Menchikatsu กับ Minchikatsu ไม่เหมือนกันจริงหรือ?!
ถ้าใครชอบทานอาหารญี่ปุ่นอย่างพวกโยโชคุ ก็น่าจะเคยได้ยินชื่ออาหาร Menchikatsu (メンチカツ) ที่เป็นเนื้อบดชุบเกล็ดขนมปังทอด แต่เคยสังเกตไหมคะว่าบางทีก็เรียกว่า Minchikatsu (ミンチカツ) ได้อีกด้วย 2 คำนี้หมายถึงอาหารชนิดเดียวกันหรือเปล่า ? หรือจะมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้างนะ ?
ชื่อเรียกตามภูมิภาค
Menchikatsu กับ Minchikatsu นั้นความจริงแล้วก็คืออาหารชนิดเดียวกัน แต่มีชื่อเรียกต่างกันไปตามภูมิภาค Menchikatsu เป็นชื่อที่ใช้ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ มีต้นกำเนิดในสมัยเมจิ จากร้านอาหารสไตล์ตะวันตกในอาซากุสะ กรุงโตเกียว ทำโดยการนำเนื้อวัวบดหรือเนื้อหมูบดกับหัวหอมสับละเอียดมานวดให้เข้ากัน ปั้นเป็นวงรี ชุบเกล็ดขนมปังแล้วทอดในน้ำมัน ส่วน Minchikatsu เป็นชื่อที่ใช้ในพื้นที่แถบคันไซเป็นส่วนใหญ่ มีต้นกำเนิดจากร้านขายเนื้อในคันไซที่ขายอาหารคล้ายกับ Menchikatsu และใช้ชื่อเมนูว่า Minchikatsu จนกลายเป็นชื่อที่คุ้นเคยกันในแถบคันไซ
ต้นกำเนิดและส่วนผสม
ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น Menchikatsu กับ Minchikatsu มีต้นกำเนิดที่แตกต่างกัน แถมยังมีส่วนผสมของเนื้อบดที่ต่างกันด้วย Menchikatsu ถือกำเนิดขึ้นในสมัยเมจิ จากร้านอาหารสไตล์ตะวันตกในกรุงโตเกียว โดยจำหน่ายในชื่อเมนูว่า Minced Meat Cutlet มักใช้ทั้งเนื้อวัวบดและเนื้อหมูบดผสมกัน แต่ Minchikatsu ถือกำเนิดขึ้นในต้นสมัยโชวะ จากร้านขายเนื้อในโกเบ โดยมีแรงบันดาลใจมาจาก Menchiball หรือ Meatball ของร้านในโตเกียว มักใช้เฉพาะเนื้อวัวบด
เหตุผลที่ใช้ส่วนผสมของเนื้อต่างกันอาจเป็นเพราะ Menchikatsu อยู่ในร้านอาหารสไตล์ตะวันตกที่ต้องทานได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในขณะที่ Minchikatsu เดิมเป็นร้านขายเนื้อดังนั้นจึงสามารถใช้เนื้อวัวล้วน ๆ ได้อย่างเต็มที่
ที่มาของชื่อ
สำหรับที่มาของชื่อทั้ง 2 อย่างไม่ได้มีหลักฐานที่แน่ชัด แต่ก็สามารถวิเคราะห์ได้ว่า Menchikatsu เป็นชื่อที่ย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Minced Meat Cutlet ซึ่งหมายถึงเนื้อบดทอด ส่วน Minchikatsu เป็นชื่อที่ต้องการเน้นว่าใช้เนื้อบด และเนื่องจากทำมาจากเนื้อบด ซึ่งในภาษาอังกฤษคือ Mince จึงเลือกใช้คำว่า Minchi ให้ต่างจากภูมิภาคอื่น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็สื่อถึงอาหารชนิดเดียวกันคือเนื้อบดชุบเกล็ดขนมปังทอดนั่นเอง
คุณกำลังดู: Menchikatsu กับ Minchikatsu ไม่เหมือนกันจริงหรือ?!
หมวดหมู่: ผู้หญิง