"เครียด" แบบไหน เมื่อไร ถึงควรมาพบแพทย์?
คนเรามีความเครียดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่เครียดแบบไหนที่ไม่ควรทนเครียดอยู่คนเดียว และได้เวลาควรหาหมอ ก่อนจะเป็นอะไรไปมากกว่าเดิม
รศ.พญ.สุดสบาย จุลกทัพพะ
ภาควิชาจิตเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ความเครียด คือการหดตัวของกล้ามเนื้อส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนของร่างกาย ซึ่งทุกคนจำเป็นต้องมีอยู่เสมอในการดำรงชีวิต เช่น การทรงตัว เคลื่อนไหวทั่วๆไป ทุกครั้งที่เราคิดหรือมีอารมณ์บางอย่างเกิดขึ้นจะต้องมีการหดตัว เคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อแห่งใดแห่งหนึ่งในร่างกายเกิดขึ้นควบคู่เสมอ ความเครียดเกิดจาก สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการปรับตัว และถ้าไม่สามารถปรับตัวได้จะทำให้เกิดความเครียด
สาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด
หากคุณกำลังลดความอ้วนอย่างหนัก แต่สุดท้ายน้ำหนักและรูปร่างยังเหมือนเดิม อาจเป็นเพราะสาเหตุเหล่านี้ก็ได้
- ทางด้านร่างกาย เกี่ยวกับสุขภาพและการเจ็บป่วย
ทั้งรุนแรงและไม่รุนแรงทำให้เกิดความเครียดได้ การพักผ่อนไม่เพียงพอ
ฯลฯ
- ทางด้านจิตใจ เช่น ผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง เวลาที่มีเรื่องต่าง
ๆ เข้ามากระตุ้นก็จะทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย
หรือเป็นผู้ที่วิตกกังวลง่าย ขาดทักษะในการปรับตัว
- ทางด้านสังคม มีสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความบกพร่องในเรื่องของการปรับตัว ขาดผู้ที่คอยให้ความช่วยเหลือ ถ้ามีผู้ที่ให้ความช่วยเหลือก็จะทำให้ความเครียดลดน้อยลงไป มีสิ่งมากระตุ้นมากเกินความสามารถของตนเอง ความขัดแย้งในครอบครัว ฯลฯ
เมื่อไหร่ที่ควรมาพบแพทย์
ความเครียดเกิดขึ้นเองและสามารถหายเองได้เป็นปกติทุกวัน แต่ถ้าความเครียดส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เช่น นอนไม่หลับ รับประทานอาหารไม่ได้ ทำงานไม่ได้ ปวดศีรษะ ร่างกายอ่อนเพลียฯลฯ ควรมาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำต่อไป
จะทราบได้อย่างไรว่ามีความเครียดเกิดขึ้น
โดยปกติแล้วผู้ที่มีความเครียดเกิดขึ้นมักจะรู้ได้ด้วยตนเอง เช่น
หงุดหงิด โมโหง่าย อ่อนเพลียเป็นเวลานาน ขาดสมาธิในการทำงาน
หรือมีอาการทางด้านร่างกายร่วมด้วย เช่น ปวดท้อง
ปวดศีรษะเป็นประจำ
วิธีการขจัดความเครียดที่เหมาะสม
การขจัดความเครียดให้ได้ผล 100% นั้นขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล
ในกรณีที่มาพบแพทย์ แพทย์จะแนะนำวิธีการผ่อนคลาย การหายใจเข้า-ออกลึก
ๆ จะช่วยลดความเครียดลงได้
วิธีการขจัดความเครียดที่เกิดขึ้นพิจารณาจาก 3 สาเหตุ
ได้แก่
- ทางด้านร่างกาย คือ การกำจัดสาเหตุที่เกิดขึ้น เช่น
ปัญหาสุขภาพร่างกาย
- ทางด้านจิตใจ คือ การปรับสภาพจิตใจของตัวเราเอง
รู้จักปรับเข้ากับปัญหา ยอมรับในสิ่งที่ยังแก้ไขไม่ได้
- ทางด้านสิ่งแวดล้อม คือ ถ้ามีภาระงานมากจนรับไม่ไหว ควรทำงานให้น้อยลง รู้จักแบ่งเวลาในการทำงานและแบ่งเวลาให้กับตัวเอง
ขั้นตอนของการรักษา
ขั้นแรกเหมือนกับการตรวจร่างกายโดยทั่ว ๆ ไป มีการซักถามประวัติ การดำเนินโรค และการเริ่มต้นของการเจ็บป่วย จากนั้นจิตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินการรักษาและวิเคราะห์หาสาเหตุของความเครียด ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ถ้าเกิดจากสิ่งแวดล้อม แพทย์จะแนะนำวิธีการปรับตัว ยกเว้นในกรณีที่ความเครียดเกิดจากโรคทางจิตเวช เช่น โรคซึมเศร้า โรคจิตเพศบางอย่างต้องรับการรักษาโดยการใช้ยา
ยาที่ใช้ในการรักษา
ยาคลายเครียดเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง
ช่วยให้การทำงานของสมองในส่วนที่ควบคุมความเครียดทำงานได้ดีขึ้น และช่วยให้เกิดการนอนหลับ
ช่วยลดความวิตกกังวล สำหรับผู้ที่มีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง
สามารถใช้ยาคลายเครียดช่วยคลายกล้ามเนื้อบริเวณที่ปวดได้ ดังนั้นยาคลายเครียดจึงมีผลต่อร่างกายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
สำหรับท่านที่ไปพบจิตแพทย์ แพทย์จะให้ยาวันละครั้ง
หรือวันละหลายครั้งแตกต่างกันออกไป
ซึ่งการรับประทานยาคลายเครียดควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
ไม่ควรซื้อยากินเอง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบเรื้อรัง
โดยส่วนใหญ่ถ้าเป็นความเครียดทั่ว ๆ ไปแพทย์จะไม่แนะนำให้ใช้ยา
โดยจะใช้ยาเมื่อจำเป็น หรือเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ
ประมาณ 2-3 เดือน หรือเฉพาะในเวลาที่มีอาการวิตกกังวล
ส่วนใหญ่แพทย์จะให้คำแนะนำในเรื่องของเทคนิคการคลายเครียด
สอนวิธีการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ฝึกในเรื่องของการปรับตัว
และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่าง ๆ มากกว่าการให้ยารับประทาน
ผลของการใช้ยาคลายเครียด
เนื่องจากยาคลายเครียดเป็นยาเสพติดชนิดหนึ่ง
ซึ่งถ้ารับประทานเป็นระยะเวลานานติดต่อกันจะก่อให้เกิดผลต่อร่างกาย
เช่น ฤทธิ์ของยาทำให้เกิดการเสพติด
ทำให้ต้องกินยาในปริมาณที่เพิ่มขึ้น
หรือจะเกิดความผิดปกติในเวลาที่ไม่ได้กินยา
วิธีการผ่อนคลายความเครียด
ควรออกกำลังกายเป็นประจำและสม่ำเสมอ หางานอดิเรกทำ
สำหรับผู้ที่มีภาระงานประจำมาก ควรให้เวลากับตัวเองบ้าง
จัดเวลาให้เหมาะสม หาที่ปรึกษาหรือเพื่อนเพื่อรับฟังหรือช่วยตัดสินใจในบางเรื่อง
รวมทั้งยอมรับในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เป็นต้น
วิธีการคลายเครียด
ทางด้านจิตวิทยาถือว่าความเครียดก็เป็นสิ่งที่ดี
ช่วยให้เรามีการตื่นตัวอยู่เสมอ มีการป้องกันตัวเอง
และปรับปรุงตัวเองอยู่ตลอดเวลา
ถ้าเราไม่มีความเครียดเลยก็จะไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี แต่ถ้าจะไม่ให้เกิดความเครียดคงจะเป็นไปไม่ได้
จึงควรแบ่งเวลา หาเวลาให้กับตัวเอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
หรืออาจใช้วิธีการทางศาสนาช่วยโดยการนั่งสมาธิ
ความวิตกกังวลในการพบจิตแพทย์
สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางด้านจิตเวชควรคิดว่า การที่เรามาพบแพทย์นั้นเหมือนกับการหาที่ปรึกษา โดยมีผู้รับฟังและช่วยแก้ปัญหาที่ดี เนื่องจากการมาพบจิตแพทย์ไม่จำเป็นต้องป่วยหรือเป็นโรค เพราะฉะนั้นไม่ควรวิตกกังวล ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่เคยมาปรึกษาแพทย์ จะได้รับคำแนะนำในปฏิบัติตนได้อย่างถูกวิธี จึงช่วยลดความเครียดที่เกิดขึ้นได้
คนเราทุกคนมีความเครียดและต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่มีความเครียดอยู่เป็นระยะ ๆ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหาวิธีจัดการกับความเครียดที่เหมาะสม การไม่สามารถจัดการควบคุมสถานการณ์ที่มีความเครียดได้ จะนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพตามมาได้
___________________
อ่านบทความเพิ่มเติม
>>>>> SIRIRAJ E-PUBLIC
LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล
คุณกำลังดู: "เครียด" แบบไหน เมื่อไร ถึงควรมาพบแพทย์?
หมวดหมู่: สุขภาพใจ-สมอง