ไหว้พระปีใหม่ 2566 ขอพร 10 วัดในกรุงเทพฯ
ปีใหม่ไหว้พระที่ไหนดี เป็นคำถามวนๆ มาทุกปี ช่วงสิ้นปี 2565 ย่างเข้าสู่ปีใหม่ 2566 นี้ เราจึงต้องมาอัปเดตกันอีกทีว่าจะไป ไหว้พระปีใหม่ 2566 ขอพร 10 วัดในกรุงเทพฯ ที่ไหนได้บ้าง
ปีใหม่ไหว้พระที่ไหนดี เป็นคำถามวนๆ มาทุกปี เมื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2566 นี้ เราจึงต้องมาอัปเดตกันอีกทีว่าจะไป ไหว้พระปีใหม่ 2566 ขอพร 10 วัดในกรุงเทพฯ ที่ไหนได้บ้าง
ปีใหม่ 2566 นี้ เป็นปีนักษัตรปีเถาะ หรือปีกระต่าย ที่ยังต้องลุ้นว่าจะเป็นปีเถาะทองหรือไม่ เพราะมีเรื่องราวเกิดขึ้นมากมาย ที่จะส่งผลต่อถึงปี 2566 ไทยรัฐออนไลน์จึงขอชวนไปเข้าวัดทำบุญ ขอพร 10 วัดในกรุงเทพฯ เป็นทางเลือกนอกเหนือจากไปสวดมนต์ข้ามปีที่วัด แม้ไม่ใช่สายมู สายบุญ ก็สามารถไปเที่ยววัดในช่วงปีใหม่ได้ เพราะนอกจากจะได้ทำบุญ เสริมพลังใจแล้ว ยังได้รูปสวยๆ ไว้แชร์ลงโซเชียล และเช็กอินชิลๆ อีกด้วย มาดูสรุปชื่อ 10 วัดที่ควรไปไหว้ขอพรปีใหม่ 2566 กันก่อนเลย
- วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
- วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร
- วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
- วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
- วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร
- วัดสุทัศนเทพวราราม
- วัดราชาธิวาสวิหาร
- วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
- วัดคฤหบดี
มาดูรายละเอียดกันเพิ่มเติมว่า แต่ละวัดมีจุดเด่น สถานที่ตั้ง เวลาเปิดปิด และความเชื่ออย่างไรกันบ้าง
1. วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าวัดพระแก้ว เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของคนไทย และยังเป็นศูนย์กลางความศรัทธาของชาวลาวและชาวจีน รวมถึงเป็นสถานที่สำคัญที่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวกรุงเทพมหานคร ต้องไปชมความงามที่วิจิตรบรรจง เปี่ยมด้วยศรัทธาที่นี่
วัดพระแก้ว สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 ตั้งอยู่ตรงข้ามสนามหลวง เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนตอนต้นทำจากหินหยกสีเขียวเข้มทึบแสง ปางสมาธิ
การไปกราบไหว้ และขอพรจากองค์พระแก้วมรกต เชื่อว่า ไหว้พระแก้วมรกต แก้วแหวน เงินทอง จะไหลมาเทมาตลอดปี ที่สำคัญหากมีการเปิดปราสาทพระเทพบิดร ซึ่งเป็นปราสาทจตุรมุขประดับกระเบื้องเคลือบองค์เดียวในประเทศไทย ที่ภายในมีพระบรมรูปหล่อของพระมหากษัตริย์ 9 พระองค์ให้เข้ากราบไหว้ด้วยแล้ว ก็จะยิ่งเป็นสิริมงคลสำหรับชีวิตมากขึ้นอีก ถือว่าเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการเริ่มต้นสิ่งดีๆ สำหรับชีวิตในช่วงปีใหม่ 2566 นี้
สถานที่ตั้ง: ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร เวลาเปิด-ปิด 08.30-16.00 น.
2. วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร
อีกจุดหมายหนึ่งของชาวพุทธที่นิยมไปกราบไหว้พระขอพรปีใหม่เสมอ คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือวัดโพธิ์ อยู่ใกล้กันหรือแทบจะติดกันกับวัดพระแก้ว มีเพียงถนนสายเล็กกั้นกลาง
วัดโพธิ์นี้ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 1 จุดเด่นคือมีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย และได้ชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย และยังได้ขึ้นทะเบียนจากทางยูเนสโกให้เป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นอกจากนี้วัดโพธิ์ยังมีเอกลักษณ์ในเรื่องรูปปั้นฤๅษีดัดตน ในอิริยาบถต่างๆ ทั้งหมด 24 ท่า โดยการไหว้วัดโพธิ์ยังมีความเชื่อในเรื่อง “ขอพรให้มีชีวิตที่ร่มเย็นเหมือนอยู่ใต้ร่มโพธิ์ร่มไทร” รวมทั้งยังมีความเชื่อในเรื่องการขอพรความรัก จากพระนอนหรือพระพุทธไสยาสน์ที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระพุทธไสยาสน์ เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์ใหญ่ ยาว 46 เมตร สีเหลืองทองทั้งองค์ พระบาทซ้ายและขวาซ้อนเสมอกัน ใต้พระบาทประดับมุกภาพมงคล 108 ประการ
สถานที่ตั้ง: ถนนสนามไชย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร เวลาเปิด-ปิด 08.00-16.00 น.
3. วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร
ข้ามฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่บริเวณท่าเตียน มาที่วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร หรือวัดอรุณฯ หรืออีกชื่อวัดแจ้ง เป็นวัดโบราณที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเรียกว่า วัดมะกอกนอก และถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 2
จุดเด่นวัดอรุณฯ ที่ถือเป็นแลนด์มาร์กหนึ่งของประเทศไทยเลยก็ว่าได้คือ พระปรางค์ ที่ประดับตกแต่งไปด้วยกระเบื้องอย่างประณีต และยังมีประติมากรรมยักษ์ทศกัณฐ์ (สีเขียว) และยักษ์สหัสเดชะ (สีขาว) ยืนเฝ้าประตูทางเข้าพระอุโบสถ โดยมีพระพุทธธรรมมิศราชโลกธาตุดิลก เป็นพระประธานในพระอุโบสถ พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์
นอกจากนี้บริเวณวัดยังมีศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช, ศาลาท่าน้ำรูปเก๋งจีน, โบสถ์น้อย, วิหารน้อย, พระวิหาร, พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย และอีกมากมาย โดยมีความเชื่อว่าหากไหว้พระปรางค์วัดอรุณฯ จะทำให้ชีวิตรุ่งโรจน์
สถานที่ตั้ง: ถนนวังเดิม แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ เวลาเปิด-ปิด 09.00-17.00 น.
4. วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
ต่อกันที่วัดในโซนฝั่งธนบุรี ใครอยากไหว้พระขอพรปีใหม่ ขอมีชื่อเสียงโด่งดัง ต้องไม่พลาดไปต่อกันที่วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร หรือวัดระฆัง เป็นวัดโบราณที่สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดบางว้าใหญ่ ในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดเกล้าฯ ยกเป็นพระอารามหลวง และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) พระมหาเถระรูปสำคัญ
ภายในวัดระฆังมีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย อาทิ หอพระไตรปิฎก, พระอุโบสถ, พระวิหาร, พระปรางค์ และหอระฆัง พระประธานในพระอุโบสถ คือ หลวงพ่อยิ้มรับฟ้า เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ เนื้อทองสำริด หน้าพระพักตร์มีพระสาวก 3 องค์ นั่งประนมมือรับโอวาท พระประธานองค์นี้ได้รับการยกย่องว่างดงามมาก
ครั้งหนึ่งเมื่อรัชกาลที่ 5 เสด็จฯ มาถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดระฆัง ได้มีพระราชดำรัสแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ว่าไปวัดไหน ไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที จนทำให้พระองค์ถวายเครื่องราชอิสริยาภรณ์นพรัตนราชวราภรณ์ และมหาปรมาภรณ์ช้างเผือกแด่พระประธานองค์นี้ เป็นที่มาของนามว่า พระประธานยิ้มรับฟ้า ตั้งแต่นั้นมา การไหว้พระวัดระฆัง จะต้องตีระฆังปิดท้าย เพื่อจะได้มีชื่อเสียงโด่งดังก้องกังวานดุจระฆัง ดังความเชื่อที่ว่าไหว้พระวัดระฆัง แล้วจะมีชื่อเสียงโด่งดังตลอดปี
สถานที่ตั้ง: ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย เวลาเปิด-ปิด 08.00-16.00 น.
5. วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร
ใกล้ๆ กันกับวัดอรุณฯ และวัดระฆัง คือ วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร หรือวัดซำปอกง ได้รับพระราชทานนามจากรัชกาลที่ 3 และยังทรงสร้างพระวิหารหลวง รวมถึงได้พระราชทานพระประธาน คือ พระพุทธไตรรัตนนายก หรือหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยองค์ใหญ่ ที่ชาวจีนนับถือมาก จนมีชื่อเรียกแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือซำปอกง โดยพระพุทธรูปปางมารวิชัยนี้ยังมีอีก 2 ที่คือ วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และวัดอุภัยภาติการาม จังหวัดฉะเชิงเทรา รวม 3 วัดเท่านั้นในประเทศไทย
นอกจากนั้นยังมีหอมณเฑียรธรรมเถลิงพระเกียรติเป็นที่เก็บพระไตรปิฎกสมัยรัชกาลที่ 4 และหน้าวิหารยังมีระฆังที่ใบใหญ่ที่สุดในประเทศ การไหว้หลวงพ่อซำปอกงมีคติความเชื่อว่าจะโชคดีมีชัยปลอดภัยตลอดปี รวมทั้งจะขอเรื่องการงาน การเรียน การเงิน ค้าขายร่ำรวย และการกราบไหว้พระประธานปางปาลิไลยก์ ในพระอุโบสถ จะช่วยเสริมให้พบมิตรสหายที่ดีเหมือนดั่งชื่อวัดอีกด้วย ถือว่าเป็นวัดที่ต้องไปกราบไหว้ขอพรในช่วงปีใหม่นี้
สถานที่ตั้ง: ซอยอรุณอมรินทร์ 6 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี เวลาเปิด-ปิด 08.00-16.00 น.
6. วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร
กลับมาที่ฝั่งพระนคร ย่านบางลำภู ถนนข้าวสาร วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เป็นวัดที่สร้างมาตั้งแต่ในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดกลางนา เมื่อรัชกาลที่ 1 ขึ้นครองราชย์มีพระราชประสงค์ให้สร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นให้คล้ายคลึงกับกรุงศรีอยุธยามากที่สุด ทรงปฏิสังขรณ์วัดที่ตั้งอยู่ใกล้พระบรมมหาราชวัง ตลอดจนเปลี่ยนชื่อวัดให้เหมาะสมโปรดเกล้าฯ เปลี่ยนชื่อวัดกลางนา เป็นวัดตองปุ ซึ่งวัดได้รับการปฏิสังขรณ์มาตลอด และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็นวัดชนะสงคราม ภายในพระอุโบสถหลังใหญ่ประดิษฐานพระประธาน พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชฏฐ์ หรือที่เรียกว่า หลวงพ่อปู่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สร้างจากปูนปั้นแล้วบุด้วยดีบุกลงรักปิดทอง ขนาดหน้าตัก 2.5 เมตร สูง 3.5 เมตร
ภายในองค์พระ มีฉลองพระองค์ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ซึ่งเป็นแม่ทัพคนสำคัญ ในรัชกาลที่ 1 ชนะศึกสงครามหลายครั้ง รอบๆ หลวงพ่อปู่มีพระพุทธรูป 16 องค์ล้อมรอบ หมายถึง พุทธคุณชนะศัตรู ทำให้เชื่อว่าหากมากราบไหว้หลวงพ่อปู่ และสักการะสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทจะทำให้มีชัยชนะต่ออุปสรรคทั้งปวง
สถานที่ตั้ง: ถนนจักรพงษ์ แขวงชนะสงคราม เขตพระนคร เวลาเปิด-ปิด 08.00-16.00 น.
7. วัดสุทัศนเทพวราราม
วัดสุทัศนเทพวราราม พระอารามหลวง ประจำรัชกาลที่ 8 โดยเริ่มสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ที่โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นพระราชทานนามว่าวัดมหาสุทธาวาส โดยสร้างพระวิหารขึ้นก่อน เพื่อที่จะประดิษฐานพระศรีศากยมุนี (พระโต) ซึ่งอัญเชิญมาจากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย แต่สิ้นรัชกาลเสียก่อน จึงเรียกกันว่าวัดพระโต วัดพระใหญ่ หรือวัดเสาชิงช้า
จนในรัชสมัยของรัชกาลที่ 2 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อและทรงจำหลักบานประตูพระวิหารด้วยตัวพระองค์เอง แต่ก็สิ้นรัชกาลก่อน และมาเสร็จสมบูรณ์ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 และพระราชทานนามว่าวัดสุทัศนเทพวราราม
ภายในวัดโดดเด่นไปด้วยพระอุโบสถ ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย การไหว้พระศรีศากยมุนี จะเสริมสิริมงคล เพราะมีความเชื่อว่าไหว้พระวัดสุทัศนฯ มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีเสน่ห์แก่บุคคลทั่วไป และใครที่อยู่ในวัยเรียนก็ต้องไม่ลืมกราบไหว้พระสุนทรีวาณี เทพธิดาแห่งปัญญา โดยเชื่อว่าจะช่วยให้เกิดปัญญา มีสติปัญญาดี
สถานที่ตั้ง: ถนนบำรุงเมือง แขวงเสาชิงช้า เขตพระนคร เวลาเปิด-ปิด 08.00-16.00 น.
8. วัดราชาธิวาสวิหาร
วัดราชาธิวาสวิหาร มีความหมายตรงตามชื่อว่า วัดอันเป็นที่ประทับของพระราชา โดยเป็นวัดแรกที่ถือกำเนิดคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย จึงถือเป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุต ภายในวัดโดดเด่นด้วย พระอุโบสถซึ่งเป็นทรงขอมคล้ายนครวัด ออกแบบโดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
ภายในพระอุโบสถ มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง เล่าเรื่องพระเวสสันดรชาดก ซึ่งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงเป็นผู้ร่างภาพ และ ศ.ซี.ริโกลี จิตรกรชาวอิตาเลียน เป็นผู้เขียนด้วยการใช้สีปูนเปียก การมาไหว้พระที่วัดแห่งนี้ มีความเชื่อว่า จะทำให้มีลาภยศที่ยิ่งใหญ่ เหมาะสำหรับใครที่อยากไปไหว้พระขอพรปีใหม่ 2566 และมีความหวังในการได้โปรโมตหน้าที่การงาน หรือรักษาตำแหน่งใหญ่เป็นอยู่
สถานที่ตั้ง: ถนนสามเสน แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต เวลาเปิดปิด 07.00-18.00 น.
9. วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร
วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ไม่มีหลักฐานระบุว่าสร้างขึ้นเมื่อไร เดิมชื่อวัดแหลม หรือวัดไทรทอง ภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า วัดเบญจมบพิตร ซึ่งหมายถึงวัดของเจ้านาย 5 พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสร้างสวนดุสิตขึ้น พระองค์ทรงสถาปนาวัดขึ้นใหม่และพระราชทานนามว่าวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อันหมายถึงวัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ภายในวัดมีสถาปัตยกรรมงดงามและโดดเด่น ด้วยศิลปะสถาปัตยกรรมไทยโบราณที่มีการวางแปลนที่ดีที่สุดวัดหนึ่ง
อีกหนึ่งจุดเด่น คือมีการประดับด้วยหินอ่อนจากอิตาลี ทำให้เป็นที่รู้จักกันของต่างชาติ และเรียกว่า “Marble Temple” ภายในพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธชินราชที่จำลองมาจากพิษณุโลก การไหว้พระในวัดนี้เชื่อว่าจะทำให้เรื่องหน้าที่การงานราบรื่น ประสบความสำเร็จ
สถานที่ตั้ง: ถนนพระรามที่ 5 แขวงดุสิต เขตดุสิต เวลาเปิด-ปิด 8.30-17.30 น.
10. วัดคฤหบดี
วัดคฤหบดี เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาใกล้กับบ้านปูน เชิงสะพานพระราม 8 เป็นวัดที่พระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) ต้นสกุลภมรมนตรี เป็นผู้สร้างในปี 2367 มีพระพุทธแซกคำ เป็นพระประธานประดิษฐานในพระอุโบสถ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเนื้อทองคำโบราณ ปางมารวิชัยสมัยเชียงแสน เป็นพระพุทธรูปคู่เมืองแห่งราชอาณาจักรล้านนา
การมาไหว้พระที่วัดแห่งนี้มีคติความเชื่อที่ว่าเสริมโชควาสนา บารมี ดุจดั่งทองนพคุณเคียงคู่แก้วมรกต โดยเฉพาะเรื่องของการค้าขาย
สถานที่ตั้ง: ซอยจรัญสนิทวงศ์ 42 แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด เวลาเปิดปิด 08.00-17.00 น.
ทั้งหมดนี้เป็น 10 วัดสำหรับการไปไหว้พระขอพรปีใหม่ 2566 นี้ ที่เดินทางสะดวกและอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน และจริงๆ แล้วไม่ว่าโอกาสใดๆ ก็สามารถไปได้ และหลายคนอาจเลือกไปไหว้พระขอพร 9 วัดก็เป็นไปได้ เมื่ออธิษฐานขอพรได้กำลังใจมาแล้ว เมื่อบวกกับความขยันหมั่นเพียรย่อมสมหวังกันทุกคนแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลบางส่วน: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, กรมประชาสัมพันธ์ และเว็บไซต์ เฟซบุ๊กเพจของแต่ละวัด
คุณกำลังดู: ไหว้พระปีใหม่ 2566 ขอพร 10 วัดในกรุงเทพฯ
หมวดหมู่: วัฒนธรรม