เปิด 4 กลยุทธ์ พาผู้ประกอบการชาวไทย มุ่งสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์โลก
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ประเมิน การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ไทยในปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับที่สูงกว่าปี 2562 แนะ 4 กลยุทธ์พาไทยไปสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์โลก
ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC ประเมิน การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ไทยในปี 2566 มีแนวโน้มฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับที่สูงกว่าปี 2562 คาดมีมูลค่า 2.9 หมื่นล้านบาท แนะ 4 กลยุทธ์พาไทยไปสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์โลก
SCB EIC ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ วิเคราะห์แนวโน้มเทรนด์การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในประเทศไทย มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยถือเป็นการเติบโตต่อเนื่องจากปี 2565 ซึ่งในปี 2566 ถูกประเมินว่าน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท
ปัจจัยที่ทำให้ประเทศไทย มีโอกาสสร้างจุดแข็งในด้านการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ SCB EIC ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ด้วยกัน 3 ประการ ได้แก่ หนึ่ง-ค่ารักษาพยาบาลมีราคาที่สมเหตุสมผล สอง-บุคลากรทางการแพทย์ของไทยมีความเชี่ยวชาญในหลากหลายสาขา และมีสถานพยาบาลระดับสากลได้รับมาตรฐาน JCI มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน จำนวน 59 แห่ง และสาม-จากการที่ไทยมีแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ซึ่งช่วยดึงดูดให้นักท่องเที่ยวอยากเข้ามาพักผ่อนต่อเนื่อง
พร้อมกันนี้ ตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศไทย ยังได้รับอานิสงส์จากการที่เกิดเมกะเทรนด์ด้านสุขภาพ ทำให้ตลาดนี้ยังมีโอกาสเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องของ การก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสูงวัย (Silver economy), การเติบโตของชนชั้นกลางและกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก, แนวโน้มการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มาจากการกิน ดื่ม และความเครียด อย่าง โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหัวใจ เป็นต้น และพฤติกรรมที่ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นหลังเกิดวิกฤติโรคระบาดโควิด-19
แม้ว่าไทยจะเป็นพื้นที่ที่ดูจะได้เปรียบสำหรับการปั้นโมเดลการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ให้กลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลก แต่ไทยก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายไม่น้อย โดยเฉพาะจากการที่ ไทยมีคู่แข่งในตลาดนี้เป็นจำนวนมาก เช่น ตุรกี กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย และสิงคโปร์
สอง-การขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์และบริการสนับสนุน เพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์เนื่องจากบุคลากรในระบบสาธารณสุขยังอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งชั้นนำ รวมถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองไหล (Brain drain) จากปัจจัยข้อจำกัดในหลายด้านทั้งสภาพแวดล้อมการทำงาน ค่าตอบแทน ทุนการศึกษาที่จำกัด ที่ส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์มีแนวโน้มย้ายออกจากระบบสาธารณสุขของรัฐและกระทบต่อความมั่นคงด้านสาธารณสุขในภาพรวมทั้งประเทศ
สาม-กระแส HealthTech ที่มีผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัว เพื่อเพิ่มความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการรักษาควบคู่ไปกับการนำมาช่วยยกระดับการให้บริการ เช่น การใช้ AI ในการช่วยวินิจฉัยโรค, การใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด, ระบบข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยแบบดิจิทัล, แพลตฟอร์มนัดรักษาออนไลน์ และการใช้ Tele-medicine เป็นต้น
ในมุมมองของ SCB EIC เชื่อว่า กลยุทธ์ที่จะสร้างโอกาสให้ไทยกลายเป็น ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์โลก มีด้วยกัน 4 กลยุทธ์หลัก
1. การสร้างและผลักดัน Branding การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ด้วยการพัฒนาความเชี่ยวชาญการรักษาเฉพาะด้าน
2. การสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ (Partnership) กับภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งโรงพยาบาล สายการบิน โรงแรม รีสอร์ต สปา ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ บริษัททัวร์ และบริษัทประกัน โดยการออกแพ็กเกจครบวงจร ครอบคลุมการท่องเที่ยวและการแพทย์เข้าไว้ด้วยกัน
3. การสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาคการศึกษา และภาครัฐ รวมถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ-ภาครัฐ
4. การนำ HealthTech มาปรับใช้ในธุรกิจ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการให้บริการ และการอำนวยความสะดวก
คุณกำลังดู: เปิด 4 กลยุทธ์ พาผู้ประกอบการชาวไทย มุ่งสู่ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์โลก
หมวดหมู่: เที่ยว-กิน