Jim Thompson ร่วมส่งต่อพลังบวกสู่สังคมในวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2566

Jim Thompson ร่วมส่งต่อพลังบวกสู่สังคมในวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2566

Jim Thompson (จิม ทอมป์สัน) แบรนด์ไอคอนิกไลฟ์สไตล์ระดับโลกของเมืองไทย ชวนทุกคนร่วมส่งต่อแรงบันดาลใจเพื่อสนับสนุนความเสมอภาคและความเท่าเทียมของผู้คนบนโลก ผ่านแคมเปญ Jim Thompson International Women’s Day 2023” ต้อนรับวันสตรีสากล ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ผ่านแคมเปญธีมปีนี้ของ International women’s day 2023 #EmbraceEquity หรือการโอบกอดความเสมอภาคที่ต้องอยู่ใน DNA ของทุกสังคม และ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่าง “ความเสมอภาค” และ “ความเท่าเทียม” รวมถึงกระตุ้นให้ผู้คนบนโลกตระหนักว่าเหตุใดทำไมเรื่องความเท่าเทียมกัน จึงยังไม่เพียงพอ!

จิม ทอมป์สัน ดึง 3 คนดังตัวแทนคนยุคใหม่ในหลายบทบาททั้ง อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม, “บุ๋ม” บุณย์ญานุช บุญบํารุงทรัพย์ และ “หมอเจี๊ยบ” ลลนา ก้องธรนินทร์ มาร่วมแบ่งปันมุมมองเรื่องเสมอภาคที่เป็นความสำคัญในโลกยุคปัจจุบัน ทำให้บทบาทของผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้โลกใบนี้เดินหน้าไปสู่เป้าหมายที่ทุกคนตั้งไว้ พร้อมเชิญชวนทุกคนแชร์เรื่องราวและประสบการณ์ผ่านสื่อสังคมโซเชียล เพื่อส่งต่อแนวคิดดี ๆ สู่สังคมในวงกว้างและร่วมกันสรรค์สร้างโลกที่มีความเสมอภาคอย่างแท้จริง

มุมมองของอแมนด้า: เราต้องช่วยกันสร้างความเสมอภาคทางการศึกษาของเด็กไทย

แนวคิดหลักของวันสตรีสากลในปีนี้คือ “Embrace Equity” หรือการโอบกอดความเสมอภาพของคนทุกเพศทุกวัย แต่หลายคนอาจเกิดความสับสนระหว่างคำว่า Equity (ความเสมอภาค) และ Equality (ความเท่าเทียม) ซึ่ง อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม สาวเก่งลูกครึ่งไทย-แคนาดา ผู้คว้าตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2563 เธอได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า “สำหรับด้า ความเท่าเทียมก็คือทุกคนได้รับโอกาสเหมือนกันหมด แต่ความเสมอภาคหมายถึงทุกคนได้รับโอกาสที่ยุติธรรมสำหรับแต่ละคน ขอยกคำกล่าวที่ด้าเคยอ่านมานะคะว่า Equality is when you give everyone a shoe, but equity is when you give everyone a shoe that fits them เนื่องจากทุกคนมีต้นทุนไม่เท่ากันและมาจากจุดที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะต้องการโอกาสที่มากกว่าหรือแตกต่างจากคนอื่น ดังนั้น Embrace Equity จึงเป็นการให้ความสำคัญกับความเสมอภาคในความแตกต่างระหว่างบุคคล เพื่อสร้างความเท่าเทียมซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดค่ะ”

อแมนด้ามองว่าความเสมอภาคที่เมืองไทยยังขาดอยู่มากก็คือการศึกษา ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือในช่วงโควิดซึ่งนักเรียนทุกคนจะต้องเรียนออนไลน์และจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือมือถือในการเรียน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีสิ่งเหล่านั้นเพราะบางครอบครัวยากจนมาก เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเราทุกคนจะได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในการเรียนคลาสออนไลน์ แต่ความเสมอภาคจริง ๆ ยังไม่มี โดยอแมนด้าคิดว่าการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะเป็นสิ่งที่จะปลูกฝังให้เด็ก ๆ สามารถมีอาชีพที่ดีในอนาคตและหลุดพ้นจากปัญหาความยากจนได้จริง ๆ และถึงแม้ยังเป็นเรื่องยากที่จะทำให้เกิดความเสมอภาคได้จริงในสังคม แต่สิ่งที่เธอกล่าวว่าสิ่งที่เราแต่ละคนทำได้ก็คือการสร้างความเชื่อมั่นและให้กำลังใจตัวเองเพื่อช่วยกันสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

“สิ่งหนึ่งที่ด้าเชื่อก็คือ We can’t succeed if some of us are still held back. คือเราจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้เลย ถ้ามีคนในสังคมที่ยังไร้โอกาสและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เพราะสังคมจะสามารถขับเคลื่อนได้ก็ต่อเมื่อเราทั้งหมดในสังคมเดินหน้าไปด้วยกันค่ะ” อแมนด้า กล่าวทิ้งท้าย

แชร์แนวคิด บุ๋ม บุณย์ญานุช บุญบํารุงทรัพย์: การสร้างความเสมอภาคเริ่มต้นที่กำลังใจของตัวเอง

ผู้บริหารสาวสุดแกร่งที่ทุกคนรู้จักกันดีอย่าง “บุ๋ม” บุณย์ญานุช บุญบํารุงทรัพย์” ได้มาร่วมสะท้อนถึงปัญหาเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันในเมืองไทยว่า “สิ่งที่บุ๋มรู้สึกว่าคนไทยควรจะได้รับความเสมอภาคหลัก ๆ มีอยู่ 2 เรื่องคือการรักษาพยาบาลและการศึกษา บุ๋มขอพูดถึงการเข้าถึงการรักษาในโรงพยาบาลก่อน คือบ้านบุ๋มอยู่แถวศิริราช ตั้งแต่เด็กเราจึงได้เห็นคนมารอรับการรักษาพยาบาลอยู่ตลอดเวลา ทั้งนั่งและนอนที่พื้น ดังนั้นบุ๋มอยากให้ทุกคนเข้าถึงการดูแลรักษาความเจ็บป่วยในโรงพยาบาลอย่างเสมอภาคเป็นเรื่องแรก แต่ก็ต้องยอมรับว่าตัวเราอยู่นอกสายงานนั้นและยังให้ทางออกอะไรไม่ได้ แต่บุ๋มคิดว่าสิ่งที่เราช่วยเหลือตัวเองได้ในวันนี้เลยก็คือการดูแลสุขภาพให้มากขึ้น เพราะมันเป็นจุดตั้งต้นที่จะทำให้เราไม่เจ็บป่วย คือถ้าเราดูแลร่างกายของตัวเองให้ดีพอ มันก็ช่วยป้องกันการเจ็บป่วยได้ดีกว่าการไปแก้ไขปัญหาเรื่องการดูแลรักษาที่ไม่เสมอภาคในภายหลัง”

“อีกปัญหาความเสมอภาคที่อยากกระตุ้นก็คือการศึกษา จริงๆ แล้วทุกวันนี้งานที่ตัวเองทำอยู่ก็คือการธุรกิจการพัฒนาคนในเรื่องการศึกษา อันนี้น่าจะเป็นสิ่งที่บุ๋มช่วยได้บ้าง ผ่านการให้ความรู้คนทำงานเฉพาะกลุ่ม เพราะการที่คนจะเจริญเติบโตได้ ไม่ใช่มีแต่ Hard skill เท่านั้นแต่ต้องมี Soft skill หรือทักษะชีวิตด้วย ปัจจุบันบุ๋มจึงพยายามใช้โซเชียลมีเดียให้ความรู้กับผู้คน รวมถึงการแชร์คอนเทนต์หรือทำคอนเทนต์ที่ทำให้คนเห็นมุมมองการดูแลตัวเองทั้งในเรื่องของร่างกาย ความรู้ และจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสามารถแบ่งปันได้และทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที โดยที่ไม่ต้องไปเรียกร้องหรือรอให้ใครมาช่วยเหลือ”

“สิ่งที่บุ๋มอยากจะฝากกับทุกคนในวันสตรีสากลนี้ก็คือคติพจน์ประจำใจบุ๋มค่ะ ซึ่งบุ๋มเชื่ออยู่สองเรื่องนะคะ เรื่องแรกก็คือ Everything is Possible ถ้าแปลง่าย ๆ คือมันต้องได้สิวะ หมายถึงว่าถ้าเรามีความเชื่อว่าทำได้ คุณจะทำมันได้ แต่ถ้าคุณคิดว่าคุณทำไม่ได้ คุณก็แพ้ตั้งแต่นอนอยู่บนเตียงแล้ว อีกเรื่องหนึ่งเป็นสิ่งที่บุ๋มเชื่อมากก็คือคำว่ารักชนะทุกอย่าง บุ๋มคิดว่าถ้าคุณมีความรักกับสิ่งใดมากพอ คุณจะเอาชนะทุกอย่างได้เพื่อสิ่งนั้น ถ้าคุณรักตัวเอง คุณจะพาตัวเองไปอยู่ที่ดี ๆ ถ้าคุณรักงาน คุณจะทำงานนั้น ๆ อย่างเต็มที่ ถ้าคุณรักสิ่งใดมากพอ ถึงแม้คนรอบข้างจะบอกว่าคุณทำไม่ได้ คุณก็จะทำได้ ดังนั้นขอฝากไว้กับทุกคนนะคะว่ามันต้องได้สิวะเพราะความรักชนะทุกอย่างค่ะ” บุ๋ม-บุณย์ญานุช กล่าว

เปิดใจหมอเจี๊ยบ: ความเสมอภาคคือทุกเพศต้องมีสิทธิพื้นฐานในฐานะประชาชน

“หมอเจี๊ยบ” ลลนา ก้องธรนินทร์ คุณหมอสาวคนเก่งที่เป็นนักเคลื่อนไหวคนสำคัญด้านความเท่าเทียมทางเพศของเมืองไทย กล่าวถึงความเสมอภาคได้อย่างตรงจุดว่า “แม้ว่าสังคมไทยเราพัฒนาขึ้นเยอะมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วยังขาดความไม่ความเสมอภาคในเกือบจะทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การรักษาพยาบาล หรือว่าเรื่องที่ใกลัตัวเจี๊ยบที่สุดในทุกวันนี้ นั่นก็คือความเสมอภาคในการได้รับสิทธิพื้นฐานในการเป็นประชาชนคนไทย โดยเฉพาะคนในกลุ่ม LGBTQ+”

เราทราบกันดีว่า ทุกวันนี้สังคมไทยไม่ได้มีแค่เพศหญิงเพศชาย แต่เรายังมีกลุ่ม LGBTQ+ ที่ต้องการสิทธิขั้นพื้นฐานเทียบเท่าชายหญิงทั่วไป แต่ก็ยังไม่ได้รับสิทธินั้นตามกฎหมายอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิการสมรสเท่าเทียมซึ่งจะครอบคลุมถึงการตัดสินใจในการรักษาพยาบาลคู่ชีวิต หรือเรื่องกฎหมายต่าง ๆ อย่างการกู้เงินเพื่อการทำธุรกิจหรือสร้างครอบครัวร่วมกัน “สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่เจี๊ยบอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งเจี๊ยบคิดว่าเราสามารถเป็นกระบอกเสียงหรือยืนหยัดเพื่อสิ่งนี้อย่างที่สุด โดยที่ไม่ได้ทำความเดือดร้อนให้ใคร หรือเรายังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ด้วยซ้ำ ซึ่งหากเราได้รับความเสมอภาคในจุด ๆ นี้ได้ ก็จะนำไปสู่การปรับปรุงในเรื่องอื่น ๆ เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้มากขึ้นต่อไป”

หมอเจี๊ยบยังฝากถึงทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร ผู้ชาย ผู้หญิง หรือ LGBTQ+ ว่าขอให้มีเชื่อมั่นในตัวเองโดยที่ไม่ต้องไปพิสูจน์ให้ใครรู้ว่าตัวเราเป็นอย่างไร แต่เราต้องรู้ว่าสิ่งใดคือเป้าหมายที่จะทำให้ชีวิตเราดีและมีความสุข และสิ่งที่คุณทำนั้นไม่ได้เดือดร้อนใคร เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว

“เจี๊ยบขอให้ทุกคนรักและเชื่อมันในตัวเอง และอย่าท้อถอยในสิ่งที่คุณตั้งใจ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่เจี๊ยบคิดได้ตั้งแต่เริ่มเข้าใจตัวเองและอยู่ในจุดที่ตัวเองมีความสุข เจี๊ยบเชื่อว่าการที่เราได้รักตัวเองและมีเป้าหมายที่มาจากใจของเรา ไม่ว่าคุณจะเจออุปสรรคอะไรระหว่างทางก็ตาม มันจะทำให้คุณแข็งแกร่งขึ้น ขอให้คุณสู้ไม่ถอย ถึงแม้ว่ามันยังไม่สำเร็จ แต่ระหว่างทางนั้นคุณจะได้พบกับประสบการณ์และสิ่งดี ๆ มากมาย และในวันที่คุณไปถึงเป้าหมาย คุณจะรู้สึกเติมเต็มและรู้ว่าการที่ได้เป็นตัวเองนั้นมันมีความสุขขนาดไหน”  หมอเจี๊ยบ ปิดท้าย

คุณกำลังดู: Jim Thompson ร่วมส่งต่อพลังบวกสู่สังคมในวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2566

หมวดหมู่: ผู้หญิง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด