ปวดส้นเท้าหรือฝ่าเท้าทุกเช้าหลังตื่นนอน อาจเป็น "โรครองช้ำ"
โรครองช้ำ หรือโรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบเป็นอย่างไร มีอาการอย่างไรบ้าง มาทำความรู้จักกัน
อาการปวดที่ส้นเท้าเมื่อลุกเดินหลังจากตื่นนอนในตอนเช้า เมื่อก้าวเดินจะรู้สึกเจ็บแปลบๆ ที่บริเวณฝ่าเท้าและส้นเท้า แต่จะรู้สึกดีขึ้นเมื่อเดินได้สักพัก อาการเหล่านี้อาจไม่ใช่การปวดเมื่อยธรรมดา หรือการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อชั่วคราว แต่อาจจะเป็นสัญญาณของ โรครองช้ำ ที่ต้องการการรักษาก็เป็นได้ เรามีข้อมูลในเรื่องนี้มาให้คุณแล้ว
โรครองช้ำ คืออะไร?
โรครองช้ำ (Plantar fasciitis) หรือ โรคเอ็นฝ่าเท้าอักเสบ ผู้ที่ป่วยจะมีอาการเจ็บที่ส้นเท้า บางรายอาจเจ็บทั่วทั้งฝ่าเท้า โดยเฉพาะช่วงที่ตื่นนอนในตอนเช้า หากเราลุกเดินในก้าวแรกจะมีอาการเจ็บ หรือก้าวแรกหลังจากที่นั่งพักเป็นเวลานาน โรงรองช้ำเป็นโรคที่พบได้บ่อยในแผนกศัลกรรมกระดูก ปัญหาส่วนใหญ่ของโรค เกิดจากการใช้งานเท้าที่หนักเกินไปทำให้เกิดการสึกหรอ โดยปกติแล้ว เอ็นฝ่าเท้าจะช่วยรองรับอุ้งเท้า และทำหน้าที่ดูดซับแรงกระแทกขณะเดิน เมื่อเอ็นฝ่าเท้าเกิดการอักเสบ ก็ทำให้เรารู้สึกปวด และเดินไม่สะดวก ส่วนใหญ่แล้ว โรคนี้มักจะเกิดกับคนในช่วงวัย 40-70 ปี และมักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
สาเหตุของโรครองช้ำ
- น้ำหนัก หากคุณมีน้ำหนักที่เกินมาตรฐาน
หรือเป็นโรคอ้วน มักจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรครองช้ำ
เพราะน้ำหนักตัวจะกดลงที่เอ็นเท้า
โดยเฉพาะช่วงที่น้ำหนักขึ้นอย่างฉับพลัน อย่างเช่นในหญิงตั้งครรภ์
ที่อาจเกิดโรครองช้ำได้ โดยมักจะพบในช่วงสัปดาห์ปลายๆ
ของการตั้งครรภ์ที่น้ำหนักตัวเพิ่มสูงสุด
- งาน
การทำงานบางอย่างที่ต้องยืนหรือเดินวันละหลายชั่วโมง เช่น ครู
พนักงานขายในห้างสรรพสินค้า พนักงานในโรงงาน
การยืนหรือเดินบนพื้นผิวแข็งๆ เป็นระยะเวลานาน
สามารถทำให้เอ็นฝ่าเท้าเกิดความเสียหายได้
- การเล่นกีฬาหรือกิจกรรมบางอย่าง
กีฬาที่มีแรงกระแทกสูง หรือกิจกรรมทางร่างกายที่ต้องมีการกระโดดซ้ำ
เช่น นักวิ่งระยะไกล นักบัลเลต์ การเต้นแอโรบิก
สามารถทำให้เกิดความเสียหายที่เอ็นฝ่าเท้า และนำไปสู่โรครองช้ำได้
- โครงสร้างเท้า การมีปัญหาโครงสร้างเท้าก็มีส่วน เช่น การมีอุ้งเท้าสูง หรือเท้าแบน อาจทำให้คุณเกิดโรครองช้ำได้ เนื่องจากทำให้เอ็นร้อยหวายซึ่งเชื่อมกล้ามเนื้อน่องกับส้นเท้า เกิดอาการตึง และส่งผลให้เอ็นฝ่าเท้าบาดเจ็บ การใส่รองเท้าพื้นราบ ซึ่งมีพื้นนิ่มเกินไปและปราศจากการรองรับเท้าที่ดี ก็สามารถทำให้เกิดโรครองช้ำได้เช่นกัน
โรครองช้ำรักษาอย่างไรได้บ้าง
- ใช้ยาแก้ปวด
หากอาการไม่มากนัก ในเบื้องต้นการใช้ยาในกลุ่มยาลดการอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์ (NSAID) เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) อย่างเช่น Motrin หรือ Advil และ นาพรอกเซน (naproxen) อย่างเช่น Aleve สามารถช่วยลดอาการอักเสบและปวดได้
- การทำกายภาพบำบัด
นักกายภาพบำบัดสามารถแนะนำท่ายืดกล้ามเนื้อให้แก่คุณ เพื่อช่วยยืดกล้ามเนื้อบริเวณฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวาย และทำให้กล้ามเนื้อขาส่วนล่างแข็งแรงขึ้น ซึ่งจะช่วยในการทำให้ข้อเท้าและส้นเท้ามีความมั่นคงมากขึ้นในยามใช้งาน นักกายภาพบำบัดยังสามารถช่วยสอนคุณในการพันแถบผ้าเพื่อช่วยพยุงฝ่าเท้า ได้อีกด้วย
- การใส่เฝือกอ่อนตอนกลางคืน
นักกายภาพบำบัดหรือหมออาจจะแนะนำให้คุณสวมใส่เฝือกอ่อน ซึ่งช่วยยืดเหยียดกล้ามเนื้อน่อง และอุ้งเท้าในขณะนอนหลับ ซึ่งจะช่วยยืดฝ่าเท้าและเอ็นร้อยหวายในตอนกลางคืนอีกด้วย
- การฉีดยา
เมื่อลองรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วอาการปวดยังไม่ลดลง แพทย์อาจจะรักษาด้วยการฉีดสเตียรอยด์ เข้าไปบริเวณที่มีอาการปวด เพื่อให้อาการปวดบรรเทาลง แต่ไม่ควรฉีดบ่อย เนื่องจากอาจทำให้กล้ามเนื้อถูกทำลายได้ ปัจจุบันนี้ มีการเปลี่ยนมาฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้นที่ใช้ในการรักษา (platelet-rich plasma - PRP) โดยใช้อัลตร้าซาวด์เป็นคลื่นนำทางเข้าสู่จุดที่เหมาะสมในการฉีด การฉีดด้วย PRP สามารถช่วยลดความเจ็บปวด และข้อดีก็คือมีความเสี่ยงในการที่กล้ามเนื้อจะถูกทำงายต่ำกว่า
- การรักษาด้วยคลื่นกระแทก
กระบวนการนี้ จะเป็นการใช้คลื่นเสียงตรงบริเวณที่เจ็บปวดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเยียวยาตัวเอง ปกติมักจะใช้กับโรครองช้ำเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาตามปกติ กระบวนการนี้อาจทำให้เกิดอาการช้ำ บวม ปวด หรือชาได้ โดยการศึกษาบางชิ้นพบว่า การรักษาด้วยคลื่นกระแทก (Shockwave) แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ดี แต่ประสิทธิภาพที่ได้ยังไม่ค่อยสม่ำเสมอเท่าใดนัก
- การผ่าตัด
การรักษาอาการปวดด้วยการผ่าตัดจะรักษาในกรณีที่มีการปวดอย่างรุนแรงเท่านั้น โดยศัลยแพทย์จะผ่าตัดเพื่อแยกเอาเอาเอ็นที่ฝ่าเท้าบางส่วนออกจากกระดูกส้นเท้า ซึ่งผลข้างเคียงก็คือกล้ามเนื้อที่อุ้งฝ่าเท้าอ่อนแอลง และอาจทำงานได้ไม่เหมือนเดิม การผ่าตัดอีกแบบหนึ่งเรียกว่า การผ่าตัดยืดเอ็นกล้ามเนื้อน่อง (Gastrocnemius recession) ซึ่งจะทำให้เอ็นกล้ามเนื้อน่องยาวขึ้น และไม่เกิดแรงดึงอยู่ตลอดเวลาที่เอ็นร้อยหวาย ซึ่งช่วยบรรเทาอาการของโรครองช้ำได้
กันไว้ดีกว่าแก้ ดูแลตัวเองไม่ให้เป็นโรครองช้ำ
การดูแลตัวเองก็มีส่วนช่วยให้ไม่เกิดโรครองช้ำโดยเริ่มจากการรักษาน้ำหนักให้อยู่ในมาตรฐาน เลือกออกกำลังกายที่มีผลกระทบต่อเท้าต่ำเช่น การว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน การยืดส่วนล่างของเอ็นร้อยหวายและกล้ามเนื้อน่องแทนการวิ่งหรือเดิน นอกจากนี้ต้องสำรวจรองเท้ากีฬาที่ใช้ประจำว่า ใช้มานานเกินไปจนพื้นสึกหรือเปล่า การใช้รองเท้ากีฬาที่ชำรุด ไม่ช่วยให้เท้าได้รับการป้องกันใดๆ ได้เลย นอกจากนี้การเลือกรองเท้า ก็ทำให้สุขภาพเท้าเราดีขึ้นได้ ไม่ควรใส่รองเท้าส้นสูง เลือกรองเท้าส้นเตี้ยหรือสูงปานกลางที่มีพื้นซึ่งสามารถรองรับเท้าและดูดซับแรงกระแทกได้ดี หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าบนพื้นแข็งๆ ซึ่งจะทำให้เกิดแรงกระแทกที่ทำลายกล้ามเนื้อที่ฝ่าเท้าได้ และบรรเทาอาการปวด ด้วยการประคบเย็นเป็นเวลา 15 ถึง 20 นาที สามหรือสี่ครั้งต่อวัน หรือใช้เทคนิค "นวดด้วยน้ำแข็ง" วิธีการก็คือ เอาน้ำใส่ในถ้วยกระดาษแล้วเอาไปแช่แข็ง จากนั้น นำถ้วยน้ำแข็งมากลิ้งลงบนเท้าข้างที่ปวด ประมาณห้าถึงเจ็ดนาที จะช่วยบรรเทาอาการปวดและอักเสบได้
คุณกำลังดู: ปวดส้นเท้าหรือฝ่าเท้าทุกเช้าหลังตื่นนอน อาจเป็น "โรครองช้ำ"
หมวดหมู่: รู้ทันโรค