เปิดประวัติ "พระพรหมเอราวัณ" ที่มาแห่งศรัทธาของชาวไทยและต่างชาติ
เปิดประวัติ “พระพรหมเอราวัณ” ศูนย์รวมแห่งศรัทธาของชาวไทย และต่างชาติ ที่แวะเวียนมากราบไหว้บูชาอย่างไม่ขาดสาย มีที่มาอย่างไร
ประวัติพระพรหมเอราวัณ
“พระพรหมเอราวัณ” หรือศาลท้าวมหาพรหม ตั้งอยู่หน้าโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ถนนราชดำริ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในบรรดาศาลบริเวณแยกราชประสงค์ที่ผู้คนจำนวนมากทั้งชาวไทย และต่างชาติ ให้ความศรัทธาและมากราบไหว้บูชาอย่างต่อเนื่อง ถึงกับเป็นหนึ่งในไฮไลต์ของการทัวร์กรุงเทพฯ ที่ชาวต่างชาติโดยเฉพาะชาวจีนต้องแวะมาให้ได้
ที่มาของการตั้งพระพรหมเอราวัณที่บริเวณแยกราชประสงค์เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ. 2494 พลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ กำหนดให้มีการก่อสร้างโรงแรมเอราวัณขึ้นบริเวณสี่แยกราชประสงค์ เพื่อรองรับแขกต่างประเทศ ว่ากันว่าในช่วงแรกของการก่อสร้างเกิดอุบัติเหตุขึ้นมากมาย เมื่อการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ ปลายปี พ.ศ. 2499 ทาง บริษัท สหโรงแรมไทยและการท่องเที่ยว จำกัด ผู้บริหารโรงแรมได้ติดต่อ พลเรือตรีหลวงสุวิชาน แพทย์ ร.น. นายแพทย์ใหญ่ กองทัพเรือ ผู้ทรงคุณวุฒิในเรื่องการนั่งทางใน เข้าดำเนินการหาฤกษ์วันเปิดโรงแรม
พลเรือตรีหลวงสุวิชานแพทย์ได้ท้วงติงว่า ในการก่อสร้างโรงแรมไม่ได้มีการทำพิธีบอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในบริเวณนั้นก่อน ฤกษ์ในการวางศิลาฤกษ์ของโรงแรมก็ไม่ถูกต้อง อีกทั้งชื่อของโรงแรม "เอราวัณ" นั้น เป็นชื่อของช้างทรงของพระอินทร์ ถือเป็นชื่อที่ศักดิ์สิทธิ์ จำเป็นต้องมีการบวงสรวงที่เหมาะสม วิธีการแก้ไขจะต้องขอพรจากพระพรหมเพื่อช่วยให้อุปสรรคหมดไป และจะต้องสร้างศาลพระพรหมขึ้นทันทีหลังจากการก่อสร้างโรงแรมแล้วเสร็จ และสร้างศาลพระภูมิขึ้นไว้ในโรงแรม
จากนั้นจึงได้มีการตั้งศาล “พระพรหมเอราวัณ” ขึ้น ออกแบบตัวศาลโดยนายระวี ชมเสรี และ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล องค์ท้าวมหาพรหมปั้นด้วยปูนปลาสเตอร์ปิดทอง ออกแบบและปั้นโดยนายจิตร พิมพ์โกวิท ช่างกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร และอัญเชิญพระพรหมมาประดิษฐานที่หน้าโรงแรมเอราวัณ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 โรงแรมเอราวัณจึงได้ถือเอาวันที่ 9 พฤศจิกายน ของทุกปีทำพิธีบวงสรวงเทวสถานแห่งนี้เป็นประจำตลอดมา
พระพรหมเอราวัณ ถือเป็นศาลพระพรหมศาลแรกที่มีขนาดใหญ่ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู พระพรหมเป็นพระผู้สร้าง และทรงมีสี่พระพักตร์ แต่ละพระพักตร์เป็นดั่งสัญลักษณ์แทนทิศทั้งสี่ คือ เหนือ ใต้ ตะวันออก และตะวันตก ทำให้พระองค์สามารถมองเห็นและปกปักรักษาได้ทั้งโลกมนุษย์และสวรรค์ พระองค์ช่วยปัดเป่าความขัดข้อง อุปสรรค และส่งเสริมโชคและความสำเร็จ ของผู้สักการะที่มีจิตศรัทธาสมปรารถนา
ปัจจุบัน พระพรหมเอราวัณ อยู่ในความดูแลของ "มูลนิธิทุนท่านท้าวมหาพรหม" นักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจเข้าเยี่ยมชมสักการะศาลท่านท้าวมหาพรหม โรงแรมเอราวัณอันศักดิ์สิทธิ์ ก็สามารถเข้าชมสักการะได้ทุกวัน ไม่มีวันหยุด โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมแต่อย่างใด
วิธีบูชาพระพรหมเอราวัณที่ถูกต้อง
เนื่องจากพระพรหมมี 4 พักตร์ 4 ทิศ จึงแนะนำว่าควรบูชาให้ครบทั้ง 4 พักตร์ 4 ทิศด้วย หากบูชาเพียงหน้าเดียวก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เชื่อกันว่าจะได้พรเพียงเรื่องเดียวจากท่าน หากต้องการได้รับพรครบทุกประการ ก็ต้องมีวิธีการที่ถูกต้อง อันดับแรกคือ เตรียมของในการสักการะพระพรหมให้ครบ 4 ธาตุก่อน ได้แก่
- ธาตุดิน คือ ดอกบัว
- ธาตุน้ำ คือ น้ำสะอาด
- ธาตุลม คือ ธูป
- ธาตุไฟ คือ เทียน
การสักการะ “พระพรหมเอราวัณ” เริ่มจากพักตร์แรกและเวียนขวามือของเรา ซ้ายมือของท่าน จนไปถึงหน้าสุดท้าย การขอพรทุกพักตร์จะมีความหมายต่างกัน
- พักตร์แรก ใช้ธูป 16 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด สำหรับความหมายพักตร์แรกให้ขอเกี่ยวกับเรื่องการงาน การเรียน สิ่งที่ต้องรับผิดชอบในชีวิต การสอบ ขอเกี่ยวกับการเลื่อนตำแหน่งงาน และความก้าวหน้าในชีวิต ขอเกี่ยวกับเรื่องพ่อ
- พักตร์ที่สอง ใช้ธูป 36 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด พักตร์ที่สองขอเกี่ยวกับเรื่องอสังหาริมทรัพย์ สังหาริมทรัพย์ เรื่องเงินๆ ทองๆ ที่ดิน บ้าน คอนโด รถยนต์ อยากมีหรืออยากได้ให้ขอหน้านี้ รวมทั้งหนี้สิน ที่มีคนยืมไปแล้วไม่คืน
- พักตร์ที่สาม ใช้ธูป 39 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด พักตร์ที่สามให้ขอเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ คู่ชีวิต ครอบครัว ญาติพี่น้อง เรื่องเกี่ยวกับแม่ คู่สัญญา หุ้นส่วน ความมั่นคงของชีวิต
- พักตร์ที่สี่ ใช้ธูป 19 ดอก เทียน 9 เล่ม ดอกบัว 9 ดอก น้ำ 1 ขวด พักตร์ที่สี่ขอเกี่ยวกับเรื่องโชคลาภ สิ่งที่ได้มาโดยบังเอิญ การขอกู้ยืมเงิน ขอออเดอร์สินค้า เรื่องของบุตร ใครยังไม่มีบุตรให้มาขอได้ ประสบผลสำเร็จ
คุณกำลังดู: เปิดประวัติ "พระพรหมเอราวัณ" ที่มาแห่งศรัทธาของชาวไทยและต่างชาติ
หมวดหมู่: วัฒนธรรม