"นิ้วล็อก" กับอาการเริ่มต้นที่คุณอาจกำลังเสี่ยง

ใครที่งอนิ้ว เหยียดนิ้ว แล้วมีความรู้สึก “กึ๊กๆ” คล้ายสปริง ระวังเสี่ยง “นิ้วล็อก”

"นิ้วล็อก" กับอาการเริ่มต้นที่คุณอาจกำลังเสี่ยง

หลายๆ คนคงจะเคยมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้ว เหยียดนิ้ว-งอนิ้วไม่สะดวก หรือรู้สึกว่าการงอนิ้ว เหยียดนิ้ว มีความรู้สึก “กึ๊กๆ” คล้ายสปริง และที่ร้ายสุดคือมีอาการเจ็บมากจนไม่สามารถงอนิ้วได้ ลักษณะอาการดังที่กล่าวมา เราเรียกภาวะนี้ว่าผู้ป่วยเป็น "โรคนิ้วล็อก"  (Trigger Finger)

โรคนิ้วล็อก (Trigger Finger) คืออะไร?

ร.ต.อ.นพ.วรพล เจริญพร แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยศาสตร์กระดูกและข้อ-ศัลยกรรมทางมือและจุลศัลยกรรม โรงพยาบาลนวเวช ได้กล่าวถึงสาเหตุ และวิธีรักษาโรคนิ้วล็อก สำหรับใครที่สงสัยว่าอาการที่ตัวเองเป็นอยู่ใช่นิ้วล็อกหรือเปล่า ลองสังเกตตัวเองจากข้อมูลเหล่านี้ดู และคุณหมอก็ยังมีวิธีป้องกันโรคนิ้วล็อกมาฝากด้วย

สาเหตุโรคนิ้วล็อก

โรคนิ้วล็อกเกิดมาจากความขยันในการทำงานบ้าน ทำสวน การเล่นกีฬา หรือเเม้กระทั่งการทำงานของพนักงานออฟฟิศ รวมถึงการเล่นโทรศัพท์มือถือที่ต้องใช้การงอนิ้ว เหยียดนิ้ว เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง

สัญญาณอันตราย อาการโรคนิ้วล็อก

โรคนิ้วล็อกนั้นเกิดจากปลอกหุ้มเอ็นที่ใช้ในการขยับนิ้วมีอาการอักเสบ โดยอาการของนิ้วล็อกมี 4 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 : เริ่มเเรกผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดบริเวณโคนนิ้วนั้นๆ

ระยะที่ 2 : รู้สึกว่าการงอนิ้ว เหยียดนิ้ว สะดุดโดยจะมีลักษณะคล้ายสปริงที่จะดีดอย่างรวดเร็วร่วมกับอาการปวดอย่างมากขณะขยับนิ้ว

ระยะที่ 3 : ไม่สามารถเหยียดนิ้วเองได้ ต้องใช้นิ้วอื่นช่วยยืด

ระยะที่ 4 : ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดรุนเเรงจนไม่สามารถทำการงอนิ้วนั้นได้อีกต่อไป

วิธีการป้องกันโรคนิ้วล็อก

  • เเช่มือในน้ำอุ่น 
  • งอนิ้ว เหยียดนิ้ว ให้สุดเบาๆ 
  • ทำการบริหารนิ้วมือเเบบง่ายๆ ทุกวัน
  • พักการใช้งานคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือเมื่อนิ้วมือมีอาการเหนื่อยล้า                                                       
  • หลีกเลี่ยงการถือของหนักเเละการกำมือเเน่น ๆ เช่น บิดผ้า การตีเทนนิส การตีกอล์ฟ เป็นต้น

การตรวจรักษาโรคนิ้วล็อก

เมื่อมีอาการหรือพบผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรมาพบเเพทย์ เพื่อที่ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวินิจฉัย การรักษาให้เหมาะสม และไม่ให้การดำเนินของโรครุนเเรงจนเกินไป ทำให้บั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เมื่อเเพทย์ได้ทำการวินิจฉัยเเล้วจะเเบ่งการรักษาตามความรุนเเรงของอาการ ดังนี้

  • การกินยาเเก้อักเสบ
  • การประคบร้อน กายภาพบำบัด หรือการดามนิ้ว
  • การฉีดยาสเตียรอยด์ที่ปลอกหุ้นเอ็น

หากผู้ป่วยยังไม่ตอบสนองต่อการรักษา การรักษาลำดับต่อไปคือการผ่าตัด ซึ่งมีทางเลือก ดังนี้

  • การเจาะรูใช้เข็มเปิดปลอกหุ้นเอ็น คือการผ่าตัดแบบแผลเล็กที่ใช้อุปกรณ์ขนาดเล็ก โดยมีแผลเท่ากับขนาดของรูเข็ม และผู้ป่วยฟื้นตัวไว
  • การผ่าตัดเปิดปลอกหุ้นเอ็น เป็นวิธีการมาตรฐานที่เปิดแผลขนาด 3-6 มม. เพื่อเข้าไปทำการตัดพังผืดที่กดหุ้มเส้นเอ็น ผู้ป่วยจะสามารถกลับไปทำงานได้ปกติทันทีหลังผ่าตัด

โดยการรักษาเเต่ละวิธีการจะมีความเหมาะสมต่อผู้ป่วยที่เเตกต่างกันไป แพทย์เฉพาะทางจะให้คำปรึกษาเเก่ผู้ป่วยโดยเเจ้งรายละเอียด ข้อดี-ข้อเสียของการรักษาเเละร่วมตัดสินใจไปพร้อมกับผู้ป่วย

คุณกำลังดู: "นิ้วล็อก" กับอาการเริ่มต้นที่คุณอาจกำลังเสี่ยง

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว