รู้จัก “ตักบาตรเทโว” ประเพณีสำคัญช่วงออกพรรษา ต่างจากตักบาตรทั่วไปอย่างไร

รู้จัก “ตักบาตรเทโว” ประเพณีสำคัญช่วงออกพรรษา ต่างจากตักบาตรทั่วไปอย่างไร

"ตักบาตรเทโว" เป็นประเพณีการทำบุญตักบาตรที่เกิดขึ้นหลังวันออกพรรษา 1 วัน คือ แรม 1 ค่ำ เดือน 11 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 11 ตุลาคม 2565 เพื่อระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์หลังจากเทศนาอภิธรรมปิฎกโปรดพุทธมารดา

ตำนานประเพณี "ตักบาตรเทโว"

"ตักบาตรเทโว" หรือตักบาตรเทโวโรหณะ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในเวลาเช้าวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 หลังจากที่พระองค์ทรงจำพรรษาที่นั่นเป็นเวลา 3 เดือน เพื่อแสดงธรรมโปรดพุทธมารดา ครั้นถึงวันมหาปวารณา เสด็จลงจากเทวโลกในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ตำนานเล่าว่า พระอินทร์ทรงนิมิตบันได 3 อย่างถวาย คือ บันไดทอง บันไดแก้วมณี บันไดเงิน หัวบันไดพาดอยู่ที่ยอดเขาสิเนรุ เชิงบันไดอยู่ที่ประตูเมืองสังกัสสนครใกล้เมืองพาราณสีเวลาเสด็จลงทรงใช้บันไดแก้วมณี เหล่าเทวดาลงทางบันไดทอง เหล่ามหาพรหมลงทางบันไดเงิน เรียกการเสด็จครั้งนั้นว่า เทโวโรหณะ

เมื่อชาวบ้านชาวเมืองทราบข่าวก็พากันไปทำบุญตักบาตรพระพุทธองค์ที่นั่น และเป็นการรับเสด็จพระพุทธองค์ด้วย กล่าวกันว่า ในวันนี้ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ คือ เทวดา มนุษย์ และสัตว์นรก ต่างมองเห็นซึ่งกันและกัน จึงเรียกวันนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "วันพระเจ้าเปิดโลก” คือ เปิดให้เห็นกันทั้ง 3 โลกนั่นเอง

การตักบาตรรับเสด็จพระพุทธเจ้าได้ปฏิบัติสืบเนื่องต่อกันมาเป็นประเพณีจนถึงเมืองไทย จึงเรียกประเพณีนี้ ว่า การตักบาตรเทโวโรหณะ เพื่อให้สะดวกในการสื่อความหมายนิยมสั้นๆ ว่า การตักบาตรเทโว ด้วยเหตุนี้ วันเทโวโรหณะจึงเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วันตักบาตรเทโว และเมื่อถึงวันตักบาตรเทโว พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตรกันที่วัด โดยแต่ละที่จะเตรียมของไปทำบุญในแบบที่อาจจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับวัดในแต่ละที่

"ตักบาตรเทโว"ต่างจากตักบาตรทั่วไปอย่างไร

"ตักบาตรเทโว" ต่างจากการตักบาตรทั่วไปตรงที่มีพระสงฆ์จำนวนมาก นำโดยพระพุทธรูปเดินลงบันไดจากมณฑปพระพุทธบาท ลงมารับบิณฑบาตข้าวสารอาหารแห้งจากพุทธศาสนิกชน โดยอาหารที่นิยมตักในวันนั้น นอกจากข้าวและอาหารคาวหวานธรรมดาแล้ว ก็จะมีข้าวต้มลูกโยนด้วย สันนิษฐานว่ามาจากการที่มีผู้คนจำนวนมากมารอใส่บาตรทำให้เข้าไม่ถึงพระ จึงนำข้าวมาปั้นโยนลงบาตร การตักบาตรเทโวจึงเป็นการทำบุญอย่างมโหฬารของพุทธศาสนิกชนนับแต่นั้นมา นอกจากนี้บางวัดอาจจะมีการจัดสถานที่เป็นแบบจำลองเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจริงๆ

ที่มาของเข้าวต้มลูกโยนคาดว่ามาจากการที่มีผู้คนจำนวนมากมารอใส่บาตร ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงตัวพระได้ จึงได้มีการนำข้าวมาปั้นเป็นลูกแล้วโยนใส่บาตรนั่นเอง
ที่มาของเข้าวต้มลูกโยนคาดว่ามาจากการที่มีผู้คนจำนวนมากมารอใส่บาตร ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงตัวพระได้ จึงได้มีการนำข้าวมาปั้นเป็นลูกแล้วโยนใส่บาตรนั่นเอง

เมื่อถึงวันเทโวโรหณะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) หรือวันถัดมา (วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11) ในที่บางแห่ง พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตรที่วัด โดยมีพิธีการดังต่อไปนี้

  • เตรียมอาหารในตอนเช้า อาหารที่เตรียมเพื่อตักบาตรเป็นพิเศษในวันนี้ คือ ข้าวต้มมัด และข้าวต้มลูกโยน วัดบางวัดอาจจะจำลองสถานการณ์วันที่ พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากเทวโลกชั้นดาวดึงส์ คือ ประชาชนจะนั่งหรือยืนสองฝั่งทางลงจากอุโบสถ หรือศาลา ให้พระสงฆ์เดินเข้าแถวเรียงลำดับรับบาตรตรงกลาง โดยมีมัคนายก เดินอัญเชิญพระพุทธรูปนำหน้าแถวพระสงฆ์
  • หลังจากตักบาตรแล้ว มีการอาราธนาศีล สมาทานศีล และรักษาศีล
  • ฟังธรรมและทำสมาธิตามโอกาส เพื่อทำให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส
  • แผ่เมตตา และกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับ และสรรพสัตว์

ข้อมูลอ้างอิง : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุทัยธานี

คุณกำลังดู: รู้จัก “ตักบาตรเทโว” ประเพณีสำคัญช่วงออกพรรษา ต่างจากตักบาตรทั่วไปอย่างไร

หมวดหมู่: วัฒนธรรม

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด