เมื่อไรที่ควรพาบุตรหลานเข้าปรึกษา “จิตแพทย์เด็ก”

เมื่อไรที่ควรพาบุตรหลานเข้าปรึกษา “จิตแพทย์เด็ก”

นอกจากการให้ความรัก ความอบอุ่น การดูแลเอาใจใส่ และทรัพยากรต่าง ๆ ที่จำเป็นแล้ว ความยากอีกอย่างหนึ่งในการเลี้ยงดูบุตรหลานให้เติบโตอย่างสมบูรณ์และสมวัย คือการต้องพยายามสังเกตเด็ก ๆ ของตนเองว่ามีปัญหาหรือความผิดปกติทางด้านพัฒนาการ ด้านอารมณ์และพฤติกรรม ด้านการเข้าสังคม หรือไม่อย่างไร เนื่องจากมันเป็นความผิดปกติทางการเจริญเติบโตที่ต้องได้รับการแก้ไขหรือรักษา หากบรรดาผู้ปกครองไม่สังเกตและไม่รู้ว่าบุตรหลานของตนเองมีปัญหา นานวันเข้าก็จะยิ่งรักษายาก และความผิดปกตินั้นอาจติดตัวไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ และทวีความรุนแรงถึงขั้นเป็นปัญหาสังคมต่อไป

อย่างไรก็ตาม ผู้ใหญ่หลายคนมีความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับ “การพบจิตแพทย์” เมื่อพูดถึงจิตแพทย์ขึ้นมา มันดูเป็นเรื่องน่ากลัว ด้วยภาพจำเดิม ๆ ว่าต้องเป็น “โรคจิต โรคประสาท หรือเป็นบ้า” ถึงต้องเข้ารักษากับจิตแพทย์ แต่จริง ๆ แล้วจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นมีหน้าที่ดูแลด้านพัฒนาการเด็ก อารมณ์และพฤติกรรมทั้งเด็กเล็ก เด็กวัยเรียน วัยรุ่น รวมถึงการเลี้ยงดูเด็กที่บ้าน ดังนั้น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นสามารถช่วยเหลือเด็ก ๆ ผู้ปกครอง และคนรอบข้างได้มากกว่านั้น ดังนั้น การพาเด็กไปพบกับจิตแพทย์เด็ก จึงเป็นหนึ่งในวิธีรักษาและรับคำแนะนำที่ถูกต้องในการแก้ปัญหา ไม่ได้ต่างอะไรกับการไปหาหมอด้วยโรคภัยไข้เจ็บอื่น ๆ เลย

จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นจึงมีความสำคัญในการให้ความช่วยเหลือเด็กและวัยรุ่นเป็นอย่างมาก เนื่องจากโรคหรือปัญหาที่พบในเด็กนั้นจะค่อนข้างแตกต่างจากผู้ใหญ่ อีกทั้งเด็กยังมีข้อจำกัดเรื่องการทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเอง และมีทักษะในการการใช้ภาษาอธิบายหรือนิยามเรื่องต่าง ๆ ได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ด้วย หรือการที่เด็กเองไม่รู้ว่าตัวเองมีปัญหาอะไรอยู่ เด็กจะรู้แค่ว่าตัวเองเปลี่ยนไป เมื่อต้องการความช่วยเหลือ เด็กก็ไม่สามารถบอกหรืออธิบายความรู้สึกให้ผู้ปกครองเข้าใจได้แบบตรง ๆ

ตรงนี้จึงเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องคอยสังเกตความผิดปกติของบุตรหลานของตนเอง ว่ามีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือมีความแตกต่างไปจากเด็กในวัยเดียวกันหรือไม่ ซึ่งหากสังเกตเห็นได้เร็ว และให้การช่วยเหลือได้ไว ผลการรักษาจะดีตามไปด้วย เพราะสมองของเด็กมีความยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงพัฒนาได้ ซึ่งจะช่วยให้เด็กสามารถเรียนและใช้ชีวิตได้เต็มศักยภาพที่เด็กมีอยู่ รวมถึงลดปัญหาหรืออาการแทรกซ้อนด้านพฤติกรรมที่อาจเกิดตามมาในอนาคตได้ จิตแพทย์เด็กสามารถช่วยเหลือในการดูแลด้านจิตใจและพัฒนาการของเด็กได้อย่างตรงจุด เมื่อบุตรหลานมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจนไม่สามารถทำกิจวัตรหรือเรียนหนังสือได้ตามปกติ

สัญญาณเตือนว่าควรพาบุตรหลานไปพบจิตแพทย์เด็กเพื่อเข้ารับคำปรึกษา ความรู้ด้านจิตเวชเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า “เมื่อไรที่ควรพาเด็กมาปรึกษาจิตแพทย์เด็ก” ต่อไปนี้เป็นสัญญาณที่อาจบ่งชี้ว่าเด็กหรือวัยรุ่นในปกครองของท่านควรได้รับความช่วยเหลือ เด็กเล็ก

  • ผลการเรียนตกลงอย่างชัดเจน แม้ว่าพยายามอย่างมากแต่ผลสอบไม่ได้เท่าที่พยายาม
  • ท่าทางวิตกกังวลอย่างมาก ซึ่งอาจแสดงออกโดยการไม่ยอมไปโรงเรียนบ่อย ๆ หรือปฏิเสธไม่ยอมเข้าเรียน หรือไม่ยอมเข้าร่วมกิจกรรมที่เด็กวัยเดียวกันมักทำ
  • ซนมาก อยู่ไม่นิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลา มากกว่าการเล่นทั่ว ๆ ไป
  • ฝันร้ายบ่อย ๆ
  • ดื้อ ไม่เชื่อฟัง หรือก้าวร้าว ต่อต้านผู้ใหญ่เป็นประจำ และนานกว่า 6 เดือน
  • มีร้องไห้ อาละวาดบ่อย ๆ โดยหาสาเหตุไม่ได้

เด็กโตและวัยรุ่น

  • ผลการเรียนเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด
  • มีการใช้สารเสพติดหรือดื่มสุรา
  • ไม่สามารถแก้ปัญหาและปฏิบัติงานประจำได้
  • มีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการนอน และ/หรือการกินอย่างชัดเจน
  • บ่นเรื่องอาการเจ็บป่วยทางกายมากมาย
  • ก้าวร้าว ละเมิดกฎอย่างก้าวร้าว หรือละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นบ่อย ๆ เช่น ต่อต้านผู้ใหญ่ หนีโรงเรียน ทำลายข้าวของสาธารณะ หรือลักขโมย
  • กลัวความอ้วนอย่างมาก ทั้งที่รูปร่างหรือน้ำหนักจริงไม่เป็นเช่นนั้น
  • มีอารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งเห็นได้จากการมีอารมณ์ไม่แจ่มใสต่อเนื่อง มองโลกในแง่ลบ เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ หรือคิดเรื่องตายบ่อย ๆ
  • อารมณ์โมโหรุนแรงอย่างควบคุมไม่ได้บ่อย ๆ

คุณกำลังดู: เมื่อไรที่ควรพาบุตรหลานเข้าปรึกษา “จิตแพทย์เด็ก”

หมวดหมู่: ผู้หญิง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด