ทำไม? บางคนดื่ม “กาแฟ” แล้ว “ท้องเสีย”
ไม่ใช่ทุกคนที่ดื่มกาแฟแล้วท้องเสีย แต่ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
หลายคนอาจจะเคยสังเกตว่าผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก หรือยาระบายถ่ายท้องสำหรับคนที่มีอาการท้องผูก มักมาในรูปแบบของกาแฟสำเร็จรูป บางคนบอกว่าดื่มกาแฟยังไงก็ต้องถ่ายอยู่แล้ว แค่กาแฟธรรมดานี่แหละ ไม่ต้องใส่สมุนไพรมะขามแขกหรืออะไรทั้งนั้น แต่กับบางคนก็ดื่มกาแฟแล้วไม่มีอาการอะไรใดๆ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์ หรือหมอแมว เจ้าของเฟซบุ๊คเพจ ความรู้สนุกๆ แบบหมอแมว อธิบายว่า
“กาแฟ และคาเฟอีนมีฤทธิ์กระตุ้นตัวรับมัสคารินิก กระตุ้นให้ลำไส้เกิดการบีบตัว นอกจากนี้การดื่มน้ำ (กาแฟ) ในปริมาณมาก (3 แก้วขึ้นไป) ก็ทำให้กระเพาะยืดตัว กระตุ้นแกสโตรโคลิกรีเฟล็กซ์ ซึ่งนำไปสู่การถ่ายอย่างหมดไส้หมดพุงได้”
แต่อย่างไรก็ตาม กรณีนี้จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเป็นคนที่ไม่เคยดื่มกาแฟมาก่อน หรือนานๆ ดื่มกาแฟที ไม่ได้ดื่มกาแฟเป็นประจำ ดังนั้นใครที่รู้ตัวว่าไม่ค่อยได้ดื่มกาแฟ ก็อย่าดื่มกาแฟเป็นจำนวนมาก เพราะนอกจากจะเสี่ยงต่ออาการท้องเสียแล้ว ยังอาจโดนฤทธิ์ของคาเฟอีนเข้าไปได้ (ในบางราย) เช่น ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ วิตกกังวล ปวดศีรษะ หรือบางคนอาจจะแพ้คาเฟอีน เช่น ริมฝีปาก หรือลิ้นบวม ผื่นขึ้น หากมีอาการรุนแรงอาจถึงขั้นหน้าบวม หายใจไม่ออก คลื่นไส้อาเจียน และเวียนศีรษะได้เช่นกัน
ดังนั้น เคล็ดลับสำหรับคนที่ไม่ค่อยได้ดื่มกาแฟ แต่อยากดื่มเพื่อแก้ง่วง หรืออยากดื่มเพื่อลิ้มรสชาติ ควรเลือกดื่มกาแฟในสูตรที่ไม่เข้มข้นมาก อาจจะเริ่มจากกาแฟลาเต้ มอคค่า หรือสั่งบาริสต้าให้ลดปริมาณกาแฟลง และอย่าดื่มเกิน 1 แก้วในครั้งเดียว ตลอดทั้งวันไม่ดื่มเกิน 3 แก้ว (แก้วกาแฟ) ค่อยๆ จิบทีละนิด ไม่ดื่มรวดเดียวหมด หรือจะหาอาหารทานระหว่างดื่มกาแฟไปด้วยก็ได้ จะช่วยให้ร่างกายดูดซึมคาเฟอีนช้าลง
คุณกำลังดู: ทำไม? บางคนดื่ม “กาแฟ” แล้ว “ท้องเสีย”
หมวดหมู่: สุขภาพ