"คีโตเจนิค" กินไขมันลดอ้วน แต่กินไม่ถูกวิธีอาจยิ่งอ้วน

"คีโตเจนิค" กินไขมันลดอ้วน แต่กินไม่ถูกวิธีอาจยิ่งอ้วน

เทรนด์สุขภาพมาใหม่ในทุกๆ ปี ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้นอกจากกระแสกินคลีนที่ยังคงฮอตฮิตติดลมบนกันอยู่จนถึงบัดนี้แล้ว ยังมีอีกกระแสที่แหวกแนวกว่าเพื่อน แถมยังเอาใจคนชอบอาหารมันแผล็บ เพราะมันคือการกินอาหารที่มีไขมัน แต่ลดความอ้วนได้ หรือที่เรียก คีโตเจนิค นั่นเอง

คีโตเจนิค คืออะไร?

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์ วว.รังสีรักษา และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ อธิบายว่า อาหารคีโตเจนิค หมายถึง อาหารที่มีไขมันสูง มีโปรตีนที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ เมื่อทานคาร์โบไฮเดรตน้อย แทนที่ร่างกายจะดึงคาร์โบไฮเดรตไปใช้เป็นพลังงานเหมือนปกติ ร่างกายจึงหันไปดึงพลังงานจากไขมันแทน

กลุ่มอาหารแบบคีโตเจนิคนี้ ถูกคิดค้นโดย นพ. Russell M. Wilder แพทย์อายุร กรรมชาวอเมริกาในปีค.ศ 1924 (พ.ศ.2497)

เริ่มแรก กลุ่มอาหารประเภทนี้ถูกคิดขึ้นมาเพื่อช่วยบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคลมชัก เพราะส่วนประกอบของอาหารกลุ่มนี้จะทำให้ร่างกายเกิดสารที่เรียกว่า Ketone body ในเลือดสูง (สารที่สร้างในตับ และส่งผลถึงการใช้พลังงานของสมอง) เราเรียกภาวะนี้ว่า ภาวะ Ketosis ที่จะส่งผลให้เซลล์สมองและสารสื่อประสาทในสมองทำงานได้สมดุล จนช่วยลดอาการชักได้

การกินอาหารคีโตเจนิค จะเน้นการกินเนื้อสัตว์ ไข่ นม ผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากนม และพืชที่มีแป้งน้อย ทั้งยังต้องงดข้าว แป้ง ธัญพืช เผือกมัน ผลไม้ และของหวานทุกชนิดอีกด้วย

คีโตเจนิค วิธีลดความอ้วนแบบใหม่

นอกจากวิธีการทานอาหารคีโตเจนิคจะช่วยบรรเทาอาหารของโรคลมชักได้แล้ว ยังมีนักโภชนาการนำมาใช้เพื่อการลดความอ้วนอีกด้วย คลินิกโรคอ้วนโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ระบุว่า ที่ทานอาหารคีโตเจนิคแล้วช่วยลดน้ำหนักได้ เพราะในระยะแรกๆ การกินอาหารคีโตเจนิคสามารถลดน้ำหนักตัวได้เร็วกว่าวิธีการอื่น เพราะร่างกายได้รับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตน้อย ซึ่งเคยเป็นแหล่งพลังงานหลักของร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวหลังจาก 1 ปีขึ้นไป จะพบว่าประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักตัวนั้นไม่ต่างกัน และมีโอกาสที่น้ำหนักตัวจะเด้งกลับขึ้นมาหรือที่เรียกว่า Yo-Yo Effect (โยโย่เอฟเฟค) ไม่ต่างกัน

อันตรายจากการทานอาหารคีโตเจนิค

  1. มวลกล้ามเนื้อของร่างกายอาจลดลง เนื่องจากการกินคาร์โบไฮเดรตน้อย ทำให้ปริมาณอินซูลินน้อยการลง นำกรดอะมิโนเข้าสู่เซลล์จึงลดลง กระบวนการสังเคราะห์โปรตีนภายในกล้ามเนื้อจึงลดลงด้วย แต่หากมีการออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง และยังคงทานโปรตีนอยู่ อาจจะยังคงมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงได้อยู่

  2. อาจเกิดอาการที่เรียกว่า “หวัดคีโต” คนที่ทานอาหารคีโตเจนิค เมื่อผ่านไปสักระยะหนึ่ง อาจมีอาการคล้ายเป็นหวัด มีลมหายใจ เหงื่อ และปัสสาวะมีที่กลิ่นคล้ายผลไม้ได้ แต่อาการนี้อาจเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของการทานอาหารแบบคีโตเจนิคเท่านั้น

  3. อาจเสี่ยงพบไขมันในเลือดสูง เพราะจากการวิจัยพบว่าผู้ที่กินอาหารคีโตเจนิค จะมีระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ คอเลสเตอรอล ทั้งไขมันแบบ LDL และ HDL ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นหลังจากผ่านไป 6 เดือน ดังนั้นควรระมัดระวังสัดส่วนของไขมันที่ทาน ควรเน้นทานไขมันไม่อิ่มตัว (น้ำมันมะกอก อโวคาโด ถั่ว แซลมอน) มากกว่าไขมันอิ่มตัว (ไขมันจากสัตว์ กะทิ ชีส น้ำมันมะพร้าว ครีม เนย)

  4. อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต โดยจากการวิจัยในระยะสั้นพบว่า การกินอาหารโปรตีนสูงมีผลรบกวนการทำงานของไตจึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรังในอนาคตได้ เพื่อลดความเสี่ยงนี้ ควรทานโปรตีนในสัดส่วนที่พอเหมาะกับร่างกายของตัวเอง ไม่มากจนเกินไป โดยเลือกทานโปรตีน 1 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัมเท่านั้น

  5. เสี่ยงมวลกระดูกลดลง เพราะการจำกัดอาหารแบบคีโตเจนิคมีแนวโน้มที่จะทำให้ขาดแร่ธาตุโพแทสเซียม วิตามินดี แคลเซียม แมกนีเซียม และ สังกะสี จึงอาจส่งผลต่อมวลกระดูกได้ในระยะยาว ดังนั้นผู้ที่ทานอาหารแบบคีโตเจนิคอย่าลืมทานอาหารที่มีแร่ธาตุ และวิตามินดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย

สรุปการทานอาหารแบบคีโตเจนิค

สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ในระยะสั้น แต่หากเป็นในระยะยาวแล้วยังมีความเสี่ยงที่จะกลับมาอ้วนเหมือนเดิม หรือมากกว่าเดิมได้ และยังเสี่ยงผลข้างเคียงอื่นๆ จากการทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ (ทานบางหมู่ไม่เพียงพอ) รวมถึงการกะปริมาณของไขมันที่ทาน ที่หากกะปริมาณผิดพลาด อาจส่งผลในทางตรงกันข้ามได้เช่นกัน ดังนั้นหากอยากลดความอ้วน หรือมีสุขภาพที่ดีขึ้นด้วยวิธีทานอาหารแบบคีโตเจนิคจริงๆ ควรหาข้อมูลสัดส่วน และประเภทอาหารที่ทานอย่างละเอียด ปรึกษานักโภชนาการผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารแบบคีโตเจนิคให้ดีก่อนเริ่มทาน หรือหากอยากได้วิธีที่ไม่ยุ่งยากต่อการคำนวณสัดส่วนอาหาร ใช้วิธีจำกัดปริมาณของอาหาร และออกกำลังกายเป็นประจำ ยังคงเป็นวิธีที่ง่าย และปลอดภัยมากกว่า

คุณกำลังดู: "คีโตเจนิค" กินไขมันลดอ้วน แต่กินไม่ถูกวิธีอาจยิ่งอ้วน

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด