เปิดสถาปัตย์ชิ้นเอก “บ้านพิษณุโลก-วังพญาไท” มรดกชาติจากสายพระเนตรยาวไกล ร.5 และ ร.6

เปิดสถาปัตย์ชิ้นเอก “บ้านพิษณุโลก-วังพญาไท” มรดกชาติจากสายพระเนตรยาวไกล ร.5 และ ร.6

รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์ถึง 40 ปีเศษ “บางกอก” ในสมัยนั้นมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมากทั้งในทางสังคม, เศรษฐกิจ และการเมือง โดยการเปลี่ยนแปลงของสถาปัตยกรรมในช่วงปลายรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6 เป็นช่วงสำคัญที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์สยาม ที่สะท้อนให้เห็นถึงสายพระเนตรอันยาวไกลของพระมหากษัตริย์ไทย

เพื่อตามรอยสถาปัตยกรรมในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ตลอดจนน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ไทย สมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สนจ.) ภายใต้การนำของ “รัตนาวลี โลหารชุน” ประธานกิจกรรมโครงการ “CU Alumni Connex สนจ.” ประเดิมกิจกรรมแรก “The Ultimate Walk the Talk : Italian Archi tecture and Style in Siam” ด้วยการพาเหล่านิสิตเก่าจุฬาฯย้อนประวัติศาสตร์ “บ้านพิษณุโลก-วังพญาไท” ต้นกำเนิดแห่งสถาปัตยกรรมชิ้นเอกของชาติ ที่สะท้อนถึงสายพระเนตรอันยาวไกลของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 โดยมี “ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง” จากคณะสถาปัตยกรรม จุฬาฯ เป็นวิทยากร

“บ้านพิษณุโลก” เดิมชื่อ “บ้านบรรทมสินธุ์” เป็นบ้านพระราชทาน ที่รัชกาลที่ 6 ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้ปลูกสร้างขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อพระราชทาน แก่ “มหาเสวกเอก พลตรี พระยาอนิรุทธเทวา” (ม.ล.ฟื้น พึ่งบุญ) บุตรชายของ “พระนมทัต” ผู้ซึ่งล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ทรงคัดเลือกให้เป็น “แม่นม” ถวายแด่ทูลกระหม่อมโต “เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ”

“ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง” ให้ความรู้ว่า “บ้านบรรทมสินธุ์” เป็นบ้านที่สร้างขึ้นพร้อม “บ้านนรสิงห์” ของ “เจ้าพระยารามราฆพ (ม.ล.เฟื้อ พึ่งบุญ)” ซึ่งปัจจุบันคือตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยรัชกาลที่ 6 ทรงวางผังด้วยพระองค์เอง โปรดเกล้าฯให้ “นายมาริโอ ตามาญโญ” นายช่างสถาปนิกชาวอิตาเลียนที่เข้ามารับราชการในกระทรวงโยธาธิการ ตั้งแต่ พ.ศ.2440 ในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง ใช้เวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2465-2467 บนพื้นที่ 50 ไร่ ประกอบด้วยอาคารประธาน หรือ “ตึกไทยพันธมิตร” และอาคาร บริวาร อาทิ “เรือนเย้าใจ” มีสะพานทอดเชื่อมจากอาคารประธาน ใช้ฝึกซ้อมบทละครพระราชนิพนธ์ และ “ตึกธารกำนัล” ใช้ประทับทอดพระเนตรการแข่งขันฟุตบอล ที่สนามหน้าอาคารทางฝั่งซ้ายของอาคารประธาน อีกทั้งยังเป็นที่ซ้อมละครในบางโอกาส และเป็นสถานที่รอเฝ้ารับเสด็จฯ โดยนางกำนัลผู้ติดตามรวมกันอยู่ที่นี่ ก่อนจะมีเรือนพัก 39 คูหา ที่รายล้อมอยู่ด้านหลังนอกเขตบ้าน มีประตูทางเข้าออกเฉพาะของข้าราชบริพาร

ที่มาของชื่อ “บ้านบรรทมสินธุ์” ตั้งตามประติมากรรมสไตล์อิตาเลียนรูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของบ้าน ที่ด้านหน้าอาคารประธานหลัก ในช่วงสงครามโลกครอบครัวอนิรุทธเทวาย้ายไปพักอาศัยที่วัดตำหนักเหนือ เลยปากเกร็ดไปทางอยุธยา “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” ต้องการบ้านพักรับรอง “นายพลโตโจ” นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่จะมาเยือนไทย จึงติดต่อขอซื้อบ้าน ซึ่ง “พระยาอนิรุทธเทวา” ขายให้เพียงบางส่วน คือในส่วนของบ้านบรรทมสินธุ์ปัจจุบัน ขณะที่ในส่วนโรงพยาบาลมิชชันปัจจุบันขายให้นายแพทย์ฝรั่งหลังสงครามโลกสงบลงภายหลัง “บ้านบรรทมสินธุ์” ถูกใช้เป็นที่ทำการกรมประสานงานไทยญี่ปุ่น มีการเปลี่ยนชื่ออาคารประธานเป็น “ไทยพันธมิตร” และเปลี่ยนชื่อบ้านเป็น “บ้านพิษณุโลก” ตามชื่อถนน ทั้งนี้ “นายตามาญโญ” สามารถผสมผสานความรู้เรื่องวัสดุโครงสร้างสมัยใหม่อย่างคอนกรีต, เหล็ก, กระจก เข้ากับงานสถาปัตยกรรมแบบไทยๆ เขาคือผู้อยู่เบื้องหลังการออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคม, ตึกไทยคู่ฟ้า, ทำเนียบรัฐบาล, วังปารุสกวัน, บ้านพระยาสุริยานุวัตร, พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน และห้องสมุดนีลเซนเฮส์

ความโดดเด่นของ “บ้านบรรทมสินธุ์” อยู่ที่ “อาคารประธาน” ซึ่งถูกออกแบบในสไตล์เวเนเชียนกอธิค (Venetian Gothic Architecture) คือกอธิคในแบบเมืองเวนิส จะมีรายละเอียดการตกแต่งฟุ้งฝันประณีตงดงาม เช่น การใช้เสาเกลียวทรงผอมตกแต่งผนังอาคารด้านนอก ผสานชายคาที่ยื่นออกมาเป็นกันสาด เพื่อให้เข้ากับสภาพอากาศของเมืองไทย ขณะที่บนยอดอาคารมีเสาเล็กๆเรียงต่อกันเหมือนรั้วกำแพงเชิงเทิน (parapet) รวมถึงการตกแต่งหน้าต่างด้วยการทำโค้งยอดแหลมและช่องกระจกทรงกลมมีรอยหยักคล้ายกลีบดอกไม้ ลักษณะการทำซุ้มมีหลังคาโดมยังเป็นลักษณะพิเศษของกอธิคแบบเวนิส เพราะเวนิสเป็นประตูไปสู่เอเชียของยุโรป จึงได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมโลกอาหรับ ซึ่งไม่มีในกอธิคที่ฝรั่งเศสหรือเยอรมัน

การตามรอยสถาปัตยกรรมในสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 คงสมบูรณ์แบบ ไม่ได้ หากไม่ได้เยี่ยมชมศูนย์กลางแห่งอำนาจและความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม “พระราชวังพญาไท” ก่อสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อปี 2452 โดยโปรดเกล้าฯให้ซื้อที่ดิน 100 ไร่เศษ จากชาวนา ชาวสวน เพื่อใช้ทดลองปลูกธัญพืช และเป็นที่ประทับสำราญพระราชอิริยาบถ โรงเรือนหลังแรกที่โปรดเกล้าฯให้สร้างคือ “โรงนา” พระราชทานนามว่า “โรงนาหลวงคลองพญาไท” พร้อมโปรดเกล้าฯให้ย้ายพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่เคยประกอบที่ทุ่งพระเมรุ (ท้องสนามหลวง) มาจัดที่ทุ่งพญาไท อย่างไรก็ดี “พระตำหนักพญาไท” ถูกใช้เป็นที่ประทับของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ในระยะเวลาอันสั้น เพราะเพียงไม่กี่เดือนหลังจากก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์และขึ้นเรือนใหม่ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2453 พระองค์ก็เสด็จสวรรคต

ความวิปโยคจากการสูญเสียสมเด็จพระบรมราชสวามี เป็นเหตุให้ “สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี (สมเด็จพระพันปีหลวง)” ทรงพระประชวรพระอนามัยทรุดโทรมลง พระราชโอรสองค์โต “รัชกาลที่ 6” ทรงวิตกห่วงใย ได้กราบบังคมทูลแนะนำให้แปรพระราชฐานจากในพระบรมมหาราชวัง มาประทับที่วังพญาไท เพื่อเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้ทรงพระสำราญ และเพื่อความสะดวกสำหรับแพทย์และพระประยูรญาติจะได้มีโอกาสเฝ้าเยี่ยม “สมเด็จพระพันปีหลวง” เสด็จฯมาประทับที่พระตำหนักพญาไท พร้อมด้วยพระประยูรญาติใกล้ชิดตลอดพระชนมายุ เป็นเวลาเกือบ 10 ปี ในยุคนั้นพระราชสำนักสมเด็จพระพันปีหลวง ณ วังพญาไท อุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยผู้คนทั้งฝ่ายหน้าฝ่ายใน กล่าวกันว่าผู้สังกัดอยู่ใต้ร่มพระบารมีสมเด็จพระพันปีหลวงมีไม่น้อยกว่า 500 คน ไม่ว่าจะเป็น เชื้อพระวงศ์, พระประยูรญาติ, ข้าหลวง และข้าราชบริพารน้อยใหญ่ ทุกคน ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือน และเงินปี ตลอดจนที่อยู่อาศัยอย่างอุดมสมบูรณ์ตามสมควรแก่ฐานะ ครั้นเมื่อสมเด็จพระพันปีหลวงเสด็จสวรรคตในปี 2462 ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จึงทรงพระราชดำริให้สร้างพระราชมณเฑียรสถานขึ้นใหม่ เพื่อเป็นที่ประทับในวังพญาไท และโปรดเกล้าฯให้ยกขึ้นเป็น “พระราชวังพญาไท” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบรมชนกนาถและพระบรมราชชนนี

ปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปรารภเป็นการส่วนพระองค์กับพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน ผู้บัญชาการกรมรถไฟหลวงว่า พระราชวังพญาไทเป็นอสังหาฯใหญ่โต มีบริเวณกว้างขวางมากต้องสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์จำนวนมากในการบำรุงรักษา หากปรับปรุงเป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างประเทศที่เข้ามาเยี่ยมเยือน และติดต่อธุรกิจในประเทศสยาม ค่าบำรุงรักษาก็คงจะรวมอยู่ในงบของโรงแรมได้ แต่ยังมิทันได้ดำเนินการก็ประจวบกับทรงพระประชวรและเสด็จสวรรคตเสียก่อน เมื่อล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 7 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแทน โปรดเกล้าฯให้กรมรถไฟหลวงปรับปรุง “พระราชวังพญาไท” เป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง ชื่อ “Phya Thai Palace Hotel” ในยุคนั้น “โฮเต็ลพญาไท” จัดเป็นโรงแรมหรูหราที่สุดในภาคพื้นตะวันออกไกล กลายเป็นศูนย์กลางความทันสมัยแห่งยุค เคยได้รับเกียรติเป็นสถานที่จัดประชุมก่อตั้งสโมสรโรตารีกรุงเทพฯครั้งแรกในประเทศไทย และเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกของประเทศไทย ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ในปี 2475 “โฮเต็ลพญาไท” ประสบภาวะขาดทุนอย่างหนัก ประกอบกับกระทรวงกลาโหมต้องการใช้สถานที่เป็นที่ตั้งกองเสนารักษ์ คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้เลิกกิจการโรงแรม พร้อมย้ายสถานีวิทยุกระจายเสียงกรุงเทพฯ ไปตั้งรวมกับสถานีเครื่องส่งโทรเลขที่ศาลาแดง ต่อมากองเสนารักษ์จังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่พระราชวังพญาไท เมื่อเดือนตุลาคม 2475 และในปี 2489 ได้มีการพัฒนากองเสนารักษ์มณฑลทหารบกที่ 1 เป็นโรงพยาบาล ทหารบก พร้อมขอพระราชทานนามใหม่ว่า “โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า” กระทั่งโรงพยาบาลได้ย้ายที่ทำการไปอยู่อาคารหลังใหม่บริเวณใกล้เคียงกัน และกรมแพทย์ทหารบกย้ายออกจากพระราชวังพญาไทไปอยู่อาคารที่ทำการใหม่นอกเขตพระราชฐาน โดยกรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระราชวังพญาไท เป็น “โบราณสถานที่สำคัญของชาติ” ตั้งแต่ปี 2522

ผศ.ดร.พีรศรีบอกเล่าว่า “พระราชวังพญาไท” เป็นงานช่วงท้ายของ “ตามาญโญ” มีลักษณะโดยรวมเป็นอาคารทันสมัยมากขึ้น มีการใช้คอนกรีตและวัสดุโครงสร้างที่มีความมั่นคง ถือเป็นที่สุดของการผสมผสานรูปแบบสถาปัตยกรรมโบราณกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างลงตัว.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

คุณกำลังดู: เปิดสถาปัตย์ชิ้นเอก “บ้านพิษณุโลก-วังพญาไท” มรดกชาติจากสายพระเนตรยาวไกล ร.5 และ ร.6

หมวดหมู่: วัฒนธรรม

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด