เหตุผลที่ "ยุง" เลือกกัดบางคน ที่มาของโปรเจกต์ “ จูราสสิค พาร์ค”

“ยุง” มีประโยชน์ตรงไหน? แล้วทำไมยุงจึงเลือกกัดบางคน นักวิทยาศาสตร์ค้นหาคำตอบจนกลายเป็นที่มาของโปรเจกต์ “จูราสสิก พาร์ก”

เหตุผลที่ "ยุง" เลือกกัดบางคน ที่มาของโปรเจกต์ “ จูราสสิค พาร์ค”

เคยมีความคิดแว่บสักครั้งไหมว่า “ยุง” มีประโยชน์ตรงไหน?

กัดเจ็บ บินวี้วี้ที่หูน่ารำคาญ เป็นพาหะโรคอันตรายหลายโรค

ที่จริงยุงเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อาหารที่สำคัญ สัตว์หลายอย่างกินยุงและลูกน้ำเป็นอาหาร เช่น แมลงปอ ค้างคาว ปลา นกบางชนิดก็กินยุง (เช่น นกตีทอง) ลูกน้ำยุงยังทำหน้าที่กำจัดตะไคร่น้ำขนาดจิ๋ว และช่วยเพิ่มไนโตรเจนในน้ำเมื่อมันกินซากที่เน่าเปื่อยในน้ำ

ยุง เป็นสัตว์โลกล้านปี มีชีวิตอยู่ตั้งแต่ยุคครีเตเชียส (200 ล้านปีกว่า) แต่ทุกวันนี้เหลือประมาณ 3,500 สายพันธุ์ทั่วโลก และมีเพียงไม่กี่ร้อยสายพันธุ์ที่ดูดเลือด และเป็นยุงตัวเมียเท่านั้น เพราะต้องการโปรตีนจากเลือดเพื่อไปผลิตไข่ ส่วนยุงตัวผู้หากินจากการดูดน้ำหวานเกสรดอกไม้ และมันก็ไม่มีปากเข็มที่เจาะทะลุผ่านผิวหนังของคนเรา

แต่ที่มันน่าสงสัยคือ ยุง (ตัวเมีย) ไม่ได้กัดทุกคน นั่งกันอยู่หลายคน บางคนยุงไม่สนเลย แต่รุมสกรัมบางคนเป็นพิเศษ เพราะอะไร?

มีทฤษฎีมากมายที่ตั้งสมมุติษฐาน เช่น ตามการหายใจออกที่ปล่อย CO2 ติดตามความร้อนในร่างกายและกลิ่นตัว กรุ๊ปเลือด ระดับน้ำตาลในเลือด การบริโภคพืชผักบางชนิด ผู้หญิงท้องโดนยุงกัดมากกว่าผู้หญิงไม่ได้ตั้งครรภ์ เด็กโดนมากกว่าผู้ใหญ่ คนดื่มเหล้าโดนมากกว่าไม่ดื่ม ฯลฯ

มีงานวิจัยที่สรุปว่ายุงติดตามเราเพราะ “กลิ่นตัว”

ไม่ได้หมายถึงกลิ่นตัวเหม็น แต่หมายถึงกลิ่นตัวที่เกิดจากสารเคมีกลุ่ม carboxylic acid ที่หลั่งออกจากผิวหนังคนเรา โดยเฉพาะกรดไขมัน

งานวิจัยนี้ใช้เวลา 3 ปี โดยใช้ยุงลายบ้าน (Aedes aegypti) เป็นสัตว์ทดลอง นักวิจัยให้อาสาสมัคร 8 คนสวมถุงน่องไนลอนที่ปลายแขนเป็นเวลา 6 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อเก็บกลิ่นตัวของแต่ละคน ทำซ้ำ ๆ อย่างนี้เป็นปี แล้วนำมาทดสอบกับยุงลายบ้าน (Aedes Aegypti ซึ่งเป็นพาหะโรคเลือดออก ไข้เหลือง และชิคุนกุนย่า) โดยมีกระบวนการซับซ้อน โดยสรุปคือเป็นการจัดอันดับว่าใครกลิ่นตัวของใครเป็นแม่เหล็กดึงดูดยุงได้ดีกว่ากัน

คนที่ได้อันดับหนึ่ง มีกลิ่นที่ดึงดูดยุงได้ดีกว่าอันดับสุดท้ายถึง 100 เท่า และแม้จะเก็บกลิ่นอาสาสมัครมาทดสอบเรื่อย ๆ เป็นเวลาหลายเดือน ผลทดสอบก็ยังเหมือนเดิม คืออันดับหนึ่งรักษาแชมป์ได้เสมอ

นักวิจัยจึงนำถุงแขนของอาสาสมัครที่ครองแชมป์มาวิเคราะห์ด้วยเทคนิคทางเคมี พบว่าคนที่ดึงดูดยุงได้ดีมักจะมี carboxylic acid สะสมมากที่ผิว โดยเฉพาะพวกกรดไขมันซึ่งมีโมเลกุลเป็นโซ่ตรง (ตระกูล pentadecanoic acid, heptadecanoic acid และ nonadecanoic acid) ซึ่งนักวิจัยคาดว่าต้นกำเนิดคือ triglyceride ใน sebum หรือน้ำมันจากผิวหนัง และแบคทีเรียบนผิวหนังก็อาจมีบทบาทในการย่อย triglyceride เป็นกรดไขมันพวกนี้ด้วย กรดไขมันเหล่านี้ระเหยยาก ทำให้ยุงดมกลิ่นได้จากระยะไกล

ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์กำลังตัดต่อพันธุกรรมยุง เพื่อให้ยุงกลายพันธุ์ ไม่สนใจมนุษย์ ยีนของยุงที่นักวิทยาศาสตร์สนใจคือ ยีนของโปรตีนตัวรับกลิ่น ผลปรากฏว่าตัวรับกลิ่นในกลุ่ม IR (Ionotropic Receptor) น่าจะสำคัญ ยุงที่ยีน IR กลายพันธุ์ ก็จะไม่สนมนุษย์ เขาเชื่ออย่างนั้น

ขณะที่ บราซิลเป็นประเทศแรกที่ใช้วิธีหนามยอกเอาหนามบ่ง โดยการปล่อยยุงที่ติดเชื้อไข้เลือดออก เพื่อหวังให้ยุงติดเชื้อไปสู้กับยุงปกติ โครงการนี้เรียกว่า "วอลบาเซีย" (Wolbachia) สนับสนุนโดยโครงการยุงโลก (The World Mosquito Program) 

โครงการนี้เริ่มตั้งแต่ปี 2014 ไอเดียคือสร้างยุงที่ติดแบคทีเรียวอลบาเชีย ซึ่งจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของยุง ทำให้ไวรัสไข้เลือดออกในยุงเติบโตยาก หรือทำให้ยุงที่ติดเชื่อนี้มีโอกาสเป็นพาหะไข้เลือดออกน้อยลง จะได้ผลอย่างไรต้องติดตาม

ถึงอย่างนั้น นักวิทยาศาสตร์กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยเรียกโครงการที่ยุ่งกับธรรมชาติของยุง ทั้งการตัดต่อพันธุกรรมและการปล่อยยุงติดเชิ้อออกสู่ธรรมชาติว่าเป็น “จูราสสิค พาร์ค”

“Life finds a way” คำพูดของจาก ดร.เอียน มัลคอม (ในหนังจูราสสิค พาร์ค, 1993) สะท้อนความจริงหนึ่งเดียวว่าเราไม่สามารถควบคุมสิ่งมีชีวิตได้ทั้งหมดทั้งมวล ไม่ว่าจะจับใส่กรง หรือใช้วิทยาการทางเทคโนโลยีพันธุกรรม

ชีวิตย่อมมีหนทางของมันเอง

คุณกำลังดู: เหตุผลที่ "ยุง" เลือกกัดบางคน ที่มาของโปรเจกต์ “ จูราสสิค พาร์ค”

หมวดหมู่: ผู้หญิง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด