“เครียด” แล้ว “กิน” มีวิธีแก้ด้วยตัวเองอย่างไร

ใครที่เคยเครียดแล้วกินเยอะจนน้ำหนักขึ้น ลองมาดูสาเหตุและวิธีแก้ด้วยตัวเองกัน

“เครียด” แล้ว “กิน” มีวิธีแก้ด้วยตัวเองอย่างไร

เราต่างกำลังปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตแบบนิวนอร์มอล กฎระเบียบที่ทำให้เราต้องอยู่แต่ในบ้าน ทำให้เราเปลี่ยนวิธีการติดต่อสื่อสาร การออกกำลังกาย การทำงาน และการกิน ความเปลี่ยนแปลงฉับพลันทั้งหมดเหล่านี้และความจำเป็นในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว อาจทำให้เรารู้สึกเครียดได้

จึงคิดว่าเป็นวาระอันดีที่จะได้พูดถึงความเครียดและวิธีการรับมือ คุณอาจรู้สึกประหลาดใจที่ได้รู้ว่าความวิตกกังวลและความเครียดอาจแสดงให้เห็นผ่านรูปแบบการรับประทานอาหารของคุณ ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่าเป็นการรับประทานตามอารมณ์หรือการรับประทานเพราะความเครียด

การรับประทานเพราะความเครียด คืออะไร

การรับประทานเพราะความเครียดหรือการรับประทานตามอารมณ์ มีความหมายตามชื่อของมัน ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อคุณรับประทานอาหารเพื่อให้ลืมความรู้สึกเลวร้ายที่คุณกำลังเผชิญ โดยหวังว่าอาหารจะทำให้รู้สึกดีขึ้น 

บางครั้งมันคือการตัดสินใจอย่างมีสติ แต่บ่อยครั้งก็เป็นเพียงการตัดสินใจชั่ววูบเพื่อหวังจะจัดการกับอารมณ์ด้านลบที่คุณเองก็ไม่รู้ว่ามีต้นสายปลายเหตุจากอะไร ความเครียดและความเบื่อหน่ายอาจก่อให้เกิดการกินตามอารมณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณต้องอยู่กับบ้านและรายล้อมด้วยของกินตลอดทั้งวัน ทั้งนี้ ไม่ว่าคุณจะสั่งอาหารจานโปรดที่มีแคลอรีมากกว่ามื้ออาหารปกติของคุณ หรือทำอาหารเองที่บ้านด้วยเครื่องปรุงและส่วนประกอบที่มีอยู่จำกัด ก็เป็นไปได้ว่าคุณอาจมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่แตกต่างจากที่คุณคุ้นเคย 

ความเครียดอาจก่อให้เกิดความเหนื่อยล้าหรือความเศร้า ดังนั้น อาหารที่มีประโยชน์จึงน่ารับประทานน้อยกว่าอาหารที่ถูกปาก อาหารถูกปากที่มีแคลอรี่สูงจะกระตุ้นการหลั่งสารเคมีบางชนิดในสมองที่ทำให้รู้สึกดี แต่ก็ทำให้อยากกินอีก และการกินมากเกินไปก็จะทำให้น้ำหนักขึ้น ส่งผลให้เกิดความเครียดเพิ่มมากขึ้น และเมื่อเกิดความเครียด ก็จะทำให้กินเยอะขึ้นไปอีก เป็นวงจรเลวร้ายที่เราควรหลีกเลี่ยง 

วิธีใดที่ดีที่สุดในการป้องกันการรับประทานเพราะความเครียด

สิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกคนควรทำในเวลานี้คือ การดูแลตัวเองให้ดีที่สุดเท่าที่ทำได้ และฝึกนิสัยการรับประทานอาหารที่ดีเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ต่อไปนี้เป็นคำแนะนำของดิฉันเกี่ยวกับวิธีหยุดการรับประทานตามอารมณ์

  1. ยอมรับความรู้สึกของตัวเอง

คุณทราบดีว่าอารมณ์กระตุ้นให้เกิดการรับประทานเพราะความเครียด ดังนั้น ทำไมจึงไม่ยอมรับมัน ไม่ใช่เรื่องร้ายแรง หากเราจะรู้สึกอารมณ์ไม่ดี เหงา หรือเบื่อหน่ายในบางครั้ง ความรู้สึกอาจจะแย่อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้เป็นอันตราย และคุณไม่จำเป็นต้อง “แก้ไข” มัน ปล่อยให้อารมณ์เกิดขึ้นและผ่านไปโดยไม่ต้องเอาใจไปจมกับมัน

  1. หาทางเลือกอื่นๆ นอกจากการรับประทาน

การเดินเร็วหรือชาสมุนไพรสักแก้วอาจคลายเครียดได้ดีกว่าการรับประทานอาหาร ถ้าคุณรู้สึกว่าต้องรับประทานอาหาร ให้ลองรับประทานอาหารกรุบกรอบเนื้อแข็ง เนื่องจากสามารถคลายความเครียดได้ด้วยการขยับกล้ามเนื้อขากรรไกร ลองรับประทานอาหารว่างเป็นอัลมอนด์ ถั่วเหลืองสักหนึ่งกำมือ หรือเบบี้แคร์รอต

  1. รับประทานอาหารตรงเวลา และอย่าข้ามมื้ออาหาร

รับประทานอาหารให้ตรงเวลา เมื่อเกิดความเครียด คุณอาจจะเลื่อนเวลารับประทานอาหารหรือแม้กระทั่งข้ามมื้อนั้นไปเลย และจะส่งผลให้ระดับพลังงานของคุณลดน้อยลงเกินควร และคุณอาจลงท้ายด้วยการรับประทานอาหารมากเกินไปในมื้อถัดไป ถ้าความเครียดคือตัวทำลายความอยากอาหาร ลองรับประทานอาหารปริมาณน้อยลง แต่บ่อยมากขึ้นในระหว่างวัน

  1. ลดคาเฟอีน

ผู้คนมักรู้สึกขาดพลังงานเมื่อเกิดความเครียด และหันไปพึ่งคาเฟอีนในเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งอาจขัดจังหวะการนอนในเวลากลางคืน ถ้าคาเฟอีนทำให้คุณตื่นในเวลากลางคืน ให้ลองดื่มกาแฟและชาที่ไม่มีคาเฟอีนแทน

  1. ฝึกรับประทานอาหารอย่างมีสติ

การรับประทานอาหารอย่างมีสติ หมายความว่าคุณต้องพยายามรับรู้ถึงสัญญาณของความหิวและความอิ่มภายในร่างกาย นอกจากนี้ คุณยังต้องตระหนักถึงสิ่งที่ทำให้คุณอยากรับประทานอาหาร การรับประทานอย่างมีสติจะช่วยให้คุณสามารถเลี่ยงการรับประทานมากเกินไป และทำให้คุณเพลิดเพลินกับอาหารมากยิ่งขึ้น แม้จะรับประทานน้อยลง นอกจากนี้ คุณจะใส่ใจกับสิ่งที่คุณเลือกรับประทานมากยิ่งขึ้น

ในช่วงเวลาเช่นนี้ คุณไม่ควรจำกัดสิ่งที่รับประทาน แต่ควรให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารมากที่สุด เพื่อรับโภชนาการที่เหมาะสมที่สุดและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันที่ดี การระบาดครั้งนี้ทำให้เราทุกคนเผชิญกับเกิดความเครียดมากยิ่งขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย แต่การเรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียดนั้นจะทำให้คุณ ผู้คนที่คุณรัก และคนรอบข้างของคุณ แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

คุณกำลังดู: “เครียด” แล้ว “กิน” มีวิธีแก้ด้วยตัวเองอย่างไร

หมวดหมู่: สุขภาพใจ-สมอง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด