สาเหตุของ "พุงป่อง" ทีไม่ได้แปลว่า "อ้วน" เสมอไป

เห็นมีพุงแบบนี้ ไม่ได้อ้วนนะ แค่...

สาเหตุของ "พุงป่อง" ทีไม่ได้แปลว่า "อ้วน" เสมอไป

หนุ่มๆ สาวๆ ที่มีปัญหาเรื่อง “พุง” โตๆ ถ้าเป็นคนเจ้าเนื้ออยู่แล้ว อาจไม่ได้สงสัยอะไรมากเท่าไรว่าเจ้าพุงกลมๆ นี้มาจากไหน แต่ถ้าเป็นคนรูปร่างปกติไปจนถึงผอม น้ำหนักก็ต่ำกว่าเกณฑ์ แต่เวลาสวมใส่เสื้อผ้าจะยังเห็นอยู่ว่ามีพุงออกมา อาจจะสงสัยได้ว่าเจ้าพุงนี้มาได้อย่างไร Sanook Health มีคำตอบน่ารักๆ (แต่มีสาระ) จาก พญ. ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท จากเพจ Pleasehealth Books มาฝากกันค่ะ

“พุง” เกิดขึ้นได้อย่างไร?

พุงป่อง เป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งถึงความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในร่างกาย การวัดว่าเรามีพุงหรือไม่นั้นมีหลายวิธี หนึ่งในสูตรที่จำได้ง่ายคือ เส้นรอบเอวของเราไม่ควรจะมากเกินกว่า 80 ซม.สำหรับผู้หญิง และ 90 ซม. สำหรับผู้ชาย

สาเหตุแรกที่เป็นไปได้และพบได้บ่อยสุดคือ 

  1. อ้วนลงพุง
    พุงป่องขึ้นมาจากมีไขมันในช่องท้อง หรือ ที่เรียกกันภาษาคนทั่วไปว่า อ้วนลงพุง ไขมันในช่องท้องนี้มีชื่อเรียกทางการแพทย์ว่า Visceral fat เป็นไขมันที่อยู่ภายในช่องท้อง ไม่ใช่ไขมันที่ผิวหนังซึ่งเราหยิบจับขึ้นมาเป็นชั้นๆ ได้
    ไขมันในช่องท้องนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง รวมไปถึงอัลไซเมอร์ พุงป่องจากไขมันในช่องท้องจึงเป็นคำเตือนจากร่างกายว่า เราควรต้องปรับการกินอาหาร ลดน้ำตาล น้ำหวาน ของหวาน ของทอด เนื้อแปรรูป และออกกำลังขยับร่างกายให้มากขึ้น เพื่อลดไขมันส่วนเกินนี้ จุดประสงค์ของการลดพุงไม่ใช่เพราะความสวยงาม แต่เป็นการดูแลร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ ไม่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆให้กับร่างกาย

  2. ท้องอืด
    อีกสาเหตุที่พบได้คือ พุงป่องจากท้องอืด มีลมในช่องท้องมาก มักมาร่วมกับอาการปวดแน่น ไม่สบายท้อง เรอบ่อย พุงป่องๆ ยุบๆ สัมพันธ์กับมื้ออาหาร
    สาเหตุของท้องอืดนั้นมีหลากหลาย ทั้งจากโรคเช่น แผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน นิ่วในถุงน้ำดี หรือจากอาหารที่มีแก๊สเยอะ เช่น น้ำอัดลม โซดา เบียร์ หรืออาหารที่มีกากมากๆ และย่อยยาก เช่น ผักสด ของหมักดอง และในบางคนอาจเกิดจากนมวัว เนื่องจากไม่มีเอนไซม์ย่อยน้ำตาลในนม
    ถ้าร่างกายส่งสัญญาณท้องอืดจากลมในช่องท้องมาก ควรสังเกตว่าสัมพันธ์กับอาหารประเภทไหน อาจทำบันทึกอาหาร (food diary) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับอาการ และหากเป็นเรื้อรัง หรือมีอาการอื่นร่วม เช่น ปวดท้อง น้ำหนักลด ขับถ่ายผิดปกติ อุจจาระผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์

  3. ท้องมาน
    พุงป่องอีกประเภทที่พบไม่มากแต่ควรให้ความสนใจมาก คือพุงป่องจากมีน้ำในช่องท้องมากผิดปกติ หรือที่เรียกว่า ท้องมาน จะมีลักษณะพุงโตผิดปกติ ไม่สัมพันธ์กับสัดส่วนร่างกาย เช่น ตัวผอมแต่มีพุงกลมโต มักมีอาการอื่นๆ ร่วม เช่น ท้องอืด เบื่ออาหาร ขาบวม
    สาเหตุของการมีน้ำในช่องท้องนั้นมีหลากหลาย ทั้งจากโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ มีการอักเสบติดเชื้อในช่องท้อง รวมไปถึงมะเร็งในช่องท้อง ดังนั้น ถ้าร่างกายส่งสัญญาณพุงป่องผิดปกติในลักษณะนี้ ควรรีบไปตรวจเพื่อวินิจฉัยและหาสาเหตุ

สรุปแล้ว พุงป่อง ไม่ว่าจะจากอ้วนลงพุง หรือ จากสาเหตุอื่นๆ ล้วนเป็นสัญญาณที่ร่างกายพยายามบอกกับเรา ว่าอาจมีการเสียสมดุลหรือความผิดปกติบางอย่างเริ่มเกิดขึ้น ถ้าอยากจะใช้งานร่างกายกันไปนานๆ ต้องหมั่นสังเกตอาการและดูแลอย่างทะนุถนอมในทุกๆ วัน

คุณกำลังดู: สาเหตุของ "พุงป่อง" ทีไม่ได้แปลว่า "อ้วน" เสมอไป

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด