ฟู้ด
อาหารหมักดอง อาหารรสจัด ของมัน ของทอด น้ำหวาน น้ำอัดลม
รวมถึงการกินอาหารไม่ตรงเวลา หรือกินอาหารก่อนนอน
กินเสร็จแล้วนอนทันที ก็ทำให้เป็นกรดไหลย้อนได้เช่นกัน
-
อ้วน
เป็นภาวะที่ร่างกายสะสมไขมันมากเกินปกติ จนเป็นปัจจัยเสี่ยงหรือเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆ ที่จะส่งผลต่อสุขภาพโดยรวม ร่างกายไม่แข็งแรง มีปัญหาเรื่องสมรรถนะการทำงาน การใช้ชีวิต จนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
สาเหตุหลักของความอ้วนมาจากพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม เช่น การทำงานที่ต้องนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน กินอาหารมากเกินความจำเป็นของร่างกาย โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาล โซเดียม และไขมันปริมาณสูง ขาดการออกกำลังกาย ซึ่งหากไม่ดูแลสุขภาพและไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อน กลายเป็นโรคเรื้อรังได้ อย่าง อ้วนลงพุง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เบาหวาน ตับแข็ง และโรคหัวใจ
ดังนั้น ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะพฤติกรรมการกิน
หลีกเลี่ยงการกินอาหารหน้าคอมพิวเตอร์ กินแต่อาหารที่ไม่มีประโยชน์
กินของหวาน ของมัน ของทอดมากเกินพอดี ไปเป็นกินอาหารให้น้อยลง
เน้นกินอาหารที่มีประโยชน์แทน ต้องขยับร่างกายให้มากขึ้น
และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
เพื่อควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
-
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
มีผลสืบเนื่องมาจากโรคอ้วน และพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสม
พักผ่อนน้อย หรือบางคนที่สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอย่างเช่นโรคความดันโลหิตสูง
โรคเบาหวาน โรคหัวใจ
โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือด
ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ทั้งหมด
ดังนั้นต้องระมัดระวังการใช้ชีวิต
และหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีก็จะช่วยลดความเสี่ยงลงได้
-
โรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง
เป็นโรคใกล้ตัวคนวัยทำงาน มีความเครียดเป็นสาเหตุหลัก เนื่องจากสมองเป็นศูนย์กลางที่ควบคุมการทำงานของร่างกายทุกส่วน เมื่อระบบประสาทและสมองมีปัญหา ก็จะส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ในร่างกายด้วยเช่นกัน มักมีอาการแรกเริ่มคือ ตาพร่า กล้ามเนื้ออ่อนแรง การคิด การทำ การพูด การทรงตัวผิดปกติ ปวดหัวไมเกรน สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะทำให้พิการ เส้นเลือดในสมองแตก สมองขาดเลือด เป็นอัมพาต ดังนั้น จึงจำเป็นมากที่จะต้องดูแลสมองของเราให้ดี เพื่อให้ทุกระบบในร่างกายทำงานได้อย่างเป็นปกติ
คุณกำลังดู: 7 ปัญหาสุขภาพของ “วัยทำงาน” ที่ควรระวัง
หมวดหมู่: รู้ทันโรค