"แก๊สน้ำตา-สเปรย์พริกไทย" อันตรายต่อร่างกายอย่างไรบ้าง?
อันตรายจากแก๊สน้ำตา และสเปรย์พริกไทย ที่มีต่อร่างกาย ทั้งในระยะแรกๆ และระยะยาว
เมื่อพูดถึงแก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทย หลายคนคงเคยได้ยินว่าสิ่งเหล่านี้มีไว้ในเพื่อการสลายการชุมนุม แต่ในบางครั้งผู้หญิงบางคนก็อาจจะพกสเปรย์พริกไทย เพื่อเอาไว้ป้องกันตัวจากพวกมิจฉาชีพ แต่คุณรู้หรือไม่ว่าแก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทย สามารถส่งผลต่อร่างกายได้ด้วย แต่สองสิ่งนี้จะส่งผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง
ทำความรู้จักกับ "แก๊สน้ำตา"
แก๊สน้ำตา (Tear Gas) มีส่วนผสมของสารเคมีที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง ตา และระบบทางเดินหายใจ มันถูกใช้เป็นอาวุธเคมีในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ตั้งแต่นั้นก็ถูกห้ามไม่ให้ใช้ในช่วงสงคราม ตอนนี้มีการใช้งานโดยผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นหลัก เพื่อควบคุมฝูงชนและการจลาจล
สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคุณสูดดมแก๊สน้ำตา
แก๊สน้ำตาทำให้น้ำตาไหล สร้างความแสบร้อนในจมูกและเยื่อจมูกอย่างเฉียบพลัน หากสูดดมแก๊สน้ำตาเข้าไป อาจทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุของปอดและทางเดินหายใจส่วนบน ส่งผลทำให้เกิดการหายใจเสียงดังฮืดๆ ไอ และทำให้หายใจไม่ออก และยากที่จะกลั้นหายใจได้
การกลืนกินแก๊สน้ำตาเข้าไปอาจทำให้ท้องเสีย คลื่นไส้และอาเจียน โดยทั่วไปแล้วเอฟเฟ็กต์จะส่งผลต่อร่างกายภายในไม่กี่วินาทีหลังจากที่ได้รับสารและสามารถอยู่ได้นานถึง 1 ชั่วโมง จากงานวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่ที่สัมผัสกับแก๊สน้ำตามีอาการไม่รุนแรง แต่ประมาณ 1 ใน 15 คนอาจมีอาการรุนแรง โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับปริมาณแก๊สที่คนได้สัมผัส ตำแหน่งที่สัมผัส และระยะเวลาของการสัมผัส
จากหลักฐานที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ผู้คนที่สัมผัสกับแก๊สน้ำตาในพื้นที่ปิดล้อม มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและมีปัญหาระบบทางเดินหายใจที่รุนแรง นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคหอบหืด ก็มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปอีกด้วย ผู้ที่เป็นโรคหอบหืดอาจมีอาการหลอดลมหดเกร็งอย่างรุนแรง ทำให้หายใจลำบาก
นอกจากนั้นแก๊สน้ำตายังอาจทำให้เกิดโรคหอบหืดและนำไปสู่การหายใจล้มเหลว จนถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนผู้ที่มีสภาพปัญหาทางหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาโรคทางจิตเวช ก็อาจมีความเสี่ยงมากขึ้นเช่นกัน จากหลักฐานที่เชื่อถือได้เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวนั้นยังมีอยู่อย่างจำกัด แต่หลักฐานบางอย่างชี้ให้เห็นว่า บางคนอาจประสบกับผลกระทบเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจในระยะยาวหลายเดือน หลังจากได้สัมผัสกับแก๊สน้ำตา
ทำความรู้จักกับ "สเปรย์พริกไทย"
สเปรย์พริกไทย (Pepper Spary) หรือทางศัพท์เทคนิคจะรู้จักกันในนาม โอลีโอเรซิน แคปซิคัม (Oleoresin capsicum หรือ OC) มันมีสารแลชรีมาทอรี (Lachrymatory) ซึ่งมีผลต่อดวงตา ทำให้เจ็บปวด และตามองไม่เห็นชั่วคราวสเปรย์พริกไทย เป็นสิ่งเดียวกับพริกที่ให้ความร้อน
สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคุณสูดดมหรือมีการสัมผัสสเปรย์พริกไทย
สเปรย์พริกไทยมักมีผลกระทบต่อสุขภาพที่ไม่รุนแรง และอาการต่าง ๆ จะหายไปเองภายใน 1 ชั่วโมง แต่มันอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีโรคปอดเรื้อรัง เช่น โรคหอบหืด หรือปอดอุดกั้นเรื้อรัง
จากรายงานในปี 2003 ที่ตีพิมพ์โดยกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา พบว่าสเปรย์พริกไทยมีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน โดย 2 ใน 63 คน นั้นเป็นโรคหอบหืด นอกจากนั้น การวิจัยที่ผ่านมายังแสดงให้เห็นว่า การสูดดมสเปรย์พริกไทย อาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นอย่างฉับพลัน ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงของคนที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองหรือหัวใจวาย
แก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทย ส่งผลอย่างไรต่อร่างกาย
เมื่อคุณมีการสูดดมหรือสัมผัสแก๊สน้ำตา และสเปรย์พริกไทย บางครั้งอาจมีอาการที่ร่างกายแสดงออกโดยทันที หรือบางครั้งอาจจะส่งผลในระยะยาวก็ได้เช่นกัน ซึ่งแก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทยส่งผลต่อร่างกาย ดังนี้
อาการที่แสดงทันทีเมื่อสูดดมหรือสัมผัสแก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทย
- ดวงตา น้ำตาไหลมากเกินไป ตาพร่ามัว ตาแดง
- จมูก น้ำมูกไหล แสบ บวม
- ปาก แสบร้อน ระคายเคือง กลืนลำบาก น้ำลายไหล
- ปอด แน่นหน้าอก ไอ รู้สึกเหมือนจะสำลัก หายใจมีเสียงดัง หายใจถี่
- ผิวหนัง ผิวหนังไหม้ เป็นผื่น
- คลื่นไส้ และอาเจียน
อาการระยะยาวที่อาจเกิดขึ้นเมื่อสูดดมหรือสัมผัสแก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทย
- ดวงตาเป็นแผล ต้อหิน ต้อกระจก หรืออาจจะทำให้ตาบอดได้
- เกิดปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ เช่น โรคหอบหืด
- เสียชีวิตทันทีเนื่องจากสารเคมีรุนแรงไหม้คอและปอด
- การหายใจล้มเหลว อาจทำให้เสียชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม หากอาการที่เกิดขึ้นหายไปในไม่ช้า หลังจากที่คุณพยายามออกจากพื้นที่ที่มีการใช้แก๊สน้ำตาและสเปรย์พริกไทย และได้ล้างพวกมันออกเรียบร้อยแล้ว ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวอาจจะไม่เกิดขึ้นก็เป็นได้ แต่หากสังเกตได้ว่าอาการต่างๆ ไม่ทุเลาหรือแย่ลง กรุณาพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที
คุณกำลังดู: "แก๊สน้ำตา-สเปรย์พริกไทย" อันตรายต่อร่างกายอย่างไรบ้าง?
หมวดหมู่: สุขภาพ