8 พฤติกรรมเสี่ยง “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ที่คุณอาจไม่รู้ตัว

จริงหรือไม่? คนอ้วน เสี่ยงมะเร็งลำไส้ใหญ่

8 พฤติกรรมเสี่ยง “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ที่คุณอาจไม่รู้ตัว

มะเร็งลำไส้ใหญ่ อาจไม่ใช่โรคมะเร็งชนิดแรกๆ ที่หลายคนนึกถึง เพราะส่วนใหญ่อาจจะเคยได้ยินแต่มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ หรือมะเร็งปอดกันเสียมากกว่า แต่อันที่จริงแล้ว มะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นมะเร็งที่พบผู้ป่วยในไทยเป็นจำนวนมาก ในปี 2553 พบผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่เป็นเพศชายมากเป็นอันดับ 2 จากโรคมะเร็งทั้งหมด และเป็นอันดับ 3 ในเพศหญิงอีกด้วย

นอกจากสาเหตุจะไม่เป็นที่แน่ชัดเหมือนกับโรคมะเร็งอื่นๆ แล้ว ผู้ป่วยหลายคนกว่าจะรู้ตัวว่าเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็อาจจะสายเกินแก้ ดังนั้นหากทราบพฤติกรรมที่อาจเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะช่วยลดโอกาสในการเป็นโรคนี้ได้มากเลยล่ะค่ะ

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่ คืออะไร?

มะเร็งลำไส้ใหญ่ คืออาการที่พบก้อนเนื้อ หรือติ่งเนื้อที่เป็นเซลล์มะเร็งบริเวณผนังลำไส้ใหญ่ ที่ปกติทำหน้าที่แปรของเสียเหลว ที่ถูกดูดซึมเอาสารอาหารที่มีประโยชน์ออกไปเรียบร้อยแล้ว ให้เป็นอุจจาระแข็งเพื่อรอการขับถ่ายออกจากร่างกาย

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีสาเหตุจากอะไร?

มะเร็งลำไส้ใหญ่ ก็เหมือนกับโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่ไม่อาจทราบถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคได้อย่างแน่ชัด ทราบเพียงแต่ความเสี่ยงที่อาจทำให้มีโอกาสเป็นโรคนี้สูงกว่าปกติเท่านั้น

 intestines-colon


ใครมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่บ้าง?

- ผู้ที่มีสมาชิกครอบครัว หรือญาติ ที่เคยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือโรคลำไส้ใหญ่อักเสบมาก่อน

- มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป

 

พฤติกรรมเสี่ยง “มะเร็งลำไส้ใหญ่”

  1. รับประทานอาหารที่มีไขมันสูงมากเกินไป

  2. รับประทานอาหารประเภทเนื้อแดง ปิ้งย่าง ที่มีลักษณะไหม้เกรียมบ่อยๆ

  3. รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อยเกินไป

  4. สูบบุหรี่

  5. ดื่มแอลกอฮอล์

  6. ขาดการออกกำลังกาย

  7. มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง เช่น นักดูทีวีทั้งวัน นั่งติดเก้าอี้ นอนติดเตียง

  8. น้ำหนักเกินมาตรฐาน (อ้วน)

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีอาการอย่างไร?

ในระยะแรกผู้ป่วยจะไม่รู้ตัวว่ากำลังเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่อยู่ แต่จะแสดงสัญญาณเตือนที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่าย เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระก้อนเล็กลง อุจจาระมีเลือดปน (ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าเป็นโรคริดสีดวงทวาร) และอาจมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซีด หรือน้ำหนักตัวลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุอีกด้วย

มะเร็งลำไส้ วินิจฉัยได้อย่างไร ?

หลังจากที่มีการวินิจฉัยแล้วระบุว่าเป็นมะเร็งลำไส้ หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้วนั้น แพทย์ก็จะแบ่งระยะของมะเร็งชนิดนี้ได้ตามการแพร่กระจายของโรค ดังนี้

  • Stage 0 / ระยะที่ 0 : มะเร็งลำไส้ในระยะนี้เป็นแค่เพียงระยะเริ่มต้น โดยเซลล์มะเร็งยังอยู่แค่เฉพาะบริเวณผนังของลำไส้
  • Stage 1 / ระยะที่ 1 : ในระยะนี้ก็เช่นกันที่มะเร็งจะยังไม่แพร่กระจายออกจากผนังลำไส้
  • Stage 2 / ระยะที่ 2 : มะเร็งได้แพร่ออกนอกลำไส้ แต่ยังไม่แพร่ไปสู่ต่อมน้ำเหลือง
  • Stage 3 / ระยะที่ 3 : มะเร็งได้แพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้เคียง แต่ยังไม่ได้แพร่ไปยังอวัยวะอื่นๆ
  • Stage 4 / ระยะที่ 4 : มะเร็งได้แพร่กระจายออกไปยังอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย แต่จะแพร่ยังตับและปอดมากที่สุด
  • Recurrent : ผู้ป่วยกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำหลังจากที่ทำการรักษา

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่ ป้องกันอย่างไร?

แม้ว่าดูเหมือนจะเป็นโรคร้ายแรงที่อันตราย เพราะไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เราสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ง่ายๆ เพียงลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันสูง ลดจำนวนครั้งในการทานอาหารประเภทเนื้อแดง และปิ้งย่าง ทานอาหารที่มีกากใยอาหาร เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืชต่างๆ ให้มากขึ้น ลดการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ และที่สำคัญคือ ออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ รับรองว่าเคล็ดลับง่ายๆ เพียงเท่านี้ ก็ช่วยลดความเสี่ยในการเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้มากเลยทีเดียวค่ะ

แต่หากใครที่ประวัติครอบครัวเคยมีคนเป็นโรคมะเร็วลำไส้ใหญ่ และมีอาการผิดปกติในเรื่องของการขับถ่าย ควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการตรวจร่างกายโดยละเอียดจะดีกว่านะคะ

คุณกำลังดู: 8 พฤติกรรมเสี่ยง “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ที่คุณอาจไม่รู้ตัว

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว