"ตากระตุก" เกิดจากอะไร เป็นสัญญาณอันตรายของโรคหรือไม่?
อาการตากระตุก อาจเป็นลางบอกเหตุอันตรายต่อสุขภาพ
นอกจากความเชื่อว่า “ขวาร้าย ซ้ายดี” จากอาการตากระตุกแล้ว ในทางการแพทย์ อาการตากระตุกอาจเป็นลางบอกเหตุถึงอันตรายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่กับร่างกายได้เหมือนกัน
อาการตากระตุก คืออะไร?
นพ. นนท์ รัตนิน จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลจักษุรัตนิน ระบุว่า อาการตากระตุก เกิดจากกระแสประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณรอบดวงตามากผิดปกติในช่วงระยะเวลาหนึ่ง
อาการตากระตุกมีความรุนแรงตั้งแต่ตากระตุกเล็กน้อย ไม่นานก็หายได้เอง ไปจนถึงตากระตุกจนตาปิด รวมไปถึงอาการตาเขม่น ที่เป็นอาการหนังตา หรือเปลือกตากระตุก เป็นได้ทั้งเปลือกตาบน และเปลือกตาล่าง
สาเหตุของอาการตากระตุก
พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเวชศาสตร์ชะลอวัย โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ระบุสาเหตุของอาการตากระตุกเอาไว้ ดังนี้
- นอนหลับไม่เป็นเวลา นอนหลับไม่เพียงพอ
- มีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน
- ดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนมากเกินไป
- สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
- เจอกับแสงสว่าง แสงจ้า ลม หรือมลพิษทางอากาศ
- ตาล้า ตาแห้ง เกิดการระคายเคืองที่เปลือกตาด้านใน หรือโรคภูมิแพ้
- ขาดวิตามิน แร่ธาตุ หรือสารอาหารบางชนิด
- เป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่กำลังใช้/กินอยู่
อาการตากระตุกที่ผิดปกติ ควรพบแพทย์
จากที่ระบุไว้ข้างต้นว่า อาการตากระตุกส่วนใหญ่ไม่อันตราย และสามารถหายไปได้เองเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง แต่หากมีบางรายที่มีอาการตากระตุกที่ผิดปกติ ควรพบแพทย์ เช่น
- ตากระตุกติดต่อกันทุกวันเกิน 1 สัปดาห์
- มีอาการกระตุกที่บริเวณอื่นด้วย เช่น มุมปาก
- ตากระตุกพร้อมกันทั้งสองข้าง
- ตากระตุกแรงมากจนตาปิด รบกวนการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน
- มีอาการผิดปกติที่ตาอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ตาบวม ตาแดง มีขี้ตามาก เป็นต้น
อาการตากระตุก สัญญาณอันตรายของโรค?
ปกติแล้วอาการตากระตุกไม่อันตราย และไม่ได้มีความสัมพันธ์กับโรคใดๆ โดยเฉพาะ แต่หากมีอาการตากระตุกบ่อยๆ รวมถึงมีความผิดปกติอื่นๆ นายแพทย์สมาน ตั้งอรุณศิลป์ ระบุว่า แพทย์อาจพิจารณาการผ่าตัดแยกเส้นเลือดออกจากเส้นประสาท ไม่ใช่วิธีรักษาให้หายขาด แต่เป็นการช่วยบรรเทาอาการตากระตุกให้น้อยลง หรือเบาลงได้
วิธีลดความเสี่ยงอาการตากระตุก
- เข้านอนให้ตรงเวลา นอนหลับพักผ่อนให้เพียง
- พยายามลดความเครียดด้วยการทำกิจกรรมที่ชอบ และหาเวลาพักผ่อนหย่อนใจ
- ลดปริมาณในการดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนลงครึ่งหนึ่ง
- ลด หรืองดสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์
- หลีกเลี่ยงการให้ดวงตาเจอกับแสงสว่าง แสงจ้า ลม หรือมลพิษทางอากาศ
- พักสายตาระหว่างการทำงานระหว่างวัน รวมถึงใช้น้ำตาเทียมเป็นประจำ เพื่อป้องกันอาการตาแห้ง ซึ่งอาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่เปลือกตาด้านใน
- รักษาอาการโรคภูมิแพ้ให้ดีขึ้น
- รับประทานอาหารให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่
- ปรึกษาแพทย์ถึงความน่าจะเป็นว่า ตัวยาที่กินอยู่เป็นประจำ มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย รวมถึงอาการตากระตุกได้หรือไม่ เพื่อให้แพทย์พิจารณาเปลี่ยนยาที่เหมาะสมกว่าเดิม
- หากมีอาการตากระตุกที่ผิดปกติ เช่น ตากระตุกบ่อยเกินไปจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีอาการตากระตุกร่วมกับอาการอื่นๆ ควรรีบปรึกษาเพื่อหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาต่อไป
คุณกำลังดู: "ตากระตุก" เกิดจากอะไร เป็นสัญญาณอันตรายของโรคหรือไม่?
หมวดหมู่: รู้ทันโรค