“มนุษย์แม่เสี่ยงกระดูกพรุน” แพทย์ชี้โอกาสกระดูกหักสูงหากไม่เร่งดูแล
แพทย์เฉพาะทางชี้สตรีมีครรภ์มีโอกาสเป็นโรคกระดูกพรุนสูง หากได้รับปริมาณแคลเซียมที่ไม่เพียงพอ แนะทานแคลเซียมเสริมก่อนนำไปสู่ภาวะกระดูกหัก
จากสถิติขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า "โรคกระดูกพรุน" เป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขในลำดับที่ 2 ของโลก รองจากโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด โดยสอดคล้องกับข้อมูลของ "มูลนิธิโรคกระดูกพรุนนานาชาติ" พบว่า ประชากรไทยที่มีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุน 80-90% ยังไม่ได้รับการประเมินและรักษา
"โรคกระดูกพรุน เป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงอาการ และไม่มีสัญญาณเตือนก่อนล่วงหน้า เมื่อผู้ป่วยประสบภาวะกระดูกพรุนจะมีโอกาสกระดูกหักได้ง่ายขึ้น หากเกิดร่วมกับกระดูกสะโพกหักจะมีอัตราการเสียชีวิตในปีแรกมากถึง 17% และมีสัดส่วน 80% ที่ไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม"
นพ.ฐปนัตว์ จันทราภาส แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เผยว่าโรคกระดูกพรุน คือ โรคที่ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดน้อยลงเรื่อยๆ รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะโครงสร้างของกระดูก ซึ่งจะมีผลทำให้กระดูกบางและเปราะง่าย ไม่สามารถรับน้ำหนักหรือแรงกดได้ตามปกติ ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงกระดูกหักได้ง่าย
โรคกระดูกพรุนมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และมักพบมากในสตรีที่ตั้งครรภ์ เพราะบุตรจะดึงปริมาณของแคลเซียมออกไป ทำให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกของผู้เป็นแม่ลดลง ดังนั้นเราจึงควรมีความรู้ในเรื่องของการสะสมมวลกระดูกเอาไว้ ยกตัวอย่าง แพทย์จะเสริมปริมาณแคลเซียมให้คุณแม่ขณะตั้งครรภ์ แต่เมื่อหลังคลอดลูกก็ต้องกินนม ซึ่งจำเป็นที่คุณแม่ก็ต้องได้รับปริมาณแคลเซียมเสริมด้วยเช่นกัน เพราะธนาคารกระดูก หรือ Bone Bank เกิดขึ้นและสะสมปริมาณแคลเซียมนี้เอาไว้ตั้งแต่เราอยู่ในท้องจนถึงอายุ 20 กว่าๆ ร่างกายจะค่อยๆ ถอนเอาไปใช้ สำหรับในเพศชายจะมีการสะสมของมวลกระดูกมากกว่าในเพศหญิง ซึ่งตามธรรมชาติแล้วเพศชายไม่ต้องตั้งครรภ์จึงไม่สูญเสียมวลกระดูกในส่วนนี้ไป ในขณะที่เพศหญิงการมีบุตรจะดึงปริมาณแคลเซียมที่สะสมเอาไว้เพื่อสละให้ลูกน้อยตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์
ขณะเดียวกันจากสถิติพบว่าผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจะเริ่มมีภาวะของโรคกระดูกพรุนเช่นเดียวกัน จึงต้องมีการเสริมแคลเซียมเข้าไปด้วย
อย่างไรก็ตามกระดูกประกอบด้วยโปรตีนที่เป็นเส้นใยคอลลาเจนและมีแคลเซียมมาตกผลึกจับตัวกับคอลลาเจน จนกลายเป็นของแข็งที่สามารถรับน้ำหนัก แรงกด หรือแรงกระแทกและมีความยืดหยุ่นในตัวเอง การสร้างกระดูกให้แข็งแรงจำเป็นต้องได้รับปริมาณแคลเซียมและสารอาหารที่เหมาะสม โดยแคลเซียมจะทำให้กระดูกแข็งแรง ส่วนโปรตีนโดยเฉพาะคอลลาเจนและโปรตีนอื่น ๆ จะทำให้กระดูกมีความเหนียวและยืดหยุ่น
นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การได้รับปริมาณแคลเซียมที่ไม่เพียงพอ กรรมพันธุ์ หรือผู้ที่มีประวัติกระดูกเปราะและหักง่าย หญิงวัยหมดประจำเดือน การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มมึนเมา และคาเฟอีน ไม่ออกกำลังกาย หรือผู้ที่รับประทานยาในกลุ่มสเตียรอยด์ หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคไต
นพ.ฐปนัตว์ เผยว่า การฉีดซีเมนต์ (Bone Cement) เพื่อรักษากระดูกสันหลังแตก หัก และทรุด โดยการเสริมความแข็งแรงของตัวกระดูกสันหลังที่หักด้วยซีเมนต์ เพื่อให้สามารถกลับมารับน้ำหนักตัวได้อีกครั้ง เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่ไม่ต้องการผ่าตัด ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้ประสบความสำเร็จสูงมาก และทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการปวด ฟื้นตัวได้เร็ว อีกทั้งขนาดแผลยังเล็กมากจนแทบจะมองไม่เห็น
สำหรับขั้นตอนการฉีดซีเมนต์ แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กโดยใช้เครื่องเอกซเรย์พิเศษ (Fluoroscope) เพื่อหาตำแหน่งและเจาะเข้าไปในบริเวณที่กระดูกสันหลังแตก หัก หรือยุบ แล้วค่อยๆ ฉีดซีเมนต์ไปทีละนิด เพื่อไม่ให้ซีเมนต์ไหลออกมาจากกระดูก และรอให้ซีเมนต์แข็งตัว จึงดึงเข็มออกแล้วใช้พลาสเตอร์ปิดแผล เนื่องจากขนาดแผลที่เล็ก จึงไม่จำเป็นต้องเย็บปิดแผล
โดยทั่วไปแล้ววิธีการรักษาโรคกระดูกสันหลังแตก หัก ยุบ ด้วยวิธีการฉีดซีเมนต์นั้น มี 2 วิธี 1.การฉีดซีเมนต์อย่างเดียวตรงๆ 2.การฉีดซีเมนต์โดยใช้ Balloon ขยายก่อน เพื่อที่จะฉีดซีเมนต์เข้าไปให้ได้ปริมาณที่มาก แต่ที่โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ เราใช้เทคนิคพิเศษโดยการฉีดซีเมนต์ปริมาณมาก เข้าไปตรงบริเวณที่แตกหัก ยุบ อย่างตรงจุด ด้วยอุปกรณ์นำวิถี ซึ่งวิธีนี้จะได้ผลลัพธ์ที่ดีมากและข้อแทรกซ้อนน้อย
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นเพียงแค่ 1–2 ชั่วโมง เพื่อให้ซีเมนต์ที่ฉีดเข้าไปนั้นแข็งตัว ก็สามารถลุกนั่ง ยืน เดินได้ตามปกติ และอาการปวดของผู้ป่วยก็จะค่อยๆ ดีขึ้นหลังจากที่ฉีดเสร็จ การรักษาด้วยวิธีนี้ต้องทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านกระดูกสันหลัง ซึ่งมีความชำนาญในการทำหัตถการเท่านั้น
โรงพยาบาลเอส สไปน์ แอนด์ เนิร์ฟ ปรึกษา โทร.02 034 0808
คุณกำลังดู: “มนุษย์แม่เสี่ยงกระดูกพรุน” แพทย์ชี้โอกาสกระดูกหักสูงหากไม่เร่งดูแล
หมวดหมู่: ผู้หญิง