รีวิว Mazda CX-5 2025 ไมเนอร์เชนจ์ ปรับราคาคุ้มค่า เหนือกว่าที่สมรรถนะ
รีวิวลองขับ Mazda CX-5 2025 โฉมไมเนอร์เชนจ์ ยังคงเป็นจ่าฝูงด้านสมรรถนะ เพิ่มเติมความสดใหม่ด้วยรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไป กับราคาที่เป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น รายละเอียดจะเป็นอย่างไร ติดตามกับ Sanook Auto ได้เลย
Mazda CX-5 2025 ใหม่ มีการปรับลดรุ่นย่อยจาก 4 รุ่น เหลือ 3 รุ่น พร้อมราคาจำหน่ายทางการ ดังนี้
- รุ่น 2.0 S ราคา 1,219,000 บาท
- รุ่น 2.0 SP ราคา 1,299,000 บาท
- รุ่น XDL ราคาประมาณ 1,669,000 บาท
จะเห็นว่ามาสด้าได้มีการตัดรุ่นเครื่องยนต์ 2.5 TURBO ออก แล้วเหลือไว้เฉพาะเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร และดีเซล 2.2 ลิตรเท่านั้น
ภายนอก
รูปลักษณ์ภายนอกของ Mazda CX-5 รุ่นไมเนอร์เชนจ์ มีการปรับรายละเอียดด้านหน้าและด้านท้าย ส่วนดีไซน์ตัวถังยังคงเดิมทั้งหมด ติดตั้งไฟหน้าแบบ LED Signature ที่ออกแบบไฟส่องสว่างเวลากลางวันเป็นรูปตัว L ซ้อนกัน มีระบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ และปรับระดับสูง-ต่ำอัตโนมัติตามน้ำหนักบรรทุก
กระจังหน้ามีการปรับรายละเอียดกรอบโครเมียม พร้อมกันชนหน้าที่เน้นความมินิมอลคล้ายกับ Mazda3 และ CX-30 รุ่นปัจจุบัน โดยที่รุ่น XDL จะมีการตกแต่งส่วนล่างของกันชนและซุ้มล้อด้วยสีเดียวกับตัวรถ ทำให้ภาพรวมดูมีความพรีเมียมแตกต่างจากรุ่นเครื่องยนต์ 2.0 ลิตร
ส่วนด้านท้ายมีการปรับดีไซน์ไฟท้ายให้ดูกลมกลืนกับไฟหน้า พร้อมกันชนท้ายดีไซน์ใหม่ ทุกรุ่นย่อยได้ประตูท้ายแบบไฟฟ้าที่เพิ่มเติมด้วยฟังก์ชัน Hand Free Power Lift Gate สามารถสอดเท้าบริเวณใต้กันชนเพื่อเปิดและปิดประตูท้ายได้
ส่วนล้ออัลลอยของรุ่น 2.0 S เป็นขนาด 17 นิ้ว รุ่น 2.0 SP และ XDL จะได้ล้อขนาด 19 นิ้วลายใหม่ทั้งหมด
สีภายนอกมีให้เลือก 7 สี โดยมี 2 สีใหม่ ได้แก่ สีเทา Polymetal Gray และสีบรอนซ์ Platinum Quartz จำหน่ายควบคู่ไปกับ 5 สีเดิม ได้แก่
- สีขาว Snowflake White Pearl
- สีดำ Jet Black
- สีน้ำเงิน Deep Crystal Blue
- สีเทา Machine Gray
- สีแดง Soul Red Crystal
ภายใน
การตกแต่งภายในห้องโดยสารยกดีไซน์มาจากรุ่นเดิมทั้งหมดเช่นกัน แต่ก็ยังคงเต็มเปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายความพรีเมียมตามฉบับมาสด้า โดยเฉพาะรุ่น XDL ที่ถูกตกแต่งด้วยวัสดุหนัง Nappa สี Deep Red ผิวสัมผัสเนียนละเอียดแบบรถยุโรป ซึ่งสีของหนังจะออกไปทางสีแดงเข้มจัดจนเกือบจะเป็นสีดำ โดยรวมแล้วดูมีความภูมิฐานดี
จุดเปลี่ยนภายในห้องโดยสารก็คือเรือนไมล์ที่มีการปรับดีไซน์แตกต่างไปจากรุ่นก่อนหน้า โดยยังคงรูปแบบ Analogue ควบคู่ไปกับจอสี TFT ที่ออกแบบได้อย่างกลมกลืน มีความสวยงามและดูพรีเมียม ถือเป็นรายละเอียดที่มาสด้าทำได้ค่อนข้างดี
พวงมาลัยเป็นแบบ 3 ก้าน ดีไซน์ยกมาจากรุ่นก่อนหน้า (อีกแล้ว) สามารถปรับได้ 4 ทิศทาง เพิ่มเติมด้วยแป้นเปลี่ยนเกียร์ Sports Paddle Shift ทุกรุ่นย่อย โดยที่รุ่น XDL จะถูกเพิ่มเติมด้วยปุ่ม Mi-Drive เพื่อเปิดใช้งานโหมด Off Road เนื่องจากเป็นรุ่นเดียวที่มีระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ
ส่วนหน้าจอกลางเป็นแบบสัมผัสขนาด 8 นิ้ว ที่ยกชุดมาจากรุ่นเดิม น่าเสียดายที่รูปแบบการแสดงผล หรือ User Interface ยังคงเหมือนเดิมเช่นกัน มาพร้อมกับปุ่ม Center Commander บริเวณคอนโซลกลางที่ช่วยให้สามารถควบคุมสั่งการได้อย่างสะดวก ไม่จำเป็นต้องพึ่งหน้าจอสัมผัสเพียงอย่างเดียว
ถึงกระนั้น Mazda CX-5 รุ่นไมเนอร์เชนจ์ก็ได้มีการเพิ่มระบบ Wireless Apple CarPlay มาให้เรียบร้อยแล้ว ส่วนฝั่ง Android Auto ยังคงต้องเสียบผ่าน USB เหมือนเดิม โดยที่รุ่น 2.0 SP และ XDL จะได้แท่นชาร์จ Wireless Charger เพิ่มขึ้นมา
สำหรับเบาะนั่งแถวหลังสามารถปรับเอนพนักพิงได้ แต่ต้องยอมรับว่าบรรยากาศห้องโดยสารตอนหลังของ CX-5 ไม่ได้โปร่งโล่งเท่ากับคู่แข่ง เน้นไปที่ความกระชับในการโดยสารเสียมากกว่า
ระบบเสียง Bose พร้อมลำโพง 10 ตำแหน่ง ที่ติดตั้งลงใน Mazda CX-5 ถือว่ามีคุณภาพเสียงใช้ได้ทีเดียว ส่วนตัวผู้เขียนเองเป็นคนชอบฟังเพลงที่มีเบสหนักๆ แน่นๆ ซึ่งเครื่องเสียงชุดนี้ก็ตอบสนองโสตประสาทได้เป็นอย่างดี เนื้อเสียงมีน้ำมีนวล จะเปิดเพลงหรือพอดคาสต์ก็รื่นหูเป็นอย่างยิ่ง
อุปกรณ์มาตรฐานอื่นๆ ได้แก่ หน้าจอแสดงข้อมูลการขับขี่แบบสีบนกระจกบังลมหน้า (Windshied Active Driving Display), ระบบเบรกมือไฟฟ้า พร้อม Auto Hold, กระจกมองหลังปรับลดแสงสะท้อนอัตโนมัติ, ระบบปรับอากาศอัตโนมัติ Dual Zone พร้อมช่องแอร์หลัง, ระบบปรับไฟหน้าตามองศาการเลี้ยว AFS, ถุงลมนิรภัย 6 ตำแหน่ง และกล้องมองภาพรอบทิศทาง 360 รอบทิศทาง
ขณะที่ระบบความปลอดภัย i-ACTIVSENSE ของ Mazda CX-5 2025 ไมเนอร์เชนจ์ ประกอบด้วย
- LAS - Lane-Keep Assist System
- DAA - Driver Attention Alert
- LDWS - Lane Departure Warning System
- MRCC w. Stop & Go - Mazda Radar Cruise Control with Stop & Go
- RCTA - Rear Cross Traffic Alert
- ABSM - Advanced Blind Spot Monitoring
- SBS - Smart Brake Support
- Advance SCBS - Advanced Smart City Brake Support
- SCBS-R Smart City Brake Support - Reverse
- ALH - Adaptive LED Headlamps
โดยที่รุ่น 2.0 SP และ XDL จะได้ระบบควบคุมความเร็วและพวงมาลัยตามรถคันหน้า (CTS - Cruising Traffic Support) และระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติ MRCC แบบ Stop & Go เพิ่มขึ้นมา หรือพูดง่ายๆ ก็คือแบบ All-speed ที่สามารถลดความเร็วอัตโนมัติได้จนถึง 0 กม./ชม. นั่นเอง
อุปกรณ์มาตรฐานที่เพิ่มขึ้นแต่ละรุ่นย่อย (เทียบกับรุ่นก่อนไมเนอร์เชนจ์)
รุ่น 2.0 S เพิ่มเติมด้วย
- ไฟหน้าและไฟท้าย LED Signature ใหม่
- กระจังหน้าและ Signature Wing ใหม่
- ล้ออัลลอย 17 นิ้ว ดีไซน์ใหม่
- เบาะหนังสีดำ
- Wireless Apple CarPlay
- Sport Paddle Shift
- Hand Free Power Lift Gate
รุ่น 2.0 SP เพิ่มเติมจากรุ่น 2.0 S
- ล้ออัลลอย 19 นิ้ว ดีไซน์ใหม่
- Wireless Charger
- Cruising Traffic Support
- MRCC with Stop & Go
รุ่น XDL เพิ่มเติมจากรุ่น 2.0 SP
- ชุดตกแต่งภายนอกสีเดียวกับตัวรถ
- ท่อไอเสียขนาดใหญ่
- เบาะหนัง Nappa สี Deep Red
- ระบบขับขี่ Off Road พร้อมสวิตช์ Mi-Drive
เครื่องยนต์และช่วงล่าง
รุ่น 2.0 S และ 2.0 SP ติดตั้งเครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G ขนาด 2.0 ลิตร กำลังสูงสุด 165 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 210 นิวตัน-เมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด SKYACTIV-Drive อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 13.9 กม./ลิตร รองรับน้ำมัน E85
รุ่น XDL ติดตั้งเครื่องยนต์ดีเซล SKYACTIV-D ขนาด 2.2 ลิตร เทอร์โบแปรผัน 2 ขั้น กำลังสูงสุด 190 แรงม้า แรงบิดสูงสุด 450 นิวตัน-เมตร ส่งกำลังด้วยเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด SKYACTIV-Drive พร้อมระบบขับเคลื่อนสี่ล้อ i-ACTIV AWD อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ย 15.9 กม./ลิตร ผ่านมาตรฐานไอเสีย Euro5
ขณะเดียวกันช่วงล่างของรุ่นไมเนอร์เชนจ์ มีการเสริมคานด้านล่างของห้องโดยสารตอนหลัง เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับโครงสร้างตัวถัง และมีการเปลี่ยนสปริงและโช้กที่ช่วยลดแรงสะเทือนเข้ามายังห้องโดยสาร เพิ่มความนุ่มนวลมากยิ่งขึ้น
การขับขี่
การทดลองขับครั้งนี้ เราได้มีโอกาสจับรุ่น XDL เครื่องยนต์ดีเซล SKYACTIV-D 2.2 ลิตร ค่าตัว 1.669 ล้านบาท ซึ่งแอบน่าเสียดายที่ไม่ได้ลองขับตัวเครื่องยนต์เบนซิน SKYACTIV-G 2.0 ลิตร เพราะเชื่อว่าน่าจะขายดีกว่ารุ่นดีเซลเป็นแน่แท้
โดยที่รุ่น XDL ยังคงมอบอัตราเร่งที่ฉับไว อันเป็นผลมาจากแรงบิดกว่า 450 นิวตัน-เมตร พ่วงเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด ช่วยสร้างความเร้าใจในการขับขี่ได้ดีกว่าเกียร์ CVT อย่างเห็นได้ชัด เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้งานทั้งในเมืองและนอกเมือง
ขณะที่รุ่นเบนซิน SKYACTIV-G 2.0 ลิตร แม้ว่าจะไม่มีโอกาสทดลองขับ แต่ด้วยตัวเลขแรงม้าและแรงบิดที่ไม่ต่างไปจากรุ่นก่อนหน้า ก็พอจะบอกได้ว่าเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไปในชีวิตประจำวัน การออกตัวจากจุดหยุดนิ่งทำได้ดี แต่การเร่งแซงในย่านความเร็วกลางถึงสูงอาจเหี่ยวแห้งไปบ้าง หากเน้นใช้งานในเมืองเป็นหลักก็ถือว่าเพียงพอแล้ว
Mazda CX-5 รุ่นไมเนอร์เชนจ์ ถือได้ว่าเป็น C-SUV ที่มีช่วงล่างดีที่สุดในตลาด ด้วยการเซ็ตช่วงล่างให้มีลักษณะหนึบแน่น ช่วยลดอาการโคลงที่ความเร็วสูง ขณะเดียวกันก็สามารถเก็บอาการขณะผ่านทางขรุขระได้ดี ไม่ตึงตังจนน่ารำคาญ เหมาะสำหรับพ่อบ้านหรือแม่บ้านที่ต้องการรถใช้งานในชีวิตประจำวันทั่วไป วันไหนอยากจะบู๊สักหน่อย ช่วงล่างของ CX-5 ใหม่ ก็พร้อมจะตอบสนองฝีเท้าในทันที
จบทริป กทม. - สัตหีบ รวมระยะทางทั้งสิ้น 175.2 กิโลเมตร อัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยบนหน้าจออยู่ที่ 16.5 กม./ลิตร เทียบกับผู้โดยสาร 3 คน (รวมคนขับ) ความเร็วเดินทางประมาณ 110 - 120 กม./ชม. เกือบตลอดทั้งเส้นทาง ก็ถือว่าน่าประทับใจไม่น้อย
สรุป
Mazda CX-5 2025 รุ่นไมเนอร์เชนจ์ ยังคงรักษาเอกลักษณ์ความเป็นมาสด้าไว้อย่างครบถ้วน เพิ่มเติมด้วยรูปลักษณะที่สดใหม่ และออปชันเพิ่มความคุ้มค่า ซึ่งการปรับราคาจำหน่ายรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 2.0 ลิตร ทั้ง 2 รุ่นย่อย อยู่ในระดับราคาไม่ถึง 1.3 ล้านบาท พอจะช่วยให้ CX-5 กลับมาเป็นที่น่าจับตามองได้บ้าง ส่วนรุ่น XDL เครื่องยนต์ดีเซล 2.2 ลิตร แม้ราคาจะเฉียด 1.7 ล้านบาท แต่หากงบถึงก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ ด้วยสมรรถนะของเครื่องยนต์ดีเซลที่ทั้งแรงและประหยัด ซึ่งหาไม่ได้อีกแล้วจากค่ายคู่แข่ง
คุณกำลังดู: รีวิว Mazda CX-5 2025 ไมเนอร์เชนจ์ ปรับราคาคุ้มค่า เหนือกว่าที่สมรรถนะ
หมวดหมู่: รีวิวรถใหม่