รถยนต์ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ solar-powered EV วิ่งทำลายสถิติโลก 1,000 กิโลเมตร แบบไม่ต้องชาร์จไฟ

รถยนต์ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ solar-powered EV ทำลายสถิติ 1,000 กิโลเมตร ด้วยความเร็วเฉลี่ย 84.25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยไม่ต้องแวะชาร์จ

รถยนต์ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ solar-powered EV วิ่งทำลายสถิติโลก 1,000 กิโลเมตร แบบไม่ต้องชาร์จไฟ

นอกจาก EQXX ของ Mercedes-Benz ที่วิ่งได้เกิน 1,000 กิโลเมตรแล้ว ล่าสุด นักศึกษามหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ในออสเตรเลีย ลงมือสร้างรถยนต์ที่สามารถเอาชนะกฎเกณฑ์ทางฟิสิกส์ และทำลายสถิติกินเนสส์บุ๊ก สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า EV ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และวิ่งได้เร็วที่สุด ด้วยระยะทางกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยไม่มีการหยุดชาร์จไฟแต่อย่างใดทั้งสิ้น นี่คือรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Sunswift 7 ที่ลากยาวเป็นพันกิโลเมตร โดยไม่มีการแวะชาร์จไฟ พลังงานหลักที่ได้มาจากแสงแดด เกิดจากการออกแบบแผงโซลาร์เซลล์ประสิทธิภาพสูงที่ติดอยู่ทั่วทั้งตัวถัง

รถยนต์ไฟฟ้า Sunswift 7 ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ได้รับการยืนยันและรับรองจาก Guinness Book of Records โดยสามารถวิ่งได้ไกล 1,000 กิโลเมตร ด้วยความเร็วเฉลี่ย 84.25 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กลายเป็นยานพาหนะไฟฟ้าที่วิ่งถึง 1,000 กิโลเมตร ด้วยระยะเวลาที่น้อยกว่า 12 ชั่วโมง ทำลายสถิติความเร็วสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ทดลองวิ่งระยะไกลลงอย่างราบคาบ

รถยนต์ไฟฟ้า Sunswift 7 เป็นโครงการสำหรับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ล่าสุดได้รับการยืนยันและรับรองจากสถาบัน Guinness Book of Records เป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจสำหรับมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ รถยนต์ไฟฟ้า Sunswift 7 ใช้โครงสร้างและวัสดุแผงตัวถังคาร์บอนไฟเบอร์ มีค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศต่ำมากเพียงแค่ 0.095Cd และมีราคาสูงถึง 500,000 ปอนด์ โดยได้รับการพัฒนาภายใต้การอุปถัมภ์ช่วยเหลือของ Richard Hopkins อดีตหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ Red Bull F1 Team รวมถึงยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทชั้นนำต่างๆ เช่น Audi, IBM และ Bilstein ค่าสัมประสิทธิ์แรงเสียดทานอากาศที่ต่ำนั้น หมายความว่าแบตเตอรี่ 38kWh ของ Sunswift สามารถวิ่งได้เต็ม 1,500 กิโลเมตร โดยไม่จำเป็นต้องชาร์จใหม่!!

คาร์บอนไฟเบอร์ที่ใช้เป็นเปลือกตัวถังถูกปรับให้อากาศไหลผ่านได้อย่างเป็นระเบียบ ความลื่นไหลของรูปทรง ทำให้มันไม่ต้านอากาศ ช่วยลดความสิ้นเปลืองพลังงานที่เกิดจากการวิ่งแหวกกระแสลมถึง 15-20% นั่นคือผลงานของ McConaghy Boats ผู้สร้างที่อยู่เบื้องหลัง Wild Oats XI ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือยอชต์แข่งที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาล เรือแข่งลำดังกล่าวมีระบบอากาศพลศาสตร์ยอดเยี่ยมจนคว้าชัยชนะในการแข่งขันระยะไกล จากซิดนีย์ถึงโฮบาร์ตถึงเก้าครั้ง

ระบบกันสะเทือนซึ่งผลิตขึ้นเองโดยแบรนด์ Bilstein ในออสเตรเลีย จะต้องเบามากพอที่จะไม่เพิ่มน้ำหนักให้กับรถที่ถูกจำกัดน้ำหนักให้ไม่เกิน 500 กิโลกรัม ช่วงล่างของรถมีการปรับแต่งอย่างแม่นยำ เพื่อทำให้ Sunswift อยู่ในระดับความสูงที่คงที่ เพื่อประสิทธิภาพการวิ่งที่เหมาะสมและสมบูรณ์แบบที่สุด ช่วงล่างยังแข็งแกร่งพอที่จะรองรับผิวถนนขรุขระในออสเตรเลีย การเปลี่ยนแปลงมุมแคมเบอร์ที่โดยทั่วไปแสดงให้เห็นถึงทฤษฎีของการสร้างแรงยึดเกาะ แต่ Bilstein ปรับจูนช่วงล่างของ Sunswift ไม่ให้แข็งมากจนเกินไป

แต่ทำไมต้องออกแบบระบบกันกระเทือนในระดับเดียวกับรถแข่ง ทั้งๆ ที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานโคตรสะอาด? เหตุผลก็เป็นเพราะว่า Sunswift 7 ได้รับการออกแบบมาสำหรับลงชิงชัยในรายการ World Solar Challenge ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกๆ 2 ปี ในออสเตรเลีย Solar Challenge เป็นการแข่งขันที่จัดขึ้นสำหรับรถยนต์พลังงานแสงอาทิตย์ วิ่งแข่งกันจากจุดสูงสุดของทวีปออสเตรเลียไปยังจุดต่ำสุด โดยขับตรงผ่านชนบทอันห่างไกล ไปตามทางหลวงปกติของออสเตรเลีย และตามชื่อของรายการแข่งขัน มันหมายถึงการเดินทางจากดาร์วินไปยังแอดิเลด-การเดินทางกว่า 2,890 กิโลเมตร ด้วยพลังงานแสงอาทิตย์แต่เพียงอย่างเดียว

เมื่อการแข่งขันในปี 2021 ถูกยกเลิกด้วยเหตุผลบางประการ ทีมงานจึงมองหาความท้าทายอื่นๆ เห็นได้ชัดว่าเป้าหมายคือการวิ่งทำระยะทางให้เกิน 1,000 กิโลเมตร ในเวลา 10 ชั่วโมง ทำให้ได้ความเร็วเฉลี่ย 100 กม./ชม. แต่อุปสรรคต่างๆ เช่น ยางรั่วและปัญหาเกี่ยวกับซอฟต์แวร์การจัดการแบตเตอรี่ ก็มีมาให้แก้ไขอย่างต่อเนื่อง ถึงกระนั้น Sunswift 7 ก็สามารถวิ่งได้ 1,000 กิโลเมตร โดยใช้เวลาเพียงแค่ 11 ชั่วโมง 52 นาที 8 วินาที ซึ่งเป็นสถิติโลกใหม่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รุ่นใหม่ล่าสุด.

อาคม รวมสุวรรณ
E-Mail [email protected]
Facebook https://www.facebook.com/chang.arcom
https://www.facebook.com/ARCOM-CHANG-Thairath-Online-525369247505358/

คุณกำลังดู: รถยนต์ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ solar-powered EV วิ่งทำลายสถิติโลก 1,000 กิโลเมตร แบบไม่ต้องชาร์จไฟ

หมวดหมู่: รถยนต์

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด