ฉากสะดุ้ง “ตุ้งแช่” (Jump Scare) ในหนังผี อันตรายต่อหัวใจหรือไม่ ?

ถ้าเป็นโรคหัวใจอยู่ ดูฉากตุ้งแช่ในหนังผีแบบนี้ จะเสี่ยงโรคหัวใจกำเริบหรือเปล่า ?

ฉากสะดุ้ง “ตุ้งแช่” (Jump Scare) ในหนังผี อันตรายต่อหัวใจหรือไม่ ?
  • ความกลัวนั้นถูกสร้างมาจากสมองส่วน Amygdala โดยจะเก็บบันทึกความทรงจำในอดีตมาประกอบกับอารมณ์และความรู้สึกของเรา ส่งผลให้การแสดงออกต่อความกลัวของแต่ละคนแตกต่างกัน

  • ภาพยนตร์ที่มีฉาก Jump Scare อาจไม่ได้ทำให้ผู้รับชมหัวใจวายได้โดยตรง แต่ถ้าเป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคหัวใจอยู่ก่อนหน้า ไม่แนะนำให้รับชมเพราะอาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี

  • หากมีอาการผิดปกติขณะรับชมภาพยนตร์ เช่น หัวใจเต้นเร็วจนมีอาการหน้ามืด วูบ ปวดร้าวไปที่หน้าอก หรือแขน ควรเข้ามาตรวจสุขภาพหัวใจกับแพทย์เฉพาะทาง


หลายครั้งที่เราอาจเคยได้ยินข่าวว่า มีผู้ชมภาพยนตร์เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายกะทันหันในหนังฆาตกรรมหรือหนังผี หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิตบนเครื่องเล่นหวาดเสียวในสวนสนุก

ปัจจุบันเราพบว่า อุตสาหกรรมผลิตภาพยนตร์เหล่านี้มีเพิ่มมากขึ้น และทุกเดือนจะมีหนังเหล่านี้อย่างน้อย 2 เรื่องด้วยกัน โดยเฉพาะเดือนตุลาคมจะมีมากเป็นพิเศษเนื่องจากมีวันฮาโลวีน (31 ตุลาคม) นั่นเอง

คำว่า Jump Scare คือ เทคนิคที่ผู้สร้างหนังหรือเกมมักจะใส่เข้ามาเพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมหนังผี หนังฆาตกรรม หรือหนังลึกลับต่างๆ โดยมักจะทำให้ผู้ชมตกใจกลัวโดยไม่มีสัญญาณเตือนให้เดาทางออก ซึ่งเวลาที่คนเราตกใจกลัวมากๆ ร่างกายเข้าสู่ Fight or Flight Response หรือแบบจำลองของ สภาวะพร้อมสู้หรือพร้อมวิ่งหนี

ปกติแล้วความกลัวนั้น ถูกสร้างมาจากสมองส่วน Amygdala  หรือที่ใครมักเรียกว่า “เจ้าเมล็ดถั่วขี้กลัว” ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับเมล็ดอัลมอนด์ที่ฝังอยู่ในสมองกลีบขมับส่วนกลาง (medial temporal lobe) ในหัวของเรา  ซึ่งอยู่ในกลุ่มสมองของส่วนที่เรียกว่า “เครื่องผลิตอารมณ์” (Limbic system) นั่นเอง สมองส่วนนี้มักจะเก็บบันทึกความทรงจำในอดีตมาประกอบกับอารมณ์และความรู้สึกของเรา พร้อมปรับสภาวะ ส่งผลให้การแสดงออกต่อความกลัวของแต่ละคนแตกต่างกัน

เมื่อใดก็ตาม เรากำลังเผชิญกับสิ่งใหม่ ที่ไม่เคยพบหรือรู้จักมาก่อน สมองส่วนนี้จะเริ่มประมวลผล เปรียบเทียบ ขบคิด ส่งผลให้เรารู้สึกไม่ไว้ใจ กังวลและหวาดกลัว และเมื่อสมองได้ข้อสรุปแล้วว่า สิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ตรงหน้านั้นน่ากลัว “เจ้าเมล็ดถั่วขี้กลัว” จะส่งข้อมูลตรงไปที่ระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic nervous system) ที่เชื่อมต่อกับไขสันหลัง  แล้วกระตุ้นต่อมหมวกไต (Adrenal glands) ให้ปล่อยฮอร์โมนที่ชื่อว่า “เอพิเนฟฟริน” (Epinephrine) หรือที่เราคุ้นเคยในชื่ออะดรีนาลีน (Adrenaline) และ นอร์เอพิเนฟฟริน” (Norepinephrine) หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ นอร์อะดรีนาลีน (Noradrenaline) เข้าสู่กระแสเลือดของเรา ส่งผลให้ร่างกายของเรามีอาการตอบสนองต่าง ๆ เช่น  ความดันสูงขึ้น หัวใจเต้นแรงขึ้น ทำให้หายใจเร็วขึ้น เลือดจากหัวใจถูกสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายอย่างรวดเร็ว เหงื่อออก ตื่นเต้น และนอกจากนั้นยังทำให้ ต่อมหมวกไตทำงานหนัก เพื่อผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมา ทำให้ร่างกายและระบบต่าง ๆ ถูกกระตุ้นให้ทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจ ให้ความเห็นว่า ภาพยนตร์ที่มีฉาก Jump Scare อาจไม่ได้ทำให้ผู้รับชมหัวใจวายได้ แต่ถ้าบุคคลเหล่านั้นมีโรคหวาดระแวงและมีพฤติกรรมฝังใจที่เลวร้ายในอดีต หรือเป็นผู้สูงอายุ หรือมีโรคหัวใจอยู่ก่อนแล้ว ไม่แนะนำให้รับชมภาพยนตร์เหล่านี้ หรือไปเล่นกิจกรรมและเครื่องเล่นที่หวาดเสียว เพราะอาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี

นอกจากผู้ที่มีประวัติเป็นโรคเหล่านี้แล้ว ในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปี ก็ไม่แนะนำให้ผู้ปกครองพาเด็ก ๆ ไปดู เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถแยกแยะเรื่องจริงกับสิ่งสมมติได้ การพบภาพที่น่ากลัวอาจจะทำให้เด็กมีภาพติดตาและฝังใจไปจนกว่าจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และเริ่มใช้เหตุผลต่างๆ มาหักล้างความกลัวเหล่านั้น ซึ่งโดยรวมแล้วอาจไม่เป็นผลดีกับตัวเด็กเอง

สำหรับผู้ที่มีสุขภาพดี สามารถรับชมหนังเหล่านี้ได้ตามปกติ แต่ถ้าหากมีอาการผิดปกติขณะรับชม เช่น หัวใจเต้นเร็วจนมีอาการหน้ามืด วูบ ปวดร้าวไปที่หน้าอก หรือแขน สามารถเข้ามาตรวจสุขภาพหัวใจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้เราได้มั่นใจว่า หัวใจเรายังแข็งแรงและสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ

คุณกำลังดู: ฉากสะดุ้ง “ตุ้งแช่” (Jump Scare) ในหนังผี อันตรายต่อหัวใจหรือไม่ ?

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด