"น้ำยาปรับผ้านุ่ม" กับ 7 ผลกระทบที่ดูแล้วคิดหนัก ว่าควรใช้ต่อหรือพอก่อน

"น้ำยาปรับผ้านุ่ม" กับ 7 ผลกระทบที่ดูแล้วคิดหนัก ว่าควรใช้ต่อหรือพอก่อน

น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นอีกผลิตภัณฑ์จำเป็นสำหรับหลายๆ ครอบครัว โดยการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มนั้นส่วนใหญ่ก็มีเหตุผลเพราะทำให้รู้สึกดีเวลาสัมผัสเนื้อผ้า อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมติดเนื้อผ้าทำให้รู้สึกดีเวลาสวมใส่ แต่ทราบหรือไม่ว่าน้ำยาปรับผ้านุ่มนั้นยังมีผลกระทบที่หลายๆ คนคาดไม่ถึงอีกมากมาย ทราบแล้วอาจต้องคิดใหม่ว่าจะใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มต่อหรือเปล่า โดยกรมวิทยาศาสตร์บริการได้มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับทั้งผลดี และผลเสียของน้ำยาปรับผ้านุ่ม แต่เราได้แยกส่วนของผลเสียมาให้ทราบดังนี้

ผลเสียของน้ำยาปรับผ้านุ่ม                     

1) ลดความสามารถในการดูดซับน้ำ/เหงื่อ (absorbency) ความสามารถในการดูดน้ำ (rewetting)  เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของคุณลักษณะในการดูดซับน้ำ/เหงื่อของผ้า  ผ้าขนหนูที่เคลือบด้วยส่วนที่ไม่ชอบน้ำของสารประกอบในน้ำยาปรับผ้านุ่มจะลดความสามารถในการดูดซับน้ำ/เหงื่อ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของผ้าฝ้ายที่ใช้ทำกางเกงผ้าอ้อมเด็ก ถ้าไม่ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มมากเกินไป  ผ้าจะยังสามารถดูดน้ำได้ทั้งๆที่มีสายโซ่ของส่วนที่ไม่ชอบน้ำ(hydrophobic)  ถ้าใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มมากเกินไป จะทำให้ผ้าเปลี่ยนคุณสมบัติเป็นผ้าที่ไม่ดูดซับน้ำ/เหงื่อ (waterproof fabric) เช่น ผ้าเช็ดตัวผ้าฝ้าย ผ้าอ้อมและผ้าพอลิเอสเตอร์ ทำให้รู้สึกไม่สบายตัวเวลาอากาศร้อน(thermal discomfort) ซึ่งเกิดจากความสามารถในการส่งผ่านไอน้ำ(water vapor transmission) และการซึมผ่านอากาศ (air permeability) ของผ้าฝ้ายและผ้าใยสังเคราะห์ลดลง   โดยเฉพาะเมื่อจำนวนครั้งของการซักมากขึ้น(หลังซัก 15 ครั้งในผ้าใยสังเคราะห์)  ทั้งนี้เนื่องจากน้ำยาปรับผ้านุ่มไม่ได้ถูกกำจัดให้หมดหลังการซักครั้งต่อไป ทำให้มีการสะสมของน้ำยาปรับผ้านุ่มบนผ้าเมื่อใช้เป็นประจำ                     

2) ลดความแข็งแรงของผ้า (fabric strength)  การไม่ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มหลังการซักผ้าจะช่วยรักษาความแข็งแรงของผ้าไว้ได้ดีกว่าการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม โดยสังเกตจากค่าแรงดึงของผ้าทอ (tensile strength) และค่าแรงดึงของผ้าถัก (bursting strength) ที่ลดลง  ซึ่งแสดงให้เห็นว่าน้ำยาปรับผ้านุ่มทำให้ความแข็งแรงของผ้าลดลง                    

3) ทำให้เกิดเม็ดขน (pilling) การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มไม่ว่าจะใช้มากหรือน้อยก็ตามจะเพิ่มปุยขน(nap) ขึ้นบนผิวหน้าของผ้าขนหนูผ้าฝ้าย  เส้นด้ายของผ้าฝ้าย  ปกติจะชอบน้ำ (hydrophilic) และเกาะกันแน่นกับหยดน้ำ  เมื่อหยดน้ำแห้งก็จะหดตัวและดึงเส้นด้ายเนื้อฝ้ายเข้าหา ส่วนผ้าขนหนูที่ไม่ได้ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม  เมื่อผ้าแห้ง  เส้นด้ายจะถูกกดเข้าด้วยกันและเกิดปุยขนเล็กๆ  ดังนั้นการใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มจะทำให้เกิดเม็ดขนที่ใหญ่และนุ่มกว่าการไม่ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม โดยเสื้อไหมพรมสามารถเกิดเม็ดขนที่ใหญ่ขึ้นได้ (formation of bigger pills)                    

4) ลดความขาว (reduce fabric whiteness) การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มหลังการซักผ้าจะทำให้ความขาวของผ้า (whiteness) ลดลง  ถ้าใช้เป็นประจำและมีการสะสมของน้ำยาปรับผ้านุ่มก็อาจทำให้ผ้าเหลือง โดยเฉพาะกับผ้าขนหนูผ้าฝ้าย 100%  ผลที่เกิดขึ้นนี้สามารถเห็นได้ภายหลังจากการใช้เพียง 4  ครั้งเท่านั้น                    

5) เพิ่มความสามารถในการติดไฟ (flammability) การใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มเป็นประจำจะเพิ่มความสามารถในการติดไฟและทำให้ผ้าติดไฟเร็วขึ้นทั้งผ้าฝ้ายและผ้าใยสังเคราะห์  แต่ผ้าส่วนใหญ่ที่ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มในปริมาณที่กำหนดยังมีค่าไม่เกินระดับที่กฎหมายในต่างประเทศกำหนดไว้  ซึ่งมียกเว้นในผ้าฝ้ายบางชนิด  ความสามารถในการติดไฟเป็นประเด็นสำคัญของเสื้อผ้าและอุตสาหกรรมสิ่งทอมากเนื่องจากเป็นอันตรายกับร่างกายและทำให้ผ้าเสียคุณสมบัติ  ความสามารถในการติดไฟของผลิตภัณฑ์สิ่งทอและของเสื้อผ้าถูกกำหนดโดยการแสดงลักษณะพิเศษในขณะเผาไหม้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความง่ายในการเผาไหม้และความทนทานต่อการเผาไหม้หลังจากการจุดไฟ  มีองค์ประกอบหลายอย่าง  เช่น ปริมาณเส้นใยผ้า (fiber content) น้ำหนักผ้า โครงสร้างของผ้า  สารที่ใช้ตกแต่งผ้าและการออกแบบผ้าล้วนแต่มีผลต่อความสามารถในการติดไฟของเสื้อผ้าทั้งสิ้น

น้ำยาปรับผ้านุ่มลดความสามารถในการขัดขวางไฟ (flame retardancy)  ของเสื้อนอนเด็ก จึงไม่แนะนำให้ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่ม  ยกเว้นกรณีพิเศษที่ได้รับการทดสอบแล้วว่าไม่มีปัญหาเรื่องการต่อต้านไฟ (flame  resistant) ผ้าฝ้ายถ้ายิ่งซักก็จะยิ่งเพิ่มความสามารถในการติดไฟ  สำหรับผ้าใยสังเคราะห์  ความสามารถในการติดไฟจะเพิ่มขึ้นหลังการใช้ครั้งแรก  แต่หลังจากใช้ไป 15 ครั้ง การเพิ่มความสามารถในการติดไฟจะไม่ชัดเจน                              

6) การเกิดอาการแพ้ที่ผิว (allergy on the skin) เป็นผลที่เกิดโดยตรงกับผู้ใช้แต่ละคน ซึ่งความเป็นจริงพบว่า ไม่ใช่สารเคมีทุกตัวที่ใช้ในกระบวนการซักผ้าจะถูกกำจัดออกไปได้หมดจากเสื้อผ้าหลังจากการล้างน้ำจนหมดฟองแล้ว  สารเคมีบางตัวในน้ำยาปรับผ้านุ่มยังคงติดอยู่บนผ้าและสามารถรู้สึกได้โดยการสัมผัส เช่น เกิดอาการแพ้ (allergy) และเกิดการระคายเคือง (irritating) หรือทำให้น้ำยาปรับผ้านุ่มเพิ่มโอกาสที่จะเป็นภูมิแพ้แบบไฮโปแอลเลอจีนิค (hypoallergenic)                    

อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาเกี่ยวกับน้ำยาปรับผ้านุ่มที่มีต่อผิวหนังของผู้ใช้ในอเมริกา  ผลการศึกษาที่ทำกับน้ำยาปรับผ้านุ่มยี่ห้อดังยี่ห้อหนึ่ง (ซึ่งมีส่วนผสมไม่เหมือนกับน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ขายในประเทศไทย)  ปรากฏว่าไม่พบว่าเกิดอาการแพ้  ไม่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการแพ้ (sensitizers) หรือไม่เกิดการระคายเคืองกับผิวหนังเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นประจำ (ในปริมาตรที่กำหนดไว้บนฉลาก) หรือกับเสื้อผ้าที่สวมใส่ก็ไม่มีผลเสียกับผิวหนังโดยผ้าที่นุ่มจะมีผลดีกับผิวที่แตก (damaged skin)  ผิวของเด็กอ่อน (infant) และผิวแพ้ง่าย (sensitive skin)   ดังนั้นจึงควรทดสอบให้แน่ใจว่าน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ใช้จะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้  ไม่ว่าจะเป็นอาการแพ้ที่เกิดจากสารประกอบหลักของน้ำยาปรับผ้านุ่มเองหรือเกิดจากน้ำหอมที่ใช้ใส่ในน้ำยาปรับผ้านุ่มก็ตาม                     

7) เกิดการจับตัวเป็นก้อน (clump) เหนียวๆ  ผ้าอาจสะอาดน้อยลง ประจุบวกของสารประกอบควอเทอนารีแอมโมเนียมของน้ำยาปรับผ้านุ่มเข้ากันไม่ได้กับประจุลบของของสารซักฟอก ดังนั้นเมื่ออยู่รวมกันในน้ำ ประจุของสารทั้งสองนี้จะดูดซึ่งกันและกันและจับตัวเป็นก้อน (clump) เหนียวๆ บนผ้าหรือจับตามส่วนต่างๆ ของเครื่องซักผ้าโดยข้อต่อของท่อระบายน้ำจะเกิดการอุดตันจากก้อนเหนียวๆ นี้  ถ้าผสมกับสิ่งสกปรกจากผ้าที่ซักด้วยแล้วก็จะเห็นเป็นสีเทาดำหรือน้ำตาลดำ ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการเกิดก้อนเหล่านี้โดยแยกสารทั้งสองชนิดนี้ออกจากกันให้ชัดเจน นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมต้องใส่น้ำยาปรับผ้านุ่มภายหลังจากที่ล้างผงซัก ฟอกออกจนหมดแล้ว ผ้าที่ซักถ้ายังรู้สึกว่าซักไม่สะอาดหมดจดอาจเป็นเพราะน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ใส่ลงไปนั้น ไปเคลือบสิ่งสกปรกที่ยังติดอยู่บนเนื้อผ้า ทำให้สิ่งสกปรกเหล่านั้นเกาะติดเสื้อผ้าแน่นขึ้นและทำให้การซักทำได้ยากมากขึ้นในการซักครั้งต่อไป

คุณกำลังดู: "น้ำยาปรับผ้านุ่ม" กับ 7 ผลกระทบที่ดูแล้วคิดหนัก ว่าควรใช้ต่อหรือพอก่อน

หมวดหมู่: ผู้หญิง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด