รู้จัก "ประเพณีสงกรานต์" ของทั้ง 4 ภูมิภาค
รู้จักประเพณีวันสงกรานต์ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และยังคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามจนถึงปัจจุบัน
ประเพณีสงกรานต์ หนึ่งในประเพณีของประเทศไทยที่สืบทอด และมีประวัติมาอย่างยาวนาน เนื่องจากวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยตั้งแต่โบราณ ทำให้ประเพณีสงกรานต์นี้อบอวลไปด้วยมนต์เสน่ห์มากมาย
สงกรานต์ หมายถึง การก้าวผ่าน และเปลี่ยนผ่าน ทำให้วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยที่มีมาก่อนวันปีใหม่ในช่วงคริสต์ศักราช ประเพณีสงกรานต์มีกิจกรรมที่รู้จักทั่วโลก คือ การเล่นสาดน้ำคลายร้อน นอกจากประเทศไทยแล้วประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว พม่า กัมพูชา ก็มีประเพณีวันสงกรานต์เช่นเดียวกัน
วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ประเพณีโบราณ และการสืบทอดเชื้อสาย ทำให้ประเพณีสงกรานต์ของไทยในแต่ละภูมิภาคนั้นมีแนวคิดที่คล้ายกัน แต่มีการประกอบพิธีกรรม กิจกรรม หรือชื่อเรียกตามวันต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไปตามภาคนั้นๆ
สงกรานต์ภาคกลาง
ชาวภาคกลางส่วนใหญ่มักประกอบกิจกรรมทางศาสนาเป็นหลัก มักมีการสรงน้ำพระพุทธรูป ทำบุญ เข้าวัดฟังธรรม นอกจากนี้แล้วยังนำประเพณีทางศาสนานี้มาประยุกต์ใช้กับคนในครอบครัว เพื่อทำความเคารพผู้หลักผู้ใหญ่ และมอบความเป็นสิริมงคลให้แก่คนในครอบครัวในวันเริ่มต้นปีใหม่ของไทย รวมทั้งการก่อกองทราย หรือนำกองทรายเข้าวัดเพื่อซ่อมทำนุบำรุง เป็นกุศโลบายเพื่อสร้างความสามัคคีกันทั้งคนในครอบครัว และคนภูมิภาคนั้นๆ
- วันที่ 13 เมษายน คือ วันมหาสงกรานต์
- วันที่ 14 เมษายน คือ วันเนา หรือ วันกลาง
- วันที่ 15 เมษายน คือ วันเถลิงศก
ประเพณีสงกรานต์ของภาคกลาง
- พิธีอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ในเทศกาลสงกรานต์ คือ การแห่พระพุทธสิหิงค์เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำพระ สร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ตนเอง
- พิธีรดน้ำดำหัว คือ กราบไหว้ ขอขมา ผู้ใหญ่ในบ้านเพื่อควาเป็นสิริมงคล
สงกรานต์ภาคใต้
คนภาคใต้เชื่อว่าวันสงกรานต์ คือ วันเปลี่ยนดวงเมือง และเจ้าเมือง เชื่อว่าเป็นการผลัดเปลี่ยนเทวดารักษาองค์เก่า เพื่อรับเทวดารักษาองค์ใหม่เข้ามาในศักราชใหม่ ส่วนใหญ่คนทางภาคใต้จะเน้นเรื่องความสะอาด ชำระล้างร่างกายเพื่อนำสิ่งไม่ดีออกไปจากชีวิต เช่น การเปลี่ยนเสื้อผ้าอาภรณ์ พร้อมทำความสะอาดบ้านใหม่
- วันที่ 13 เมษายน คือ วันส่งเจ้าเมือง
- วันที่ 14 เมษายน คือ วันว่าง
- วันที่ 15 เมษายน คือ วันรับเจ้าเมืองใหม่
ประเพณีสงกรานต์ของภาคใต้
- พิธีบิญจา คือ ประเพณีอาบน้ำคนแก่ เพื่อแสดงความเคารพนับถือ พร้อมประพรมน้ำหอม ทาแป้ง และมอบเครื่องแต่งกายให้สวมใส่เพื่อสร้างความบริสุทธิ์ และสิริมงคล
- พิธีแห่ส่งเจ้าเมือง คือ ขบวนแห่เคลื่อนย้ายเจ้าเมืองเก่าออก เชื่อว่าในทุกๆ ปีจะมีเทวดาอารักษ์องค์ใหม่เข้ามารักษาบ้านเมือง ในวันนี้จะมีการสะเดาะห์เคราะห์ หรือลอยแพสิ่งไม่ดีออกไป
- ประเพณีห่มพระ คือ พิธีทำบุญใหญ่ร่วมกันของชาวภาคใต้ ด้วยการถวายผ้าไตรจีวร เพื่อสักการะองค์พระพุทธรูป สร้างผลบุญและกุศล
สงกรานต์ภาคเหนือ
"ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง" ชื่อเรียกดั้งเดิมของวันสงกรานต์จากทางเหนือ ชาวล้านนามีความเชื่อว่าก่อนวันสงกรานต์จะมีสิ่งไม่ดีล่องมาตามลำน้ำเพื่อนำสิ่งชั่วร้ายมาสู่เมือง ชาวบ้านในสมัยก่อนจึงมีการจุดประทัดเพื่อปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้ามาใกล้ในพื้นที่ของตน ประเพณีวันสงกราต์ทางภาคเหนือนี้จะมีพิธีสรงน้ำอบพระพุทธรูปประจำบ้าน และญาติผู้ใหญ่ รวมถึงการทำความสะอาดบ้าน โดยคนล้านนามักจะเข้าวัดทำบุญเพื่อรำลึกถึงบรรพบุรุษที่จากไป และนำสิริมงคลจากบุญกุศลเข้ามาให้แก่ตนเองในวันปีใหม่
- วันที่ 13 เมษายน คือ วันสังขารล่อง
- วันที่ 14 เมษายน คือ วันเนา หรือ วันเน่า
- วันที่ 15 เมษายน คือ วันพญาวัน หรือ วันเถลิงศก
ประเพณีสงกรานต์ของภาคเหนือ
- พิธีสรงน้ำอบพระ คือ ประเพณีสรงน้ำพระของทางภาคเหนือ เป็นต้นแบบของการนำน้ำอบ น้ำหอม มาร่วมสรงน้ำพระ
- พิธีสังขารล่อง คือ ประเพณีการแห่ขับไล่สิ่งชั่วร้ายในวันเริ่มต้นของสงกรานต์ มีการจุดประทัด ยิงปืน เพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายออกไปจากเมืองและชีวิต
สงกรานต์ภาคอีสาน
บุญเดือนห้า คือ ชื่อเรียกของวันสงกรานต์จากทางภาคอีสาน โดยคนทางภาคอีสานจะเน้นย้ำเรื่องของการรวมญาติพบปะครอบครัว โดยมักจะมารวมตัวกันในช่วงสงกรานต์ และมีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้กับลูกหลานเพื่อความเป็นสิริมงคล พิธีทางศาสนาชาวภาคอีสานจะมีการสรงน้ำพระที่วัด เฉกเช่นเดียวกันกับภาคอื่นๆ รวมทั้งมีการทำความสะอาดองค์พระพุทธรูป และต่อด้วยการรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ในครอบครัวเพื่อขอขมาตามลำดับ
- วันที่ 13 เมษายน คือ มื้อสงกรานต์ล่อง หรือ มื้อสงกรานต์พ่าย
- วันที่ 14 เมษายน คือ วันปากปี
- วันที่ 15 เมษายน คือ มื้อสงกรานต์ขึ้น
ประเพณีสงกรานต์ของภาคอีสาน
- พิธีบายศรีสู่ขวัญ คือ พิธีบายศรีจากทางภาคอีสานมักนิยมทำกันในวันสงกรานต์ วันที่คนในครอบครัวกลับมาสู่บ้าน เพื่อเป็นการกล่าวขอขมาโทษผู้หลักผู้ใหญ่ และเสริมความโชคดีตลอดทั้งปี
- พิธีบุญสรงน้ำ หรือ บุญเดือนห้า คือ ประเพณีสรงน้ำพระ แต่จะมีลำดับขั้นตอนซึ่งส่วนใหญ่จะทำที่วัด เป็นการรวมตัวของชาวบ้าน และครอบครัว มีการทำความสะอาดพระสงฆ์ ถวายเพล และรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ตามลำดับ
คุณกำลังดู: รู้จัก "ประเพณีสงกรานต์" ของทั้ง 4 ภูมิภาค
หมวดหมู่: วัฒนธรรม