ข้อควรรู้เกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติ

ข้อควรรู้เกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติ
  • การคลอดธรรมชาติ (Natural birth) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า active birth เป็นการคลอดบุตรด้วยการเบ่งคลอดเองทางช่องคลอด อายุครรภ์ประมาณ 37 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 42 สัปดาห์
  • คลอดแบบธรรมชาติเป็นการคลอดที่มีความปลอดภัยทั้งคุณแม่และลูก ไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ หรือฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง โอกาสติดเชื้อในมดลูกน้อย และเสียเลือดน้อยกว่าการผ่าตัดคลอด
  • หากการคลอดแบบธรรมชาติไม่สำเร็จ แพทย์จะทำการผ่าคลอดแบบฉุกเฉินให้กับคุณแม่ โดยจะดูจากปัจจัยจำเป็นต่างๆ ที่ทำให้ไม่สามารถคลอดแบบธรรมชาติได้

การคลอดธรรมชาติคืออะไร มีข้อดีอย่างไร จะเจ็บอย่างที่คิดหรือไม่  มีอะไรที่คุณแม่มือใหม่ต้องรู้ และจะต้องเตรียมให้พร้อมสำหรับการคลอดเองแบบธรรมชาติบ้าง การทำความเข้าใจกับกระบวนการคลอดธรรมชาติในบทความนี้จะช่วยตอบคำถามสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่ต้องการ “คลอดแบบธรรมชาติ” ได้

การคลอดธรรมชาติ และ กำหนดคลอด

การคลอดธรรมชาติ (Natural birth) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า active birth คือ การคลอดบุตรแบบปกติโดยคุณแม่จะทำการให้กำเนิดบุตรด้วยการเบ่งคลอดเองทางช่องคลอด โดยไม่ทำการผ่าตัด หลังจากที่ครบกำหนดระยะเวลาของอายุครรภ์ประมาณ 37 สัปดาห์ แต่ไม่เกิน 42 สัปดาห์ โดยทารกจะอยู่ในท่ากลับศีรษะแล้วจะค่อยๆ เคลื่อนตัวมายังอุ้งเชิงกรานเพื่อเตรียมคลอดแบบธรรมชาติ

ข้อดีของการคลอดธรรมชาติ

ข้อดีของการคลอดแบบธรรมชาตินั้นส่งผลดีต่อทั้งตัวคุณแม่และลูก ดังนี้

  • ความปลอดภัย

การคลอดแบบธรรมชาติเป็นวิธีการคลอดที่แพทย์มักแนะนำ เนื่องจากมีความปลอดภัยต่อทั้งตัวคุณแม่และลูกที่คลอดออกมา เพราะไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ หรือฉีดยาชาเข้าไขสันหลัง มีโอกาสติดเชื้อในมดลูกน้อย และมีการเสียเลือดน้อยกว่าการคลอดแบบผ่าตัด

  • แผลมีขนาดเล็ก

การคลอดธรรมชาติโดยเฉพาะการคลอดในท้องแรกนั้น ปากช่องคลอดจะมีความยืดหยุ่นไม่เยอะเท่าคนที่เคยคลอดมาแล้ว จึงทำให้มีแผลฝีเย็บเพื่อช่วยเปิดช่องทางคลอดให้ลูกน้อยคลอดออกมาได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่แผลจะมีขนาดอยู่ที่ประมาณ 2-4 เซนติเมตรเท่านั้น (ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสรีระของคุณแม่และขนาดของลูกน้อยด้วย)

  • ฟื้นตัวได้รวดเร็ว

เนื่องจากมีแผลเย็บที่เล็กและไม่ได้ผ่านการดมยาสลบ ส่งผลให้คุณแม่มีอาการเจ็บไม่นาน จึงสามารถเคลื่อนไหว ลุก นั่ง เดินได้หลังการคลอด และใช้เวลาในการพักฟื้นไม่นาน คุณแม่ที่คลอดธรรมชาติจะมีเวลาอยู่กับลูกน้อยได้เร็วขึ้น และกลับบ้านได้เร็วอีกด้วย

  • เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกได้

โดยทารกได้ภูมิคุ้มกันจากเชื้อแบคทีเรียในช่องคลอดของมารดา และได้รับ Probiotic มากกว่าการผ่าคลอดทางหน้าท้อง จึงเป็นเหมือนการเสริมสร้างภูมิของทารกในครรภ์ที่เมื่อคลอดแล้วก็จะมีภูมิอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยใดที่ส่งผลให้ไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้
หากมีสัญญาณหรือปัจจัยจำเป็นเหล่านี้ อาจทำให้แพทย์พิจารณาเปลี่ยนจากการคลอดธรรมชาติเป็นการผ่าตัดคลอด เช่น

  • ภาวะครรภ์เป็นพิษ ซึ่งส่งผลถึงสุขภาพของคุณแม่และลูกในท้องจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
  • รกเกาะต่ำ โดยอาจเกิดขึ้นได้ในคุณแม่ที่มีประวัติรกเกาะต่ำมาก่อน เคยผ่าตัดมดลูก หรือเคยผ่าตัดคลอด
    ทารกตัวโต หรืออยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสมต่อการคลอดแบบธรรมชาติ เช่น เด็กไม่กลับหัว
  • คุณแม่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้คลอดธรรมชาติไม่ได้

การคลอดธรรมชาติเจ็บหรือไม่ จำเป็นต้องบล็อกหลังหรือไม่

อาการเจ็บปวดระหว่างคลอดธรรมชาตินั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับการบีบตัวของมดลูก ท่าทางของทารกและความอดทนต่อความเจ็บของคุณแม่ ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีการระงับความเจ็บระหว่างคลอดได้หลายวิธี เช่น การฉีดยาลดปวดเข้าหลอดเลือดดำหรือกล้ามเนื้อ การฉีดยาชาเข้าที่ฝีเย็บ หรือแม้กระทั่งการบล็อกหลังโดยวิสัญญีแพทย์ ซึ่งวิธีการบล็อกหลังนี้จะช่วยลดความเจ็บได้ตั้งแต่ระยะรอคลอด ไปจนถึงการตัดฝีเย็บเลยทีเดียว

ท้องแรกผ่าคลอด ท้องสองคลอดธรรมชาติเองได้หรือไม่

หากท้องแรกทำการผ่าคลอด คุณแม่สามารถคลอดธรรมชาติเองได้ในท้องที่สอง ด้วยวิธีการที่เรียกว่า VBAC (Vaginal Birth After Cesarean) เหมาะสำหรับคุณแม่ที่วางแผนจะมีลูกหลายคน ต้องการลดความเสี่ยงต่างๆ เช่น การรับยา การติดเชื้อ การตกเลือด เป็นต้น ซึ่งแพทย์จะช่วยประเมินความเสี่ยงต่างๆ เช่น ประเมินขนาดตัวของทารกในครรภ์ สุขภาพของคุณแม่และทารกแข็งแรงหรือไม่ และประเมินปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ คุณแม่จึงควรฝากครรภ์กับแพทย์ผู้ชำนาญการ ที่จะสามารถให้คำแนะนำได้ว่าควรทำตามขั้นตอนอย่างไรจึงจะปลอดภัย

การคลอดธรรมชาติ กี่วันแผลหาย แล้วส่งผลกับการให้นมลูกหรือไม่

โดยทั่วไปแล้ว อาการปวดแผลจะน้อยลงหลังจากคลอดแล้วประมาณ 3 – 4 วัน และอาการปวดจะหายไปภายเวลา 1 สัปดาห์หลังคลอด และไม่ส่งผลกับการให้นมลูก เนื่องจากหลังทำการคลอดคุณแม่สามารถให้นมลูกเองได้เนื่องจากแผลไม่ใหญ่เท่ากับการผ่าคลอด ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นการผลิตน้ำนมที่ดี

การเตรียมตัวก่อนคลอดธรรมชาติ

  • ศึกษาข้อมูล เกี่ยวกับการคลอดแบบธรรมชาติถึงข้อควรรู้ วิธีการปฏิบัติตัว และการดูแลตนเอง รวมถึงลูกน้อย ซึ่งจะช่วยให้คุณแม่คลายกังวลใจและสามารถใช้เป็นตัวช่วยในการดูแลลูกได้อีกด้วย
  • เตรียมสมุดฝากครรภ์ ที่มีการบันทึกระหว่างฝากครรภ์ ไปเพื่อให้แพทย์ที่ดูแลทราบถึงประวัติต่างๆ ได้โดยไม่ต้องคอยซักถามใหม่
  • เตรียมของใช้ที่จำเป็นหลังคลอด โดยจะต้องเตรียมให้ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ และลูกน้อยที่กำลังจะเกิดมา โดยสามารถดูสิ่งของที่ต้องเตรียมให้พร้อมก่อนได้ ที่นี่
  • รู้ถึงสัญญาณเตือนต่างๆ เช่น มีมูกปนเลือดออกทางช่องคลอด มีน้ำไหลโชกออกมาทางช่องคลอด อาการเจ็บท้องจริง เจ็บท้องลวงต่างกันอย่างไร เป็นต้น

ขนาดของปากมดลูกที่เปิด และเวลาที่ใช้ในการคลอดธรรมชาติ

สำหรับการคลอดธรรมชาติในท้องแรก ปากมดลูกจะเปิดประมาณ 1.2 เซนติเมตร/ชั่วโมง โดยปากมดลูกจะเปิดทั้งหมดในระยะเวลาประมาณ 12 ชั่วโมง ส่วนในท้องที่สอง ปากมดลูกจะเปิดประมาณ 1.5 เซนติเมตร/ชั่วโมง โดยปากมดลูกจะเปิดทั้งหมดในระยะเวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง และเมื่อปากมดลูกเปิดถึง 10 เซนติเมตร เท่ากับความกว้างของศีรษะเด็ก คุณแม่จะเกิดความรู้สึกอยากเบ่ง โดยระยะเบ่งนี้โดยทั่วไปจะใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที ลูกน้อยถึงจะออกมาลืมตาดูโลก

การผ่าคลอดแบบฉุกเฉิน เมื่อไม่สามารถคลอดธรรมชาติได้

หากทำการคลอดแบบธรรมชาติไม่สำเร็จ แพทย์จะทำการผ่าคลอดแบบฉุกเฉินให้กับคุณแม่ โดยจะดูจากปัจจัยจำเป็นต่างๆ ที่ทำให้ไม่สามารถคลอดแบบธรรมชาติได้ เช่น 

  • อัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติของลูกทำให้ไม่สามารถคลอดด้วยวิธีการธรรมชาติได้
  • ปากมดลูกเปิดออกช้าหรือไม่ยอมเปิด
  • กระดูกเชิงกรานเล็กเกินไปจนทารกไม่สามารถผ่านออกมาได้
  • คุณแม่ตั้งครรภ์ลูกแฝด หรือแฝดสามที่ทำให้คลอดแบบธรรมชาติได้ยาก
  • มีอาการเจ็บครรภ์คลอดนานกว่าปกติ 
  • ทารกอยู่ในท่าที่ผิดปกติ เช่น เอาเท้าลงมาทางปากช่องคลอด
  • รกเริ่มหลุดออกจากผนังมดลูกและมีความเสี่ยงต่อการตกเลือดภายใน

การดูแลตัวเองหลังคลอดธรรมชาติ

จำนวนวันที่ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาล

หากพบว่าไม่มีภาวะแทรกซ้อน คุณแม่จะพักฟื้นหลังคลอดที่โรงพยาบาล 2 วัน โดยตลอด 2 วันนี้ แพทย์และพยาบาลจะดูแลคุณแม่และลูกน้อย โดยการตรวจสอบอาการผิดปกติและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น คอยสังเกตเลือดที่ออก สัญญาณชีพ การแข็งตัวของมดลูก การประเมินน้ำนม ภาวะเหลือง ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น

อยากให้นมลูกหลังคลอดธรรมชาติทำได้หรือไม่ 

หลังจากคลอดเสร็จแล้ว คุณแม่สามารถให้นมลูกได้ทันที โดยนำลูกเข้าเต้าบ่อยๆ ทุก 2-3 ชั่วโมง เพื่อเป็นการกระตุ้นน้ำนม และจะช่วยทำให้คุณแม่ที่มีปัญหาผลิตน้ำนมได้ช้า สามารถผลิตน้ำนมได้ดีขึ้นอีกด้วย

หลังคลอดจะเริ่มใช้ชีวิตปกติได้เมื่อไหร่ 

  • คลอดธรรมชาติ มีเพศสัมพันธ์ได้ตอนไหน

เพื่อเป็นการรักษาแผลที่ฝีเย็บ และป้องกันการติดเชื้อในโพรงมดลูก ควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกระทั่งกลับมาตรวจสุขภาพในช่วง 4-6 สัปดาห์หลังคลอด เนื่องจากในช่วงแรกหลังคลอดคุณแม่บางคนอาจมีน้ำคาวปลาไหลอยู่ ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อในช่องคลอดและโพรงมดลูกได้ง่ายกว่าปกติ รวมถึงเพื่อรอให้ปากมดลูกปิด เลือดหยุดไหล และแผลฉีกขาดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการคลอดนั้นฟื้นฟูและหายดีเสียก่อน

  • หลังคลอดกี่เดือนออกกําลังกายได้

คุณแม่ที่ทำการคลอดแบบธรรมชาติสามารถออกกำลังกายได้หลังจากคลอดบุตรไปแล้วประมาณ 6 สัปดาห์ โดยให้เริ่มจากการออกกำลังกายเบาๆ เช่น การยืดกล้ามเนื้อ โยคะ การเดิน ส่วนการออกกำลังกายที่หนักขึ้นนั้น ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ที่ดูแล เนื่องจากร่างกายของคุณแม่แต่ละคนต้องการพักฟื้นในระยะเวลาที่แตกต่างกันไป

  • หลังคลอดกี่วันถึงเดินได้

หลังจากคลอดธรรมชาติแล้ว ไม่มีการห้ามไม่ให้คุณแม่เคลื่อนไหว โดยคุณแม่สามารถลุกขึ้นเดินไปเข้าห้องน้ำเองได้ แต่อาจจะระวังการก้าวขาที่มากเกินไป เพราะอาจทำให้ฝีเย็บที่ยังไม่หายดีปริออกจนต้องเย็บใหม่ได้ ดังนั้น แนะนำให้เดินแบบแยกขาออกจากกันเล็กน้อยประมาณ 7 วัน หลังจากนั้นแผลก็จะค่อยๆ หายเอง และสามารถกลับมาเดินในท่าปกติได้

คลอดธรรมชาติ พุงไม่ยุบ ทำอย่างไรดี

สำหรับคุณแม่ที่ทำการคลอดธรรมชาติแล้วเจอกับปัญหาพุงไม่ยุบ แนะนำให้ทำดังนี้

  • บริหารร่างกาย

แนะนำให้ทำการแขม่วหน้าท้องเป็นประจำและต่อเนื่อง โดยการนอนหงายชันเข่าแขม่วท้อง ให้ทำครั้งละ 10-15 นาที โดยคุณแม่ที่คลอดแบบธรรมชาติสามารถทำได้ทันทีหลังคลอดในสัปดาห์แรก

  • ควบคุมการรับประทานอาหาร

หากต้องการให้หน้าท้องยุบไว แนะนำให้หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลมาก หรือคาร์โบไฮเดรตเกินความต้องการของร่างกาย เพราะอาหารเหล่านี้จะสะสมที่หน้าท้องและทำให้พุงยุบยาก

  • ดื่มน้ำมากๆ

แนะนำให้คุณแม่ดื่มน้ำให้มากๆ เนื่องจากน้ำจะช่วยกระตุ้นระบบขับถ่ายและระบบไหลเวียนเลือดให้ดีขึ้นได้

  • ให้ลูกดูดนมจากเต้า

การให้ลูกดูดนมจากเต้าจะเป็นการช่วยเผาผลาญพลังงานในร่างกาย ทำให้หน้าท้องยุบลงและช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น จากการวิจัยพบว่า การให้นมลูกสามารถช่วยเผาผลาญพลังงานในร่างกายได้ถึง 500-800 กิโลแคลอรีต่อวัน หากให้นมลูกอย่างต่อเนื่อง 4-6 เดือน ก็จะช่วยลดขนาดส่วนเกินของสะโพก หน้าท้อง ต้นแขน ต้นขาได้เป็นอย่างดี และช่วยให้น้ำหนักกลับมาปกติได้เร็วขึ้น

คลอดธรรมชาติ ทำให้ช่องคลอดหลวมหรือไม่

หลังการคลอดธรรมชาติแล้ว ปากมดลูกจะกลับคืนสู่สภาพปกติภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนช่องคลอดอาจจะกลับสู่สภาพปกติได้ไม่ดีนักถ้าหากขาดการออกกำลังกล้ามเนื้อบริเวณนี้ ดังนั้น คุณแม่จึงควรฝึกขมิบบ่อยๆ เพื่อเพิ่มความกระชับของบริเวณช่องคลอดให้กลับมาเหมือนเดิม และป้องกันภาวะช่องคลอดหลวม

หลังคลอด ควรรับประทาน / ห้ามรับประทานอะไร

หลังจากการคลอดแล้ว คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่ย่อยง่าย รสไม่จัด รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ได้แก่ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ ตับ นม ไข่ ผักและผลไม้สด ที่จะช่วยซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอจากการคลอด และเลือกรับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เพื่อป้องกันอาการท้องผูก เนื่องจากในช่วงหลังคลอดระยะแรกๆ ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนที่ทำให้เกิดอาการท้องผูกยังออกฤทธิ์อยู่ รวมถึงตัวคุณแม่เองอาจไม่อยากเบ่งอุจจาระเพราะกลัวเจ็บแผล ก็ยิ่งทำให้มีโอกาสท้องผูกมากขึ้น ส่วนอาหารรสจัดก็ควรงดไปก่อน เพราะอาจทำให้คุณแม่ท้องเสียได้ง่าย

นอกจากนี้คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารปรุงไม่สุก อาหารหมักดอง และเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มชูกำลังต่างๆ ด้านการรับประทานยาหรือเครื่องดื่มสมุนไพรต่างๆ ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เพราะสมุนไพรบางชนิด เช่น ไพล มีฤทธิ์ทำให้มดลูกคลายตัว ซึ่งอาจทำให้คุณแม่ตกเลือดได้ จึงควรเลี่ยงการใช้ยาและอาหารบางชนิด ส่วนน้ำเย็นสามารถดื่มได้ตามปกติ เนื่องจากไม่ได้มีข้อห้ามทางการแพทย์แต่อย่างใด

ทำไมต้องมาพบแพทย์หลังคลอด ตามนัดหมาย 

คุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการมาพบแพทย์หลังคลอดตามเวลานัดหมาย  เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาในกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนได้ในระยะเวลาที่เหมาะสม เช่น ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือให้แพทย์ได้สอบถามความผิดปกติอื่นๆ เพื่อประเมินว่า ฮอร์โมนของคุณแม่มีความผิดปกติหรือไม่ รวมถึงเพื่อให้ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง เกี่ยวกับการดูแลตัวเองและบุตรได้มากขึ้นด้วย ดังนั้น จึงควรฝากครรภ์กับทีมแพทย์ผู้ชำนาญการด้านสูตินรีเวช พร้อมทั้งมองหา โปรแกรมคลอด ที่จะช่วยให้มั่นใจได้ว่า จะได้รับการดูแลตั้งแต่เริ่มต้นตั้งครรภ์ไปจนถึงการตรวจสอบหลังการคลอดแบบธรรมชาติอย่างดีที่สุด

สำหรับการคลอดธรรมชาติเป็นเรื่องสำคัญต่อทั้งตัวคุณแม่และลูกน้อย จึงควรเลือกสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านและน่าเชื่อถือตามหลักมาตรฐานสากล เพื่อให้พร้อมฝากครรภ์และช่วยดูแล ติดตาม และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตน รวมถึงสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างใกล้ชิด

บทความโดย : พญ. เยาวลักษณ์ รพีพัฒนา สูตินรีแพทย์ผู้ชำนาญการด้านการคลอดธรรมชาติ รพ. สมิติเวช สุขุมวิท

คุณกำลังดู: ข้อควรรู้เกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติ

หมวดหมู่: แม่และเด็ก

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด