เปิดที่มา “วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ” พร้อมกฎของลูกเสือมีอะไรบ้าง
วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ (National Scout Day) ตรงกับวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันสำคัญของลูกเสือไทยทั่วประเทศ มีจุดเริ่มต้นและที่มาเป็นอย่างไร ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐออนไลน์รวมมาให้แล้ว
ที่มาของวันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ
จุดเริ่มต้นของลูกเสือไทย มาจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือรัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนากองเสือป่าขึ้นก่อนเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2454 เพื่อฝึกอบรมข้าราชการพลเรือนให้เรียนรู้วิชาการด้านทหาร เพื่อเป็นกำลังสำรองในยามเกิดศึกสงคราม และเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ต่อประชาชนในยามสงบ เช่น ช่วยปราบปรามโจรผู้ร้าย เป็นต้น รวมทั้งยังช่วยปลูกฝังให้คนไทยรู้จักรักชาติ มีมนุษยธรรม มีความเสียสละ สามัคคี และมีความกตัญญู
หลังจากที่กิจการเสือป่าเจริญมีความเติบโตมั่นคงดีแล้ว รัชกาลที่ 6 จึงมีพระบรมราชโองการจัดตั้งกองลูกเสือขึ้นในวันที่ 1 กรกฎาคม ซึ่งถือเป็นประเทศที่ 3 ของโลกที่จัดตั้งกองลูกเสือขึ้น ต่อจากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา จากนั้นนานาชาติในยุโรปจึงจัดตั้งกองลูกเสือของตนเองขึ้นบ้าง ทำให้ลูกเสือกลายเป็นองค์การสากล และมีความสัมพันธ์กันทั่วโลก โดยถือว่าลูกเสือทั่วโลกเป็นพี่น้องกันหมด
กิจกรรมในวันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ
เพื่อเป็นการระลึกถึงรัชกาลที่ 6 ผู้ทรงก่อตั้งกิจการลูกเสือไทยให้พัฒนารุ่งเรืองจนถึงปัจจุบัน จึงกำหนดให้ทุกวันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น "วันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ" หรือ "วันลูกเสือ" พร้อมจัดกิจกรรมเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ โดยนำพวงมาลาไปถวายบังคมที่พระบรมรูป สถานพระบรมราชานุสรณ์ รวมทั้งมีการสวนสนามในโรงเรียน หรือสถานที่ต่างๆ เช่น สนามศุภชลาศัย หรือสนามกีฬาแห่งชาติ เพื่อแสดงความเคารพ พร้อมกล่าวทบทวนคำปฏิญาณต่อองค์พระประมุขคณะลูกเสือแห่งชาติ เพื่อประกาศความเป็นลูกเสืออย่างแท้จริง
ประเภทของลูกเสือไทย
- ลูกเสือสำรอง: อายุตั้งแต่ 7-10 ปี เทียบเท่าชั้นเรียน ป.1-ป.4 โดยมีคติพจน์คือ ทำดีที่สุด
- ลูกเสือสามัญ: อายุตั้งแต่ 11-12 ปี เทียบเท่าชั้นเรียน ป.5-ป.6 โดยมีคติพจน์คือ จงเตรียมพร้อม
- ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่: อายุตั้งแต่ 13-15 ปี เทียบเท่าชั้นเรียน ม.1-ม.3 โดยมีคติพจน์คือ มองไกล
- ลูกเสือวิสามัญ: อายุตั้งแต่ 16-18 ปี เทียบชั้นเรียน ม.4-ม.6 โดยมีคติพจน์คือ บริการ
- ลูกเสือชาวบ้าน: อายุตั้งแต่ 15-18 ปี มีคติพจน์คือ เสียชีพอย่าเสียสัตย์
- สำหรับเนตรนารี จะมีรูปแบบประเภทเหมือนกัน แตกต่างกันที่ชื่อเรียก
คำปฏิญาณของลูกเสือ “ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า”
ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ
กฏของลูกเสือ 10 ข้อ ได้แก่
- ข้อ 1 ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
- ข้อ 2 ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
- ข้อ 3 ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
- ข้อ 4 ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสือทั่วโลก
- ข้อ 5 ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
- ข้อ 6 ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์
- ข้อ 7 ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดาและผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
- ข้อ 8 ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความลำบาก
- ข้อ 9 ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
- ข้อ 10 ลูกเสือประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ
อ้างอิงข้อมูล: สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดกรุงเทพมหานคร
คุณกำลังดู: เปิดที่มา “วันสถาปนาลูกเสือแห่งชาติ” พร้อมกฎของลูกเสือมีอะไรบ้าง
หมวดหมู่: วัฒนธรรม