สิ่งที่ควรทำ-ไม่ควรทำ กับผู้ป่วยโรค "ซึมเศร้า"
มีเพื่อน คนรัก หรือคนในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้าแล้วเราอาจทำตัวไม่ถูก มาดูกันว่ามีสิ่งไหน หรือคำพูดไหนที่ควร และไม่ควรทำบ้าง
สิ่งที่ควรทำกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
- ชวนทำกิจกรรมที่ทำให้ได้เคลื่อนไหวร่างกาย
การให้ผู้ป่วยได้มีกิจกรรมสนุกๆ ทำ โดยเฉพาะกิจกรรมที่ได้ลงมือทำ ได้เคลื่อนไหวร่างกาย ไม่ว่าจะหนักๆ หรือเล็กๆ น้อยๆ ตั้งแต่ออกกำลังกาย ชวนไปเดินเล่น ไปวาดรูป ถ่ายรูป ชวนออกเที่ยว เยี่ยมชมสถานที่ใหม่ๆ ตระเวนหาร้านอร่อยๆ อะไรก็ตามที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาจากเก้าอี้หรือเตียง แล้วได้เพลิดเพลินจนลืมเวลา ช่วยให้เขาออกจากช่วงเวลาที่คิดฟุ้งซ่าน หดหู่ และฮอร์โมนแห่งความสุขหรือเอ็นโดรฟินก็จะช่วยมอบรอยยิ้มบนใบหน้าให้กับเขาได้
- ฟังอย่างตั้งใจ ไม่ตัดสินใจแทน
การปล่อยให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึกลึกๆ ของเขาออกมา เป็นการเปิดโอกาสให้เขาได้ปลดปล่อยความอัดอั้นตันใจและสิ่งที่เขาเผชิญได้อย่างอิสระ โดยที่เรามีหน้าที่ฟังเฉยๆ ฟังอย่างตั้งใจ ไม่กดดัน ไม่คอมเมนต์หรือไม่ตัดสินใจแทนเขาว่าหากเป็นเราเราจะทำอย่างไร เพราะเราไม่ใช่เขา เขาไม่ได้อยากเป็นอย่างนั้น ไม่ได้อยากรู้สึกอย่างนั้น แต่สมองที่ทำงานผิดปกติของเขาสั่งให้เขาเป็นหรือรู้สึกอย่างนั้นเอง ดังนั้นเราจึงควรรับฟังอย่างตั้งใจ สร้างบรรยากาศสบายๆ ให้กับเขา ให้เขาไว้วางใจเราว่าเราเป็นคนที่รับฟังเขาได้ทุกเมื่อ หรือหากเขาถามหาความเห็นของเรา เราอาจจะตอบเป็นกลางๆ ไป เช่น ถ้าเขาบอกว่าอยากลาจากโลกนี้ไป เขาควรทำอย่างไร เราอาจจะบอกเขาไปว่าเราไม่อยากให้เขาไป เขาเป็นคนที่มีค่าสำหรับเรา ถ้ารู้สึกแย่ๆ กับตัวเองอีกให้หันมาคุยมาปรับทุกข์กับเราได้ทุกเมื่อ เราจะอยู่ข้างๆ เขาไปตลอดแน่นอน เป็นต้น
สิ่งที่ไม่ควรทำกับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า
- อย่าตอบแบบปัดๆ หรือให้คำปรึกษาผิดๆ
ที่บอกว่า “ถ้าไม่รู้ก็นิ่งเงียบไว้ดีกว่า” เป็นเรื่องจริง การให้คำปรึกษาผิดๆ อาจทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลง เช่น การให้คำแนะนำแบบปัดๆ ว่าฟุ้งซ่านก็ให้ไปเข้าวัดฟังธรรม โดยไม่ได้อยู่เคียงข้างเขา ผู้ป่วยอาจรู้สึกว่ากำลังได้รับคำตอบที่ไม่จริงใจเพราะอาจทำให้รำคาญ เป็นภาระ อาจทำให้ยิ่งตีตัวออกห่าง และรู้สึกหดหู่กว่าเดิมได้
- อย่าทำเป็นไม่ได้ยิน
หลายๆ ครั้งที่เราอาจได้ยินผู้ป่วยตัดพ้อ หรือพูดถึงการอยากลาจากโลกนี้ไป พอเขาพูดบ่อยๆ เราอาจคิดว่าเขาพูดเล่น ไม่จริงจัง หรืออาจจะคิดว่าน่าจะยังไม่ถึงขั้นที่อยากจะลงมือทำ แต่จริงๆ แล้วทุกครั้งที่เขาพูดถึงเรื่องนี้ อาจหมายความว่าเขากำลังจะลงมือทำจริงๆ หรือกำลังเตรียมการอยู่ หากเราไม่ใส่ใจในคำพูดของเขาแล้วทำเป็นไม่ได้ยิน เมิน เขาอาจจะคิดว่าเราไม่เห็นเขาในสายตาอีกต่อไป เขาไม่สำคัญกับใครๆ อีกแล้ว และอาจทำให้เขาอยากลาจากโลกนี้ไปมากขึ้น
- อย่ากดดันและเร่งรัด
ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่มีใครไม่อยากหายจากอาการแย่ๆ และเป็นโรคที่ต้องใช้เวลานานกว่าอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นทีละนิด อาจทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลังเข้ารับการรักษาได้ค่อนข้างช้า ควรใจเย็นกับผู้ป่วย และอย่ากดดันหรือเร่งเร้าให้ผู้ป่วยหายไวๆ เช่นคำพูดที่บอกว่า “เมื่อไรจะหาย” หรือ “หายได้แล้ว” อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกกดดัน และโทษตัวเองทุกครั้งที่อาการซึมเศร้ากำเริบ ยิ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกแย่ลงมากกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ขอให้จำไว้ว่า โรคซึมเศร้า เป็นโรคชนิดหนึ่งที่ต้องได้รับการรักษาและดูแลอย่างใกล้ชิดและถูกวิธีจากจิตแพทย์ ในหลายๆ รายจำเป็นจะต้องได้รับยาเพื่อรักษาอย่างจริงจังด้วย การเข้าวัดทำบุญนั่งสมาธิหรือปฏิบัติธรรมช่วยให้จิตใจไม่ฟุ้งซ่านได้ แต่ไม่ได้ช่วยให้หายจากโรค เมื่อมีสัญญาณบ่งบอกว่าตัวเองอาจเป็นโรคซึมเศร้า ควรยอมรับตัวเองและปรึกษาจิตแพทย์ทันที
- แบบทดสอบ “ภาวะซึมเศร้า” คุณกำลังเสี่ยงอยู่หรือไม่?
- รู้จัก "โรคซึมเศร้า" สังเกตอาการ และวิธีการดูแล ฟื้นฟู จิตใจ
- วิธีปฏิบัติตัว เมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้ป่วย "ซึมเศร้า-ไบโพลาร์"
คุณกำลังดู: สิ่งที่ควรทำ-ไม่ควรทำ กับผู้ป่วยโรค "ซึมเศร้า"
หมวดหมู่: สุขภาพใจ-สมอง