ดูแลจิตใจผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยทีมแพทย์ด้านสุขภาพจิต

ดูแลจิตใจผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยทีมแพทย์ด้านสุขภาพจิต

โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะการเจ็บป่วยเฉียบพลันในระบบประสาทที่พบบ่อยที่สุด และเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตและความพิการที่เกิดจากโรค ที่นอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทางด้านร่างกายแล้ว ยังส่งผลกระทบทางด้านจิตใจด้วย โดยพบว่าผู้ป่วยบางรายมีอาการ “ภาวะซึมเศร้า” ซึ่งถือเป็น “ปัญหาด้านจิตใจ” ที่สำคัญและพบบ่อยสุดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)

เข้าใจ...จิตใจของผู้ป่วย Stroke...

การเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง

ภาวะซึมเศร้า เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง หรือมาจากภาวะเครียดจากสภาพร่างกายและวิถีชีวิตของผู้ป่วยที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้ผู้ป่วยมีการแสดงออกทางอารมณ์เปลี่ยนไปในด้านต่างๆ เช่น

· ความวิตกกังวลและความเครียด

ผู้ป่วยมีความวิตกกังวลกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย ว่าจะสามารถกลับมาเป็นปกติได้หรือไม่จนเกิดความเครียด อาจทำให้มีอาการกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ หงุดหงิด หรือบางคนก็อาจแสดงความก้าวร้าวออกมา

· ภาวะซึมเศร้า

เป็นปัญหาทางด้านจิตใจที่พบได้บ่อยที่สุด ผู้ป่วยอาจมีอาการร้องไห้ตลอดเวลา เบื่อหน่าย มีอาการซึมเศร้าจนไม่อยากทำอะไร เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ขาดสมาธิ ขาดความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่มีความสามารถ รู้สึกสิ้นหวัง หรือถ้าเป็นมากๆ อาจถึงขั้นไม่อยากมีชีวิตอยู่ และอยากทำร้ายตัวเอง

· การปรับตัว

ผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากเดิม เนื่องด้วยอาการป่วยและอาจยังไม่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง การปรับตัวของผู้ป่วยแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานบุคลิกภาพและความสามารถในการปรับตัวของผู้ป่วย รวมทั้งสภาพแวดล้อมหรือคนใกล้ชิดที่ต้องทำความเข้าใจผู้ป่วยให้มากที่สุด

การดูแลเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจของตัวผู้ป่วยเอง

1. สอบถามแพทย์ถึงอาการต่างๆ และปัญหาทางอารมณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้
2. สอบถามแพทย์ถึงสิ่งที่ไม่สามารถทำได้เหมือนเดิม และสิ่งที่ยังสามารถทำได้
3. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา และพบแพทย์ตามนัดหมาย
4. หมั่นออกกำลังกายตามแพทย์แนะนำ
5. พยายามเข้าร่วมกิจกรรมของครอบครัวตามปกติ

การดูแลสภาพจิตใจผู้ป่วย...จากคนในครอบครัว

1. ควรให้ความใส่ใจและให้กำลังใจคนไข้ตามความเป็นจริง และปรึกษาแพทย์ที่ดูแล เพื่อแพทย์จะได้ประเมินและให้การรักษาอย่างถูกต้อง
2. ทำความเข้าใจกับพฤติกรรมและอารมณ์ที่เปลี่ยนไปของผู้ป่วย
3. แสดงออกทางคำพูด สีหน้า แววตา และการสัมผัสต่อผู้ป่วย ว่าครอบครัวยังรักและเป็นกำลังใจให้ผู้ป่วยอยู่เสมอ
4. กรณีผู้ป่วยต้องรักษาในโรงพยาบาล ญาติควรไปเยี่ยมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งจากครอบครัว
5. จัดสิ่งแวดล้อมเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน วางเครื่องใช้ในบ้านให้ผู้ป่วยเดินหรือเคลื่อนไหวได้สะดวก และสามารถหยิบจับสิ่งของได้สะดวก
6. ผู้ป่วยที่ต่อต้านและปฏิเสธการดูแลจากญาติ ควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมที่ชอบบ่อยๆ ให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกว่า ทำอะไรเองได้หลายอย่าง และลดท่าทีต่อต้านเมื่อครอบครัวและญาติเข้ามาช่วยเหลือในบางอย่าง

สมาชิกในครอบครัวควรทำความเข้าใจในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้มากที่สุด เพราะ “ความรักและความเอาใจใส่” จากครอบครัว เป็น “พลังใจ” สำคัญ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งคนสำคัญ ที่จะมาช่วยให้ผู้ป่วยมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น นั่นคือ “จิตแพทย์”

เพราะอาการป่วยทางด้าน “จิตใจ” คงไม่มีเครื่องมือทางการแพทย์ชนิดใดตรวจหาความผิดปกติได้... นอกจากจะใช้ “หัวใจ” ของจิตแพทย์เท่านั้น

บทความโดย : พ.ต.อ.หญิง พญ.อัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล จิตแพทย์ทั่วไป และจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพญาไท นวมินทร์

คุณกำลังดู: ดูแลจิตใจผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองด้วยทีมแพทย์ด้านสุขภาพจิต

หมวดหมู่: แม่และเด็ก

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด