จากความสดใสหลังภัยสงคราม สู่เสื้อผ้าของปัญญาชน Marimekko แบรนด์ผ้าพิมพ์จากฟินแลนด์

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้แบรนด์ผ้าพิมพ์ขนาดเล็กในเมืองเฮลซิงกิกลายเป็นแบรนด์ระดับโลก ถึงขนาดที่คนดังมากมายยังเป็นแฟนคลับ นี่คือเรื่องราวของ Marimekko

จากความสดใสหลังภัยสงคราม สู่เสื้อผ้าของปัญญาชน Marimekko แบรนด์ผ้าพิมพ์จากฟินแลนด์

Marimekko คือแบรนด์สัญชาติฟินแลนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักจากลวดลายผ้าพิมพ์ของ ดอกอูนิกโกะ (unikko) สีสันสดใสที่มักจะปรากฏให้เห็นอยู่บ่อยๆ ตาม tote bag เดรส และไอเทมอื่นๆ ของแบรนด์ ไม่แปลกที่หลายคนจะจดจำและตกหลุมรัก Marimekko จากลวดลายดอกไม้ที่สดใสนี้ 

แต่ประวัติศาสตร์แบบไหนกันล่ะที่หลบซ่อนอยู่เบื้องหลังความสดใสนี้ แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้แบรนด์ผ้าพิมพ์ขนาดเล็กในเมืองเฮลซิงกิกลายเป็นแบรนด์ระดับโลก ถึงขนาดที่คนดังอย่าง Jacqueline Kennedy และ Georgia O’Keeffe ยังเป็นแฟนคลับ นี่คือเรื่องราวของ Marimekko แบรนด์ผ้าจากฟินแลนด์ที่กลายเป็นที่รักของผู้คนทั่วโลก


เดรสของแมรี่
ย้อนกลับไปในปี 1912 Armi Airaksinen ลืมตาดูโลกเป็นครั้งแรกที่คาเลเรีย จังหวัดเล็กๆ ในฟินแลนด์ที่ในเวลาต่อมาจะถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต ในสายตาของเพื่อนๆ อาร์มีเป็นเด็กมีไหวพริบและรู้จักเอาตัวรอด อย่างที่เธอเคยเล่าว่า “ฉันเอาชีวิตรอดจากช่วงเวลาของการผนวกรวมกับสหภาพโซเวียตมาได้ด้วยเสื้อกันฝนหนึ่งตัวและหน้ากากกันแก๊สพิษรั่วๆ หนึ่งอัน” 

ชีวิตในวัยเด็กของอาร์มีไม่ได้สวยสดงดงามนัก ภายใต้สภาวะสงครามและความรุนแรงรอบตัว ครอบครัวของอาร์มีตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดและอพยพมาอยู่ที่เฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ในปัจจุบัน

อาร์มีตัดสินใจเรียนต่อด้านการออกแบบสิ่งทอที่ Central School of Applied Arts ในเมืองเฮลซิงกิ เป็นที่นี่เองที่อาร์มีได้รู้จักกับศิลปะสไตล์ Bauhaus ที่ได้กลายเป็นอิทธิพลสำคัญในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นต่างๆ ของเธอ อาร์มีเรียนจบในปี 1935 โดยที่ในปีเดียวกันนั้นเธอก็ได้แต่งงานกับ Viljo Ratia นายทหารหนุ่มผู้ไม่เพียงจะเปลี่ยนสถานะไปเป็นคู่ชีวิตเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจคนสำคัญในเวลาต่อมา


ชีวิตคู่ของอาร์มีและวิลิโยเริ่มต้นได้เพียงไม่นาน โลกก็ผันผ่านเข้าสู่สงครามโลกอีกครั้ง ซึ่งก็เป็นสงครามโลกครั้งที่สองนี่เองที่ได้สร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับอาร์มีอย่างรุนแรงจากการสูญเสียพี่น้องสองคนไปในระหว่างการปะทะกันระหว่างฟินแลนด์และรัสเซีย สงครามโลกครั้งที่สองยังส่งผลให้อาร์มีหันมาให้คุณค่ากับสิ่งง่ายๆ เล็กๆ รอบตัว แทนที่จะไปสนใจสิ่งหรูๆ แพงๆ 

หลังจากที่สงครามสิ้นสุด วิลิโยตัดสินใจลาออกจากกองทัพและนำเงินที่มีมาซื้อโรงงานผ้าน้ำมัน Printex ก่อนที่ในปี 1949 อาร์มีจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับบริษัทและเปลี่ยนชื่อเป็น Marimekko ในอีกสองปีให้หลัง ชื่อที่ความหมายของมันคือ ‘เดรสของแมรี่’ (Mary’s dress)

ความรักในรากเหง้า
บรรยากาศของฟินแลนด์ในช่วงหลังสงครามนั้นอบอวลไปด้วยความปรารถนาต่อความหวังและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่สดใส ซึ่ง Marimekko เองก็ถือเป็นตัวละครสำคัญที่มุ่งมั่นจะพลิกฟื้นฟินแลนด์ให้กลับมามีความสุขได้อีกครั้ง เพราะนับตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้ง Marimekko ก็มุ่งมั่นที่จะทำให้ผู้คนรู้สึกสดใสจากโปรดักต์ของแบรนด์ 

ภาพของอาร์มีที่บ้านพักตากอากาศกับพนักงานคนอื่นๆ ของ Marimekkoภาพของอาร์มีที่บ้านพักตากอากาศกับพนักงานคนอื่นๆ ของ Marimekko
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ฟินแลนด์ยังคงมีชนักปักหลังจากสงครามเป็นการต้องจ่ายค่าปฏิกรรมให้กับสหภาพโซเวียต อัตคัดทางทรัพยากรของประเทศสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนผ่านผลิตภัณฑ์ของ Marimekko ณ ตอนนั้นที่มักจะใช้วัตถุดิบราคาประหยัด และผ้าฝ้ายราคาถูกเป็นส่วนใหญ่ 

ต่อมาในปี 1953 อาร์มีก็ได้จ้างศิลปินรุ่นใหม่มาร่วมทีม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Vuokko Eskolin-Nurmesniemi ศิลปินผู้ที่จะถูกจดจำในฐานะผู้ออกแบบลวดลายคลาสสิคสารพัดลายให้กับแบรนด์ รวมถึง Jokapoika ผ้าพิมพ์ลายทางที่ส่งให้ชื่อของ​ Marimekko เป็นที่รู้จักในเวลาต่อมา

ลาย Jokapoikaลาย Jokapoika
laird borrelli-persson บรรณาธิการแห่งนิตยสาร Vogue เล่าว่า “ลวดลายผ้าพิมพ์ของ Marimekko สะท้อนให้เห็นความเป็นชนบทและวิถีชีวิตแบบชาวสลาฟที่อาร์มีเติบโตขึ้นมา อาร์มีให้ความสำคัญกับรากเหง้าของเธอเป็นอย่างมาก” กล่าวได้ว่า ธรรมชาติและความมีอิสรเสรีคือหัวใจของแบรนด์ โดยที่แม้ว่าลวดลายเหล่านี้จะอบอวลด้วยกลิ่นอายแบบชนบทเพียงใด หากแบรนด์ก็ได้ผสานวิธีดีไซน์แบบสมัยใหม่ซึ่งช่วยส่งให้ลวดลายของ Marimekko โดดเด่นขึ้นมา

เพียงไม่กี่ปีหลังจากก่อตั้งบริษัท Marimekko ก็กลายเป็นแบรนด์ที่โด่งดังสุดๆ ในฟินแลนด์ ก่อนจะเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศอื่นๆ ในยุโรป และสหรัฐอเมริกาในท้ายที่สุด

ยูนิฟอร์มสำหรับปัญญาชน
Marimekko เดินทางมาถึงสหรัฐอเมริกาในปี 1959 ผ่านร้าน Design Research ของ Benjamin Thompson สถาปนิกชาวอเมริกัน หนึ่งปีก่อนหน้า เบนจามินได้เดินทางไปงาน Brussels World’s Fair นิทรรศการแสดงสินค้าครั้งใหญ่ในกรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม ซึ่งเป็นที่นี่เองที่ทอมป์สันก็ได้รู้จักกับเสื้อผ้าของ Marimekko เป็นครั้งแรกและรู้สึกถูกชะตาในทันที

ทอมป์สันตัดสินใจสั่งเสื้อผ้าของ Marimekko ไปขายในห้างสรรพสินค้าของเขาในรัฐแมสซาชูเซตส์ และแนะนำให้ลูกค้าชาวอเมริกันได้รู้จักแบรนด์ภายใต้นิยาม ‘เสื้อผ้าที่จะช่วยปลดปล่อยร่างกายและจิตใจ’ ความน่าสนใจอยู่ที่ว่า นักศึกษาหญิงจากวิทยาลัยแรดคลิฟฟ์ (ซึ่งถูกรวมเป็นส่วนหนึ่งกับมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในภายหลัง) ได้พากันคลั่งไคล้เสื้อผ้าของ Marimekko เป็นอย่างมาก

Marimekko ที่ร้าน Design Research, Harvard Square, 1972Marimekko ที่ร้าน Design Research, Harvard Square, 1972
 Eugenia Sheppard นักเขียนสายแฟชั่นได้บันทึกไว้ว่า “มีนักศึกษาหญิงวิทยาลัยแรดคลิฟฟ์กว่าร้อยๆ คนจับจ่ายเสื้อผ้าของ Marimekko และพากลับไปให้บรรดาแม่ๆ ที่บ้านดูกัน” ซึ่งก็เป็นนักเขียนคนเดียวกันนี้เองที่ได้นิยาม Marimekko ว่าเป็น ‘ยูนิฟอร์มสำหรับเหล่าปัญญาชน’ (a uniform for intellectuals) “เพราะเสื้อผ้าของ Marimekko นั้นเหมาะสำหรับผู้หญิงที่อยากจะลืมไปว่ากำลังสวมใส่เสื้อผ้าอะไรอยู่” ยูจีเนียเล่าเสริม

ในสหรัฐอเมริกา Marimekko ถูกรับรู้ในฐานะเสื้อผ้าที่ออกแบบเพื่อการใช้งานและความคล่องแคล่ว นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไม Marimekko ถึงได้รับความสนใจเป็นพิเศษจากนักศึกษาหญิงในวิทยาลัยชั้นนำ และเหล่าปัญญาชนในสังคมที่กำลังท้าทายกับค่านิยมอเมริกันที่กดทับผู้หญิงเสมอมา “เสื้อผ้าควรจะถูกออกแบบเพื่อที่ผู้สวมใส่จะสามารถเคลื่อนที่ วิ่ง กระโดด หรือนั่งได้อย่างอิสระ” Annika Rimala หนึ่งในดีไซเนอร์คนสำคัญของแบรนด์กล่าว 

เป็นการท้าทายกับค่านิยมของเสื้อผ้าผู้หญิงรัดรูปแบบเดิมๆ ที่คอยแต่จะสร้างความอึดอัดให้กับผู้สวมใส่อยู่เสมอนี่เอง ที่ส่งผลให้ผู้หญิงหัวก้าวหน้าในสังคมอย่างนักเคลื่อนไหวเรื่องผังเมืองอย่าง Jane Jacobs และศิลปินเฟมินิสต์อย่างจอร์เจีย โอคีฟต่างก็ชื่นชอบเสื้อผ้าของ Marimekko เช่นเดียวกับสตรีหมายเลขหนึ่งอย่างแจ็กเกอลีน เคนเนดี้

จอร์เจีย โอคีฟในเดรส Marimekkoจอร์เจีย โอคีฟในเดรส Marimekko
จากดอกอูนิกโกะถึงการส่งต่อเสื้อผ้าแบบชาวฟินแลนด์
ถึงตรงนี้บางคนอาจกำลังสงสัยว่า แล้วลายดอกอูนิกโกะอันเป็นภาพจำของแบรนด์นั้นเกิดขึ้นเมื่อไหร่กันล่ะ

เป็นในปี 1964 ที่ Maija Isola หนึ่งในดีไซเนอร์คนสำคัญของแบรนด์ได้ออกแบบลวดลายนี้ขึ้นมา โดยไม่สนใจว่า เจ้าของบริษัทอย่างอาร์มีจะไม่ได้ชื่นชอบลวดลายดอกไม้สักเท่าไหร่ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ไมยาเลือกจะใช้สีที่ร้อนแรงอย่างฮอตพิงค์ และส้มแทนเจอรีน ที่ไม่เพียงจะขับเน้นความสดใสให้กับลวดลายนี้ แต่ยังเข้ากับรสนิยมทางศิลปะของช่วงเวลานั้นที่โน้มเอียงไปในทางป็อปอาร์ตได้เป็นอย่างดี ซึ่งพออาร์มีได้เห็นลวดลายที่ไมยาออกแบบมา แม้ว่ามันจะเป็นลายดอกไม้ แต่อาร์มีก็ไม่ได้มีปัญหา กลับยินดีและนำลวดลายของดอกอูนิกโกะไปพิมพ์บนผืนผ้าทันที

ภาพ Marimekko ในนิตยสาร Life ช่วงกลางปี 60sภาพ Marimekko ในนิตยสาร Life ช่วงกลางปี 60s
“สำหรับผู้หญิงในยุค 1960s น่ะ ผืนผ้าของ Marimekko ได้ช่วยนำแสงสว่างและความเรียบง่ายมาสู่ชีวิต” Sarah Campbell หนึ่งในดีไซเนอร์ชาวอังกฤษย้อนเล่าความทรงจำในอดีต “ความมีชีวิตชีวาของลวดลายต่างๆ ได้สร้างนิยามใหม่ให้กับลวดลายแบนเรียบที่ดีไซเนอร์ออกแบบขึ้นมา ซึ่งเมื่อมันไปปรากฏบนเสื้อผ้า ก็คล้ายว่าเราจะมองเห็นได้ถึงปลายนิ้วที่กำลังเคลื่อนไหวของศิลปินขณะกำลังวาดลวดลายเหล่านี้”

Marimekko ไม่ได้ร่วมงานแค่กับศิลปินชาวฟินแลนด์เพียงอย่างเดียว เพราะในเวลาต่อมา แบรนด์ก็ได้ไปร่วมงานกับศิลปินชาวญี่ปุ่นอย่าง Katsuji Wakisaka จนออกมาเป็นอีกหนึ่งลวดลายคลาสสิกอย่าง Kalikka ซึ่งก็สะท้อนความสนุกและขี้เล่นได้เป็นอย่างดี หรือกระทั่งในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ที่เราได้เห็น Marimekko กระโดดไปร่วมงานกับแบรนด์ร่วมสมัยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Uniqlo, Converse หรือล่าสุดกับแบรนด์กีฬาอย่าง Adidas

Marimekko x Converse Fall/Winter 2013Marimekko x Converse Fall/Winter 2013
เสน่ห์อีกอย่างที่ทำให้แบรนด์ยังคงเป็นที่รักอยู่เสมอคือ ความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม เพราะไม่เพียงแค่แบรนด์จะพยายามให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่ไม่ทำลายธรรมชาติ และหันมาใช้ใยผ้าที่ย่อยสลายได้มากขึ้นเท่านั้น ในวาระที่แบรนด์มีอายุครบ 70 ปี Marimekko ก็ได้ปล่อยแคมเปญอย่าง ‘Pre-loved’ ซึ่งคือการหยิบเอาเสื้อผ้าของแบรนด์ในอดีตกลับมาขายอีกครั้ง โดยหัวใจสำคัญของแคมเปญนี้คือการตอกย้ำวัฒนธรรมของชาวฟินแลนด์ที่คนรุ่นแม่จะส่งต่อเสื้อผ้าอันเป็นที่รักให้กับรุ่นลูก นอกจาก Pre-loved จะสะท้อนให้เห็นค่านิยมชาวฟินแลนด์ในการดูแลรักษาเสื้อผ้าเป็นอย่างดีเพื่อจะส่งต่อให้กับคนอีกรุ่นหนึ่งแล้ว แคมเปญนี้ยังสื่อสารว่า แม้ว่าแบรนด์จะก่อตั้งมาแล้วกว่า 70 ปี แต่ก็ไม่เคยลืมประวัติศาสตร์ของตัวเอง เช่นเดียวกับที่อาร์มีเองก็ไม่เคยลืมรากเหง้าสลาวิชในตัวเธอเลย

Marimekko Pre-lovedMarimekko Pre-loved
ไม่ว่าจะเป็นความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับชาวฟินแลนด์หลังสิ้นสุดสงคราม ไปจนถึงการเป็นเสื้อผ้าที่นิยามความเป็นปัญญาชน ปฏิเสธไม่ได้ว่า Marimekko คือหนึ่งในแบรนด์แฟชั่นที่มีเส้นทางชีวิตที่น่าสนใจ ไม่แปลกใจเลยว่าทำไม Marimekko จะกลายเป็นแบรนด์ที่ต้องตาโดนใจผู้คนนับล้านๆ ทั่วโลก

คุณกำลังดู: จากความสดใสหลังภัยสงคราม สู่เสื้อผ้าของปัญญาชน Marimekko แบรนด์ผ้าพิมพ์จากฟินแลนด์

หมวดหมู่: ผู้หญิง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด